หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น
ภูริทัตตเถระ 8
โดย พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
โดย พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
สรุปความในตอนนี้ท่านมาพักอยู่แถบบ้านห้วยแคน
บ้านนาสีนวน บ้านโคก บ้านนามน ตำบลตองโขบ เขตอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ๓ พรรษาติด
ๆ กัน ในระยะที่พักอยู่แถบนี้ทั้งในและนอกพรรษา การติดต่อสั่งสอนพวกเทพฯ
และชาวมนุษย์ท่านว่าท่านดำเนินไปโดยสม่ำเสมอ
เฉพาะพวกเทพไม่ค่อยมีมากและไม่มาบ่อยนักเหมือนอยู่จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้คงเกี่ยวกับสถานที่มีความเงียบสงัดต่างกัน จะมีบ้างก็หน้าเทศกาลโดยมาก เช่น
วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา กลางพรรษา และวันปวารณาออกพรรษาเท่านั้น
วันนอกนั้นไม่ค่อยมีพวกเทพฯ มาเกี่ยวข้องเหมือนเวลาท่านพักอยู่ที่เชียงใหม่
ในพรรษาพระเณรไม่มีมากเพราะเสนาสนะมีจำกัด พอดีกับพระเณรที่อาศัยอยู่กับท่านโดยเฉพาะเท่านั้น
ส่วนพระเณรจากทิศต่าง
ๆ ที่ไปรับการอบรมกับท่านตอนนอกพรรษานั้นมีไม่ขาด เข้า ๆ ออก ๆ
สับเปลี่ยนกันเสมอมา ท่านอุตส่าห์เมตตาสั่งสอนด้วยความเอ็นดูสงสารอย่างสม่ำเสมอ
พอตกหน้าแล้งของพรรษาที่สาม ก็มีญาติโยมจากบ้านหนองผือนาในไปอาราธนาท่านให้มาโปรดที่หมู่บ้านนั้น
ท่านรับคำนิมนต์เขาแล้ว
ไม่นานญาติโยมก็พร้อมกันไปรับท่านมาพักและจำพรรษาที่บ้านหนองผือ ตำบลนาใน
อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านออกเดินทางจากบ้านโคกมาบ้านหนองผือด้วยเท้าเปล่า
และพักแรมมาตามรายทางราว ๓-๔ คืนจึงถึงหมู่บ้านหนองผือ เพราะทางเต็มไปด้วยป่าดงพงลึก
ต้องด้นดั้นซอกซอนมาตลอดสายจนถึงหมู่บ้านหนองผือ
เพียงไม่กี่วันที่มาถึงบ้านหนองผือ
ท่านเริ่มป่วยเป็นไข้มาลาเรียแบบจับสั่น
ชนิดเปลี่ยนหนาวเป็นร้อนและเปลี่ยนร้อนเป็นหนาว
ซึ่งเป็นการทรมานอย่างยิ่งอยู่แรมเดือน ไข้ประเภทนี้ใครโดนเข้ารู้สึกจะเข็ดหลาบไปตาม
ๆ กัน เพราะเป็นไข้ชนิดที่ไม่รู้จักหายลงได้
เป็นเข้ากับรายใดแล้วตั้งแรมปีก็ไม่หาย คงแอบมาเยี่ยม ๆ มอง ๆ อยู่ทำนองนั้น
คือหายไปตั้ง ๑๕ วันหรือเดือนหนึ่ง นึกว่าหายสนิทแล้วก็กลับมาเป็นเข้าอีก
หรือตั้งเป็นเดือน ๆ แล้วก็กลับมาเป็นอีก ซึ่งเคยเขียนเรื่องไข้ประเภทนี้บ้างแล้วว่า
ถ้าลูกเขยเป็นก็อาจทำเอาจนพ่อตาแม่ยายเบื่อ
ถ้าพ่อตาหรือแม่ยายเป็นก็ทำเอาจนลูกเขยเบื่อ เพราะทำงานหนักหนาอะไรไม่ได้
แต่รับประทานได้มาก
นอนหลับสนิทดีชนิดไม่รู้จักตื่นและบ่นได้เก่งชนิดไม่หยุดปากพอให้คนดีเบื่อกันดีนั่นแล
ผู้เป็นไข้ชนิดนี้ใครไม่เบื่อเป็นไม่มี เพราะเป็นไข้ที่น่าเบื่อเอามากทีเดียว
ทั้งนี้เนื่องจากสมัยนั้นไม่มียาแก้กันให้หายเด็ดขาดได้เหมือนสมัยนี้
เมื่อเป็นเข้าแล้วต้องปล่อยให้หายไปเอง มิฉะนั้นก็กลายเป็นโรคเรื้อรังไปเป็นปี ๆ
ถ้าเป็นเด็กโดยมากก็ลงพุง จนกลายเป็นเด็กพุงโตหรือพุงโร หน้าไม่มีสีสันวรรณะเลย
ไข้ประเภทนี้ชอบเป็นกับคนที่เคยอยู่บ้านทุ่ง
ๆ แล้วย้ายภูมิลำเนาเข้าไปอยู่ในป่าตามไร่นา
แม้คนที่เคยอยู่ป่าเป็นประจำมาแล้วก็ยังเป็นได้
แต่ไม่ค่อยรุนแรงเหมือนคนมาจากทางทุ่ง
และชอบเป็นกับพระธุดงคกรรมฐานที่ชอบเที่ยวซอกแซกไปตามป่าตามเขาโดยมาก
สำหรับผู้เขียนแล้ว
ถ้าเป็นสิ่งที่มีค่าควรออกอวดโลกได้เกี่ยวกับไข้ชนิดเข็ดหลาบตลอดวันตายนี้
ก็คงได้อวดอย่างเต็มภูมิไม่ยอมแพ้ใครอย่างง่าย ๆ ทีเดียว
เพราะเคยโดนมามากมายหลายครั้ง และรู้ฤทธิ์ของมันชนิดไม่กล้าสู้ตลอดวันตายเลย
ขณะเขียนก็ยังกลัวอยู่เลย แม้มาอยู่บ้านหนองผือปีแรกก็โดนไข้นี้ดัดสันดานจนตลอดพรรษาและเตลิดถึงหน้าแล้งไม่ยอมหายสนิทได้เลย
จะไม่ให้เข็ดหลาบอย่างไรเพราะพระก็คือคนที่มีหัวใจและรู้จักสุข ทุกข์ ดี
ชั่วอย่างเต็มใจเช่นเดียวกับคนทั่ว ๆ ไปนั่นเอง
สิ่งที่น่าเข็ดน่ากลัวจึงต้องเข็ดต้องกลัวเช่นเดียวกับคนทั้งหลาย
ท่านพักอยู่ที่หนองผือ
ปรากฏมีพระเณรมากขึ้นโดยลำดับ เฉพาะภายในวัดในพรรษาหนึ่ง ๆ ก็มีถึง ๒๐-๓๐
กว่าองค์อยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีพระเณรพักและจำพรรษาอยู่ตามหมู่บ้านเล็ก ๆ
แถบใกล้เคียงอีกหลายแห่ง แห่งละ ๒ องค์บ้าง ๓ องค์บ้าง ๔-๕ องค์บ้าง แห่งละ ๙-๑๐
องค์บ้าง วันประชุมทำอุโบสถ ปรากฏมีพระมารวมทำอุโบสถถึง ๓๐-๔๐ องค์ก็มี
รวมทั้งในวัดและบริเวณใกล้เคียงแล้วมีพระเณรไม่ต่ำกว่า ๕๐-๖๐ องค์
นอกพรรษายังมีมากกว่านั้นในบางครั้ง และมีมากตลอดมานับแต่ท่านไปจำพรรษาที่นั้น
เวลากลางวันพระเณรต่างปลีกตัวเข้าไปอยู่ในป่าลึกนอกบริเวณวัดเพื่อประกอบความเพียร
เพราะป่าดงที่ตั้งสำนักรู้สึกกว้างขวางมากเป็นสิบ ๆ กิโลเมตร
ยิ่งด้านยาวด้วยแล้วแทบจะหาที่สุดป่าไม่เจอ
เพราะยาวไปตามภูเขาที่มีติดต่อกันไปอย่างสลับซับซ้อนจนไม่อาจพรรณนาได้
อำเภอพรรณานิคมทางด้านทิศใต้
โดยมากมีแต่ป่าแต่เขาทั้งนั้น จนไปจดจังหวัดกาฬสินธุ์
ฉะนั้นเวลาท่านพระอาจารย์มั่นไปพักอยู่วัดหนองผือ
จึงเป็นจุดศูนย์กลางแห่งพระธุดงคกรรมฐานดีมาก
ที่ท่านต้องมารวมฟังปาฏิโมกข์และฟังโอวาทตามโอกาสตลอดเวลา
เกิดข้อข้องใจทางด้านภาวนาขึ้นมาก็มาศึกษาได้สะดวก พอออกพรรษาหน้าแล้งท่านผู้ประสงค์จะขึ้นไปพักอยู่บนเขาก็ได้
ในถ้ำหรือเงื้อมผาก็ได้ จะพักอยู่ตามป่าดงธรรมดาก็สะดวก
เพราะหมู่บ้านมีประปรายอยู่เป็นแห่ง แห่งละ ๑๐ หลังคาเรือนบ้าง ๒๐-๓๐
หลังคาเรือนบ้าง แม้บนไหล่เขาก็ยังมีหมู่บ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ
ที่อาศัยทำไร่ทำสวนอยู่แทบทั่วไป แห่งละ ๕-๖ หลังคา ซึ่งปลูกเป็นกระต๊อบเล็ก ๆ
พอได้อาศัยเขาโคจรบิณฑบาต
บ้านหนองผือตั้งอยู่ในหุบเขาซึ่งทั้งสี่ด้านหรือสี่ทิศมีป่าและภูเขาล้อมรอบ
แต่เป็นหุบเขาที่กว้างขวางพอสมควร ประชาชนทำนากันได้สะดวกเป็นแห่ง ๆ ไป ป่ามีมาก
ภูเขาก็มีมาก สนุก เลือกหาที่วิเวกเพื่ออัธยาศัยได้อย่างสะดวกเป็นที่ ๆ ไป
ฉะนั้นพระธุดงค์จึงมีมากในแถบนั้น และมีมากทั้งหน้าแล้งหน้าฝน
สมัยที่ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่
พระธุดงค์ทยอยกันเข้าออกวัดหนองผือไม่ค่อยขาดแต่ละวัน ทั้งมาจากป่า
ทั้งลงมาจากภูเขาที่บำเพ็ญมาฟังการอบรม ทั้งออกไปป่าและขึ้น ภูเขาเพื่อสมณธรรม
ทั้งมาจากอำเภอ จังหวัดและภาคต่าง ๆ มารับการอบรมกับท่านมิได้ขาด
ยิ่งหน้าแล้งพระยิ่งหลั่งไหลมาจากที่ต่าง ๆ ตลอดประชาชนจากอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ
ทั้งใกล้และไกล พากันมากราบเยี่ยมและฟังโอวาทท่านมิได้ขาด
แต่ล้วนเดินด้วยเท้าเปล่ากันทั้งนั้น นอกจากผู้หญิงที่ไม่เคยคิดเดินทางไกลและคนแก่เท่านั้น
ที่ว่าจ้างล้อเกวียนเขาไปส่งถึงวัดหนองผือ
ทางจากอำเภอพรรณนานิคมเข้าไปถึงหมู่บ้านหนองผือ
ถ้าไปทางตรง แต่ต้องเดินตัดขึ้นหลังเขาไปราว ๕๐๐ เส้น
ถ้าไปทางอ้อมโดยไม่ต้องขึ้นเขาก็ราว ๖๐๐ เส้น ผู้ไม่เคยเดินทางไปไม่ตลอด
เพราะทางตรงไม่มีหมู่บ้านในระหว่างพอได้อาศัยหรือพักแรม
ส่วนทางอ้อมยังพอมีหมู่บ้านบ้างห่าง ๆ ซึ่งไม่ค่อยสะดวกนัก
พระที่ไปหาท่านต้องเดินด้วยเท้ากันทั้งนั้น เพราะไม่มีทางที่รถยนต์พอเข้าไปได้
แม้รถมีก็เฉพาะที่วิ่งตามทางใหญ่จากจังหวัดถึงตัวจังหวัดเท่านั้น
ทั้งไม่ค่อยมีมากเหมือนสมัยนี้ ไปผิดเวลาบ้างก็มีหวังตกรถและเสียเวลาไปอีกหนึ่งวัน
พระธุดงค์ปกติท่านชอบเดินด้วยเท้ากัน
ไม่ชอบขึ้นรถขึ้นรา เพราะไม่สะดวกเกี่ยวกับคนมาก
เวลาท่านเดินธุดงค์ท่านถือเป็นความเพียรไปพร้อมในเวลานั้นด้วย
ไม่ว่าจะไปป่าใดหรือภูเขาลูกใด เพียงตั้งความมุ่งหมายไว้แล้วท่านก็เดินจงกรมไปกับการเดินทางนั่นแล
โดยไม่คิดว่าจะถึงหมู่บ้านวันหรือค่ำเพียงไร
ท่านถือเสียว่าค่ำที่ไหนก็พักนอนที่นั่น ตื่นเช้าค่อยเดินทางต่อไปถึงหมู่บ้าน
แล้วเข้าโคจรบิณฑบาตมาฉันตามมีตามเกิด ไม่กระวนกระวายในอาหารว่าดีหรือเลวประการใด
เพียงยังอัตภาพให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น
ท่านถือเป็นความสบายสำหรับธาตุขันธ์แล้ว
จากนั้นก็เดินทางต่อไปอย่างเย็นใจจนถึงที่หมาย
อันดับต่อไป
ท่านเดินเที่ยวหาทำเลที่เหมาะกับอัธยาศัยจนกว่าจะพบที่มุ่งหมายไว้
แต่น้ำเป็นสิ่งสำคัญในการพักบำเพ็ญ เมื่อได้ทำเลที่เหมาะแล้ว จากนั้นก็เร่งความพากเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาทั้งกลางวันกลางคืน
มีสติประคองใจ มีปัญญาเป็นเครื่องรำพึงในธรรมทั้งหลายที่มาสัมผัสกับอายตนะ
พยายามเกลี้ยกล่อมใจด้วยธรรมที่ถูกกับจริต ให้มีความสงบเย็นเป็นสมาธิ
เมื่อจิตถอนขึ้นมาจากสมาธิแล้ว พิจารณาธรรมทั้งหลายโดยทางปัญญา ทั้งข้างนอกคือทัศนียภาพที่สัมผัสกันอยู่ตลอดเวลา
ทั้งข้างในคือธาตุขันธ์อายตนะที่แสดงอาการกระเพื่อมตัวอยู่ทุกขณะ
ไม่มีเวลาสงบนิ่งอยู่ได้ ว่าเป็นวิปริณามธรรม มีความแปรปรวนอยู่เสมอมาและเสมอไป
ใจไม่นิ่งนอนอยู่กับอะไร ซึ่งจะเป็นเหตุให้ติดข้องพัวพัน
กำหนดคลี่คลายดูร่างกายจิตใจให้เห็นชัดด้วยปัญญาจนรู้เท่า
และปล่อยวางไปเป็นระยะ ๆ
ปัญญาทำการขุดค้นทั้งรากแก้วรากฝอยและต้นตอของกิเลสทุกประเภทไม่ลดละ
มีความเพลิดเพลินอยู่กับความเพียรสืบเนื่องกับธรรมทั้งหลาย
สิ่งที่มาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับใจก็พิจารณาลงในธรรม คือไตรลักษณ์ เพื่อความรู้แจ้งและถอดถอนไปโดยลำดับ
เมื่อมีข้อข้องใจเกิดขึ้นที่ไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิดก็รีบมาเรียนถามท่าน
พอได้รับคำชี้แจงเป็นที่แน่ใจแล้ว ก็กลับไปบำเพ็ญเพื่อความก้าวหน้าของจิตต่อไป
พระธุดงคกรรมฐานจำนวนมากที่อาศัยอยู่กับท่านอาจารย์มั่นเพื่อการศึกษาอบรม
เมื่อที่พักในสำนักท่านมีไม่เพียงพอ ท่านก็แยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ
โดยปลีกออกไปอยู่ที่ละองค์บ้าง ๒ องค์บ้าง
ต่างองค์ต่างไปเที่ยวหาที่วิเวกสงัดของตน และต่างองค์ต่างอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ
ที่มีอยู่ในป่าและในภูเขาซึ่งไม่ห่างจากสำนักท่านนัก พอไปมาหาสู่กันได้สะดวกราว
๖-๗ กิโลเมตรบ้าง ๘-๙ กิโลเมตรบ้าง ๑๑-๑๒ กิโลเมตรบ้าง ๑๕-๑๖ กิโลเมตรบ้าง หรือราว
๒๐-๓๐ กิโลเมตรบ้าง ตามแต่ทำเลเหมาะกับอัธยาศัย ที่อยู่ไกลราว ๒๐ กิโลเมตรขึ้นไป
เวลามากราบเยี่ยมท่านก็พักค้างคืนฟังการอบรมพอสมควรก่อนแล้วค่อยกลับไปที่พักของตน
บางท่านอาจจะไม่เข้าใจว่ากิโลเมตรหนึ่งมีประมาณกี่เส้น
จึงขอชี้แจงไว้พร้อมนี้คือกิโลเมตรหนึ่งมี ๒๕ เส้น ๔ กิโลเมตรก็เท่ากับ ๑๐๐ เส้น
โปรดเทียบตามหลักเกณฑ์ที่ให้ไว้นี้
หนทางตามบ้านป่าบ้านเขาไม่เหมือนทางถนนจากอำเภอไปสู่อำเภอ
จากจังหวัดไปสู่จังหวัดดังที่เห็น ๆ กัน แต่เป็นทางของชาวบ้านป่าบ้านเขา
เขาเดินท่องเที่ยวหากันอย่างนั้นมาดั้งเดิม และเป็นความเคยชินของเขาอย่างนั้น
นานวันจึงจะไปหากันครั้งหนึ่ง ทางจึงเต็มไปด้วยป่าดงพงลึกและขวากหนาม
บางแห่งถ้าไม่สังเกตให้มากอาจเดินผิดทาง
และหลงเข้าป่าเข้าเขาซึ่งไม่มีหมู่บ้านเลยก็ได้ ระหว่างทางบางตอนไม่มีหมู่บ้านคนเลย
มีแต่ป่าแต่เขาทั้งนั้น และยาวตั้ง ๒๐-๓๐ กิโลเมตรถึงจะพบหมู่บ้านชาวป่าชาวเขาก็มี
ระหว่างทางนั้นสำคัญมาก
ถ้าเกิดไปหลงทางเข้าแล้วมีหวังนอนค้างป่าค้างเขาและอดอาหารแน่นอน
ทั้งอาจไม่ถูกหมู่บ้านเลยก็ได้ นอกจากจะพบพวกนายพรานที่เที่ยวล่าสัตว์ และอาศัยเขาบอกทาง
หรือเขานำออกไปหาทางไปยังหมู่บ้านจึงจะพ้นภัย
พระธุดงคกรรมฐานผู้หวังในธรรมอย่างยิ่ง
ท่านรู้สึกลำบากอยู่ไม่น้อยในการอยู่ การบำเพ็ญ การเดินทาง
และการแสวงหาครูอาจารย์ผู้อบรมโดยถูกต้องและราบรื่นชื่นใจ เช่น ท่านอาจารย์มั่น
มาพบเห็นท่านแล้วดีอกดีใจเหมือนลูกเล็ก ๆ เห็นพ่อแม่เราดี ๆ นี่เอง
ทั้งรักทั้งเคารพทั้งเลื่อมใส และอะไร ๆ รวมเป็นความไว้วางใจหมดทุกอย่าง
หรือจะเรียกว่าหมดชีวิตจิตใจรวมลงในท่านองค์เดียวก็ถูก
เพราะนิสัยพระธุดงคกรรมฐานมีความเชื่อถือและเคารพรักอาจารย์มาก
ขนาดสละชีวิตแทนได้โดยไม่อาลัยเสียดายเลย แม้จะแยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ก็ตาม
แต่ท่านมีความผูกพันในอาจารย์มากผิดธรรมดา
การอยู่การบำเพ็ญหรือการไปมาแม้จะลำบาก
ท่านพอใจที่จะพยายาม ขอแต่มีครูอาจารย์คอยให้ความอบอุ่นก็พอ ความเป็นอยู่หลับนอน
การขบฉันท่านทนได้ อดบ้างอิ่มบ้างท่านทนได้ เพราะใจท่านมุ่งต่อธรรมเป็นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด
บางคืนท่านนอนตากฝนทั้งคืนทนหนาวจนตัวสั่นเหมือนลูกนก
ท่านก็ยอมทนเพราะความเห็นแก่ธรรม
เวลาท่านสนทนาธรรมกันเกี่ยวกับการบำเพ็ญการพักอยู่ในที่ต่าง ๆ
กันและการไปมาตามป่าตามเขา รู้สึกว่าน่าฟังมาก ทั้งน่าสงสารท่านเหมือนสัตว์อยู่ในป่าตัวหนึ่ง
ไม่มีราคาอะไรเลย เพราะความลำบากจนมุม ที่อยู่หลับนอนในบางครั้งเหมือนของสัตว์
เพราะความจำเป็นบังคับที่จำต้องอดทน
การบำเพ็ญท่านมีอุบายวิธีต่าง
ๆ กันไปตามจริตนิสัยชอบ คืออดนอนบ้าง ผ่อนอาหารบ้าง อดอาหารบ้าง
