หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น
ภูริทัตตเถระ 2
โดย พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
โดย พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
การบำรุงรักษาสิ่งใด
ๆ ในโลก การบำรุงรักษาตน คือใจเป็นเยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ
ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม
รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน ใจนี่แลคือสมบัติอันล้นค่า
จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจคือ
ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง
เมื่อทราบแล้วว่าใจเป็นสิ่งประเสริฐในตัวเรา จึงไม่ควรให้พลาดทั้งรู้ ๆ
จะเสียใจภายหลัง ความเสียใจทำนองนี้ไม่ควรให้เกิดได้เมื่อทราบอยู่อย่างเต็มใจ
มนุษย์เป็นชาติที่ฉลาดในโลก แต่อย่าให้เราที่เป็นมนุษย์ทั้งคน โง่เต็มตัว
จะเลวเต็มทนและหาความสุขไม่เจอ กิจการทั้งภายในภายนอกของสมณะเป็นกิจ
หรือเป็นงานตัวอย่างของโลกได้อย่างมั่นใจ
เพราะเป็นกิจที่ขาวสะอาดปราศจากมลทินโทษทั้งกิริยาที่ทำและงานที่ประกอบ
จัดว่าชอบด้วยอรรถด้วยธรรม
จึงควรบำรุงส่งเสริมสมณกิจของตนให้มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป
จะเป็นผู้เจริญรุ่งเรืองในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ สมณะผู้รักในศีล รักในสมาธิ
รักสติ รักปัญญา รักความเพียร จะเป็นสมณะอย่างเต็มภูมิทั้งปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้
ธรรมที่แสดงนี้คือธรรมของท่านผู้มีความเพียร ของท่านผู้อดผู้ทน
ของท่านผู้เป็นนักต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคน ของผู้พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง
ปราศจากสิ่งกดขี่บังคับของท่านผู้เป็นอิสระอย่างเต็มภูมิ
คือพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของโลกทั้งสาม ถ้าท่านเห็นว่าธรรมทั้งนี้เป็นธรรมสำคัญสำหรับท่าน
ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสในไม่ช้านี้ จึงขอฝากธรรมไว้กับท่านนำไปพิจารณาด้วยดี
ท่านจะกลายเป็นคนที่แปลกขึ้นมาในใจ ซึ่งเป็นของแปลกอยู่แล้วตามหลักธรรมชาติดังนี้
เมื่อพระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังจากไปแล้ว
ท่านก็น้อมเอาธรรมนั้นมาพิจารณาใคร่ครวญอีกต่อหนึ่ง โดยแยกแยะออกเป็นแขนง ๆ
ไตร่ตรองดูด้วยความละเอียด ทุก ๆ
ครั้งที่พระสาวกอรหันต์แต่ละองค์มาแสดงธรรมสั่งสอน ท่านได้อุบายต่าง ๆ
จากการสดับธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลายที่มาอบรมสั่งสอนแต่ละครั้งแต่ละองค์
ช่วยส่งเสริมกำลังใจกำลังสติปัญญาตลอดมา
ท่านเล่าว่าขณะที่ฟังธรรมพระอรหันต์ท่านแสดงธรรมให้ฟัง
ประหนึ่งได้ฟังธรรมในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า แม้ไม่เคยเห็นพระองค์มาก่อน
ใจรู้สึกอิ่มเอิบและเพลิดเพลินไปตาม