กี่คืนหรือกี่วันตามแต่ความเหมาะสมกับจริตและธาตุขันธ์จะพอทนได้
เดินจงกรมแต่หัวค่ำตลอดสว่างบ้าง นั่งสมาธิหลาย ๆ ชั่วโมงบ้าง
นั่งสมาธิแต่หัวค่ำจนสว่างบ้าง ไปนั่งสมาธิอยู่ทางเสือเข้าถ้ำของมันบ้าง
ไปนั่งสมาธิอยู่ที่ด่านอันเป็นทางมาของเสือบ้าง
ไปนั่งสมาธิอยู่ในป่าช้าที่กำลังเผาผีอยู่ในวันนั้นบ้าง ไปนั่งอยู่ริมเหวลึก ๆ
บ้าง กลางคืนดึก ๆ เดินเที่ยวบนภูเขา พอไปเจอทำเลเหมาะ ๆ
คือที่น่ากลัวมากก็นั่งสมาธิอยู่เสียที่นั้นบ้าง ไปนั่งสมาธิใต้ร่มไม้กลางภูเขาดึก
ๆ คอยให้เสือมาที่นั้นจิตจะได้สงบในขณะนั้นบ้าง
วิธีเหล่านี้ท่านมีความมุ่งหมายลงในจุดเดียวกัน
คือเพื่อทรมานจิตให้หายพยศ ซึ่งก็เป็นไปตามความมุ่งหมายจริง ๆ
โดยมากท่านได้อุบายจากวิธีเหล่านี้ แต่ละวิธีของแต่ละนิสัย
ทำให้ท่านมีกำลังใจทำได้ตามวิธีที่ถูกกับจริตนิสัยของตน
ฉะนั้นท่านจึงชอบอุบายวิธีทรมานต่าง ๆ กัน แม้ท่านอาจารย์มั่นเองก็เคยทำมา
และส่งเสริมพระที่ฝึกและทรมานโดยวิธีต่าง ๆ ว่าเป็นผู้ฉลาดฝึกอบรมตน
วิธีเหล่านี้พระธุดงค์ท่านยังทำของท่านอยู่มิได้ลดละตลอดมา
การฝึกตัวให้เป็นคนมีคุณค่าทำใจให้มีราคาย่อมเป็นสิ่งที่ฝืนอยู่บ้าง
ความยากลำบากนั้นไม่สำคัญเท่าผลที่จะทำให้เป็นคนดี มีความสุข มีขื่อมีแป
และมีธรรมเป็นเครื่องกำกับรักษา ไม่ว่าโลกหรือธรรมเคยถือกันมาอย่างนั้น
นอกจากสิ่งของที่ใช้การอะไรไม่ได้หมดความหมายไร้ค่าและคนตายแล้วเท่านั้นจึงไม่มีการรักษากัน
คนเรายังมีคุณค่าควรจะได้รับจากการปรับปรุงรักษาอยู่ จึงควรสงวนรักษาตัวอย่างยิ่ง
ผลแห่งการรักษาจะยังผู้นั้นให้เป็นคนดีมีความสุขความเจริญ
ทั้งปัจจุบันและอนาคตไม่มีสิ้นสุด ดังนั้น
ที่พระธุดงค์ท่านปฏิบัติบำเพ็ญโดยไม่เห็นแก่ความยากลำบากมาเป็นอุปสรรค
จึงเป็นการเบิกทางเพื่อความก้าวหน้าแห่งธรรมภายในใจ
อันเป็นที่น่ากราบไหว้บูชาอย่างยิ่ง
ตราบใดที่ยังมีผู้สนใจและปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่
พระศาสนาก็ยังดำรงคงอยู่กับโลกตลอดไป
และแสดงผลให้โลกที่ใคร่ต่อธรรมเห็นอยู่ตามลำดับที่ปฏิบัติได้
ตรงกับหลักพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ทำจริง รู้จริง
และสอนโลกด้วยธรรมจริง ผู้เชื่อถือศาสนาก็เป็นผู้ทำจริงเพื่อความรู้จริงเห็นจริง
ไม่เหลาะแหละย่อหย่อนอ่อนความสามารถ
อันเป็นการกดถ่วงและลดคุณค่าของพระศาสนาลงให้พาหิรชนเขาดูถูกเหยียดหยามดังที่ทราบกันอยู่
เพราะศาสนาที่แท้จริงเป็นคุณธรรมที่ควรนำออกแสดงได้อย่างเปิดเผยทั่วไตรโลกธาตุ
โดยไม่มีความสะท้านหวั่นไหวว่าไม่จริง เพราะเป็นธรรมที่จริงตามหลักธรรมชาติด้วย ศาสดาที่สอนก็เป็นผู้บริสุทธิ์และทรงสอนตามความจริงแห่งธรรมด้วย
นอกจากจะไม่สนใจหรือไม่สามารถค้นให้ถึงความจริงตามที่ศาสนาสอนไว้เท่านั้น
จึงอาจเป็นไปตามความรู้ความเห็นที่ไม่มีประมาณของแต่ละหัวใจที่มีธรรมชาติหนึ่งปิดบังอย่างลึกลับและฝังลึกอยู่ในใจ
ทั้งปกปิดดวงใจไว้ตลอดกาล ซึ่งศาสนาแทงทะลุปรุโปร่งไปหมดแล้ว
ขออภัยที่เขียนเลยเถิดไปบ้างตามนิสัยของคนไม่มีหลักยึดที่แน่นอน
ขอย้อนอธิบายวิธีฝึกทรมานต่าง ๆ
ที่พระธุดงค์ท่านชอบทำเป็นประจำนิสัยตลอดมาอีกเล็กน้อย
พอทราบความมุ่งหมายและผลที่เกิดจากวิธีนั้น ๆ บ้าง
การฝึกแต่ละวิธีท่านเห็นผลประจักษ์ใจเป็นลำดับ
คือทำให้จิตที่มีความพยศลำพองเพราะร่างกายมีกำลังมาก ให้ลดลงด้วยวิธีผ่อนอาหาร
อดอาหารหรืออดนอน ตลอดการหักโหมด้วยวิธีต่าง ๆ คือเดินจงกรมนาน ๆ บ้าง
นั่งสมาธิภาวนานาน ๆ บ้าง
เพื่อใจจะได้มีกำลังก้าวหน้าไปตามแถวแห่งธรรมด้วยความสะดวก เพื่อใจที่หวาดกลัวต่ออันตรายมีเสือหรือผีเป็นต้น
แล้วย้อนเข้ามาสู่ภายในอันเป็นที่สถิตอยู่ของใจอย่างแท้จริง
จนเกิดความสงบและกล้าหาญขึ้นมา ซึ่งเป็นการบรรเทาหรือกำจัดความหวาดกลัวต่าง ๆ
เสียได้ เพื่อจิตได้รู้กำลังความสามารถของตนในเวลาเข้าที่คับขันคือความจนตรอกจนมุม
หรือคราวเกิดทุกขเวทนากล้าจนถึงเป็นถึงตายจริง ๆ
จะมีทางต่อสู้เพื่อชัยชนะเอาตัวรอดได้
ตามปกติถ้าไม่เข้าที่คับขันสติปัญญาไม่ค่อยเกิด
และไม่อาจรู้ความสามารถของตน การหาวิธีทรมานต่าง ๆ
ตามจริตนิสัยและความแยบคายของแต่ละรายนั้น เป็นวิธีฝึกซ้อมสติปัญญาให้มีความสามารถอาจหาญและทราบกำลังของตนได้ดี
ไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่เลือกกาลสถานที่
ผลที่ปรากฏแก่ผู้ชอบฝึกทรมานตนด้วยวิธีต่าง ๆ คือ
ผู้ที่เคยกลัวผีมาดั้งเดิมก็หายกลัวผีได้ ด้วยวิธีฝืนใจเข้าไปเยี่ยมป่าช้า
ผู้เคยกลัวสัตว์ร้ายต่าง ๆ มีเสือเป็นต้น
ก็หายกลัวได้ด้วยวิธีฝืนใจเข้าไปอยู่ในที่เปลี่ยวอันเป็นที่น่ากลัว
ผู้มักเห็นแก่ปากแก่ท้องชอบโลเลในอาหารปัจจัย
ก็บรรเทาหรือหายเสียได้ด้วยการผ่อนอาหารหรืออดอาหาร
ตามปกตินิสัยของคนเราโดยมากย่อมชอบอาหารดี ๆ รับประทานได้มาก ๆ
ถือว่าเป็นความสุขเพราะถูกกับใจ ผู้มักโลภไม่เคยมีความพอดีแอบซ่อนอยู่ด้วยได้เลย
แม้ใจจะทุกข์เพียงไรก็ไม่ค่อยสนใจคิดว่ามีสาเหตุเป็นมาจากอะไร
แต่ผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อความรู้สิ่งเกี่ยวข้องกับตนอันมีมากมายและต่าง ๆ กัน
จำต้องพิจารณาและทรมานกันบ้าง เพื่อรู้ฤทธิ์ของกันและกัน
ดังนั้นพระธุดงค์บางองค์ท่านจึงทรมานท่านจนเป็นที่น่าสงสารอย่างจับใจก็มี
คืออาหารดี ๆ ตามสมมุตินิยมที่ท่านได้มาหรือมีผู้นำมาถวาย
พอเห็นจิตแสดงอาการอยากได้จนเป็นที่น่าเกลียดอยู่ภายใน
ท่านกลับทรมานใจเสียไม่ยอมเอาอาหารชนิดนั้น
แต่กลับไปเอาชนิดที่จิตไม่ต้องการไปเสียอย่างนั้น ถ้าจิตต้องการมากท่านก็เอาแต่เพียงเล็กน้อยหรือบางคราวท่านบังคับให้ฉันข้าวเปล่า
ๆ ทั้งที่อาหารมีอยู่ อย่างนี้ก็มี
อาหารบางชนิดเป็นคุณแก่ร่างกายแต่กลับเป็นภัยแก่ใจ คือทับถมจิตใจ
ภาวนายากหรือไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งที่ทำความเพียรดังที่เคยทำมาเป็นประจำ
เมื่อทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดจิตจึงไม่ก้าวหน้า ท่านก็พยายามตัดต้นเหตุนั้นออกไป
โดยไม่ยอมเสียดายและตามใจที่เป็นเจ้ากิเลสตัวโลโภ
สมกับท่านมาฝึกทรมานใจกับครูอาจารย์จริง ๆ
มิได้ปล่อยตามใจที่เคยเอาแต่ใจตัวมาจนเป็นนิสัย
การฉันท่านก็ฝึกให้มีประมาณและขอบเขตจำกัด
การหลับนอน ท่านก็ฝึกให้นอนและตื่นตามเวลาที่กำหนดไว้
ไม่ปล่อยให้นอนตามใจชอบหรือตามยถากรรม การไปมาในทิศทางใดควรหรือไม่ควรท่านก็ฝึก
แม้ไม่ผิดพระวินัยแต่ผิดธรรม ท่านก็บังคับไม่ให้ฝ่าฝืนในสิ่งที่เห็นว่าไม่ควรนั้น
ๆ การพยายามปลูกธรรมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับภายในใจไม่ให้เสื่อมทรามลง
จึงแสนปลูกยากอย่างยิ่ง แทบพูดได้ว่าไม่มีอะไรจะลำบากยากเย็นเสมอเหมือนเลย
ส่วนการปลูกโลก
ผู้เขียนอยากจะพูดว่า
มันคอยแต่จะแย่งเกิดและเจริญขึ้นเพื่อทำลายจิตใจเราอยู่ทุกขณะที่เผลอ
จนไม่ชนะที่จะปราบปรามมัน เพียงนาทีหนึ่งมันก็แอบเข้ามาเกิดและเจริญในใจเสียแล้วไม่รู้ว่ากี่ประเภท
โดยมากก็เป็นประเภทสังหารทำลายตัวเรานั่นแล มันเกิดและเจริญเร็วที่สุด
ชั่วพริบตาเดียวเท่านั้นก็มองไม่ทั่ว ตามแก้ไม่ทัน
สิ่งที่เกิดง่ายแต่ทำลายยากคือต้นราคะตัณหาตัวทำความพินาศบาดหัวใจ
นี่แลเป็นสิ่งที่เก่งกล้าสามารถกว่าอะไรในโลก ไม่ว่าท่านว่าเราต่างก็ชอบมันเสียด้วย
มันจึงได้ใจและก่อความพินาศให้โลกอย่างไม่มีประมาณและไม่เกรงขามใครเลย
ที่มีกลัวอยู่บ้างก็ผู้มีธรรมในใจ และที่กลัวจริง ๆ
คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านเท่านั้น มันไม่กล้าเข้าไปแอบได้
เพราะท่านทำลายโรงลิเกละครและโรงอะไร ๆ ของมันพังพินาศไปหมดแล้ว
มันจึงกลับมาเล่นงานกับพวกเราผู้ยังอยู่ใต้อำนาจของมัน
พระธุดงค์ท่านแทบเป็นแทบตายในการฝึกทรมานตน
ก็เพราะกิเลสสองสามตัวนี่แลเป็นเหตุ และทำการกีดขวางถ่วงใจท่านให้ได้รับความลำบาก
แม้เปลี่ยนเพศเป็นพระมีผ้าเหลืองซึ่งเป็นเครื่องหมายของท่านผู้ชนะมารมาแล้วมาครองประกาศตัว
แต่กิเลสประเภทนี้มันยังไม่ยอมเกรงกลัวท่านบ้างเลย
แถมมันยังพยายามตามฉุดลากท่านให้เปลื้องผ้าเหลืองอยู่ตลอดไป ไม่ยอมปล่อยตัวเอาง่าย
ๆ ทั้งไม่เลือกวัยเสียด้วย ท่านจึงจำต้องตะเกียกตะกายด้วยการฝึกทรมานโดยวิธีต่าง ๆ
ที่เห็นว่าเป็นวิธีกำจัดมันออกจากใจได้ ยากก็ทน ลำบากก็ทำ ทุกข์ก็ต้องต่อสู้
ไม่ยอมถอยหลัง เดี๋ยวมันจะหัวเราะเยาะเข้าอีก ยิ่งขายทั้งหน้าขายทั้งผ้าเหลือง
ขายทั้งเพศนักบวชที่เป็นเพศแห่งนักต่อสู้ไม่ยอมจนมุม
และขายทั้งศาสนาซึ่งเป็นหลักใหญ่ของมวลมนุษย์ ยิ่งเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จำต้องพลีชีพเพื่อกู้หน้า
กู้ผ้าเหลือง กู้เพศแห่งนักบวช
และกู้พระศาสนาและองค์พระศาสดาไว้ดีกว่าจะตายแบบล่มจมป่นปี้
เหล่านี้เป็นอุบายที่พระธุดงค์ท่านนำมาพร่ำสอนตัวเพื่อความกล้าหาญชาญชัย
เทิดไว้ซึ่งธรรมดวงเลิศ อันจักนำให้ถึงแดนประเสริฐพ้นทุกข์ไปได้ในวันหนึ่งโดยไม่สงสัย
เพราะทางพ้นทุกข์ถึงความเป็นผู้ประเสริฐมีอยู่กับศาสนธรรมที่ประทานไว้นี้เท่านั้น
ที่เป็นทางตรงแน่วต่อความพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวงไม่สงสัย
ไม่มีอยู่ในที่อื่นใดที่จะพอหลบหลีกปลีกตัวและผ่อนคลายไปได้โดยไม่ต้องลำบากในการขวนขวาย
นอกนั้นเต็มไปด้วยขวากหนามที่จะคอยทิ่มแทงร่างกายจิตใจให้เป็นทุกข์จนหาที่ปลงวางไม่ได้ตลอดกัปกัลป์
ไม่มีประมาณว่าจะผ่านพ้นไปได้
แม้ท่านอาจารย์มั่นก่อนหน้าท่านจะปรากฏองค์ขึ้นมา
ให้พวกเราได้กราบไหว้เป็นขวัญใจ และเป็นอาจารย์สั่งสอนบรรดาศิษย์
ท่านก็เคยเป็นมาแล้วชนิดตายไม่มีป่าช้า คือสิ้นลมที่ไหนปล่อยร่างกันที่นั่น
ไม่อาลัยเสียดายชีวิตยิ่งกว่าธรรม ดังที่เขียนผ่านมาบ้างแล้ว
เวลาเป็นอาจารย์สั่งสอนศิษย์ ท่านสั่งสอนอย่างเด็ด ๆ เผ็ด ๆ ร้อน ๆ
ด้วยอุบายอันแหลมคมตามแนวทางท่านเคยดำเนินและเห็นผลมาแล้วนั่นแล
ท่านสั่งสอนแบบปลุกจิตปลุกใจ
และฟื้นฟูความฉลาดให้ทันกับกลมารยาของกิเลสที่เคยเป็นนายบนหัวใจคนมานาน
เพื่อการถอดถอนทำลายกิเลสออกให้หมด จะได้หมดโทษหมดภัยอยู่สบาย ไปอย่างผู้สิ้นทุกข์
ไม่ต้องมีการวกเวียนเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ แต่ความทุกข์ที่ฝังอยู่ในใจไม่ยอมเปลี่ยน
แม้จะเปลี่ยนภพกำเนิดไปสักเท่าไร
ก็เท่ากับเปลี่ยนเครื่องมือสังหารตนอยู่นั่นเอง
จึงไม่ควรยินดีในการเกิดเป็นนั่นเป็นนี่
อันเป็นลักษณะนักโทษย้ายที่อยู่หลับนอนในเรือนจำซึ่งไม่มีอะไรดีขึ้นเลย
การเกิดตายนักปราชญ์ท่านถือเป็นภัยโดยจริงใจ เหมือนย้ายที่ที่ถูกไฟไหม้ แม้จะย้ายที่อยู่ไปไหนก็ไม่พ้นจากการระวังภัยอยู่นั่นเอง
เหล่านี้นำมาลงเพียงเล็กน้อยสำหรับโอวาทที่ท่านอาจารย์มั่นสั่งสอนพระธุดงค์ตลอดมา
ที่นำมาลงบ้างนี้พอเป็นคติแก่ท่านที่ชอบในอุบายท่าน
การให้โอวาทวันทำอุโบสถและวันประชุมฟังธรรมโดยเฉพาะ
มีน้ำหนักแห่งธรรมต่างกันอยู่มาก วันอุโบสถมีพระมามากจากสำนักต่าง ๆ ราว ๔๐-๕๐
องค์
การสั่งสอนแม้จะเด็ดเดี่ยวและลึกซึ้งก็ไม่เหมือนวันประชุมธรรมในสำนักท่านโดยเฉพาะ
วันประชุมรู้สึกเด็ดและซึ้งจริง ๆ
อำนาจแห่งธรรมที่แสดงออกแต่ละครั้งขณะท่านให้โอวาท ในความรู้สึกของผู้ฟังทั่ว ๆ
ไปประหนึ่งโลกธาตุดับสนิทไปตามกิเลสที่ท่านเทศน์ขับไล่ออกจากดวงใจพระธุดงค์
ปรากฏเฉพาะธรรมกับใจที่เข้าสัมผัสกันอยู่ขณะนั้นเท่านั้น
เป็นความซาบซึ้งตรึงใจและอัศจรรย์อย่างบอกไม่ถูก
แม้หลังจากนั้นยังปรากฏเหมือนไม่มีอะไรเหลืออยู่ในใจ จิตหมอบอยู่เป็นเวลาหลายวัน
เพราะอำนาจธรรมที่ท่านแสดงอย่างเผ็ดร้อน ประหนึ่งท่านท้าทายกิเลสทั้งหลาย
พอผ่านไปหลายวันกิเลสค่อย ๆ โผล่หน้าออกมาทีละน้อย ๆ นานไปพองตัวขึ้นอีก
พอดีถึงวันประชุมท่านก็ปราบให้อีก พอบรรเทาเบาบางให้สบายใจไปได้เป็นระยะ ๆ
ด้วยเหตุดังกล่าวมา
พระธุดงค์ทั้งหลายผู้ใคร่ต่อธรรมแดนพ้นทุกข์ จึงมีใจผูกพันในอาจารย์มากผิดธรรมดา
เพราะการถอดถอนกิเลสนั้นทั้งทำโดยลำพังตนเอง
ทั้งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาจารย์ผู้คอยให้อุบายด้วยอย่างแยกไม่ออก
บางครั้งพระไปบำเพ็ญเพียรอยู่โดยลำพัง
พอเกิดข้อข้องใจซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสขึ้นมา ไม่สามารถแก้ไขโดยลำพังได้ ต้องรีบมาเล่าถวายอาจารย์เพื่อท่านได้ชี้แจงให้ฟัง
พอมาเล่าถวาย ท่านก็อธิบายให้ฟังตามสาเหตุนั้น ๆ
ย่อมได้สติและหายสงสัยไปในขณะนั้นนั่นเอง
บางครั้งกำลังเกิดความสงสัยวุ่นวายอยู่กับจุดใดจุดหนึ่งที่สลับซับซ้อน
เหลือที่จะแก้ให้ตกได้โดยลำพังสติปัญญาของตน พอท่านอธิบายธรรมไปถึงจุดนั้น
ปรากฏเหมือนท่านเข้าไปทำลายความสงสัยของตนเสียได้ และผ่านไปได้ในขณะนั้นเป็นพัก ๆ
ในวงพระปฏิบัติระหว่างเพื่อนนักปฏิบัติด้วยกัน
และระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์จะทราบภูมิของกันและกันได้
และทำให้เกิดความเคารพเลื่อมใสต่อกันมาก ย่อมทราบจากการสนทนาธรรมกันทางภาคปฏิบัติ
เมื่อเล่าความจริงที่จิตประสบและผ่านไปสู่กันฟัง