เหมือนโลกและธาตุขันธ์ไม่มีกาลเวลามาบีบบังคับเลย ปรากฏว่ามีแต่จิตล้วน ๆ ที่สว่างไสวไปด้วยอรรถด้วยธรรมเท่านั้น
พอจิตถอนออกมาจึงทราบว่าตนมีภูเขาอันแสนหนักทั้งลูก
คือร่างกายอันเป็นที่รวมแห่งขันธ์ ซึ่งแต่ละขันธ์ล้วนเป็นกองทุกข์อันแสนทรมาน
ท่านพักอยู่ที่ถ้ำนั้นมีพระอรหันต์หลายองค์มาเยี่ยมและแสดงธรรมให้ฟังเสมอในวาระต่าง
ๆ กัน ซึ่งผิดกับที่ทั้งหลายอยู่มากในชีวิตที่ผ่านมา
ธรรมเป็นที่แน่ใจได้ปรากฏขึ้นแก่ท่านในถ้ำนั้น ธรรมนั้นคือพระอนาคามีผล
ธรรมนี้ในพระปริยัติท่านกล่าวไว้ว่าละสังโยชน์ได้ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา
สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ ท่านผู้บรรลุธรรมขั้นนี้เป็นผู้แน่นอนในการไม่กลับมาอุบัติเกิดเป็นมนุษย์
และสัตว์ที่มีธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเรือนร่างอีกต่อไป
หากยังไม่เลื่อนชั้นขึ้นถึงพระอรหันตภูมิในอัตภาพนั้น
เวลาตายแล้วก็ไปอุบัติเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง
ตามภูมิธรรมที่ผู้นั้นได้บรรลุในพรหมโลก ๕ ชั้น คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี
และอกนิฏฐา ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่ของพระอนาคามีบุคคล
ตามลำดับแห่งภูมิธรรมที่มีความละเอียดต่างกัน
ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าเป็นการภายในว่า
ท่านได้บรรลุอนาคามีธรรมในถ้ำนั้น
แต่ผู้เขียนก็เลยตัดสินใจนำมาลงเพื่อท่านผู้อ่านได้ติชมบ้าง หากเป็นการผิดพลาดประการใด
ก็ขอได้ตำหนิผู้เขียนว่าเป็นผู้ไม่รอบคอบเสียเอง
ท่านพักบำเพ็ญสมณธรรมด้วยความสงบเย็นใจอยู่ที่นั้นหลายเดือน
คืนวันหนึ่ง
เกิดความเมตตาสงสารหมู่คณะขึ้นมาอย่างมากมายผิดสังเกตที่เคยเป็นมา
สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เนื่องมาจากท่านทำสมาธิภาวนาเกิดความอัศจรรย์หลายอย่างที่ไม่เคยคาดฝันว่าจะเป็นได้ในชีวิต
แต่ก็ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างประจักษ์ใจติด ๆ กันทุกคืน เฉพาะคืนที่คิดถึงหมู่คณะนั้น
รู้สึกเป็นคืนที่แปลกมาก คือจิตเป็นสมาธิที่ละเอียดสุขุมมากเป็นพิเศษ
ความรู้ความเห็นทั้งภายในภายนอกเป็นพิเศษ ความอัศจรรย์ปรากฏขึ้นกับใจเป็นพิเศษ
ถึงกับน้ำตาร่วงไหลออกมาด้วยความเห็นโทษแห่งความโง่ของตนในอดีตที่ผ่านมา
ความเห็นคุณของความเพียรที่ตะเกียกตะกายมาจนได้เห็นธรรมอัศจรรย์ขึ้นจำเพาะหน้า
ความเห็นคุณของพระพุทธเจ้าผู้มีพระเมตตาประสิทธิ์ประสาทธรรมไว้พอเห็นร่องรอยได้ดำเนินตาม
และรู้ความสลับซับซ้อนแห่งกรรมของตนและของผู้อื่นตลอดสัตว์ทั้งหลายขึ้นมาอย่างประจักษ์
ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย ตรงตามธรรมบทว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นของตน เป็นต้น อันเป็นบทธรรมที่รวมความสำคัญของศาสนาไว้แทบทั้งมวล
ท่านเตือนตนว่า แม้จะประสบความอัศจรรย์หลายอย่างขึ้นมาอย่างภาคภูมิใจก็ตาม