ย่อมทราบถึงภูมิจิตภูมิธรรมของผู้นั้นทันทีว่าอยู่ในภูมิใด
บรรดาศิษย์ที่ทราบภูมิของอาจารย์ได้
ย่อมทราบในขณะที่เล่าธรรมภายในจิตของตนถวายท่าน
หรือเล่าตอนที่จิตติดขัดอยู่กับอารมณ์ที่ยังแยกจากกันไม่ออก
ว่าจะควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร ถ้าอาจารย์เป็นผู้รู้หรือผ่านไปแล้ว
ท่านจะต้องอธิบายเพิ่มเติมต่อจากที่ตนเล่าถวายท่านแล้วนั้น
หรือชี้แจงตอนที่ตนกำลังติดขัดอยู่ ให้ทะลุปรุโปร่งอย่างไม่มีที่ขัดข้องต้องติใด ๆ
เลย
อีกประการหนึ่งลูกศิษย์เกิดความสำคัญตนผิดคิดว่าตนผ่านพ้นไปโดยสิ้นเชิงแล้ว
แต่ท่านทราบว่าเป็นความเห็นที่ยังไม่ตรงตามความเป็นจริงที่ท่านผู้เห็นมาโดยถูกต้อง
ท่านจำต้องอธิบายเหตุผลและชี้แจงให้ฟังตามจุดที่ผู้นั้นสำคัญผิด
จนยอมรับเหตุผลอันถูกต้องจากท่านเป็นตอน ๆ ไปจนถึงที่ปลอดภัย
เมื่อต่างได้สนทนากันตามจุดต่าง ๆ แห่งธรรมจนเป็นที่ทราบและลงกันได้
ย่อมยอมรับความจริงจากกันโดยไม่มีอะไรมาประกาศยืนยัน
เพราะหลักความจริงเป็นเครื่องยืนยันกันพร้อมมูลแล้ว
นี่แลเป็นหลักพิสูจน์ภูมิของนักปฏิบัติธรรมด้วยกันว่า
ท่านผู้ใดอยู่ในภูมิจิตภูมิธรรมขั้นใด นับแต่ขั้นอาจารย์ลงมาหาพระปฏิบัติทั่ว ๆ ไป
ท่านทราบกันได้ด้วยหลักฐานดังกล่าวมา
ส่วนการทราบด้วยญาณวิถีนั้นเป็นเรื่องภายในอีกขั้นหนึ่ง ผู้เขียนไม่อาจนำมายืนยัน
จึงขอมอบไว้กับท่านผู้มีความชำนาญในทางนี้เป็นกรณีพิเศษ จะพึงปฏิบัติเองเป็นราย ๆ
ไป
ที่บรรดาศิษย์มีความเคารพเลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นอย่างถึงใจ
ฝากเป็นฝากตายถวายชีวิตจริง ๆ เพราะความใกล้ชิดสนิททั้งภายนอกภายใน
เกี่ยวกับการสนทนากับท่านอยู่เสมอนั่นแล
ทำให้จิตยอมรับความจริงจากท่านอย่างสนิทและตายใจ มิได้เป็นแบบสักแต่ว่าเห็น
ได้ยินคำเล่าลือจากที่ใกล้ที่ไกลแล้วเชื่อสุ่ม ๆ ไปอย่างนั้น เฉพาะผู้เขียนซึ่งเป็นพระที่มีทิฐิจัดไม่ยอมลงใครเอาง่าย
ๆ แล้ว
ยอมรับว่าเป็นตัวเก่งที่น่ารำคาญและน่าเกลียดอยู่ไม่น้อยผู้หนึ่งในการโต้เถียงกับท่านอาจารย์มั่น
เป็นนักโต้เถียงจนลืมสำนึกตัวว่า เวลานี้เรามาในนามลูกศิษย์เพื่อศึกษาธรรมกับท่าน
หรือมาในนามอาจารย์เพื่อสอนธรรมแก่ท่านเล่า อย่างนี้ก็มีในบางครั้ง
แต่ก็ยังภูมิใจในทิฐิของตนที่ไม่ยอมเห็นโทษและกลัวท่าน
แม้ถูกท่านสับเขกลงจนกะโหลกศีรษะจะไม่มีชิ้นต่อกันเวลานั้น
หลักใหญ่ก็เพื่อทราบความจริงว่าจะมีอยู่กับทิฐิเรา
หรือจะมีอยู่กับความรู้ความฉลาดของท่านผู้เป็นอาจารย์ ขณะที่กำลังโต้แย้งกันอยู่อย่างชุลมุนวุ่นวาย
แต่ทุกครั้งที่โต้กันอย่างหนัก ความจริงเป็นฝ่ายท่านเก็บกวาดไว้หมด
แต่ความเหลวไหลไร้ความจริงมากองอยู่กับเราผู้ไม่เป็นท่า
ที่เหลือแต่ใจสู้จนไม่รู้จักตาย พอโต้เถียงกับท่านยุติลง
เราเป็นฝ่ายนำไปขบคิดเลือกเฟ้นและยอมรับความจริงของท่านไปเป็นตอน ๆ
ส่วนใดที่เราเหลวก็กำหนดโทษของตนไว้และยอมรับความจริงจากท่านด้วยการเทิดทูนบนเศียรเกล้า
ตอนใดที่ไม่เข้าใจซึ่งยังลงกันไม่ได้ วันหลังมีโอกาสขึ้นไปโต้กับท่านใหม่
แต่ทุกครั้งต้องศีรษะแตกลงมาด้วยเหตุผลของท่านมัดตัวเอา แล้วอมความยิ้มในธรรมของท่านลงมา
องค์ท่านเองทั้งที่ทราบเรื่องพระบ้าทิฐิจัดได้ดี
แทนที่จะดุด่าหรือหาอุบายทรมานให้หายบ้าเสียบ้าง
แต่ขณะที่ท่านมองหน้าเราทีไรอดยิ้มไม่ได้
ท่านคงนึกหมั่นไส้หรือนึกสงสารคนแสนโง่แต่ชอบต่อสู้แบบไม่รู้จักตาย
ผู้เขียนจึงมิใช่คนดีมาแต่เดิม แม้กระทั่งปัจจุบันนี้
ขนาดอาจารย์ยังกล้าต่อสู้ไม่ละอายตัวเองเลย แต่ดีอย่างหนึ่งที่ได้ความรู้แปลก ๆ
จากวิธีนั้นมาเป็นคติสอนตนเรื่อยมาจนทุกวันนี้ ท่านเองก็ไม่เคยถือสาอะไรเลย
นอกจากนึกขันไปด้วยเท่านั้น เพราะนาน ๆ จะมีพระหัวดื้อมากวนใจเสียครั้งหนึ่ง
ปกติไม่ค่อยมีท่านผู้ใดมาสนทนาและถกเถียงท่าน พอให้พระเณรในวัดตื่นตกใจและงงไปตาม
ๆ กันบ้างเลย
หลังจากที่ท่านผ่านดงหนาป่าทึบ
คือ วัฏวนที่เชียงใหม่ตามที่เขียนผ่านมาแล้ว ท่านไปพักอยู่ในสถานที่ใดนานหน่อย
สถานที่นั้นรู้สึกจะมีความหมายอยู่อย่างลึกลับสำหรับท่าน โดยมิได้บอกใครให้ทราบ
พอสังเกตได้ตอนมาจากเชียงใหม่มาแวะพักที่นครราชสีมา
ก็มีพระและฆราวาสที่มีนิสัยใคร่ธรรมเป็นหลักใจและภาวนาดีอยู่หลายท่าน
เข้ามาศึกษาธรรมกับท่านในขณะมาพักที่นั้น
หลังจากนั้นก็ได้ติดตามไปอบรมศึกษากับท่านที่จังหวัดอุดรธานีบ้าง ที่สกลนครบ้าง
เสมอมาจนวาระสุดท้าย ทั้งพระและฆราวาสที่กล่าวถึงนี้ก็ได้เป็นผู้มั่นคงทางด้านจิตตภาวนาตลอดมา
ฝ่ายพระก็ได้กลายเป็นอาจารย์ที่มีหลักธรรมมั่นคงในใจ
กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นอาจารย์สั่งสอนบรรดาศิษย์ทั้งพระฆราวาสหญิงชายตลอดมาถึงปัจจุบันนี้
ฝ่ายฆราวาสก็เป็นผู้มั่นคงทางจิตตภาวนาและศรัทธาอย่างอื่น ๆ เรื่อยมาจนทุกวันนี้
และเป็นผู้นำฝ่ายอุบาสกสีกา ทั้งด้านจิตใจและการเสียสละต่าง ๆ
เป็นที่น่าชมเชยในแถบนั้นตลอดมา
เวลาท่านมาพักจำพรรษาที่อุดรฯ
ก็มีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ซึ่งเป็นพระสำคัญและเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ อุดรฯ
เป็นผู้นำทั้งฝ่ายพระและประชาชน ให้รู้จักคุ้นเคยกับท่านอาจารย์ซึ่งเป็นพระสำคัญ
ตลอดการทำบุญให้ทานและรับการอบรมสั่งสอนจากท่าน
ประกอบกับท่านเจ้าคุณท่านก็เคยเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่นมาดั้งเดิมที่ท่านรักและเมตตามากเสมอมา
จึงได้มาอนุเคราะห์เป็นวาระสุดท้าย
เวลาไปพักที่บ้านนามน
จังหวัดสกลนคร ก็มีอุบาสิกานุ่งขาวแก่ ๆ
คนหนึ่งเป็นหัวหน้าสำนักอยู่ในหมู่บ้านนั้นเป็นสาเหตุ
ท่านได้เมตตาสั่งสอนอุบาสิกาแก่คนนั้นโดยสม่ำเสมอ อุบาสิกาคนนั้นภาวนาดี
มีหลักใจทางด้านจิตตภาวนา ท่านเองก็ชมเชยว่าแกภาวนาดี ซึ่งนาน ๆ
จะได้พบสักรายหนึ่ง
ท่านมาพักบ้านหนองผือ
นาใน ก็ทราบว่ามีสถานที่และผู้เกี่ยวข้องเป็นสาเหตุสำคัญไม่ด้อยกว่าที่อื่น ๆ
สถานที่ที่บ้านหนองผือตั้งอยู่นั้นเป็นศูนย์กลาง
มีภูเขาล้อมรอบแต่เนื้อที่ในหุบเขานั้นกว้างขวางมาก
และเหมาะเป็นทำเลบำเพ็ญสมณธรรมของพระธุดงค์ทั้งหลายได้ดี
ในหมู่บ้านหนองผือนั้นมีอุบาสิกาแก่นุ่งห่มขาวคนหนึ่งอายุราว ๘๐ ปี
เช่นเดียวกับอุบาสิกาบ้านนามน
เป็นนักภาวนาสำคัญคนหนึ่งที่ท่านเมตตาแกเป็นพิเศษเสมอมา
แกพยายามตะเกียกตะกายออกไปศึกษาธรรมกับท่านเสมอ
แกพยายามเดินด้วยเท้ากับไม้เท้าเป็นเครื่องพยุงออกไปหาท่านอาจารย์
กว่าจะถึงวัดต้องพักเหนื่อยระหว่างทางถึงสามสี่ครั้ง
ทั้งเหนื่อยทั้งหอบน่าสงสารมาก
บางทีท่านอาจารย์ก็ทำท่าดุเอาบ้างว่า
โยมจะออกมาทำไม มันเหนื่อยไม่รู้หรือ แม้แต่เด็ก ๆ เขายังรู้จักเหนื่อย
แต่โยมแก่จนอายุ ๘๐-๙๐ ปีแล้วทำไมไม่รู้จักเหนื่อยเมื่อยล้า มาให้ลำบากทำไม แกเรียนตอบท่านอย่างอาจหาญตามนิสัยที่ตรงไปตรงมาของแก
จากนั้นท่านก็ถามเกี่ยวกับจิตตภาวนาและอธิบายธรรมให้ฟัง
อุบาสิกาแก่คนนี้นอกจากแกภาวนาดีมีหลักเกณฑ์ทางจิตแล้ว
แกยังมีปรจิตตวิชชา
คือสามารถรู้พื้นเพดีชั่วแห่งจิตของผู้อื่นได้ด้วยและมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลก ๆ ภายนอกด้วย
เวลาแกมารับการอบรมกับท่านอาจารย์ แกเล่าความรู้แปลก ๆ ถวายท่านด้วยความอาจหาญมาก
ท่านทั้งขบขันทั้งหัวเราะ ทั้งเมตตาว่ายายแก่นี้อาจหาญจริง ไม่กลัวใคร
แม้พระเณรจะนั่งฟังอยู่เวลานั้นร่วมครึ่งร้อย แกพูดของแกอย่างสบาย
ไม่สนใจว่าใครจะคิดอะไร ที่น่าฟังมากก็ตอนที่แกทายใจท่านอาจารย์อย่างอาจหาญมาก
ไม่กลัวท่านจะว่าจะดุอะไรบ้างเลย
แกทายว่าจิตหลวงพ่อพ้นไปนานแล้ว
“ฉันทราบจิตหลวงพ่อมานานแล้ว
จิตหลวงพ่อไม่มีใครเสมอ ทั้งในวัดนี้หรือที่อื่น ๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐเลิศโลกแล้ว
หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไรอีก” ท่านตอบแกทั้งหัวเราะว่า
“ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย
ใครถอยผู้นั้นมิใช่ศิษย์ตถาคต” ดังนี้
ซึ่งเป็นอุบายสั่งสอนไปในตัว แกเรียนท่านว่า “ถ้าไปได้ก็พอไป แต่นี่จิตหลวงพ่อหมดทางไปทางมาแล้ว
มีแต่ความสว่างไสวและความประเสริฐเต็มดวงจิตอยู่แล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปไหนอีกเล่า
ฉันดูจิตหลวงพ่อสว่างไสวครอบโลกไปหมดแล้ว อะไรมาผ่านหลวงพ่อก็ทราบหมด
ไม่มีอะไรปิดบังจิตหลวงพ่อได้เลย แต่จิตฉันมันยังไม่ประเสริฐอย่างจิตหลวงพ่อ
จึงต้องออกมาเรียนถามเพื่อหลวงพ่อได้ชี้แจงทางเดินให้ถึงความประเสริฐอย่างหลวงพ่อด้วยดังนี้”
ขณะที่ฟังแกสนทนากับท่านอาจารย์รู้สึกว่าแกภาวนาดีจริง
ๆ เวลาภาวนาติดขัดแกต้องพยายามเดินคืบคลานออกมาด้วยไม้เท้าเป็นเพื่อนร่วมทาง
ท่านอาจารย์ก็เมตตาแกเป็นพิเศษด้วย
ทุกครั้งที่แกมาจะได้รับคำชี้แจงจากท่านทางด้านจิตตภาวนาด้วยดี
ขณะที่แกมาหาท่านอาจารย์ พระเณรต่างองค์ต่างมาแอบอยู่แถวบริเวณข้าง ๆ ศาลาฉัน ซึ่งเป็นที่ที่ยายแก่มาสนทนาธรรมกับท่าน
เพื่อฟังปัญหาธรรมทางจิตตภาวนาระหว่างท่านอาจารย์กับยายแก่สนทนากัน
เท่าที่ฟังดูแล้ว รู้สึกน่าฟังอย่างเพลินใจ
เพราะเป็นปัญหาที่รู้เห็นขึ้นจากการภาวนาล้วน ๆ เกี่ยวกับอริยสัจทางภายในบ้าง
เกี่ยวกับพวกเทพพวกพรหมภายนอกบ้าง ทั้งภายในและภายนอก เมื่อยายแก่เล่าถวายจบลง
ถ้าท่านเห็นด้วยท่านก็ส่งเสริมเพื่อเป็นกำลังใจในการพิจารณาธรรมส่วนนั้นให้มากยิ่งขึ้น
ถ้าตอนใดที่ท่านไม่เห็นด้วย ก็อธิบายวิธีแก้ไข
และสั่งสอนให้ละวิธีนั้นไม่ให้ทำต่อไป
ยายแก่มาเล่าถวายท่านถึงการรู้จิตท่านและรู้จิตพระเณรในวัด
รู้สึกน่าฟังมาก พระเณรทั้งแสดงอาการหวาด ๆ บ้าง แสดงอาการอยากฟังแกเล่าบ้าง
แกว่านับแต่จิตท่านอาจารย์ลงถึงจิตพระเณร ความสว่างไสวลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับลำดา
เหมือนดาวใหญ่กับดาวเล็ก ๆ ทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันฉะนั้น
รู้สึกน่าดูและน่าชมเชยมาก ที่มองดูจิตพระจิตเณรมีความสว่างไสวและสง่าผ่าเผย
ไม่เป็นจิตที่อับเฉาเฝ้าทุกข์ที่กลุ้มรุมดวงใจ แม้เป็นจิตพระหนุ่มและสามเณรน้อย ๆ
ก็ยังน่าปีติยินดีและน่าเคารพนับถือตามภูมิของแต่ละองค์
ที่อุตส่าห์พยายามชำระขัดเกลาได้ตามฐานะของตน ๆ
บางครั้งแกมาเล่าถวายท่านเรื่องแกขึ้นไปพรหมโลก
ว่าเห็นแต่พระจำนวนมากมายในพรหมโลก ไม่เห็นมีฆราวาสสลับปนอยู่บ้างเลย
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ท่านตอบว่า “เพราะที่พรหมโลกโดยมากมีแต่พระที่ท่านบำเพ็ญจิตสำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผลแล้ว
เวลาท่านตายก็ไปเกิดในพรหมโลก
ส่วนฆราวาสมีจำนวนน้อยมากที่บำเพ็ญตนจนได้สำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผล
แล้วไปเกิดและอยู่ในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง ฉะนั้น
โยมจึงเห็นแต่พระไม่เห็นฆราวาสสับปนอยู่เลย อีกประการหนึ่ง
ถ้าโยมสงสัยทำไมจึงไม่ถามพระท่านบ้าง เสียเวลาขึ้นไปถึงแล้ว มาถามอาตมาทำไม” แกหัวเราะแล้วเรียนท่านว่า “ลืมเรียนถามพระท่าน เวลาลงมาแล้วจึงระลึกได้ก็มาเรียนถามท่าน
ต่อไปถ้าไม่ลืมเวลาขึ้นไปอีกจึงจะเรียนถามพระท่าน”
ท่านอาจารย์ตอบปัญหายายแก่มีความหมายเป็นสองนัย
นัยหนึ่งตอบตามความจริง นัยสองตอบเป็นเชิงแก้ความสงสัยของยายแก่ที่ถาม
ต่อมาท่านห้ามไม่ให้แกออกรู้สิ่งภายนอกมากไป เสียเวลาพิจารณาธรรมภายในซึ่งเป็นทางมรรคทางผลโดยตรง
ยายแก่ก็ปฏิบัติตามท่าน ท่านอาจารย์เองชมเชยยายแก่คนนั้นให้พระฟังเหมือนกันว่า
แกมีภูมิธรรมสูงที่น่าอนุโมทนา พวกพระเรามีหลายองค์ที่ไม่อาจรู้ได้เหมือนยายแก่
คงเป็นด้วยเหตุเหล่านี้ที่ทำให้ท่านพักอยู่วัดหนองผือนานกว่าที่อื่น ๆ บ้าง คือวัดหนองผือเป็นศูนย์กลางของคณะปฏิบัติทั้งหลายทั้งที่เที่ยวอยู่ในที่ต่าง
ๆ แถบนั้น ทั้งที่พักอยู่ตามสำนักต่าง ๆ ที่ไปมาหาสู่ท่านได้อย่างสะดวกสบาย
ทั้งทำเลบำเพ็ญสมณธรรมมีมาก หาเลือกได้ตามชอบใจ เพราะมีทั้งป่าธรรมดา มีทั้งภูเขา
มีทั้งถ้ำ ซึ่งเหมาะแก่ผู้แสวงหาที่บำเพ็ญอยู่มาก
ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่วัดหนองผือ
๕ พรรษา เฉพาะองค์ท่านเองพักอยู่กับที่
ไม่ค่อยได้ไปเที่ยววิเวกทางไหนเหมือนเมื่อก่อน เพราะอายุท่านราว ๗๕ ปีเข้าไปแล้ว
สุขภาพก็นับวันทรุดลง
เพียงพักอยู่เป็นร่มเงาของบรรดาศิษย์ที่กำลังแสวงหาธรรมได้อาศัยความร่มเย็น ก็เป็นที่ภาคภูมิใจพอแล้ว
ท่านพักอยู่ที่นี่ เหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับภูตผีเทวดาไม่ค่อยมีมาก
มีมาหาท่านก็เป็นบางสมัย ไม่ค่อยมีบ่อยนักเหมือนท่านพักอยู่ที่เชียงใหม่
แต่ท่านทำประโยชน์แก่พระเณรและประชาชนได้มากกว่าที่อื่น ๆ ในเขตจังหวัดสกลนคร
ที่วัดหนองผือโดยมากเป็นป่าดงพงลึกไข้ป่าชุกชุมมาก พระเณรไปกราบเยี่ยมท่าน
ท่านต้องสั่งให้รีบออกถ้าจวนเข้าหน้าฝน ถ้าหน้าแล้งก็อยู่ได้นานหน่อย
ผู้ป่วยต้องใช้ความอดทนเพราะยาแก้ไข้ไม่มีใช้กันเลยในวัดนั้น เนื่องจากยาหายาก
ไม่เหมือนสมัยทุกวันนี้ ถ้าเป็นไข้จำต้องใช้ธรรมโอสถแทนยา คือต้องพิจารณาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วยสติปัญญาอย่างเข้มแข็งและแหลมคม
ไม่เช่นนั้นก็แก้ทุกขเวทนาไม่ได้ ไข้ไม่สร่างไม่หายได้เร็วกว่าธรรมดาที่ควรเป็นได้
ผู้ที่สติปัญญาผ่านทุกขเวทนาในเวลาเป็นไข้ไปได้อย่างอาจหาญ
ย่อมได้หลักยึดทั้งเวลาปกติและเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์ ตลอดเวลาจวนตัวจริง ๆ
ไม่ท้อแท้อ่อนแอและเสียทีในวาระสุดท้าย
เป็นผู้กำชัยชนะในทุกขสัจไว้ได้อย่างประจักษ์ใจ และอาจหาญต่อคติธรรมดา คือความตาย
การรู้ทุกขสัจด้วยสติปัญญาจริง ๆ ไม่มีการอาลัยในเวลาต่อไป
จิตยึดความจริงที่เคยพิจารณารู้แล้วเป็นหลักใจตลอดไป เมื่อถึงคราวจวนตัวเข้ามา
สติปัญญาประเภทนั้นจะเข้ามาเทียมแอกเพื่อลากเข็นทุกข์
ด้วยการพิจารณาให้ถึงความปลอดภัยทันที
ไม่ยอมทอดธุระนอนจมทุกข์อยู่ดังแต่ก่อนที่ยังไม่เคยกำหนดรู้ทุกข์เลย
แต่สติปัญญาประเภทนี้จะเข้าประชิดข้าศึกทันที
กิริยาท่าทางภายนอกก็เป็นเหมือนคนไข้ทั่ว
ๆ ไป คือมีการอิดโหยโรยแรงเป็นธรรมดา
แต่กิริยาภายในคือใจกับสติปัญญาจะเป็นลักษณะทหารเตรียมออกแนวรบ
ไม่มีการสะท้านหวั่นไหวต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมากน้อยในขณะนั้น
มีแต่การค้นหามูลความจริงของกาย เวทนา จิต ธรรม
ซึ่งเป็นที่รวมแห่งทุกข์ในขณะนั้นอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่กลัวว่าตนสู้หรือทนทุกข์ไม่ไหว
กลัวแต่สติปัญญาจะไม่รู้รอบทันกับเวลาที่ต้องการเท่านั้น
การพิจารณาธรรมของจริงมีทุกขสัจเป็นต้น
กับผู้ต้องการรู้ความจริงอยู่อย่างเต็มใจที่เคยรู้เห็นมาแล้วนั้น
ท่านไม่ถือเอาความลำบากมาเป็นเครื่องกีดขวางทางเดินให้เสียเวลา และทำความอ่อนแอแก่ตนอย่างไร้ประโยชน์ที่ควรจะได้เลย
มีแต่คิดว่าทำอย่างไรจึงจะรู้
ทำอย่างไรจึงจะเห็นความจริงดังที่เคยเห็นประจักษ์มาแล้ว
ก็ต้องทำอย่างนั้นจนรู้ประจักษ์ขึ้นมาในปัจจุบัน
ไม่พ้นมือสติปัญญาศรัทธาความเพียรไปได้
เมื่อรู้ความจริงแล้ว
ทุกข์ก็จริง กายก็จริง ใจก็จริง ต่างอันต่างจริง ไม่มีอะไรรังควานรังแกบีบคั้นกัน
สมุทัยที่ก่อเหตุให้เกิดทุกข์ก็สงบตัวลง
ไม่คิดปรุงว่ากลัวทุกข์กลัวตายหรือกลัวไข้ไม่หายอันเป็นอารมณ์เขย่าใจให้ว้าวุ่นขุ่นมัวไปเปล่า
ๆ เมื่อสติปัญญารู้รอบแล้ว ไข้ก็สงบลงในขณะนั้น หรือแม้ไข้ยังไม่สงบลงในขณะนั้น
แต่ไม่กำเริบรุนแรงต่อไป และไม่ทับใจให้เกิดทุกขเวทนาไปด้วย
ที่เรียกว่าป่วยกายป่วยใจ กลายเป็นไข้สองซ้อน
การพิจารณาทุกขเวทนาในเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์
พระธุดงค์ท่านชอบพิจารณาเป็นข้อวัตรของการฝึกซ้อมสติปัญญาให้ทันกับเรื่องของตัว โดยมากก็เรื่องทุกข์ ทั้งทุกข์กาย ทั้งทุกข์ใจ
รายใดขณะที่กำลังเป็นไข้แสดงอาการระส่ำระสายกระวนกระวาย
ในวงพระปฏิบัติท่านถือว่ารายนั้นไม่เป็นท่าทางจิตใจ เกี่ยวกับสมาธิและปัญญา
ไม่สามารถประคองตัวได้ในเวลาจำเป็นเช่นนั้น
ไม่สมกับสร้างสติปัญญาเครื่องปราบปรามและป้องกันตัวไว้เพื่อสงคราม คือ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากเหตุต่าง
ๆ แต่แล้วกลับเหลวไหลไร้มรรยาทขาดสติปัญญา แต่รายใดสำรวมสติอารมณ์ได้ด้วยสติปัญญา
ไม่แสดงอาการทุรนทุรายในเวลาเช่นนั้น ท่านชมและถือว่ารายนั้นดีจริง
สมเกียรติพระปฏิบัติที่เป็นนักต่อสู้ สมกับปฏิบัติมาเพื่อต่อสู้จริง ๆ เห็นผลในการปฏิบัติของตนและประกาศตนให้หมู่คณะเห็นประจักษ์โดยทั่วกันอีกด้วย
วงพระธุดงค์ท่านถือกันตรงนี้เป็นสำคัญ
แม้องค์ที่ถูกภัยคุกคามนั้น
ท่านก็ถือท่านเหมือนกันว่าจะไม่ยอมแพ้แม้จนตายไปในเวลานั้น
คือไม่ยอมแพ้ทางสติปัญญาอันเป็นเครื่องพิจารณาเพื่อหาทางออกอย่างปลอดภัยไร้กังวล
เมื่อสุดวิสัยจะอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว
ดังนั้น
ผู้ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงความจริงดังที่ท่านสั่งสอนไว้แล้ว
จึงเป็นผู้เชื่อต่อความจริง ไม่ยอมถอยทัพกลับแพ้ข้าศึกที่เผชิญหน้าอยู่ในขณะนั้น
ต้องต่อสู้จนตาย ร่างกายทนไม่ไหวก็ปล่อยให้ตายไป แต่ใจกับสติปัญญาเครื่องรักษาและป้องกันตัว
ท่านไม่ยอมปล่อยวาง พยายามฉุดลากกันไปจนได้ ไม่ให้ไร้ผลในส่วนที่ตนมุ่งหมาย
สมกับเป็นนักรบหวังชัยชนะเพื่อเอาตัวรอดพาไปจอดในที่เหมาะสมและปลอดภัยจริง ๆ
ธรรมบทว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
นั้นเห็นประจักษ์อยู่กับใจผู้ปฏิบัติตามหลักความจริงไม่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่นแน่นอน
นอกจากปฏิบัติแบบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกไม่จริงไม่จังเท่านั้น
ผลก็ไม่ทราบว่าจะให้เป็นความจริงมาได้อย่างไร นอกจากจะมาขัดกับความจริงเท่านั้น
ไม่มีอย่างอื่นที่จะพอสันนิษฐานได้ เพราะคำว่าธรรมแล้วต้องเหตุกับผลลงกันได้
จึงจะเรียกว่า สวากขาตธรรม ตามที่ประทานไว้
พระธุดงค์ท่านมุ่งปฏิบัติเพื่อเห็นผลในปัจจุบันทันตาจากศาสนธรรมมากกว่าอื่น
ในบรรดาผลที่จะควรปรากฏในปัจจุบัน เช่น สมาธิความสงบเย็นใจ
ปัญญาการถอดถอนลูกศรคือกิเลสประเภทต่าง ๆ ออกจากใจ
ซึ่งทั้งสองประเภทนี้เป็นความสุขเย็นใจขึ้นไปเป็นขั้น ๆ ที่ควรจะเห็นได้ประจักษ์ใจในทิฏฐธรรมปัจจุบัน
ท่านจึงหมายมั่นหมั่นเพียรเพื่อรู้เห็นในปัจจุบัน
อันเป็นการตัดปัญหาข้อขัดข้องและกดถ่วงใจไปเป็นพัก ๆ ถ้าควรพ้นไปได้ในวันนี้
เดือนนี้ ปีนี้ หรือชาตินี้
ก็ขอให้พ้นไปด้วยความเพียรที่กำลังตะเกียกตะกายอยู่อย่างสุดกำลังตลอดมา
แม้ท่านอาจารย์เองก็อบรมพระเณรด้วยอุบายการปลุกจิตปลุกใจ
ไม่ให้ท้อแท้อ่อนแอต่อหน้าที่ของตน ทั้งในยามปกติและเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์
ท่านเทศน์ปลุกใจให้เป็นนักต่อสู้เพื่อกู้ตัวเองให้พ้นภัยไปทุกระยะ
ยิ่งเวลาป่วยไข้ด้วยแล้ว รายใดแสดงอาการอ่อนแอและกระวนกระวาย ไม่สำรวมมรรยาทและสติอารมณ์ด้วยแล้ว
รายนั้นต้องถูกเทศน์อย่างหนัก ดีไม่ดีไม่ให้พระเณรไปพยาบาลรักษาเสียด้วย
โดยเห็นว่าความอ่อนแอความกระวนกระวายและร้องครางต่าง ๆ
ไม่ใช่ทางระงับโรคและบรรเทาทุกข์แต่อย่างใด คนดี ๆ
เราทำเอาก็ได้ไม่เห็นยากเย็นอะไร ทั้งไม่ใช่ทางของพระผู้มีเพศอันอดทนและใคร่ครวญเลย
ไม่ควรนำมาใช้ในวงปฏิบัติ จะกลายเป็นโรคระบาดติดต่อก่อแขนงออกไป
เป็นตัวอย่างไม่ดีแก่ผู้อื่นยึดเอาอย่าง
กลายเป็นโรคเลอะเทอะไปด้วยการร้องครางทิ้งเนื้อทิ้งตัวเหมือนสัตว์จะตายดิ้นรนกระเสือกกระสนฉะนั้น
เราเป็นพระและเป็นนักปฏิบัติ
อย่ายึดเอาลัทธิสัตว์มาใช้จะกลายเป็นพระลัทธิสัตว์
ศาสนาของสัตว์ไปทั่วทุกหนทุกแห่ง จนกลายเป็นพระโลกแตกศาสนาโลกแตกไป
ซึ่งมิใช่ลัทธิของพุทธศาสนาเลย อาการหนักหรือเบาแม้จะไม่แสดงออกมา
คนดีมีสติพอรู้เรื่องและดูกันรู้ เพราะการเจ็บไข้ได้ทุกข์
ใครก็เคยมีเคยเป็นมาด้วยกัน ถ้าหายได้ด้วยการกระวนกระวายร้องครางก็ไม่ต้องรักษากันด้วยหยูกยา
ใครเป็นขึ้นผู้นั้นร้องครางขึ้นเสียไข้ก็หายไปเอง
ยิ่งง่ายนิดเดียวไม่ต้องรักษาให้ลำบากและเสียเวลาเปล่า ๆ นี่เวลาเป็นไข้
เราร้องครางไข้มันหายไหมล่ะ ถ้าไม่หายจะร้องครางประกาศความโง่ความไม่เป็นท่าของตัวให้คนอื่นเบื่อกันทำไม
นี่คือกัณฑ์เทศน์รายที่ไม่เป็นท่าต้องได้รับจากท่าน
และทำให้ท่านผู้อื่นรำคาญด้วยความไม่เป็นท่าของเธอองค์นั้น
แต่รายที่เข้มแข็งและสงบสติอารมณ์ด้วยดี ไม่แสดงอาการทุรนทุราย
เวลาท่านไปเยี่ยมไข้ ท่านต้องแสดงความยินดีด้วย แสดงความชมเชยและเทศน์ให้ฟังอย่างจับใจและเพลินไปในขณะนั้น
แม้ไข้หายไปแล้วก็แสดงความชมเชยในลำดับต่อไปอยู่เสมอ
และแสดงความพอใจความไว้วางใจด้วยว่า ต้องอย่างนั้น
จึงสมกับเป็นนักรบในสงครามกองทุกข์ไม่ต้องบ่นให้ข้าศึกว่า มามากหรือมาน้อย
มาเท่าไรก็รบมันเท่านั้น จนสุดกำลังอาวุธและความสามารถขาดดิ้น
ไม่ถอยทัพกลับยอมแพ้ให้ข้าศึกมาเหยียบย่ำซ้ำเติม เราเป็นนักรบในวงปฏิบัติ
ไม่ต้องบ่นให้การเจ็บไข้ได้ทุกข์ว่าทุกข์มากทุกข์น้อย ทุกข์มีเท่าไรกำหนดรู้ให้หมด
เพราะทุกข์มากหรือน้อยล้วนเป็นสัจธรรมของจริงด้วยกัน
ผู้ประสงค์อยากรู้ของจริงแต่กลัวทุกข์ไม่ยอมพิจารณาจะรู้ของจริงได้อย่างไร
พระพุทธเจ้าทรงรู้ของจริงก็เพราะการพิจารณา มิใช่เพราะการร้องครางต่าง ๆ
ดังพระไม่เป็นท่าประกาศขายตัวอยู่เวลานี้ พระองค์ได้ตรัสไว้หรือเปล่าว่า
ถ้าต้องการรู้ความจริงต้องร้องต้องครวญคราง ผมเรียนน้อยจึงไม่เจอธรรมบทนี้
การร้องครางมันอยู่ในคัมภีร์ไหนก็ไม่ทราบ ใครเรียนมาก
ถ้าพบเห็นพระองค์ตรัสไว้ดังที่ว่านั้น นิมนต์นำมาบอกผมบ้าง
เผื่อจะไม่ต้องสั่งสอนใครให้พิจารณาและอดทนกันให้ลำบาก
ต่างคนต่างร้องเอาครางเอาให้เป็นของจริงขึ้นมาเต็มโลกธาตุโน้น
จะได้เห็นนักปราชญ์ที่ สำเร็จมรรคผลด้วยการครวญครางขึ้นในโลก
แข่งธรรมของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ได้สองพันกว่าปีแล้ว
ว่าไม่เป็นของจริงล้าสมัยไปแล้ว
ธรรมของนักปราชญ์รุ่นหลังนี้เป็นธรรมใหม่และจริงทันสมัย
ไม่ต้องพิจารณาให้ลำบาก เพียงแต่ครางเอาครางเอาเท่านั้นก็สำเร็จมรรคผลรวดเร็วทันใจ
สมกับสมัยที่คนชอบผลดีมีความสุขด้วยการทำเหตุชั่ว ๆ ซึ่งกำลังจะเกลื่อนโลกอยู่แล้ว
ต่อไปน่ากลัวโลกจะคับแคบไม่มีที่ให้นักปราชญ์สมัยใหม่อยู่ ผมมันหัวโบราณ
พระพุทธเจ้าว่าอย่างไรก็เชื่อตามอย่างนั้น ไม่กล้าลัดคิว
กลัวเวลาเท้าพ้นจากพื้นแล้วจะกลับเอาศีรษะและปากลงฟาดกับพื้นตายแบบไม่เป็นท่า
น่าอนาถใจเหลือประมาณ
ธรรมเหล่านี้จะได้ฟังเวลาท่านเทศน์
สอนพระที่อ่อนแอไม่อดทนและเข้มแข็งต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในเวลาป่วย
หรือเวลาฝึกทรมานตนด้วยตปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดความอ่อนแอท้อถอยขึ้นมาในระหว่างการบำเพ็ญ
ไม่สามารถพิจารณาด้วยอุบายต่าง ๆ จนผ่านพ้นไปได้ด้วยความพากเพียรของนักต่อสู้
จึงมักได้ฟังธรรมประเภทเผ็ดร้อนจากท่านเสมอ แต่ผู้สนใจจริง ๆ
ธรรมดังกล่าวกลับเป็นธรรมโอสถ
เครื่องปลุกประสาทให้เกิดความอาจหาญร่าเริงในการบำเพ็ญ ไม่ลดหย่อนอ่อนกำลังลงง่าย
ๆ มีทางกำชัยชนะได้เป็นพัก ๆ จนถึงแดนแห่งความเกษมได้ด้วยธรรมเหล่านี้
เพราะเป็นธรรมปลุกให้ตื่นตัวตื่นใจ ไม่นอนจมอยู่กับความเกียจคร้านอ่อนแอ
อันเป็นทางเดินของวัฏทุกข์ประจำวัฏวน
ระยะที่ท่านอาจารย์พักอยู่วัดหนองผือมีพระตายในวัด
๒ องค์ ตายบ้านนาในอีก ๑ องค์ องค์แรกอายุราวกลางคน ท่านองค์นี้บวชเพื่อปฏิบัติโดยเฉพาะ
และปฏิบัติอยู่กับท่านอาจารย์แบบเข้า ๆ ออก ๆ เรื่อยมาแต่สมัยท่านอยู่เชียงใหม่
และติดตามท่านจากเชียงใหม่มาอุดรฯ สกลนคร แล้วมามรณภาพที่วัดหนองผือ
ทางด้านจิตตภาวนาท่านดีมาก ทางสมาธิ
ส่วนทางปัญญากำลังเร่งรัดโดยมีท่านอาจารย์เป็นผู้คอยให้นัยเสมอมา ท่านมีนิสัยเคร่งครัดเด็ดเดี่ยวมาก
เทศน์ก็เก่งและจับใจไพเราะมาก ทั้งที่ไม่ได้หนังสือสักตัว
เทศน์มีปฏิภาณไหวพริบปัญญาฉลาด
สามารถยกข้อเปรียบเทียบมาสาธกให้ผู้ฟังเข้าใจได้อย่างง่าย ๆ
แต่น่าเสียดาย
ท่านป่วยเป็นวัณโรคกระเสาะกระแสะมานาน มาหนักมากและมรณะที่วัดหนองผือ
ตอนเช้าเวลาประมาณ ๗ น. ด้วยท่าทางอันสงบสมเป็นนักปฏิบัติทางจิตมานานพอสมควรจริง ๆ
เห็นอาการท่านในขณะจวนตัวและสิ้นลมแล้วเกิดความเชื่อเลื่อมใสในท่าน
และในอุบายวิธีของจิตที่ได้รับการฝึกอบรมมาเท่าที่ควร
ก่อนจะมาถึงวาระสุดท้ายซึ่งเป็นขณะที่ต้องช่วยตัวเองโดยเฉพาะ
ไม่มีใครแม้รักสนิทอย่างแยกไม่ออกจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้
จิตจะมีทางต้านทานสู้กับสิ่งเป็นภัยแก่ตนได้อย่างเต็มกำลังฝีมือที่มีอยู่และแยกตัวออกได้โดยปลอดภัย
เพราะวาระสุดท้ายเป็นข้าศึกศัตรูต่อตัวเองอย่างสำคัญ
ใครมีอุบายฉลาดหรือขลาดเขลาเมามัวเพียงไร ก็ต้องมาเผชิญกับเหตุการณ์อันนี้จนได้
ผู้ช่วยตัวเองได้ก็ดีไป ผู้ช่วยตัวเองไม่ได้ก็จมไป
และจมอยู่ในความไม่เป็นท่าของตนโดยไม่มีใครช่วยได้
ฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
โก นุ หาโส กิมานนฺโท เป็นต้น ซึ่งแปลเอาความว่า ก็เมื่อโลกอันความมืดด้วย ราคะ
โทสะ โมหะ เหมือนไฟกองใหญ่ไหม้ลุกโพลงอยู่ทั้งวันทั้งคืนเช่นนี้
ยังพากันหัวเราะเฮฮาหน้ายิ้มอยู่ได้ ทำไมไม่พากันแสวงหาที่พึ่งเสียแต่บัดนี้เล่า? อย่าพากันอยู่แบบนี้
เดี๋ยวจะพากันไปแบบนี้ ตายแบบนี้
แล้วก็เสวยผลทนทุกข์แบบนี้กันอีกไม่มีสิ้นสุดได้ดังนี้
ทั้งนี้ก็เพื่อเตือนหมู่ชนไม่ให้ลืมตัวจนเกินไป
พระคาถาที่ทรงเตือนไว้นั้นฟังแล้วน่าอับอายแทบมุดหน้าลงในดิน
กลัวพระองค์จะทรงมองหน้าตนที่เพลิดเพลินไม่รู้จักตาย อายก็อาย อยากก็อยาก รักก็รัก
เกลียดก็เกลียดเพราะนิสัยของปุถุชนมันหากดื้อด้านอย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา
ไม่ทราบจะทำอย่างไรจึงจะละได้ นี้เหมือนเป็นคำที่ทูลตอบพระองค์ด้วยความละอายที่ตนละไม่ได้ตามคำที่ทรงตำหนิ
ที่เขียนเรื่องพระองค์ที่มรณภาพในวัดหนองผือแทรกลงในประวัติท่านบ้าง