แต่ก็ทราบว่าทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ของท่านยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้
ยังจะต้องทุ่มเทกำลังสติปัญญาและความพากเพียรทุกด้านลงอย่างเต็มกำลังอีกต่อไป
สิ่งที่ทำให้ท่านเย็นใจและอยู่ด้วยความผาสุกทั้งทางกายและทางใจนั้น
คือโรคเรื้อรังในท้องที่เคยรบกวนและตัดรอนเสมอมาได้หายไปโดยสิ้นเชิง
จิตใจได้หลักยึดอย่างมั่นคง แม้ยังไม่สิ้นกิเลส
แต่ก็มิได้สงสัยปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน ปฏิปทาภายในเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลุ่ม
ๆ ดอน ๆ เหมือนแต่ก่อน มีความแน่ใจว่าจะไม่ลุ่มหลงสงสัยทางดำเนินเพื่อธรรมขั้นสูงสุดแบบลูบ
ๆ คลำ ๆ ดังที่เคยเป็นมา และมั่นใจว่าตนจะบรรลุถึงธรรมแดนพ้นทุกข์ในวันหนึ่งแน่นอน
สติปัญญาก็ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ถูกบังคับเคี่ยวเข็ญ วันคืนหนึ่ง ๆ
เกิดความรู้ความเห็นต่าง ๆ
ทั้งที่เกี่ยวแก่สิ่งภายในและเกี่ยวแก่สิ่งภายนอกไม่มีประมาณ ทำให้จิตใจรื่นเริงในธรรม
และเกิดความสงสารหมู่คณะที่เคยอยู่ด้วยกันมามากขึ้น
อยากให้ได้รู้ได้เห็นอย่างที่ตนรู้เห็นบ้าง
ความคิดสงสารนี้เลยกลายเป็นสาเหตุให้ท่านจำต้องจากถ้ำอันเป็นอุดมมงคลนี้
ไปหาหมู่คณะทางภาคอีสานอีก ทั้ง ๆ ที่อาลัยอาวรณ์ไม่อยากไป
ก่อนที่ท่านจะจากถ้ำนี้ไปราว
๒-๓ วัน ก็ปรากฏว่ามีพวกรุกขเทพ
โดยมีเทพลึกลับองค์ที่เคยมาหาท่านเป็นหัวหน้าพามาเยี่ยมฟังธรรมเทศนาท่าน
เมื่อท่านให้โอวาทแก่เทวดาจบลง
และบอกความประสงค์ที่จะต้องจากถ้ำและคณะเทพทั้งหลายไปสู่ถิ่นอื่นด้วยความจำเป็น
บรรดาเทวดาที่รวมกันอยู่จำนวนมาก ไม่ยอมให้ท่านจากไป
และพร้อมกันอาราธนานิมนต์ท่านไว้
เพื่อความร่มเย็นและเป็นสิริมงคลแก่ชาวเทพตลอดกาลนาน ท่านก็บอกว่า
ที่มาอยู่ที่นี่ก็มาด้วยความจำเป็น
แม้การจะจากไปสู่ที่อื่นก็ไปด้วยความจำเป็นเช่นเดียวกัน
มิได้มาและไปด้วยความอยากพาให้เป็นไป จึงขอความเห็นใจจากท่านทั้งหลาย
อย่าได้เสียใจ ถ้ามีโอกาสวาสนาอำนวยยังจะได้มาที่นี่อีก
ชาวเทพพากันแสดงความเสียใจและเสียดายท่านด้วยความเคารพรักจริง ๆ
ไม่อยากให้ท่านจากไป
จวนจะถึงวันลงจากถ้ำ ตอนกลางคืนราว ๔.๐๐ นาฬิกา คือ ๑๐ ทุ่ม ท่านคิดถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์
วัดบรมนิวาส ว่าเวลานี้ท่านจะพิจารณาอะไรอยู่ จึงกำหนดจิตส่งกระแส
ลงมาดูท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ทราบว่า
เวลานั้นท่านกำลังพิจารณาปัจจยาการคืออวิชชาอยู่ ท่านอาจารย์ทราบแล้วก็จดจำวันไว้
เวลาลงมากรุงเทพฯ ได้โอกาสก็เรียนถามท่านตามที่ตนทราบมาแล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ
พอได้ทราบเท่านั้น เลยต้องสารภาพและหัวเราะกันพักใหญ่ พร้อมทั้งชมเชยว่า “ท่านมั่นนี้เก่งจริง
เราเองเป็นขนาดอาจารย์ แต่ไม่เป็นท่า น่าอายท่านมั่นเหลือเกิน ท่านมั่นเก่งจริง” แล้วก็กล่าวชมเชยว่า “มันต้องอย่างนี้ซิลูกศิษย์พระตถาคต
ถึงจะเรียกว่าเดินตามครู พวกเราอย่าทำตัวเป็นโมฆะจากธรรมของพระพุทธเจ้าเสียหมด