เนื่องจากเห็นว่าเป็นคติแก่พวกเราอยู่บ้าง ซึ่งกำลังเดินทางไปสู่จุดนั้นด้วยกัน
ได้พิจารณาเพื่อตัวเองในวาระต่อไป ขณะท่านองค์นั้นจะสิ้นลม
ท่านอาจารย์มั่นและพระสงฆ์ซึ่งกำลังจะออกบิณฑบาต
ได้พากันแวะไปปลงธรรมสังเวชที่กำลังแสดงอยู่อย่างเต็มตา
พอท่านสิ้นลมแล้วชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นขณะที่ท่านอาจารย์กำลังยืนรำพึงอยู่อย่างสงบ
ได้พูดออกมาด้วยท่าทางเคร่งขรึมว่า “ไม่น่าวิตกกับเธอหรอก เธอขึ้นไปอุบัติที่อาภัสรา พรหมโลกชั้น ๖
เรียบร้อยแล้ว” นับว่าหมดปัญหาไปสำหรับท่านในครั้งนี้ แต่เสียดายอยู่หน่อยหนึ่ง
ถ้าท่านมีชีวิตยืดเวลาเร่งวิปัสสนาให้มากยิ่งกว่านี้บ้าง ก็มีหวังได้ขึ้นพรหมโลก ๕
ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งแล้วเตลิดถึงที่สุดเลย ไม่ต้องกลับมาวกเวียนในวัฏวนนี้อีก
ที่เป็นปัญหาอยู่มากเวลานี้ก็คือพวกเรา
ไม่ทราบว่าใครจะเตรียมไปชั้นไหนกันแน่บ้าง จะไปชั้นเดียรัจฉาน เปรต ผี นรกอเวจี
หรือชั้นมนุษย์ เทวบุตร เทวธิดา อินทร์ พรหม หรือนิพพาน ชั้นใดกันแน่
ฉะนั้นเพื่อความแน่ใจจงดูเข็มทิศคือใจของตน ๆ ให้ดี ว่าเบนหน้าไปทางใดมาก
เป็นทางดีหรือชั่ว ควรพิจารณาด้วยดีแต่บัดนี้ ตายแล้วไม่มีทางแก้ไขได้อีก ใคร ๆ
ก็ทราบกันทั่วโลกว่าความตายคือแดนสุดวิสัย ทำอะไรต่อไปอีกไม่ได้ดังนี้
องค์ที่สองเป็นไข้ป่า
ท่านเป็นพระชาวอุบลฯ นับแต่เริ่มป่วยรวมเวลาประมาณหนึ่งเดือนก่อนท่านจะมรณภาพ
มีพระองค์หนึ่งท่านพิจารณาเห็นเหตุการณ์ของท่านผู้ป่วยอย่างไรไม่ทราบ
วันนั้นตอนเย็น ท่านขึ้นไปกราบท่านอาจารย์และสนทนาธรรมกันในแง่ต่าง ๆ
จนเรื่องวกเวียนมาถึงท่านผู้ป่วย
พระองค์นั้นได้โอกาสจึงกราบเรียนเหตุการณ์ที่ตนปรากฏถวายท่านว่า
คืนนี้ไม่ทราบว่าจิตเป็นอะไรไป กำลังพิจารณาธรรมอยู่ดี ๆ
พอสงบลงไปปรากฏว่าเห็นท่านอาจารย์ไปยืนอยู่หน้ากองฟืนที่ใครก็ไม่ทราบเตรียมขนมากองไว้ว่า
“ให้เผาท่าน…..ตรงนี้เอง ตรงนี้เหมาะกว่าที่อื่น ๆ
ดังนี้” ทำไมจึงปรากฏอย่างนั้นก็ไม่ทราบ
หรือผู้ป่วยจะไปไม่รอดจริงหรือ แต่ดูอาการก็ไม่เห็นรุนแรงนักที่ควรจะเป็นได้อย่างที่ปรากฏนั้น
พอพระองค์นั้นกราบเรียนจบลง
ท่านก็พูดขึ้นทันทีว่าผมพิจารณาทราบมานานแล้ว อย่างไรก็ไปไม่รอด
แต่เธอไม่เสียทีแม้จะไปไม่รอดสำหรับความตาย
เหตุการณ์แสดงบอกเกี่ยวกับจิตใจเธอสวยงามมาก สุคติเป็นที่ไปของเธอแน่ แต่ใคร ๆ
อย่าไปพูดเรื่องนี้ให้เธอฟังเด็ดขาด
เมื่อเธอทราบเรื่องนี้จะเสียใจแล้วจะทรุดทั้งกายและเสียทั้งใจ
สุคติที่เธอควรจะได้อยู่แล้วจะพลาดไปได้ เพราะความเสียใจเป็นเครื่องทำลาย
พออยู่ต่อมาไม่กี่วัน พระที่ป่วยก็เกิดปุบปับขึ้นในทันทีทันใดตอนค่อนคืน พอ ๓
นาฬิกากว่า ๆ ก็สิ้นลมไปด้วยความสงบ จึงทำให้คิดเรื่องท่านอาจารย์เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง
ๆ ว่า พออะไรมาผ่านท่านคงพิจารณาไปเรื่อย ๆ ในทุกเรื่อง
เมื่อทราบเหตุการณ์ชัดเจนแล้วก็ปล่อยไว้ตามสภาพของสิ่งนั้น ๆ
กลางวันวันหนึ่ง
มีพระเป็นไข้มาลาเรียในวัดนั้น วันนั้นปรากฏว่าไข้เริ่มหนักแต่เช้า เจ้าตัวก็ไม่ไปบิณฑบาตและไม่ฉันจังหันด้วย
พระที่ป่วยต่อสู้กับทุกขเวทนาด้วยการพิจารณาแต่เช้าจนบ่าย ๓ โมงไข้จึงสร่าง
ตอนกลางวันที่ท่านกำลังพิจารณาอยู่ ปรากฏว่ากำลังเรี่ยวแรงอ่อนเพลียมาก
ท่านเลยเพ่งจิตให้อยู่กับจุดใดจุดหนึ่งของทุกขเวทนาที่กำลังกำเริบหนัก
โดยไม่คิดทดสอบแยกแยะเวทนาด้วยปัญญาแต่อย่างใด
พอดีเวลานั้นเป็นเวลาที่ท่านอาจารย์ท่านพิจารณาดูพระองค์นั้นกำลังปฏิบัติอยู่อย่างชัดเจน
แล้วย้อนจิตกลับมาตามเดิม
พอบ่าย
๔ โมง ท่านที่ป่วยมาหาท่านอาจารย์พอดี ท่านก็ตั้งปัญหาถามขึ้นทันที
โดยพระนั้นไม่ทราบสาเหตุบ้างเลยว่า ทำไมท่านจึงพิจารณาอย่างนั้นเล่า? การเพ่งจิตจ้องอยู่ไม่ใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะ
กาย เวทนา จิต ให้รู้เรื่องของกันและกัน ท่านจะทราบความจริงของกาย ของเวทนา
ของจิตได้อย่างไร แบบท่านเพ่งจ้องอยู่นั้นมันเป็นแบบฤๅษี แบบหมากัดกัน
ไม่ใช่แบบพระผู้ต้องการทราบความจริงในธรรมทั้งหลาย มีเวทนาเป็นต้น
ต่อไปอย่าทำอย่างนั้น มันผิดทางที่จะให้รู้ให้เห็นความจริงทั้งหลายที่มีอยู่ในกาย
ในเวทนา ในจิต ตอนกลางวันผมได้พิจารณาดูท่านแล้วว่า
ท่านจะปฏิบัติอย่างไรบ้างกับทุกขเวทนาที่กำลังแสดงอยู่ในเวลาเป็นไข้
พอดีไปเห็นท่านกำลังเพ่งจิตจ่ออยู่กับเวทนาเฉย ๆ ไม่ใช้สติปัญญาคลี่คลายดูกาย
ดูเวทนา ดูจิตบ้างเลย พอเป็นทางให้สงบและถอดถอนทุกขเวทนาในเวลานั้น
เพื่อไข้จะได้สงบลงดังนี้
การอนุเคราะห์เมตตาแก่บรรดาศิษย์
ท่านมิได้เลือกกาลสถานที่ แต่อนุเคราะห์ด้วยวิธีต่าง ๆ
ตามที่เห็นสมควรจะทำได้เมื่อไรและแก่ผู้ใด ท่านเมตตาอนุเคราะห์อย่างนั้นเสมอมา
บางทีท่านก็บอกตรง ๆ ว่า
ท่านองค์นี้ไปภาวนาอยู่ที่ถ้ำโน้นดีกว่ามาอยู่กับหมู่คณะอย่างนี้
นิสัยท่านชอบถูกดัดสันดานอยู่เป็นนิตย์ นี่ก็ไปให้เสือช่วยดัดเสียบ้าง
จิตจะได้กลัวและหมอบสงบลงได้ พอเห็นอรรถเห็นธรรมและอยู่สบายบ้าง อยู่อย่างนี้ไม่ดี
คนหัวดื้อต้องมีสิ่งแข็ง ๆ คอยดัดบ้างถึงจะอ่อน เช่นเสือเป็นต้น
พอเป็นคู่ทรมานกันได้ คนกลัวเสือก็ต้องเอาเสือเป็นครู
ดีกว่าอาจารย์ที่ตนไม่กลัวเป็นครู กลัวผีก็ควรเอาผีเป็นครูคู่ทรมาน
จิตกลัวอะไรก็เอาสิ่งนั้นเป็นครูคู่ทรมาน จัดว่าเป็นผู้ฉลาดในการฝึกทรมานตน
พระองค์นั้นแต่ก่อนที่ยังไม่บวชเธอเคยเป็นนักเลงมาแล้ว
จึงมีนิสัยกล้าหาญและตรงไปตรงมา ว่าจะอยู่ต้องอยู่ ว่าจะไปต้องไป
และมีนิสัยหัวดื้ออยู่บ้าง แต่ดื้อแบบพระ พอได้รับโอวาทอย่างเด็ด ๆ เช่นนั้นแล้ว
เธอก็ตัดสินใจจะไปตามคำที่ท่านบอก โดยให้เหตุผลแก่ตัวเองว่า พระขนาดท่านอาจารย์มั่นนี้จะบอกเราไปให้เสือกินนั้น
เป็นไปไม่ได้แน่ ๆ เราต้องไปอยู่ถ้ำนั้นตามคำที่ท่านบอก ตายก็ยอมตาย
ไม่ต้องเสียดายชีวิตเพื่อได้เห็นเหตุเห็นผลในคำที่ท่านบอก
ว่ามีความจริงมากน้อยเพียงไร เราเคยได้ยินแต่คนอื่นบอกเล่าว่า
ท่านพูดอะไรต้องมีเหตุผลแฝงอยู่ในคำพูดนั้นอย่างสมบูรณ์เสมอไป
คือท่านพิจารณาด้วยความละเอียดถี่ถ้วนแล้วถึงได้พูดออกมา
ผู้ที่ทราบความหมายของท่านพยายามปฏิบัติตามย่อมได้ผลทุกรายไป
ก็คำที่ท่านพูดกับเราคราวนี้เป็นคำพูดที่หนักแน่นมาก
ซึ่งประกอบด้วยเมตตาพร้อมทั้งความเห็นแจ้งภายใน ประหนึ่งท่านควักเอาหัวใจเราไปขยี้ขยำดูจนทราบเรื่องทุกอย่างแล้ว
ถ้าเราไม่เชื่อและปฏิบัติตามท่าน เมตตาบอกอย่างตรงไปตรงมาในคราวนี้ เราก็ไม่ใช่พระ
เราก็คือนาย….ดี ๆ นั้นเอง อย่างไรก็ตาม
เราต้องไปอยู่ในถ้ำนั้นแน่นอนในครั้งนี้ จะตายก็ตายไป
เมื่อไม่ตายขอให้รู้ธรรมแปลกประหลาดในที่นั้นจนได้
คำพูดท่านบ่งบอกชื่อเราอย่างชัดเจนไม่มีเงื่อนงำแฝงอยู่เลย แม้คำที่ท่านว่า “เราหัวดื้อไม่ยอมลงใครง่าย ๆ” นั้น
ก็เป็นเครื่องวัดความถูกต้องได้อย่างสมบูรณ์แล้ว
เรายังไม่สามารถรู้เรื่องเราได้เท่าท่านเลย เท่าที่ทราบบ้างก็เป็นดังท่านว่าจริง ๆ
เราจึงเป็นคนชนิดที่ท่านว่าร้อยเปอร์เซ็นต์
ฉะนั้นอุบายที่ท่านบอกเครื่องทรมานคือเสือให้เรา
จึงเป็นคำที่ไม่ควรขัดแย้งอย่างยิ่ง นอกจากจะปฏิบัติตามท่านเท่านั้น
ความจริงท่านองค์นี้มีนิสัยหัวดื้อไม่ลงใครง่าย
ๆ ดังท่านอาจารย์ว่าจริง ๆ พอเธอนำคำพูดของท่านไปคิดเป็นที่ปลงใจแล้ว
วันหลังก็มากราบลาท่านไปถ้ำนั้น พอขึ้นไปกราบ ท่านถามทันทีว่า “ท่าน….จะไปไหน เห็นครองผ้าเต็มยศมาหา
ทำนองจะออกแนวรบอย่างเอาจริงเอาจัง” เธอตอบท่านตามนิสัยว่า “กระผมจะไปตายในถ้ำที่ท่านอาจารย์บอกให้ไป” ท่านอาจารย์พูดสวนขึ้นมาทันทีว่า “ผมบอกท่านให้ไปตายในถ้ำนั้นจริง ๆ
ดังท่านว่าหรือ ผมบอกให้ท่านไปภาวนาต่างหากเล่า” เธอตอบท่านว่า “ความจริงท่านอาจารย์บอกกระผมให้ไปภาวนาต่างหาก
มิได้บอกให้ไปตาย แต่กระผมทราบจากพระท่านเล่าว่า
ถ้ำนั้นมีเสือโคร่งใหญ่อยู่ในถ้ำข้างบนของถ้ำที่กระผมจะไปอยู่นั้นเป็นประจำ
ซึ่งถ้ำนั้นอยู่ไม่ห่างจากถ้ำที่กระผมจะไปอยู่นักเลย และทราบว่ามันเคยเข้า ๆ ออก ๆ
ขึ้น ๆ ลง ๆ ถ้ำนั้นเสมอ เวลามันจะไปเที่ยวหากินที่ไหน
ก็ลงมาผ่านหน้าถ้ำที่กระผมจะไปพักเสมอ จึงไม่แน่ใจในชีวิตเวลาไปพักอยู่ที่นั้น
ฉะนั้น เวลาท่านอาจารย์ถาม กระผมจึงเรียนตอบตามความรู้สึกที่หวาดต่อมันอยู่เสมอมา”
ท่านถามว่า
“ก็ถ้ำนั้นเคยมีพระไปอยู่มาแล้วหลายองค์และหลายครั้ง
ก็ไม่ปรากฏว่าเสือมาเอาท่านไปกิน แต่เวลาท่านไปอยู่ที่นั้น
ทำไมเสือจะมาคว้าเอาไปกินเล่า? เนื้อท่านกับเนื้อพระเหล่านั้นต่างกันอย่างไรจึงทำให้เสือกลัวและกล้าและหิวโหยอยากกินต่างกันนักเล่า? ท่านไปได้เนื้อหอมหวานมาจากไหนเสือถึงได้ชอบนัก
ถึงกับต้องจดจ้องมองดู และคอยจะกินเฉพาะท่านเพียงองค์เดียวเท่านั้น” จากนั้นท่านก็อบรมสั่งสอนเกี่ยวกับมายาของใจที่หลอกลวงคนได้ร้อยแปดพันนัย
ยากที่จะตามทันได้ง่ายๆ ถ้าไม่ใช่นักทดสอบและวิพากษ์วิจารณ์จริงๆ จะทรมานใจดวงแสนปลิ้นปล้อนให้หายพยศได้ยาก
นี่ยังไม่ถึงไหนก็ยอมเชื่อกิเลสกระซิบใจยิ่งกว่าเชื่ออาจารย์เสียแล้ว
จะไปรอดหรือท่าน?
ความตายนั้นพวกเรายังไม่เคยตายกันแต่โลกกลัวกันมาก
ส่วนความเกิดอันเป็นเหยื่อล่อปลาทำให้ความตายปรากฏตัวขึ้นมา ไม่ค่อยมีใครกลัวกัน
ใคร ๆ ก็อยากเกิดกันทั้งโลก ไม่ทราบอยากเกิดอะไรกันนักหนา
เท่าที่เกิดมาเพียงร่างเดียวก็แสนทุกข์แสนกังวลพออยู่แล้ว
ถ้ามนุษย์เราแยกแขนงเกิดได้เหมือนแขนงไม้ไผ่แล้ว ก็ยิ่งอยากเกิดกันมาก
เพียงคนเดียวก็อยากแตกแขนงออกไปเป็นร้อยคนพันคน โดยไม่คิดถึงเวลาจะตายเลย
ว่าจะพร้อมกันกลัวความตายทีละตั้งร้อยคนพันคน
โลกนี้ต้องเป็นไฟแห่งความกลัวตายกันจนไม่มีที่อยู่แน่ ๆ เลย
เราเป็นนักปฏิบัติทำไมจึงกลัวตายนัก ยิ่งกว่าฆราวาสที่ไม่เคยได้รับการอบรมมาเลย
และทำไมจึงปล่อยใจให้กิเลสย่ำยีหลอกหลอนจนกลายเป็นคนสิ้นคิดไปได้
ทั้งที่ความคิดและสติปัญญามีอยู่
ทำไมจึงไม่นำออกมาใช้เพื่อขับไล่กิเลสกองต้มตุ๋นที่ซ่องสุมอยู่ในหัวใจให้แตกกระจายออกไปบ้าง
จะได้เห็นความโง่เขลาของตัวที่เคยมัวเมาเฝ้ากิเลสมานานไม่เคยเห็นฤทธิ์ของมัน
สนามชัยของนักรบก็คือความกล้าตายในสงครามนั่นเอง
ถ้าไม่กล้าตายก็ไม่ต้องเข้าสู่แนวรบ ความกล้าตายนั่นแลเป็นทางมาแห่งชัยชนะข้าศึกศัตรู
ถ้าท่านมุ่งต่อแดนพ้นทุกข์ด้วยความเห็นทุกข์จริง ๆ
ท่านก็ต้องเห็นความกลัวตายนั้นว่าเป็นกิเลสพอกพูนทุกข์บนหัวใจ
แล้วตามแก้ไขกันที่สนามชัยอันเป็นที่เหมาะสมดังที่ผมชี้บอก
ท่านก็จะเห็นโทษแห่งความกลัวว่าเป็นตัวเขย่าก่อกวนใจให้กระเพื่อมขุ่นมัว
และเป็นทุกข์ในวันใดหรือเวลาหนึ่งแน่นอน
ดีกว่าท่านจะนั่งกอดนอนกอดความกลัวตายนั้นไว้เผาลนหัวอกให้เกิดความทุกข์ร้อนนอนครางอยู่ในใจ
ไม่มีวันปลดปล่อยได้ดังที่เป็นอยู่เวลานี้
ท่านจะเชื่อธรรม
เชื่อครูอาจารย์ ว่าเป็นความเลิศประเสริฐศักดิ์สิทธิ์
หรือท่านจะเชื่อความกลัวที่กิเลสปล่อยมายั่วหัวอกให้มีความสะทกสะท้านหวั่นไหว
จนไร้สติปัญญาเครื่องปลดเปลื้องแก้ไขตน
มองไปทางไหนมีแต่เสือจะมากัดมาฉีกไปกินเป็นอาหารอยู่ทำนองนั้น
นิมนต์นำไปคิดให้ถึงใจ ธรรมที่ผมเคยปฏิบัติดัดสันดานตนและเคยได้ผลมาแล้ว ก็มีดังที่พูดให้ท่านฟังนี้แล
นอกนั้นผมยังมองไม่เห็น ขอจงคิดให้ดีตัดสินใจให้ถูก
นับแต่ขณะที่ท่านเทศน์กัณฑ์หนัก
ๆ ให้ฟังแล้ว
เธอว่าขณะนั้นใจเหมือนจะออกแสงแพรวพราวขึ้นด้วยความกล้าหาญเพราะความปีติในธรรม
พอท่านเทศน์จบลงก็กราบลาท่านลงมา และเตรียมตัวออกเดินทางไปถ้ำในขณะนั้น
เมื่อไปถึงถ้ำด้วยความกล้าหาญและเอิบอิ่มด้วยปีติยังไม่หาย
ก็ปลงบริขารลงจากบนบ่าเที่ยวดูทำเลที่พักตามบริเวณนั้น แต่ตาเจ้ากรรม ใจเจ้าเวร
ทำให้ระลึกถึงเสือขึ้นมาได้ว่า ถ้ำนี้มีเสือ
พร้อมกับสายตาที่มองลงไปพื้นบริเวณหน้าถ้ำ ก็ไปเจอเอารอยเท้าเสือที่เหยียบไว้แต่เมื่อไรไม่ทราบอย่างถนัดตา
ใจรู้สึกสะท้านกลัวขึ้นมาในขณะนั้นแทบเป็นบ้าไปได้ จนลืมโอวาทท่านอาจารย์ที่สอนไว้
และลืมความกล้าหาญที่เคยออกแสงแพรวพราวขณะที่นั่งฟังเทศน์อยู่วัดหนองผือเสียโดยสิ้นเชิง
มีแต่ความกลัวเต็มหัวใจ พยายามแก้ความกลัวด้วยวิธีต่าง ๆ ก็ไม่หาย
ต้องเดินไปกลบรอยเสือด้วยฝ่าเท้าออกจนหมดก็ยังไม่หายกลัว
แต่มีเบาลงเล็กน้อยที่มองไปไม่เห็นรอยมันอีก
นับแต่ขณะที่เหลือบมองลงไปเจอรอยเสือ
จนกระทั่งกลางคืนตลอดรุ่งยังแก้กันไม่ตก แม้กลางวันก็ยังกลัว
ยิ่งตกกลางคืนยิ่งเพิ่มความกลัวหนักเข้า ราวกับบริเวณที่พักนั้นเต็มไปด้วยเสือทั้งสิ้น
จากนั้นไข้มาลาเรียชนิดจับสั่นก็เริ่มกำเริบขึ้นอีก
เท่ากับตกนรกทั้งเป็นอยู่ในถ้ำนั้น ไม่มีความสบายกายสบายใจเอาเลย
แต่น่าชมเชยท่านที่ใจแข็งแกร่ง
ไม่ยอมลดละความพยายามทรมานตนให้หายกลัวด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ ตลอดไป
ไข้ก็กำเริบรุนแรงขึ้นตาม ๆ กัน หรือจะเป็นเพราะธรรมบันดาลก็สุดจะคาดถึง
ทั้งทุกข์เพราะกลัวเสือ ทั้งทุกข์เพราะไข้กำเริบ จนไม่เป็นตัวของตัว
แทบเป็นบ้าไปได้ในเวลานั้น นาน ๆ
ระลึกถึงโอวาทและพระคุณของท่านอาจารย์มั่นได้ทีหนึ่ง หัวใจที่เต็มไปด้วยไฟ
คือความทุกข์ทรมานก็สงบลงได้พักหนึ่ง
ตอนไข้กำเริบรุนแรงเป็นเหตุให้ท่านระลึกสละตายขึ้นมาได้
ก็รีบถามตัวเองในขณะนั้นว่า
ก่อนจะมาอยู่ที่นี่ก็ได้คิดอย่างเต็มใจแล้วว่าจะมาสละตาย
เวลาท่านอาจารย์ถามว่าจะไปไหน ได้ตอบท่านว่าจะไปตายในถ้ำนั้น
แล้วก็มาด้วยความอาจหาญต่อความตายราวกับจะเหาะเหินเดินฟ้าได้ แต่เมื่อมาถึงถ้ำอันเป็นที่ตายจริง
ๆ แล้ว ทำไมจึงกลับไม่อยากตาย และมีความกลัวตายจนตั้งตัวไม่ติด ใจเราคนเดียวกัน
มิได้ไปเที่ยวหาเอาหัวใจคนขี้ขลาดหวาดกลัวของผู้ใดและของสัตว์ตัวใดมาสวมใส่เข้า
พอจะกลายเป็นผู้ใหม่และสัตว์ตัวใหม่ที่ขี้ขลาดขี้กลัวขึ้นมาในเราคนเดียวกัน แล้วทำไมเวลาอยู่โน้นเป็นอย่างหนึ่ง
บทมาอยู่ที่นี้กลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราจะเอาอย่างไรกันแน่
รีบตัดสินใจเดี๋ยวนี้อย่าชักช้า
เอาอย่างนี้ดีไหม
เราจะตัดสินใจให้ คือ หนึ่ง ออกไปนั่งภาวนาอยู่ริมเหว
ถ้าเผลอสติก็ให้มันตกลงไปตายอยู่ในเหว
ให้แร้งกาแมลงวันมาจัดการศพให้เลย ไม่ต้องให้ยุ่งยากกับชาวบ้าน
เพราะเราเป็นพระไม่เป็นท่า อย่าให้ใครมาแตะต้องกายของพระไม่เป็นท่าให้แปดเปื้อนเขา
แล้วกลายเป็นคนไม่เป็นท่าไปหลายคนเลย สอง ออกไปนั่งภาวนาอยู่ทางขึ้นถ้ำเสือ
เวลาเสือออกไปเที่ยวหากิน อย่าให้มันต้องลำบาก จะได้โดดคาบคอพระไม่เป็นท่าองค์นี้ไปเป็นอาหารว่างของมันในคืนนี้
จะเอาข้อไหนให้เลือกเอาเดี๋ยวนี้อย่าเนิ่นนาน เราจะพาจัดการเดี๋ยวนี้
ว่าแล้วก็ออกจากมุ้งมายืนอยู่หน้าถ้ำขณะหนึ่งรอการตัดสินใจ
สุดท้ายก็ตกลงเอาตามข้อที่หนึ่ง คือออกไปนั่งภาวนาอยู่ริมเหวอย่างหมิ่นเหม่ที่สุด
ถ้าเผลอก็ต้องมอบศพให้สัตว์จำพวกที่พูดฝากไว้แล้วเหล่านั้นแน่นอน
แล้วก็เตรียมนั่งภาวนาหันหน้าไปทางเหวลึก หันหลังออกมาทางที่เสือเดินขึ้นถ้ำ
บริกรรมภาวนาด้วยพุทโธ กับคำว่า ถ้าประมาทต้องตายในบัดเดี๋ยวใจไม่ชักช้า
ขณะที่นั่งบริกรรมภาวนาได้ทำความสังเกตดูใจว่า จะกลัวตกเหวตายหรือจะกลัวเสือกินตาย
ปรากฏว่ากลัวตกเหวตายเป็นกำลัง
และตั้งสติมิได้พลั้งเผลอจากคำบริกรรมด้วยธรรมสองบทนั้น ตามแต่จิตจะระลึกได้บทใดเวลาใด
พอภาวนาตั้งท่าตายอยู่ริมเหวลึกไม่นานเลย
จิตก็รวมสงบตัวลงอย่างรวดเร็ว และลงถึงฐานของอัปปนาสมาธิเลย
รวดเดียวดับเงียบไปเลยในขณะนั้น หมดความกังวลวุ่นวายที่เป็นไฟเผาใจ
เหลือแต่เจ้าของของผู้กลัวตายคือจิตดวงเดียวเท่านั้น ทรงตัวอยู่อย่างอัศจรรย์
ความกลัวตายได้หายไปโดยสิ้นเชิง นับแต่เวลา ๔ ทุ่มจนถึง ๔
โมงเช้าของวันรุ่งขึ้นจิตจึงได้ถอนขึ้นมา มองดูตะวันขึ้นครึ่งฟ้าแล้ว
วันนั้นเลยไม่ต้องลงไปบิณฑบาตและไม่ฉันจังหันด้วย
พอจิตถอนขึ้นมาความกลัวไม่ทราบหายหน้าไปไหนหมด
ปรากฏแต่ความอาจหาญกับความอัศจรรย์ที่ไม่เคยปรากฏมาเท่านั้น
ไข้ก็ถอนหายขาดในคืนวันนั้น ไม่มีอีกต่อไปเลย
ท่านว่าธรรมโอสถรักษาได้ทั้งโรคมาลาเรีย ทั้งโรคขี้กลัวเสือ
นับแต่วันนั้นทั้งไข้ทั้งความกลัวไม่มีมารบกวนร่างกายและจิตใจอีกเลย
อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไปที่ไหนก็ไปได้อย่างสบายหายห่วง
เสือจะมาหรือไม่มาเลยไม่สนใจคิด นอกจากคิดอยากให้เสือมาบ้าง
จะได้ทดลองจิตด้วยวิธีเดินเข้าไปหาเสือ
โดยไม่มีความสะทกสะท้านแม้แต่น้อยเลยเท่านั้น ทั้งได้ระลึกถึงพระคุณท่านอาจารย์อย่างเทิดทูนบนศีรษะอยู่ตลอดเวลา
ว่าเราได้เห็นฤทธิ์ของกิเลสตัวกลัว ๆ
เพราะท่านสอน
พอท่านจับเคล็ดของจิตได้แล้ว
ท่านฝึกทรมานจิตด้วยวิธีนั้นตลอดมา
คือชอบเที่ยวแสวงหาที่น่ากลัวมากเป็นที่นั่งสมาธิภาวนา
แม้ท่านพักอยู่ในถ้ำนั้นนับแต่วันนั้นมาแล้วก็ฝึกแบบนั้นตลอดไป
โดยเที่ยวหานั่งภาวนาอยู่ในที่ต่าง ๆ เช่น ทางเสือขึ้นถ้ำบ้าง
ทางเสือเคยเดินผ่านไปมาบ้าง ขณะที่นั่งภาวนาในที่พักท่านก็ไม่ลดมุ้งลง
โดยความหมายว่า ถ้าลดมุ้งลงจิตจะไม่นึกกลัวเสือแล้วจะไม่รวมสงบลงได้อย่างใจหมาย
หรือนั่งภาวนาอยู่หน้าถ้ำบ้าง นอกมุ้งบ้าง ตามแต่วิธีที่เห็นว่าจิตจะรวมลงได้เร็ว
และสนิทเต็มฐานของสมาธิ
คืนหนึ่งจิตไม่ยอมสงบลงได้
แม้จะนั่งภาวนานานเพียงไร ท่านเลยนึกถึงเสือโคร่งตัวที่เคยขึ้น ๆ ลง ๆ
และไปมาอยู่เสมอในแถบบริเวณนั้น ว่าวันนี้เสือตัวนี้ไปไหนกันนะ มาช่วยให้จิตเราภาวนารวมสงบลงบ้างเป็นไร
ถ้าเสือมามันไม่ได้ภาวนายากเย็นอะไรเลย จิตคอยแต่จะรวมลงท่าเดียว
หลังจากท่านคิดรำพึงถึงเสือโคร่งคู่มิตรไม่นานนัก
ราวครึ่งชั่วโมงก็ได้ยินบาทย่างเท้าของเสือตัวนั้นเดินขึ้นมาบนถ้ำอย่างเป็นจังหวะจะโคนจริง
ๆ เวลานั้นราว ๒ นาฬิกา
พอได้ยินเสียงเสือเดินขึ้นมา
ท่านก็เตือนจิตว่าบัดนี้เสือขึ้นมาแล้วนะจะมัวเพลินอยู่นี้
ไม่กลัวเสือคาบคอไปกินหรือ จะลงหาที่ซ่อนตัวเพื่อหลบภัยก็รีบลงมาซิ
ถ้าไม่อยากเป็นอาหารเสือ
พอคิดเท่านั้นก็กำหนดจิตสมมุติเอาเสือตัวกำลังเดินมานั้นโดดคาบที่คอของตน
ปรากฏว่าพอกำหนดเอาเสือโดดมาคาบคอเท่านั้น
จิตก็รวมลงสู่สมาธิอย่างรวดเร็วและถึงฐานอัปปนาสมาธิในขณะนั้น
หายเงียบไปเลยทั้งเสือทั้งคนในความหมาย ยังเหลือแต่ความสงบอันราบคาบเป็นเอกจิต
เอกธรรม ที่เต็มไปด้วยความอัศจรรย์สุดจะคาดในเวลานั้น นับแต่เวลาจิตรวมสงบลงเวลา ๒
นาฬิกา จนถึง ๑๐ โมงเช้า (๔ โมงเช้า) จึงถอนขึ้นมา รวมเป็นเวลา ๘ ชั่วโมงเต็ม
ตอนออกจากสมาธิมองดูตะวันครึ่งฟ้า เลยต้องงดไม่ไปบิณฑบาต และไม่ฉันในวันนั้น
ขณะที่จิตรวมลงอย่างเต็มที่ถึงฐานของอัปปนาสมาธิ
ตามจริตนิสัยของจิตที่รวมลงอย่างรวดเร็วเหมือนคนตกเหวตกบ่อนั้น ต้องดับอายตนะภายในไม่รับทราบกับอายตนะภายนอกโดยประการทั้งปวงในเวลานั้น
จิตของท่านองค์นี้ก็มีนิสัยเช่นนั้น ฉะนั้น
เวลารวมสงบลงเต็มที่แล้วจึงหมดความรู้สึกกับสิ่งภายนอก
ตอนออกจากสมาธิแล้ว
จึงเดินไปดูตรงที่ได้ยินเสียงเสือมา เป็นเสือมาจริง ๆ หรือหูมันหลอกต่างหาก เวลาไปดูก็เห็นรอยเสือโคร่งใหญ่คู่มิตรตัวนั้นเดินผ่านมาด้านหลังท่านจริง
ๆ ห่างกันประมาณ ๒ วา มันเดินขึ้นไปถ้ำที่อยู่ประจำของมัน
โดยมิได้สนใจเดินวกเวียนดูคู่มิตรของมันเลย จึงน่าแปลกและอัศจรรย์อยู่มาก
ท่านว่าพอจิตรวมลงเท่านั้น เรื่องทั้งหลายก็ดับไปหมดในขณะนั้น
จนกว่าจิตจะถอนขึ้นมาถึงจะมีสิ่งมาเกี่ยวข้อง
การฝึกจิตโดยลำพังโดยไม่มีเหตุมาบังคับ
รวมสงบได้ยากไม่เหมือนมีเหตุอันตรายมาเกี่ยวข้องในเวลานั้น ซึ่งรวมได้เร็วที่สุด
ชั่ววินาทีเดียวเท่านั้นก็ลงถึงที่เลยไม่ชักช้า
ฉะนั้นผมจึงชอบไปเที่ยวแสวงหาอยู่ในที่กลัว ๆ สะดวกแก่การฝึกจิตดีมาก
ไม่อยากอยู่ในที่ที่เป็นป่าเป็นเขาหรือถ้ำธรรมดา แต่ต้องเป็นป่าเสือ
เขาที่มีเสือหรือถ้ำที่มีเสือ อย่างนั้นถูกกับจริตของผมซึ่งเป็นคนหยาบ
ดังที่เป็นมานี่แล ผมจึงจำต้องชอบอยู่ในที่เช่นนั้น
มีแปลกอยู่ตอนหนึ่งที่ผมพักอยู่ถ้ำนั้น
นอกจากจิตได้รับความสงบตามความมุ่งหมายแล้ว ยังมีความรู้แปลก ๆ
เกี่ยวกับพวกรุกขเทพและคนตายได้อีก บางคืนมีรุกขเทพเข้ามาหา
(ตอนนี้ขอเรียนเพียงเท่านี้ : ผู้เขียน) และเวลาคนตายในบ้านต้องทราบจนได้
ไม่ทราบว่ามีอะไรมาบอก แต่ทราบขึ้นภายในใจเองและแน่ทุกครั้งเสียด้วย ถ้าจะว่าความรู้โกหกก็ไม่กล้าตำหนิ
เราพักอยู่ในถ้ำนั้น ก็อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านตั้งหลายกิโลเมตรทางร่วมสองร้อยเส้น
เขายังมานิมนต์ไปมาติกาบังสุกุลคนตายจนได้ ซึ่งเป็นการลำบากแก่เรามาก
พอคนในบ้านตายต้องทราบแล้วว่าพรุ่งนี้ต้องเดินบุกป่าฝ่าดงไปป่าช้าอีกแล้ว
และเขาก็มารบกวนจริง ๆ ด้วย บอกเขา ๆ ก็ไม่ฟัง
โดยให้เหตุผลว่าพระหายากจึงต้องมารบกวนท่าน นึกว่าโปรดสัตว์เอาบุญเถิดดังนี้
เราก็จำต้องไปเพราะความเห็นใจและสงสาร
ถ้าเวลาอดอาหารซึ่งเป็นเวลาที่ต้องเร่งความเพียรอย่างยิ่ง ไม่อยากให้เรื่องใด ๆ
มากวนใจ แต่ก็ต้องมีจนได้
เธอว่าพักอยู่ที่ถ้ำนั้นได้กำลังใจดีมาก
โดยอาศัยเสือคู่มิตรตัวนั้นช่วยพยุงจิตให้เสมอมา ซึ่งเว้นเพียงคืนหนึ่งหรือสองคืน
มันก็ขึ้นหรือลงมาเพื่อเที่ยวหากินตามภาษาสัตว์ที่มีปากมีท้องโดยไม่สนใจกับเราเลย
ทั้ง ๆ ที่มันเดินผ่านหลังเราไปมาทุกครั้งที่ออกหากิน เพราะทางออกมีเพียงเท่านั้น
ไม่ทราบจะให้มันไปที่ไหน นิสัยเธอองค์นี้แปลกอยู่บ้าง ที่เวลากลางคืนดึก ๆ
ก็ออกจากถ้ำไปเที่ยวนั่งภาวนาอยู่ตามหินดานบนภูเขา
อย่างไม่สนใจกับสัตว์เสืออะไรเลย และชอบเที่ยวไปองค์เดียวเป็นนิสัย
ที่เขียนเรื่องเธอองค์นี้แทรกลงบ้างก็โดยเห็นว่า
พอเป็นคติอยู่บ้างเป็นบางตอน
ที่เป็นคนเอาจริงเอาจังจนเห็นข้อเท็จจริงจากใจดวงพยศและสามารถดัดกันลงได้
สิ่งที่เคยเห็นว่าเป็นภัยก็กลับถือมาเป็นมิตรในความเพียรได้ เช่น เสือเป็นต้น
ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่น่าไว้ใจได้เลยยังยึดเอามาเป็นเครื่องปลุกใจทางความเพียรได้
จนเห็นผลประจักษ์ใจ
ท่านอาจารย์มั่นพักอยู่ที่วัดหนองผือด้วยความผาสุก
พระธุดงค์ที่ไปอาศัยร่มเงาท่านก็ปรากฏว่าได้กำลังจิตใจกันมาก แม้จะมีจำนวน ๒๐-๓๐
องค์ในพรรษา ต่างก็ตั้งใจปฏิบัติต่อหน้าที่ของตน ๆ
ไม่มีเรื่องราวที่น่าให้ท่านหนักใจ
มีความสามัคคีกลมกลืนกันดีมากราวกับอวัยวะอันเดียวกัน ตอนออกบิณฑบาตรู้สึกน่าดูมาก
เดินกันเป็นแถวยาวเหยียดไปตลอดสายทาง
ชาวบ้านจัดที่นั่งเป็นม้ายาวไว้สำหรับพระสงฆ์ท่านนั่งอนุโมทนาทาน
หลังจากใส่บาตรเสร็จแล้ว ท่านฉันรวมที่โรงฉันแห่งเดียวกัน
โดยนั่งเรียงแถวกันตามลำดับพรรษา เมื่อเสร็จแล้วต่างองค์ต่างล้างและเช็ดบาตร
ใส่ถลกนำไปเก็บไว้เรียบร้อย แล้วต่างองค์เข้าหาทางจงกรมในป่ากว้าง ๆ ติดกับวัด
ทำความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิตามอัธยาศัย
จวนบ่าย
๔ โมงเย็นถึงเวลาปัดกวาดลานวัด ต่างก็ทยอยกันออกมาจากที่ทำความเพียรของตน ๆ
พร้อมกันปัดกวาดลานวัด เสร็จแล้วขนน้ำขึ้นใส่ตุ่มใส่ไห น้ำฉันน้ำล้างเท้าล้างบาตรและสรงน้ำ
หลังจากนั้นต่างก็เข้าหาทางจงกรมทำความเพียรตามเคย
ถ้าไม่มีการประชุมอบรมก็ทำความเพียรต่อไปตามอัธยาศัยจนกว่าจะถึงเวลาพักผ่อน ปกติ ๗
วันท่านจัดให้มีการประชุมครั้งหนึ่ง
แต่ผู้ประสงค์จะไปศึกษาธรรมเป็นพิเศษกับท่านก็ได้ โดยไม่ต้องรอจนถึงวันประชุม
หรือผู้มีความขัดข้องจะเรียนถามปัญหาธรรมกับท่านก็ได้ตามโอกาสที่ท่านว่าง เช่น
ตอนหลังจังหัน ตอนบ่าย ๆ ตอนราว ๕ โมง และตอน ๒ ทุ่มกลางคืน
เวลาท่านสนทนาหรือแก้ปัญหาธรรมกันตอนกลางคืนเงียบ
ๆ รู้สึกน่าฟังมาก เพราะมีปัญหาแปลก ๆ จากบรรดาศิษย์ซึ่งมาจากที่ต่าง ๆ
ที่ตนพักบำเพ็ญ เป็นปัญหาเกี่ยวกับธรรมภายในบ้าง เกี่ยวกับสิ่งภายนอก เช่น
พวกกายทิพย์บ้าง ฟังแล้วทำให้เพลิดเพลินอยู่ภายใน ไม่อยากให้จบสิ้นลงง่าย ๆ
ทั้งเป็นคติทั้งเป็นอุบายแก้ใจในขณะนั้น
เพราะผู้มาศึกษากับท่านมีภูมิธรรมทางภายในเหลื่อมล้ำต่ำสูงต่างกันเป็นราย ๆ
ไปและมีความรู้แปลก ๆ ตามจริตนิสัยมาเล่าถวายท่าน
จึงทำให้เกิดความรื่นเริงใจไปกับปัญหาธรรมนั้น ๆ ไม่มีสิ้นสุด
เวลามีโอกาสท่านก็เล่านิทานที่เป็นคติให้ฟังบ้าง
เล่าเรื่องความเป็นมาของท่านในชาติปัจจุบันแต่สมัยเป็นฆราวาส
จนได้บวชเป็นเณรเป็นพระให้ฟังบ้าง บางเรื่องก็น่าขบขันน่าหัวเราะ
บางเรื่องก็น่าสงสารท่าน และน่าอัศจรรย์เรื่องของท่าน ซึ่งมีมากมายหลายเรื่อง
ฉะนั้นการอยู่กับครูบาอาจารย์นาน ๆ จึงทำให้จริตนิสัยของผู้ไปศึกษา
มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีตามท่านวันละเล็กละน้อยทั้งภายนอกภายใน
จนกลมกลืนกับนิสัยท่านตามควรแก่ฐานะของตน ทั้งมีความปลอดภัยมาก
มีทางเจริญมากกว่าทางเสื่อมเสีย ธรรมค่อยซึมซาบเข้าสู่ใจโดยลำดับ
เพราะการเห็นการได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ
ความสำรวมระวังอันเป็นทางส่งเสริมสติปัญญาให้มีกำลังก็มากกว่าปกติ
เพราะความเกรงกลัวท่านเป็นสาเหตุไม่ให้นอนใจ ต้องระวังกายระวังใจอยู่รอบด้าน
แม้เช่นนั้นท่านยังจับเอาไปเทศน์ให้เราและหมู่คณะฟังจนได้
ซึ่งบางเรื่องน่าอับอายหมู่คณะ แต่ก็ยอมทนเอา เพราะเราโง่ไม่รอบคอบต่อเรื่องของตัว
เวลาอยู่กับท่านมีความเย็นกายเย็นใจเจือด้วยความปีติอย่างบอกไม่ถูก
แต่ถ้าใจไม่เป็นธรรมก็ให้ผลตรงข้าม คือเกิดความรุ่มร้อนไปทุกอิริยาบถ
เพราะความคิดผิดของตัวในความรู้สึกของตนเป็นอย่างนี้
สำหรับท่านผู้อื่นก็ไม่อาจทราบได้
เรามันเป็นคนหยาบต้องอาศัยท่านคอยสับคอยเขกให้อยู่เสมอ
จึงพอมีลมหายใจสืบต่อกันไปได้ กิเลสตัณหาไม่แย่งเอาไปกินเสียหมด
ยิ่งเวลาท่านเล่าเรื่องจิตท่านในเวลาบำเพ็ญให้ฟังเป็นระยะ ๆ
ก็ยิ่งเพิ่มกำลังใจมากขึ้น ราวกับจะเหาะเหินเดินเมฆบนอากาศได้
ปรากฏว่ากายเบาใจเบายิ่งกว่าสำลี แต่เวลาไปทำความเพียรเข้าจริง ๆ
ให้สมกับใจที่จะเหาะลอยอยู่ขณะนั้น แต่กลับกลายเป็นเหมือนลากภูเขาทั้งลูก
ทั้งหนักทั้งฝืด ซึ่งน่าโมโหแทบมุดดินลงได้อยู่ใต้พิภพ ไม่อยากให้ใครเห็นหน้าเลย
พอดีกับจิตที่หยาบคายร้ายเลวเอาเสียจริง ๆ ไม่ยอมฟังอะไรกับใครเอาง่าย ๆ
นี้เขียนตามความหยาบความหนาของตัวให้ท่านได้อ่านบ้าง