ต้องมีผู้ทรงธรรมท่านไว้บ้าง สมกับธรรมเป็นอกาลิโก
ไม่ปล่อยให้กาลสถานที่และความเกียจคร้านเอาไปกินเสียหมด
ธรรมจะไม่ปรากฏแก่โลกทั้งที่พระพุทธเจ้าประกาศสอนแก่หมู่ชน
ต้องทำอย่างท่านมั่นที่ได้ความรู้ต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้จึงเป็นที่น่าชมเชย”
ท่านเล่าให้ฟังว่า
ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เลื่อมใสและชมเชยท่านมาก บางครั้งเวลามีเรื่องราวต่าง ๆ
ที่ท่านไม่แน่ใจว่าควรจะพิจารณาและตัดสินใจอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม
ท่านยังให้พระนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นไปร่วมปรึกษา
และมอบเรื่องราวให้ท่านไปพิจารณาช่วยก็ยังมี พอควรแก่เวลาแล้ว
ท่านก็เดินทางไปภาคอีสาน ท่านว่าก่อนท่านจะขึ้นไปบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำสาริกาเขาใหญ่
จังหวัดนครนายก ท่านเที่ยวจาริกไปทางประเทศพม่าก่อน
แล้วกลับมาผ่านจังหวัดเชียงใหม่ ลงไปทางหลวงพระบาง ประเทศลาว
บำเพ็ญสมณธรรมอยู่แถบนั้นนานพอสมควร แล้วไปจังหวัดเลย และจำพรรษาที่บ้านโคก
ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับถ้ำผาปู่ในเขตจังหวัดเลย ๑ พรรษา และไปจำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง ๑
พรรษาในเขตจังหวัดเดียวกัน ที่ที่ท่านจำพรรษาเหล่านี้มีแต่ป่าแต่เขา
และเต็มไปด้วยสัตว์ชนิดต่าง ๆ เพราะหมู่บ้านและผู้คนมีน้อยในสมัยนั้น
เดินทางไปตั้งวันก็ไม่เจอหมู่บ้าน ถ้าเกิดไปหลงทางเข้าต้องแย่ และนอนกลางป่า
ซึ่งเป็นที่ชุกชุมของสัตว์นานาชนิด มีเสือ เป็นต้น
ท่านเล่าว่า
ท่านข้ามไปเที่ยวธุดงค์ฟากฝั่งแม่น้ำโขงประเทศลาว และพักอยู่ในป่าใกล้ภูเขา
มีเสือโคร่งใหญ่เคยมาหาท่านบ่อย ๆ บางทีมันก็มาดูท่านอยู่ห่าง ๆ ในเวลากลางคืน
ซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ แต่มันมิได้แสดงท่าทางให้เป็นที่น่ากลัวอะไรนัก
นอกจากมันร้องไปตามภาษาของมัน แลเที่ยวไปมาอยู่แถว ๆ บริเวณนั้นเท่านั้น
ท่านก็มิได้สนใจกับมัน เพราะเคยชินกับพวกสัตว์ต่าง ๆ มาแล้ว
คืนวันหนึ่งมีเสือโคร่งตัวใหญ่มากเข้ามาหาพระที่เป็นเพื่อนไปด้วยกัน
ซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่ แต่อยู่กันคนละหมู่บ้าน มิได้อยู่ด้วยกัน
มันเข้ามานั่งดูท่านอยู่ข้างทางเดินจงกรมของพระอาจารย์องค์นั้น
ห่างจากทางจงกรมท่านประมาณ ๑ วา
ท่ามกลางความสว่างของแสงไฟเทียนไขที่ท่านจุดไว้เพื่อมองเห็นหนทางเดินจงกรมไปมา การนั่งของเสือโคร่งตัวนั้นเหมือนสุนัขบ้านเรานั่งนั้นเอง
มันนั่งหันหน้ามาทางจงกรมท่าน
ตามันจับจ้องมองดูพระที่ท่านกำลังเดินจงกรมไปมาไม่ลดละสายตา
แต่มิได้แสดงอาการอย่างใดออกมา
ขณะที่พระท่านเดินจงกรมไปถึงตรงที่มันนั่งดูอยู่นั้น
รู้สึกสงสัยนัยน์ตาและเฉลียวใจ เพราะข้างทางจงกรมตรงนั้นปกติไม่มีอะไร
แต่ขณะนั้นรู้สึกพิกลนัยน์ตาจึงมองไปดู
ก็พอดีเห็นเสือโคร่งใหญ่กำลังนั่งมองดูท่านอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ
พระท่านเองก็ไม่กลัวมัน มันก็ไม่ทำอะไรท่าน เป็นเพียงนั่งดูอยู่เฉย ๆ
เหมือนสัตว์ไม่มีวิญญาณและไม่กระดุกกระดิก ท่านก็เดินจงกรมผ่านหน้ามันไปมาไม่นึกกลัวอะไรกัน
เป็นแต่เห็นมันนั่งดูท่านอยู่นานผิดปกติ จึงทำให้ท่านคิดขึ้นด้วยความสงสารมันว่า
แกจะไปหาอยู่หากินที่ไหนก็ไปซิ จะมานั่งเฝ้าเราทำไมกัน พอท่านคิดจบลงเท่านั้น
เสียงมันดังกระหึ่มขึ้นทันที จนสะเทือนป่าไปหมดในขณะนั้น เมื่อท่านได้ยินเสียงมันดังกระหึ่มและไม่ยอมหนีตามที่ท่านคิดอยากให้มันหนีไป
ท่านเลยรีบเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า เท่าที่คิดเช่นนั้นก็เพราะความสงสาร
เกรงว่าจะเกิดความหิวโหย เพราะมีปากมีท้องที่จะต้องได้รับการบำรุงรักษาเช่นทั่ว ๆ
ไป เพราะการมานั่งเฝ้าเรานาน ๆ ถ้าไม่เกิดความหิวกระหายใด ๆ
จะนั่งเฝ้าเพื่อรักษาอันตรายให้ก็ยิ่งดี เราก็ไม่ว่าอะไร
พอท่านเปลี่ยนความคิดใหม่เช่นนี้จบลง
มันก็มิได้แสดงอาการอย่างไรต่อไปอีก คงนั่งดูท่านเดินจงกรมต่อไปตามนิสัยของมัน
ท่านเองก็คงเดินจงกรมไปมาตามปกติ มิได้สนใจกับมันอีกต่อไป มันก็นั่งดูท่านอยู่เหมือนหัวตอไม่กระดุกกระดิกตัวแต่อย่างใดเลย
จนถึงเวลาท่านก็เดินออกจากทางจงกรมเข้าไปสู่ที่พักซึ่งเป็นแคร่เล็ก ๆ
เหมือนเตียงนอน ที่อยู่ไม่ห่างไกลจากทางจงกรมนัก
ทำวัตรสวดมนต์และนั่งสมาธิภาวนาต่อไป จนถึงเวลาพักผ่อนท่านก็พักนอนอยู่บนแคร่นั้น
ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเสือโคร่งตัวนั้นนักเลย ท่านตื่นนอน ๓.๐๐ นาฬิกา คือ ๙ ทุ่ม
จากนั้นท่านก็เริ่มออกไปเดินจงกรมอีกตามเคย แต่ไม่เห็นเสือตัวนั้นอีก
ไม่ทราบว่ามันหายไปทางทิศใด คืนต่อไปก็ไม่เห็นมันมาที่นั่นอีก
จนกระทั่งท่านจากที่นั้นหนีไป เผอิญเห็นเฉพาะคืนเดียวเท่านั้น จึงทำให้พระอาจารย์องค์นั้นเกิดความสงสัย
เวลาไปพบกับท่านพระอาจารย์มั่น จึงเล่าเรื่องเสือมาเฝ้าตนให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง
ท่านเล่าว่า
อาจารย์องค์นั้นชื่อ “สีทา” อายุพรรษาแก่กว่าท่านเล็กน้อย
ท่านเป็นพระนักปฏิบัติรุ่นเดียวกัน และเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง ท่านชอบป่าชอบเขาชอบที่สงบสงัดมาก
ท่านชอบอยู่ตามภูเขาทางฝั่งแม่น้ำโขงประเทศลาวมากกว่าที่อื่น ๆ
แม้ข้ามมาฝั่งไทยเราก็ไม่นาน ท่านพระอาจารย์สีทาเล่าให้พระอาจารย์มั่นฟัง
คราวเสือกระหึ่มใส่ท่านนั้น เป็นขณะที่ท่านคิดอยากให้มันหนีไปว่าท่านไม่รู้สึกกลัว
แต่ขนลุกไปหมดทั้งตัว ศีรษะชาเหมือนใส่หมวก
ต่อไปค่อยเป็นปกติและเดินจงกรมไปมาได้สะดวกธรรมดาเหมือนไม่มีอะไรมาอยู่ที่นั้น
ความจริงมันคงจะมีความกลัวอยู่อย่างลึกลับจนเจ้าตัวไม่อาจรู้ได้
แม้คืนที่เสือโคร่งใหญ่ตัวนั้นไม่มาหาท่านถึงที่อยู่
แต่ก็ได้ยินเสียงมันร้องกระหึ่ม ๆ อยู่บริเวณใกล้เคียงที่ท่านพักอยู่แทบทุกคืน
ท่านก็ไม่เห็นรู้สึกกลัวมัน
และทำความเพียรได้อย่างสบายเหมือนไม่มีอะไรในบริเวณนั้น
สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นออกปฏิบัติทีแรก
และเที่ยวไปตามจังหวัดต่าง ๆ มีจังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานี จนไปถึงพม่า
กลับมาผ่านจังหวัดเชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จังหวัดเลย
ลงไปจำพรรษาที่วัดปทุมวัน กรุงเทพฯ และไปพักที่ถ้ำสาริกา เขาใหญ่
ตลอดเวลาที่ท่านกลับมาทางภาคอีสานอีก ท่านมักจะไปเพียงองค์เดียว
แม้จะมีพระติดตามบ้างก็เป็นบางสมัยเท่านั้น แล้วก็แยกกันไป
เพราะท่านเป็นผู้ปฏิบัติเด็ดเดี่ยว ไม่ชอบเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ
ท่านถือเป็นความสะดวกในการไปคนเดียวอยู่คนเดียว บำเพ็ญสมณธรรมคนเดียวตลอดมา
จนปรากฏว่ามีกำลังใจมั่นคง จึงเกิดความสงสารหมู่คณะ และสนใจที่จะแนะนำสั่งสอน
ความคิดอันนี้เป็นเหตุให้ท่านได้จากถ้ำสาริกาอันแสนสบายกลับไปทางภาคอีสาน
หลังจากท่านได้อบรมพระเณรไว้บ้างสมัยที่ท่านเที่ยวธุดงค์อยู่ทางภาคอีสาน
ก่อนหน้าจะลงมาทางภาคกลางและไปถ้ำเขาใหญ่
ก็ปรากฏว่ามีพระธุดงคกรรมฐานปฏิบัติอยู่ทางภาคอีสานมากพอสมควร
พอท่านกลับไปเที่ยวนี้ก็ได้ตั้งใจทำการสั่งสอนทั้งพระเณรและฆราวาสผู้มีความมุ่งหวังต่อท่านอยู่แล้วอย่างเต็มกำลัง
การเที่ยวทางภาคอีสานท่านก็เที่ยวไปตามจังหวัดต่าง
ๆ ที่เคยไปแล้ว ปรากฏว่ามีพระเณรญาติโยมเกิดความเชื่อเลื่อมใสท่านมากมาย
ผู้ออกบวชและปฏิบัติตามท่านด้วยความเชื่อเลื่อมใสมีจำนวนมาก
แม้พระที่มีอายุพรรษาจนเป็นขั้นอาจารย์แล้วก็ยอมสละทิฐิมานะและภาระหน้าที่ออกปฏิบัติตามท่าน
จนกลายเป็นผู้มีความมั่นคงทางข้อปฏิบัติและทางจิตใจ
จนสามารถสั่งสอนผู้อื่นได้อย่างเต็มภูมิก็มีจำนวนมาก
พระที่เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของท่าน
คือ ท่านพระอาจารย์สุวรรณ ที่เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ
จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์สิงห์
ขันตยาคโม เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน
จังหวัดนครราชสีมา พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดศรัทธาราม
นครราชสีมา ทั้ง ๓ องค์นี้ท่านเป็นชาวอุบลราชธานี และท่านมรณภาพไปหมดแล้ว
ซึ่งล้วนเป็นลูกศิษย์ผู้สำคัญที่ให้การอบรมพระเณรญาติโยม สืบทอดจากพระอาจารย์มั่นมาเป็นลำดับถึงสมัยปัจจุบัน
พระอาจารย์สิงห์
กับ พระอาจารย์มหาปิ่น ทั้งสององค์นี้ท่านเป็นพี่กับน้องร่วมอุทรเดียวกัน
และเป็นผู้ได้รับการศึกษาทางปริยัติมามากพอสมควร
ทั้งสององค์นี้ท่านเกิดความเลื่อมใสพอใจ
ยอมสละทิฐิมานะและภาระหน้าที่ออกปฏิบัติตามท่านพระอาจารย์มั่นตลอดมา
และได้ทำประโยชน์แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง
รองกันลงมาก็พระอาจารย์เทสก์
เทสรังสี ท่านเป็นพระราชาคณะ ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่วัดหินหมากเป้ง
อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