เพื่อทราบความจมดิ่งของใจที่ถูกบรรจุเครื่องทำลายและกดถ่วงไว้อย่างอัดแน่น
ว่าเป็นจิตที่แสนจะฉุดลากและฝึกทรมานยาก ถ้าไม่เอาจริง ๆ กับมัน
ต้องนับวันจะพาเจ้าของจมดิ่งลงสู่ความต่ำทรามได้อย่างไม่เลือกกาลสถานที่และเพศวัยเลย
ท่านผู้พยายามฝึกจิตดวงแสนพยศมาประจำกำเนิดภพชาติให้หายพยศ
ดำรงตนอยู่โดยอิสระเสียได้ จึงเป็นบุคคลที่น่ากราบไหว้บูชาอย่างยิ่ง ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นตัวอย่างสมัยปัจจุบัน
พูดตามความสนิทใจของผู้เขียนก็คือ
พระอาจารย์มั่นที่พวกเรากำลังอ่านประวัติท่านอยู่เวลานี้
ที่เป็นผู้หนึ่งในบรรดาปัจฉิมสาวกของพระพุทธองค์
ท่านเป็นผู้อาจหาญชาญชัยทางข้อวัตรปฏิบัติเครื่องดำเนิน
ไม่ยอมลดหย่อนผ่อนคลายไปตามอำนาจฝ่ายต่ำตลอดมา
แม้ก้าวเข้าวัยชราควรจะอยู่สบายตามวิบากขันธ์ ไม่ต้องขวนขวายกับกิจการภายใน
คือสมณธรรมทางสมาธิภาวนา แต่การเดินจงกรมภาวนาตามเวลาที่เคยทำมานั้น พระหนุ่ม ๆ
ยังสู้ไม่ได้ และกิจภายนอกเกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนบรรดาศิษย์ ท่านก็อนุเคราะห์ด้วยจิตเมตตาเสมอมาไม่เคยทอดอาลัย
การเทศน์อบรมโดยมากท่านมักเทศน์ไปตามนิสัยที่เคยเด็ดเดี่ยวมาแล้ว
ไม่ค่อยทิ้งลวดลายของนักต่อสู้ตลอดมา คือ
เทศน์เป็นเชิงปลุกใจผู้ฟังให้มีความอาจหาญร่าเริงในปฏิปทาเพื่อแดนพ้นทุกข์เป็นส่วนมากกว่าจะเทศน์อนุโลม
อันเป็นการกล่อมใจของคนที่มีนิสัยอ่อนแอประจำสันดานอยู่แล้ว
ให้เคลิ้มหลับไปขณะที่ฟังและวาระต่อไป
พระอาจารย์มั่นท่านเป็นผู้เทิดทูนศาสนธรรมไว้ได้ทั้งทางปริยัติ
ปฏิบัติ และปฏิเวธธรรมเต็มภูมิที่สมัยสาวกหายาก เฉพาะอย่างยิ่งธุดงควัตร ๑๓
ข้อที่แทบจะขาดความสนใจในวงพุทธบริษัทอยู่เสมอมา ไม่ค่อยมีผู้ฟื้นฟูขึ้นมาปฏิบัติกันให้เป็นเนื้อเป็นหนังบ้าง
เหมือนธรรมอื่น ๆ ที่ธุดงค์เหล่านี้ปรากฏเด่นในสายตา
และเกิดความสนใจปฏิบัติกันในวงพระธุดงค์ทั้งหลายสมัยปัจจุบัน
ก็เพราะท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น
เป็นผู้พาดำเนินอย่างเอาจริงตลอดมาในภาคอีสาน ธุดงค์ทั้ง ๑๓
ข้อนี้ท่านอาจารย์ทั้งสองเคยปฏิบัติมาแทบทุกข้อตามสถานที่และโอกาส
เป็นแต่เพียงไม่ได้ปฏิบัติเป็นประจำ
เหมือนธุดงค์ข้อที่ระบุไว้ในประวัติท่านซึ่งเขียนผ่านมาแล้วเท่านั้น
คือป่าช้าท่านก็เคยอยู่มาจนจำเจ อัพโภกาศท่านก็เคยอยู่มา
โคนไม้ท่านก็เคยอยู่มาจนเคยชิน
ที่ได้เห็นพระธุดงค์ทางภาคอีสานซึ่งเป็นสายของท่านอาจารย์ทั้งสองปฏิบัติกันมา
ก็ล้วนดำเนินตามที่ท่านพาดำเนินให้เห็นร่องรอยมาแล้วทั้งนั้น
ท่านอาจารย์เสาร์ท่านอาจารย์มั่นท่านฉลาดแหลมคมมาก
รู้ความสำคัญของธุดงค์ทั้ง ๑๓ ข้อว่า เป็นเครื่องมือปิดช่องทางออกแห่งกิเลสของพระธุดงค์ได้ดีมาก
เพราะถ้าไม่มีธุดงค์เหล่านี้ช่วยปิดช่องไว้บ้าง
กิเลสของพระธุดงค์ที่สักแต่ชื่อก็รู้สึกจะเพ่นพ่านเอามาก
และอาจจะทำความรำคาญแก่ประสาทของผู้อื่นพอดู
แต่พระธุดงค์ที่มีธรรมเหล่านี้ช่วยบ้าง ก็พอทำให้เบาใจแก่ตัวเองและผู้อื่นจะทนดูได้
ไม่แสลงตาแสลงใจเกินไป ธุดงค์แต่ละข้อรู้สึกเป็นธรรมกระซิบใจได้ดีไม่เผลอตัวไปมาก
และไม่เผลอตัว พอจิตคิดไปในทางผิดซึ่งเป็นข้าศึกกับธุดงค์ข้อใด
ใจกลับรู้สึกได้ในธุดงค์ข้อนั้นทันที แล้วทำความระวังและแก้ไขตนต่อไป
ธุดงค์เป็นธรรมละเอียดลออมาก
และมีความหมายอย่างเต็มตัวทุกข้อไป
ทั้งสามารถแก้กิเลสในหัวใจของสัตว์ได้โดยสิ้นเชิงด้วยธุดงค์ข้อนั้น ๆ
อย่างไม่มีปัญหา ขอแต่ผู้ปฏิบัติคิดให้ถึงความจริงของธุดงค์ข้อนั้น ๆ
แล้วนำมาปฏิบัติต่อตนเองด้วยดีเท่านั้น
จะเห็นว่ากิเลสทุกประเภทอยู่ในข่ายของธุดงค์เหล่านั้น
จะเป็นธรรมปราบปรามให้สิ้นซากไปทั้งสิ้น ไม่มีกิเลสตัวใดจะเหนืออำนาจธุดงค์ไปได้
เท่าที่กิเลสไม่ค่อยกลัวเรานักก็เพราะเรากลัวธุดงค์จะทำความลำบากให้แก่ตนที่ปฏิบัติตาม
ส่วนกิเลสจะทำความลำบากแก่เราเพียงไร เมื่อไม่มีธุดงคธรรมเป็นเครื่องปราบปรามนั้น
รู้สึกจะเป็นช่องโหว่ของตน
จึงเป็นช่องทางให้เผลอตัวไปตำหนิธุดงค์ว่าปฏิบัติยากเสียบ้าง
หรือบางหัวใจอาจคิดไปว่า ธุดงค์ล้าสมัยเสียบ้างก็ไม่อาจทราบได้
ในขณะที่ความคิดกลับเป็นข้าศึกแก่ตน
กิเลสจึงได้รับความนิยมนับถืออยู่อย่างลึกลับโดยผู้ชมเชยก็ไม่อาจทราบได้
แต่ผลของมันที่เกิดจากการส่งเสริมชมเชยผลิตออกมาให้โลกได้รับเสวยนั้น
เป็นสิ่งเปิดเผยอยู่ตลอดเวลา แทบพูดได้ว่าเป็นอกาลิโก
การปฏิบัติตามธุดงค์ไม่ว่าข้อใดย่อมเป็นความสง่างามน่าดู ทั้งเป็นผู้เลี้ยงง่าย
กินง่าย นอนง่าย เครื่องใช้สอยของผู้มีธุดงค์อยู่ในใจบ้างย่อมถือเป็นความสบายไปตลอดสาย
เป็นผู้เบากายเบาใจไม่พระรุงพระรังทั้งทางอารมณ์และเครื่องเป็นอยู่ต่าง ๆ
ธุดงค์เหล่านี้
แม้ฆราวาสจะเลือกนำไปใช้ในบางข้อเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตน ก็ย่อมได้เช่นเดียวกับพระ
เพราะกิเลสของฆราวาสกับกิเลสของพระมันเป็นประเภทเดียวกัน ธุดงค์เป็นธรรมแก้กิเลสจึงควรนำไปปฏิบัติเพื่อแก้กิเลสได้เช่นเดียวกัน
ตามฐานะและเพศของตนจะอำนวย ธุดงค์เป็นคุณธรรมที่สูงอย่างลึกลับ
ยากที่เราจะทราบได้ตามความจริงของธุดงค์แต่ละข้อ
ผู้เขียนเองก็ตะเกียกตะกายเขียนไปแบบป่า ๆ ตามนิสัยอย่างนั้นแล
ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในธุดงค์เท่าที่ควรอะไรเลย แต่หัวใจมีก็เขียนสุ่ม ๆ
ไปอย่างนั้นเองจึงขออภัยด้วย
คุณสมบัติของธุดงค์ทั้งหลายไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นลงได้
เพราะเป็นธรรมที่ละเอียดสุขุมมาก ทั้งสามารถทำให้ผู้รักใคร่ใฝ่ใจปฏิบัติในธุดงค์
สำเร็จได้ในคุณธรรมตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นอริยชน ไม่นอกไปจากธุดงค์เหล่านี้เลย
ท่านอาจารย์มั่นเป็นอาจารย์ผู้นำบรรดาศิษย์พาดำเนินมาตลอดสายจนถึงวาระสุดท้าย
หมดกำลังแล้วจึงปล่อยวางพร้อมกับสังขารที่ติดแนบกับองค์ท่าน
ฉะนั้นธุดงควัตรจึงเป็นธรรมจำเป็น
สำหรับผู้มุ่งชำระกิเลสทุกประเภทภายในใจให้สิ้นไป จะทอดธุระว่า ธุดงค์ไม่ใช่ธรรมจำเป็นเสียมิได้
แต่จะไม่ขออธิบายคุณสมบัติของธุดงค์แต่ละข้อว่ามีคุณค่าและความจำเป็นแก่เราอย่างไรบ้าง
กรุณาท่านผู้สนใจพิจารณาตีแผ่เอาเอง
อาจได้ความละเอียดและเกิดประโยชน์แก่ตัวท่านเองมากกว่าผู้อื่นอธิบายให้ฟังเสียอีก
ผู้เขียนเคยพิจารณาและเห็นผลมาบ้างตามประสา นับแต่เริ่มออกปฏิบัติจนทุกวันนี้เท่าที่สามารถ
เพราะเห็นว่าเป็นธรรมจำเป็นประจำตัวตลอดมาและตลอดไป
ท่านผู้มุ่งต่อความสิ้นกิเลสทั้งประเภทที่หยาบโลน และประเภทที่ละเอียดสุด
จึงไม่ควรมองข้ามธุดงค์ไป โดยเห็นว่าไม่สามารถถอดถอนกิเลสได้
พอท่านจำพรรษาวัดหนองผือปีที่
๔ ผ่านไปแล้ว ตกหน้าแล้งราวเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ทางจันทรคติจำได้ว่าเป็นวันขึ้น
๑๔ เดือน ๔ เป็นวันสังขารท่านเริ่มแสดงอาการไม่สนิทที่จะครองขันธ์ต่อไป
ดังที่เป็นมาแล้ว ๗๙ ปี
วันนั้นเป็นวันที่ท่านเริ่มป่วยอันเป็นสาเหตุลุกลามไปถึงจุดสุดท้ายของสังขารที่ครองตัวมาเป็นเวลานาน
วันนั้นได้แสดงความสั่นสะเทือนขึ้นมาแก่ขันธปัญจกท่านและพระสงฆ์ในวงใกล้ชิด
โดยเริ่มแรกมีไข้และไอผสมกันไม่มากนัก มีอาการรุม ๆ ไปแทบทั้งวันทั้งคืน
ไม่ค่อยมีเวลาสร่างนับแต่วันแรกเป็น
ท่านแสดงออกเป็นอาการผิดปกติที่น่าวิตกด้วยแล้ว ทำให้คนดีไม่น่าไว้ใจเลย
องค์ท่านทราบอย่างประจักษ์ไม่มีทางสงสัยว่าไข้คราวนี้เป็นไข้ครั้งสุดท้าย
ไม่มีทางหายได้ด้วยวิธีและยาขนานใด ๆ ทั้งสิ้น
ฉะนั้น
ท่านจึงเผดียงให้บรรดาศิษย์ทราบตั้งแต่เริ่มแรกเป็น และไม่สนใจกับหยูกยาอะไรเลย
นอกจากแสดงอาการเป็นความรำคาญเวลามีผู้นำยาเข้าไปถวายให้ฉันเท่านั้น
โดยบอกว่าไข้นี้มันเป็นไข้ของคนแก่ ซึ่งหมดความสืบต่อใด ๆ อีกแล้ว
ไม่ว่ายาขนานใดมาใส่จะไม่มีวันหาย มีเพียงลมหายใจที่รอวันตายอยู่เท่านั้น
เช่นเดียวกับไม้ที่ตายยืนต้น แม้จะรดน้ำพรวนดินให้ฟื้นเพื่อผลิดอกออกใบ
ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ รออยู่พอถึงวันโค่นล้มลงจมดินของมันเท่านั้น
ไข้ที่เริ่มเป็นอยู่เวลานี้ก็เป็นไข้ประเภทนั้นนั่นแล จะผิดกันอะไรเล่า
ผมได้พิจารณาประจักษ์ใจแล้วแต่ไข้ยังไม่เริ่มปรากฏโน้น ฉะนั้น
จึงได้เตือนหมู่เพื่อนเสมอว่า อย่าพากันนอนใจ
รีบเร่งทางความเพียรขณะที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ติดขัดอะไรจะได้ช่วยแก้ไขให้ทันกับเหตุการณ์
อย่าให้ผิดพลาดและเสียเวลานาน
ผมจะอยู่กับหมู่เพื่อนไปอีกไม่นาน
จะจากไปตามกฎของอนิจฺจํที่เดินตามสังขารอยู่ทุกเวลาไม่ลดละ อย่างไรก็ไม่เลย ๓ ปี
นี่เป็นคำที่เคยเตือนล่วงหน้ามาได้ ๓ ปีเข้านี้แล้ว จะให้ผมเตือนอย่างไรอีก
จะพูดให้เคลื่อนจากที่แน่ใจอยู่แล้วนี้ไปไม่ได้
งานของวัฏจักรที่ทำบนร่างกายจิตใจของคนและสัตว์ เขาทำของเขาอยู่ทุกเวลานาที
นี้ก็เป็นงานครั้งสุดท้ายของเขาที่ทำอยู่บนร่างกายผม
ซึ่งจะเสร็จสิ้นไปภายในไม่กี่เดือนนี้ จะให้เขาเปลี่ยนแปลงงานเขาอย่างไรได้ดังนี้
อาการท่านนับแต่วันเริ่มเป็นมีแต่ทรงกับทรุดไปวันละเล็กละน้อย
ค่อย ๆ ขยับไปโดยไม่สนใจกับหยูกยาอะไรทั้งสิ้น เวลาถูกอาราธนาให้ท่านฉันยา
รู้สึกท่านแสดงความรำคาญอย่างเห็นได้ชัดทุก ๆ ครั้งที่ขอรบกวน
แต่ทนคนหมู่มากไม่ไหว เพราะคนนั้นว่ายานั้นดี คนนี้ก็ว่ายานี้ดี ฉันแล้วหาย
ใครฉันแล้วมีแต่หายกัน จึงอยากขออาราธนาท่านอาจารย์ได้โปรดเมตตาบ้าง
จะได้หายและโปรดบรรดาลูกศิษย์ลูกหาไปนาน ๆ ท่านเตือนเสมอว่า
ยาไม่เป็นประโยชน์กับไข้ของผมในครั้งนี้ มีแต่ฟืนเท่านั้นจะเข้ากันได้สนิท
ท่านพูดห้ามเท่าไรก็ยิ่งขอวิงวอน จึงได้ฉันให้เสียบ้างทีละนิดทีละหน่อย ตามคำขอร้องของคนหมู่มาก
พอไม่ให้เสียใจนักว่าท่านทอดอาลัยในสังขารเกินไป
เมื่อข่าวว่าท่านป่วยไปถึงไหน
ใครทราบก็มาถึงทั้งนั้น ทั้งพระทั้งฆราวาสพากันหลั่งไหลมาแทบทุกทิศทุกทาง
มิได้คำนึงว่าทางไกลหรือใกล้ หน้าแล้งหรือหน้าฝน ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปเยี่ยมท่านยิ่งกว่าฝนที่ทั้งตกทั้งพรำเสียอีก
บ้านหนองผืออยู่ในป่าและหุบเขา ทั้งห่างไกลจากถนนใหญ่ สายอุดร-สกลฯ ราว ๕๐๐–๖๐๐ เส้น มิได้สนใจว่าไกลและลำบาก
ซึ่งโดยมากเดินกันด้วยเท้าเปล่าเข้าไปหาท่าน นอกจากคนแก่ ๆ
เดินไม่ไหวก็ว่าจ้างล้อเกวียนเขาเข้าไป เฉพาะท่านเองชอบอยู่องค์เดียวเงียบ ๆ
ตามอัธยาศัย แม้พระเณรก็ไม่อยากให้เข้าไปเกี่ยวข้องถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ดังนั้น
เมื่อมีผู้คนพระเณรเข้าไปเกี่ยวข้องมาก ๆ
รู้สึกขัดกับอัธยาศัยที่ท่านไม่เคยดำเนินมา จึงไม่อยากเกี่ยวข้องกับเรื่องใด
ๆ ทั้งสิ้น เพียงพระเณรซึ่งเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดภายในวัด
ท่านยังไม่ประสงค์ให้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย
แต่ความจำเป็นมีก็จำต้องอนุโลมผ่อนผันเป็นบางกาล แม้เช่นนั้น
ก็จำต้องระมัดระวังกันอย่างมาก
ขณะเข้าไปเกี่ยวข้องท่านด้วยกิจธุระจำเป็น
ไม่ให้เข้าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ตลอดข้อวัตรที่ควรทำถวายท่านในเวลาจำเป็น
ต้องจัดพระเณรองค์ที่เห็นสมควรไว้ใจได้ เป็นผู้จัดทำถวายเป็นคราว ๆ ไป
สิ่งที่เกี่ยวกับท่านต้องมีพระผู้อาวุโสและฉลาดพอควร
เป็นผู้คอยควบคุมดูแลให้เห็นสมควรก่อนค่อยทำลงไปทุกกรณี
เพราะท่านอาจารย์เป็นผู้รอบคอบและละเอียดมากตามปกตินิสัย ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องจึงควรได้รับการพิจารณากันพอสมควร
เพื่อไม่ให้ขัดกับอัธยาศัยท่านซึ่งเป็นเวลาที่จำเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อมีประชาชนพระเณรมาจากที่ต่าง
ๆ ประสงค์จะเข้ากราบเยี่ยมท่าน ทางวัดต้องขอให้รออยู่ที่สมควรก่อน
แล้วมีพระผู้เคยปฏิบัติทางนี้เห็นเป็นกาลอันควรแล้ว เข้าไปกราบเรียนให้ท่านทราบ
เมื่อท่านอนุญาตแล้วค่อยมาบอกให้เข้าไป
และเมื่อมีพระในวัดองค์สมควรนำเข้าไปกราบท่าน
มีอะไรท่านก็แสดงโปรดท่านเหล่านั้นตามอัธยาศัย พอสมควรแล้วก็พากราบลาท่านออกมา
การพาแขกเข้ากราบเยี่ยมท่าน ทางวัดได้ปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมา และพาเข้ากราบเยี่ยมเป็นคราว
ๆ ไป ตามแต่แขกมีมากน้อยซึ่งมาในเวลาต่างกัน
เฉพาะพระอาจารย์ที่เคยเป็นลูกศิษย์ท่านมาแล้ว และมีความสนิทกับท่านเป็นพิเศษ
ก็เป็นเพียงไปกราบเรียนให้ท่านทราบว่า ท่านอาจารย์นั้นจะมากราบเยี่ยม
เมื่อท่านอนุญาตแล้วก็เข้ากราบเยี่ยม และสนทนาธรรมกันตามอัธยาศัยทั้งสองฝ่าย
อาการป่วยท่านค่อยเป็นไปเรื่อย
ๆ ไม่ผาดโผนรุนแรง แต่ไม่ค่อยเป็นปกติสุขได้ ถ้าเป็นสงครามก็แบบสงครามใต้ดิน
ค่อยขยับเข้าทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นสงครามไปทั่วดินแดน
และกลายเป็นแดนยึดครองไปทั่วพิภพ ไม่มีส่วนเหลือเลย
พอท่านซึ่งเป็นจุดหัวใจของส่วนรวมเริ่มป่วยลงเท่านั้น
มองดูพระเณรในวัดรู้สึกเศร้าหมองทางอาการ ไม่ค่อยแช่มชื่นเบิกบานเหมือนแต่ก่อน