ท่านเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่งที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสอยู่มาก
และเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระเณรและประชาชนทั่วไปแทบทุกภาค
ปฏิปทาของท่านเป็นไปอย่างเรียบ ๆ สม่ำเสมอ
สมกับอัธยาศัยท่านที่คล่องแคล่วอ่อนโยนสงบเสงี่ยมงามมาก ยากที่จะหาได้แต่ละองค์
คำพูดจาปราศรัยเป็นที่จับใจไพเราะต่อคนทุกชั้น ท่านมีมารยาทสวยงามมาก
ผู้ยึดไปเป็นคติและปฏิบัติตาม
ย่อมเป็นผู้สวยงามและเย็นตาเย็นใจแก่ผู้ได้เห็นได้ยิน ตลอดผู้มาเกี่ยวข้องทั่ว ๆ
ไปอย่างไม่มีประมาณ
เพราะมารยาทอัธยาศัยของครูอาจารย์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน
คือมารยาทของบางองค์ใครนำไปใช้ก็งามไปหมด ไม่แสลงใจแก่ผู้มาเกี่ยวข้องและเป็นความงามตาเย็นใจในคนทุกชั้น
แต่มารยาทของบางอาจารย์ ย่อมเป็นสมบัติที่เหมาะสมและสวยงามเฉพาะองค์ท่านเท่านั้น
ผู้อื่นยึดเอาไปใช้ย่อมกลายเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงและแสลงใจผู้อื่นที่ได้เห็นได้ยินขึ้นมาทันที ดังนั้น
มารยาทของบางอาจารย์จึงไม่สะดวกที่จะยึดไปใช้ทั่ว ๆ ไป ท่านอาจารย์เทสก์
ท่านมีอัธยาศัยนุ่มนวลควรเป็นคติและเป็นสิริมงคลแก่ผู้รับไปปฏิบัติตามทั่ว ๆ ไป
โดยไม่มีปัญหาว่าจะขัดต่อสายตาและจิตใจของผู้มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
และเหมาะสมกับเพศนักบวชผู้ควรมีมารยาทอัธยาศัยสงบเสงี่ยมเย็นใจโดยแท้
นี่คือลูกศิษย์ของท่านรูปหนึ่งที่ควรกราบไหว้บูชาอย่างสนิทใจ
ตามความรู้สึกของผู้เขียนที่ได้เคยสมาคมและกราบไหว้บูชาท่าน
โดยถือเป็นครูอาจารย์อย่างสนิทใจตลอดมา ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากในภาคต่าง ๆ
และทำประโยชน์แก่หมู่ชนอย่างกว้างขวาง จัดว่าเป็นพระอาจารย์ที่หาได้ยากรูปหนึ่ง
ลำดับพรรษาลงมาก็มี
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านผู้หนึ่ง
ขณะนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอุดมสมพร บ้านนาหัวช้าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
ท่านเป็นที่เลื่องลือระบือทั่วทุกหนทุกแห่งด้วยกิตติศัพท์กิตติคุณแห่งการปฏิบัติดี
สามีจิกรรมที่ชอบทั้งภายนอกภายใน จิตใจท่านก็สูงด้วยคุณธรรม
เป็นที่เคารพนับถือของหมู่ชนทุกภาคของเมืองไทย เป็นที่น่าเลื่อมใสอย่างยิ่ง
เป็นผู้มีความเมตตามากต่อคนทุกชั้น การสงเคราะห์ทั้งด้านวัตถุและด้านธรรมะ
นับว่าท่านเอาใจใส่อย่างพระผู้มีจิตเมตตาไม่มีขอบเขตจริง ๆ
แต่รู้สึกเสียใจที่จำต้องงดเรื่องท่านไว้ก่อนเพื่อดำเนินเรื่องของท่านพระอาจารย์มั่นสืบต่อไป
หากมีโอกาสจะนำมาลงในวาระต่อไป ตอนจบเรื่องของท่านพระอาจารย์มั่นเรียบร้อยแล้ว
ลำดับศิษย์ของท่านองค์ต่อไปคือ
ท่านพระอาจารย์ขาว ซึ่งขณะนี้ท่านอยู่วัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู
จังหวัดอุดรธานี ท่านผู้อ่านคงทราบกิตติคุณท่านได้ดีพอ
เพราะเป็นอาจารย์สำคัญในปัจจุบัน