มองดูหน้าตากันก็มองแบบเศร้า ๆ ไม่ผ่องใสทางอาการ ตลอดการสนทนากัน
ก็ต้องยกเรื่องป่วยท่านอาจารย์ขึ้นสนทนาก่อนจะกระจายไปเรื่องอื่น ๆ
แล้วก็ต้องมายุติกันที่เรื่องของท่านอีก
แต่การให้โอวาทสั่งสอนพระเณร
ท่านยังคงมีเมตตาอนุเคราะห์อยู่อย่างสม่ำเสมอมิได้ทอดธุระ
เป็นแต่ไม่ได้ชี้แจงข้ออรรถข้อธรรมให้ละเอียดลออได้เต็มความเมตตาเหมือนแต่ก่อนเท่านั้น
พออธิบายธรรมจบลงและชี้แจงจุดสงสัยของผู้เรียนถามเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็สั่งให้เลิกกัน
ไปประกอบความเพียร องค์ท่านเองก็เข้าพักผ่อน
ขณะที่ท่านแสดงธรรมปรากฏว่าไม่มีความไม่สบายแฝงอยู่เลย แสดงอย่างฉะฉานร่าเริง
เสียงดังและกังวาน ลักษณะอาการอาจหาญเหมือนคนไม่ป่วยเป็นอะไรเลย
การเร่งและเน้นหนักในธรรมเพื่อผู้ฟัง ก็เน้นลงอย่างถึงใจจริง ๆ ไม่มีความสะทกสะท้านใด
ๆ ปรากฏในเวลานั้น ทุกอาการที่แสดงออกเหมือนท่านไม่ได้เป็นอะไรเลย
พอจบการแสดงแล้วถึงจะทราบว่า อาการท่านอ่อนเพลียและต้องการพักผ่อน
พอทราบอาการเช่นนั้นต่างก็รีบให้โอกาสท่านได้พักผ่อนตามอัธยาศัย
วันมาฆบูชา
เดือนสามเพ็ญ พ.ศ. ๒๔๙๒ ก่อนท่านจะเริ่มป่วยเล็กน้อย วันนั้นท่านเริ่มเทศน์แต่เวลา
๒ ทุ่มจนถึงเวลา ๖ ทุ่มเที่ยงคืน รวมเป็นเวลา ๔ ชั่วโมง
อำนาจธรรมที่ท่านแสดงในวันนั้นเป็นความอัศจรรย์ประจักษ์ใจของพระธุดงค์
ที่มารวมกันอยู่เป็นจำนวนมากโดยทั่วกัน
ประหนึ่งโลกธาตุดับสนิทไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ปรากฏแต่กระแสธรรมท่านแผ่ครอบไปหมดทั่วไตรโลกธาตุ
โดยยกพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ที่ต่างมาเองสู่ที่ประชุม ณ
พุทธสถาน โดยไม่มีใครอาราธนานิมนต์หรือนัดแนะขึ้น แสดงว่าท่านเป็นวิสุทธิบุคคลล้วน
ๆ ไม่มีคนมีกิเลสเข้าสับปนเลยแม้คนเดียว
การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์พระพุทธเจ้าทรงแสดงเองเป็นวิสุทธิอุโบสถ
คืออุโบสถในท่ามกลางแห่งบุคคลผู้บริสุทธิ์ล้วน ๆ
ไม่เหมือนพวกเราซึ่งแสดงปาฏิโมกข์ในท่ามกลางแห่งบุคคลผู้มีกิเลสล้วน ๆ
ไม่มีบุคคลผู้สิ้นกิเลสสับปนอยู่เลยแม้คนเดียว
ฟังแล้วน่าสลดสังเวชอย่างยิ่งที่พวกเราก็เป็นคนผู้หนึ่ง
หรือเป็นพระองค์หนึ่งในความเป็นศากยบุตรของพระองค์ องค์เดียวกัน
แต่มันเป็นเพียงชื่อไม่มีความจริงแฝงอยู่บ้างเลย เหมือนคนที่ชื่อว่าพระบุญ เณรบุญ
และนายบุญ นางบุญ แต่เขาเป็นคนขี้บาปหาบแต่โทษและอาบัติใส่ตัวแทบก้าวเดินไปไม่ได้
สมัยโน้นท่านทำจริงจึงพบแต่ของจริง
พระจริง ธรรมจริงไม่ปลอมแปลง ตกมาสมัยพวกเรากลายเป็นมีแต่ชื่อเสียงเรืองนามสูงส่งจรดพระอาทิตย์
พระจันทร์ แต่ความทำต่ำยิ่งกว่าขุมนรกอเวจี แล้วจะหาความดี ความจริง
ความบริสุทธิ์มาจากไหน
เพราะสิ่งที่ทำมันกลายเป็นงานพอกพูนกิเลสและบาปกรรมไปเสียมาก
มิได้เป็นงานถอดถอนกิเลสให้สิ้นไปจากใจ แล้วจะเป็นวิสุทธิอุโบสถขึ้นมาได้อย่างไรกัน
บวชมาเอาแต่ชื่อเสียงเพียงว่าตนเป็นพระเป็นเณรแล้วก็ลืมตัว
มัวแต่ยกว่าตนเป็นผู้มีศีลมีธรรม
แต่ศีลธรรมอันแท้จริงของพระของเณรตามพระโอวาทของพระองค์แท้ ๆ นั้นคืออะไร
ก็ยังไม่เข้าใจกันเลย ถ้าเข้าใจในโอวาทปาฏิโมกข์ท่านสอนว่าอย่างไร นั่นแลคือองค์ศีลองค์ธรรมแท้
ท่านแสดงย่อเอาแต่ใจความว่า การไม่ทำบาปทั้งปวงหนึ่ง
การยังกุศลคือความฉลาดให้ถึงพร้อมหนึ่ง การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้วหนึ่ง
นี่แลเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
การไม่ทำบาป
ถ้าทางกายไม่ทำแต่ทางวาจาก็ทำอยู่ ถ้าทางวาจาไม่ทำแต่ทางใจก็ทำ และสั่งสมบาปวันยังค่ำจนถึงเวลาหลับ
พอตื่นจากนอนก็เริ่มสั่งสมบาปต่อไปจนถึงขณะหลับอีก เป็นอยู่ทำนองนี้
โดยมิได้สนใจคิดว่าตัวทำบาปหรือสั่งสมบาปเลย แม้เช่นนั้นยังหวังใจอยู่ว่า
ตนมีศีลมีธรรม และคอยเอาแต่ความบริสุทธิ์จากความมีศีลมีธรรมที่ยังเหลือแต่ชื่อนั้น
ฉะนั้นจึงไม่เจอความบริสุทธิ์ กลับเจอแต่ความเศร้าหมองวุ่นวายภายในใจอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ก็เพราะตนแสวงหาสิ่งนั้นก็ต้องเจอสิ่งนั้น
ถ้าไม่เจอสิ่งนั้นจะให้เจออะไรเล่า คนเราแสวงหาสิ่งใดก็ต้องเจอสิ่งนั้นเป็นธรรมดา
เพราะเป็นของมีอยู่ในโลกสมมุติอย่างสมบูรณ์ ที่ท่านแสดงอย่างนี้
แสดงโดยหลักธรรมชาติของศีลธรรมทางด้านปฏิบัติ เพื่อนักปฏิบัติได้ทราบอย่างถึงใจ
ลำดับต่อไปท่านแสดงสมาธิ
ปัญญา ตลอดวิมุตติหลุดพ้นอย่างเต็มภูมิและเปิดเผยไม่ปิดบังลี้ลับอะไรเลยในวันนั้น
แต่จะไม่ขออธิบาย เพราะเคยอธิบายและเขียนลงบ้างแล้ว ขณะนั้นผู้ฟังทั้งหลายนั่งเงียบเหมือนหัวตอ
ตลอดกัณฑ์ไม่มีเสียงอะไรรบกวนธรรมที่ท่านกำลังแสดงอย่างเต็มที่เลย
ตอนสุดท้ายแห่งการแสดงธรรม ท่านพูดทำนองพูดที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
ว่ากัณฑ์นี้เทศน์ซ้ำเฒ่า ต่อไปจะไม่ได้เทศน์ทำนองนี้อีก แล้วก็จบลง
คำนั้นได้กลายเป็นความจริงขึ้นมาดังท่านพูดไว้
นับแต่วันนั้นแล้วท่านมิได้เทศน์ทำนองนั้นอีกเลย ทั้งเนื้อธรรมและการแสดงนาน ๆ
ผิดกับครั้งนั้นอยู่มาก
หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนท่านเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะเรื่อยมา
จนถึงวาระสุดท้ายแห่งขันธ์เสียจนได้
แม้ท่านจะได้รับความลำบากทางขันธ์
เพราะโรคภัยเบียดเบียนจนสุขภาพทรุดลงเป็นลำดับก็ตาม แต่การบิณฑบาต ฉันในบาตร
และฉันมื้อเดียวที่เคยดำเนินมา
ท่านก็ยังอุตส่าห์ประคองของท่านไปไม่ยอมลดละปล่อยวาง
เมื่อไม่สามารถไปสุดสายบิณฑบาตได้ ท่านก็พยายามไปเพียงครึ่งหมู่บ้าน แล้วกลับวัด
ต่อมาญาติโยมและพระอาจารย์ทั้งหลายเห็นท่านลำบากมากก็ปรึกษากัน
ตกลงขออาราธนานิมนต์ท่านไปแค่ประตูวัดแล้วกลับ ถ้าจะขออาราธนาท่านไว้ไม่ให้ไปเลย
ท่านไม่ยอม โดยให้เหตุผลว่าเมื่อยังพอไปได้อยู่ต้องไป
ฉะนั้นจำต้องอนุโลมตามท่านไม่ให้ขัดอัธยาศัย ท่านเองก็พยายามไป
ไม่ยอมลดละความเพียรเอาเลย จนไปไม่ไหวจริง ๆ ท่านยังขอบิณฑบาตบนศาลาโรงฉัน
พยายามจนลุกเดินไม่ได้ จึงยอมหยุดบิณฑบาต
แม้เช่นนั้นยังขอฉันในบาตรและฉันมื้อเดียวตามเดิม
เราคนดีต้องอนุโลมตามความประสงค์ท่านทุกระยะไป
ด้วยความอัศจรรย์ในความอดทนของนักปราชญ์ชาติอาชาไนย
ไม่ยอมทิ้งลวดลายที่เคยเป็นนักต่อสู้ให้กิเลสยื้อแย่งแข่งดีได้เลย
ถ้าเป็นพวกเราน่ากลัวจะถูกหามลงมาฉันจังหันนับแต่วันเริ่มรู้สึกว่าไม่สบาย
ซึ่งเป็นที่น่าอับอายกิเลสที่คอยหัวเราะเยาะคนไม่เป็นท่าอยู่ตลอดเวลา
ที่มานอนคอยเขียงให้กิเลสสับฟันหั่นแหลกอย่างไม่มีชิ้นดี
อันเป็นที่น่าสังเวชเอาหนักหนา ถ้ายังรู้สึกเสียดายเรา
ซึ่งเป็นคนทั้งคนที่คอยจะเป็นเขียงให้กิเลสสับฟัน
ก็ควรระลึกถึงปฏิปทาของท่านอาจารย์มั่นตอนนี้ไว้บ้าง
เผื่อได้ยึดมาเป็นเครื่องมือป้องกันตัวในการต่อสู้กับกิเลส
จะไม่กลายเป็นเขียงให้มันหมดทั้งตัว
ยังพอมีเครื่องหมายสัตบุรุษพุทธบริษัทติดตัวอยู่บ้าง
อาการท่านรู้สึกหนักเข้าโดยลำดับ
จนคนดีที่เกี่ยวข้อง ไม่พากันนิ่งนอนใจได้
ตอนกลางคืนต้องจัดวาระกันคอยรักษาท่านอย่างลับ ๆ คราวละ ๓-๔ องค์เสมอ
แต่มิได้เรียนให้ท่านทราบ นอกจากท่านจะทราบทางภายในโดยเฉพาะเท่านั้น
ทั้งนี้เกรงว่าท่านจะห้ามไม่ให้ทำ โดยเห็นว่าเป็นภาระกังวลวุ่นวายเกินไป
พระเณรที่อยู่รักษาท่านตามวาระก็ให้อยู่ใต้ถุนกุฎีท่านอย่างเงียบ ๆ วาระละ ๒-๓
ชั่วโมง ตลอดรุ่งทุกคืน ซึ่งเริ่มแต่ยังไม่เข้าพรรษา
พอเห็นอาการท่านหนักมากก็ปรึกษากัน แล้วกราบเรียนขอถวายความปลอดภัยให้ท่าน
โดยมาขอนั่งสมาธิภาวนาที่เฉลียงข้างนอกกุฎีท่านคราวละ ๒ องค์ ท่านก็อนุญาต
จึงได้จัดให้พระอยู่บนกุฎีท่านครั้งละ ๒ องค์ อยู่ใต้ถุน ๒ องค์ตลอดไป
ไม่ให้ขาดได้ นอกจากพระที่จัดเป็นวาระไว้ประจำแล้ว ยังมีพระในวัดมาลอบ ๆ มอง ๆ
คอยสังเกตการณ์อยู่เสมอมิได้ขาดตลอดคืน
พอออกพรรษาแล้ว
พระและครูบาอาจารย์ที่จำพรรษาอยู่ในที่ต่าง ๆ
ก็ทยอยกันมากราบเยี่ยมและปฏิบัติท่านมากขึ้นเป็นลำดับ
อาการท่านรู้สึกหนักเข้าทุกวันไม่น่าไว้ใจ ท่านจึงได้ประชุมเตือนบรรดาศิษย์ให้ทราบ
ในการที่จะปฏิบัติต่อท่านด้วยความเหมาะสมว่า การป่วยของผมจวนถึงวาระเข้าทุกวัน
จะพากันอย่างไรก็ควรคิดเสียแต่บัดนี้จะได้ทันกับเหตุการณ์
ผมน่ะต้องตายแน่นอนในคราวนี้ดังที่เคยพูดไว้แล้วหลายครั้ง
แต่การตายของผมเป็นเรื่องใหญ่ของสัตว์และประชาชนทั่ว ๆ ไปอยู่มาก
ด้วยเหตุนี้ผมจึงเผดียงท่านทั้งหลายให้ทราบว่า ผมไม่อยากตายอยู่ที่นี่
ถ้าตายที่นี่จะเป็นการกระเทือนและทำลายชีวิตสัตว์ไม่น้อยเลย
สำหรับผมตายเพียงคนเดียว แต่สัตว์ที่จะพลอยตายเพราะผมเป็นเหตุนั้นมีจำนวนมากมาย
เพราะคนจะมามาก ทั้งที่นี้ไม่มีตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน
นับแต่ผมบวชมาไม่เคยคิดให้สัตว์ได้รับความลำบากเดือดร้อน
โดยไม่ต้องพูดถึงการฆ่าเขาเลย มีแต่ความเมตตาสงสารเป็นพื้นฐานของใจตลอดมา
ทุกเวลาได้แผ่เมตตาจิตอุทิศส่วนกุศลแก่สัตว์ไม่เลือกหน้า โดยไม่มีประมาณตลอดมา
เวลาตายแล้วจะกลายเป็นศัตรูคู่เวรแก่สัตว์
ให้เขาล้มตายลงจากชีวิตที่แสนรักสงวนของแต่ละตัว เพราะผมเป็นเหตุเพียงคนเดียวนั้น
ผมทำไม่ลง อย่างไรขอให้นำผมออกไปตายที่สกลนคร เพราะที่นั้นเขามีตลาดอยู่แล้ว
คงไม่กระเทือนชีวิตของสัตว์มากเหมือนที่นี่ เพียงผมป่วยยังไม่ถึงตายเลย
ผู้คนพระเณรก็พากันหลั่งไหลมาไม่หยุดหย่อน และนับวันมากขึ้นโดยลำดับ
ซึ่งพอเป็นพยานอย่างประจักษ์แล้ว ยิ่งผมตายลงไปผู้คนพระเณรจะพากันมามากเพียงไร
ขอได้พากันคิดเอาเอง
เพียงผมคนเดียวไม่คิดคำนึงถึงความทุกข์เดือดร้อนของผู้อื่นเลยนั้น
ผมตายได้ทุกกาลสถานที่ ไม่อาลัยเสียดายร่างกายอันนี้เลย
เพราะผมได้พิจารณาทราบเรื่องของมันตลอดทั่วถึงแล้วว่า
เป็นเพียงส่วนผสมแห่งธาตุรวมกันอยู่ชั่วระยะกาล แล้วก็แตกทำลายลงไปสู่ธาตุเดิมของมันเท่านั้น
จะมาอาลัยเสียดายหาประโยชน์อะไร เท่าที่พูดนี้ก็เพื่อความอนุเคราะห์สัตว์
อย่าให้เขาต้องมาพร้อมกันตายเป็นป่าช้าผีดิบวางขายเกลื่อนอยู่ตามริมถนนหนทาง
อันเป็นที่น่าสมเพชเวทนาเอาหนักหนาเลย
ซึ่งยังไม่สุดวิสัยที่จะควรพิจารณาแก้ไขได้ในเวลานี้ ฉะนั้นจึงขอให้รีบจัดการให้ผมได้ออกไปทันกับเวลาที่ยังควรอยู่ในระยะนี้
เพื่ออนุเคราะห์สัตว์ที่รอตายตามผมอยู่เป็นจำนวนมาก
ให้เขาได้มีความปลอดภัยในชีวิตของเขาโดยทั่วกัน หรือใครมีความเห็นอย่างไร
ก็พูดได้ในเวลานี้
ทั้งพระและญาติโยมรวมฟังกันอยู่เป็นจำนวนมาก
ไม่มีใครพูดขึ้น มีแต่ความสงบเงียบแห่งบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง
ดังบทธรรมท่านว่า ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ ปรารถนาไม่สมหวังย่อมเป็นทุกข์
คือท่านจะอยู่วัดหนองผือก็ต้องตาย จะออกไปสกลนครก็ต้องตาย ไม่มีหวังทั้งนั้น
ที่ประชุมจึงต่างคนต่างเงียบ หมดทางแก้ไขทุกประตู จึงเป็นอันพร้อมกันยินดีและตกลงตามความเห็นและความประสงค์ท่าน
ทีแรกญาติโยมบ้านหนองผือทั้งบ้านแสดงความประสงค์ว่า
ขอให้ท่านตายที่นี่ เขาจะเป็นผู้จัดการศพท่านเอง
แม้จะทุกข์จนข้นแค้นแสนเข็ญเพียงไรก็ตาม
แต่ศรัทธาความเชื่อเลื่อมใสในครูอาจารย์มิได้จน ยังมีเต็มเปี่ยมในสันดาน
จึงขอจัดการศพท่านจนสุดความสามารถขาดดิ้น ไม่ยอมให้ใครดูหมิ่นเหยียดหยามว่า
ชาวบ้านหนองผือไม่มีความสามารถ เผาศพท่านอาจารย์เพียงองค์เดียวก็ไม่ไหม้
ปล่อยให้เขาเอาท่านไปทิ้งเสียที่อื่น ดังนี้ไม่ให้มี
อย่างไรก็ขอพร้อมกันทั้งบ้านมอบกายถวายชีวิตต่อท่านอาจารย์องค์เป็นสรณะของชาวบ้านหนองผือจนหมดลมหายใจ
ไม่ยอมให้ใครเอาท่านไปไหน จนกว่าชาวหนองผือไม่มีลมหายใจครองขันธ์แล้ว
จึงจะยอมให้เอาท่านไป
แต่พอได้ยินคำท่านให้เหตุผลโดยธรรมแล้ว
ก็พากันแสดงความเสียดาย โดยพูดอะไรไม่ได้
จำต้องยอมทั้งที่มีความเลื่อมใสและอาลัยเสียดายท่านแทบใจจะขาด
ปราศจากลมหายใจในขณะนั้น จึงเป็นที่น่าเห็นใจพี่น้องชาวหนองผือเป็นอย่างยิ่ง
และขอจารึกเหตุการณ์คือความเสียสละอย่างถึงเป็นถึงตายเพื่อถวายบูชาท่านอาจารย์ครั้งนี้ไว้ในหทัยของผู้เขียน
ในนามท่านผู้อ่านทั้งหลายด้วย ซึ่งคงจะมีความรู้สึกต่อพี่น้องชาวหนองผือเช่นเดียวกัน
วันประชุมนั้นมีครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านที่เป็นลูกศิษย์ท่านมาร่วมด้วย
ท่านอาจารย์เองเป็นผู้ชี้แจงเรื่องที่ไม่ควรให้ท่านอยู่วัดหนองผือต่อไป
ด้วยเหตุดังที่เขียนผ่านมาแล้ว
เมื่อทั้งฝ่ายพระสงฆ์และฝ่ายชาวบ้านต่างทราบคำชี้แจงจากท่านในที่ประชุมด้วยกัน
และไม่มีใครคัดค้านแล้ว ก็ตกลงกันทำแคร่สำหรับหามท่านออกจากวัดหนองผือไปสกลนคร
วันที่กลายเป็นวันมหาเศร้าโศกโลกหวั่นไหว
เพราะความวิโยคพลัดพรากจากสิ่งที่รักเลื่อมใสสุดจิตสุดใจ
ก็ได้ระเบิดขึ้นแก่ชาวบ้านชาววัดอย่างสุดจะอดกลั้นไว้ได้นั้น คือวันที่ประชาชนญาติโยมและพระสงฆ์จำนวนมาก
เตรียมแคร่มารอรับท่านอาจารย์ที่บันไดกุฎี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น