ทั้งด้านข้อปฏิบัติและความรู้ภายในใจเป็นที่น่าเลื่อมใสอย่างมาก
ท่านเป็นพระที่เด็ดเดี่ยวทางความเพียร ชอบแสวงหาอยู่ในที่สงัดตลอดมา
ทางความเพียรท่านเป็นเยี่ยมในวงพระธุดงคกรรมฐาน ยากจะหาตัวจับได้
แม้ปัจจุบันอายุท่านจะก้าวข้าม ๘๒ ปีอยู่แล้วก็ตาม
แต่ความเพียรยังไม่ยอมลดหย่อนผ่อนตามสังขารเลย
มีบางคนพูดเป็นเชิงวิตกเป็นห่วงท่านว่า ท่านจะทำความเพียรไปเพื่ออะไรนักหนา
เพราะอะไร ๆ ท่านก็เพียงพอทุกอย่างแล้ว ไม่ทราบว่าท่านจะขยันไปเพื่ออะไรอีก
ก็ได้ชี้แจงเรื่องของท่านให้ฟังว่า
ท่านผู้หมดสิ้นสิ่งที่เป็นข้าศึกซึ่งคอยกีดกันบั่นทอนและคอยเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลาโดยสิ้นเชิงแล้ว
ท่านไม่มีความเกียจคร้านมากีดขวางลวงใจให้ลุ่มหลงไปตาม
เหมือนพวกเราผู้สั่งสมความขี้เกียจอ่อนแอไว้ในใจจนกองเท่าภูเขาสูงลูกใหญ่ ๆ
แทบมองหาตัวคนไม่เห็น พอจะทำอะไรลงไปบ้างก็กลัวแต่จะได้มาก
มีมากกลัวจะหาที่เก็บไม่ได้ กลัวแต่จะเหนื่อยยากลำบาก
สุดท้ายก็ไม่มีอะไรจะเก็บใส่ภาชนะเลย มีแต่ภาชนะเปล่า ๆ ใจเปล่า ๆ ใจเหี่ยวแห้ง
ใจไม่มีคุณสมบัติเครื่องอาศัย ใจลอย ๆ
สิ่งที่เต็มก็คือการบ่นว่าทุกข์ว่าจนหรือเดือดร้อนกันทั่วโลก
เพราะมารตัวขี้เกียจคอยบันดาลขัดขวางและกดถ่วงไว้
ท่านผู้ปราบมารตัวเหล่านี้ออกจากใจได้แล้ว จึงเป็นผู้ขยันหมั่นเพียรไม่ลดละ
โดยไม่สนใจคิดว่าจะมีภาชนะเก็บหรือไม่ ความมีใจเป็นธรรมล้วน ๆ
ไม่มีโลกเครื่องทำลายเข้ามาแอบแฝง จึงเป็นบุคคลที่มีความสง่าผ่าเผยอยู่ทุกอิริยาบถ
ไม่มีความอับเฉาเศร้าใจเข้ามาครอบครอง
จึงเป็นบุคคลตัวอย่างของโลกได้อย่างมั่นเหมาะ
ลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์แต่ละองค์รู้สึกมีสมบัติอันแพรวพราวราวกับเพชรซ่อนอยู่ในตัวอย่างลึกลับแทบทุกองค์
เมื่อเข้าถึงองค์ท่านจริง ๆ แล้ว จะได้รับสิ่งแปลก ๆ และอัศจรรย์ไปเป็นขวัญใจและระลึกไว้เป็นเวลานาน
ๆ
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีลูกศิษย์ที่สำคัญ
ๆ อยู่หลายองค์และหลายรุ่น ทั้งรุ่นอายุพรรษาและคุณธรรมรองกันลงมาเป็นลำดับลำดา
สมกับท่านเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องรุ่งเรืองด้วยคุณธรรม คือข้อปฏิบัติและธรรมภายใน
ประหนึ่งพระไตรปิฎกย่อม ๆ ตั้งอยู่ภายในดวงใจท่าน
จริงดังบุพพนิมิตที่ปรากฏเป็นกรุยหมายไว้แต่เริ่มแรกออกปฏิบัติ
เวลาสำเร็จผลขึ้นมาก็ตรงตามนั้น ทราบว่าท่านจาริกไปในที่ต่าง ๆ
และทำการอบรมสั่งสอนพระเณรและประชาชนเป็นจำนวนมากต่อมาก
พากันเกิดความเชื่อเลื่อมใสอย่างฝังใจ และติดใจในรสพระสัทธรรมของท่านมาก
เนื่องจากท่านนำเอาของจริงภายในใจออกสั่งสอนด้วยความรู้จริงเห็นจริง
มิได้เป็นไปแบบสุ่มเดา คือท่านก็แน่ใจและเห็นจริงในธรรมที่ปฏิบัติ
รู้และสอนจริงตามธรรมที่ท่านรู้ท่านเห็น
เมื่อกลับจากถ้ำสาริกาสู่ภาคอีสานครั้งที่สองนี้ ท่านเล่าว่าท่านตั้งใจอบรมสั่งสอนพระเณรและประชาชนทั้งชุดเก่าที่เคยอบรมไว้บ้างแล้ว
ทั้งชุดใหม่ที่กำลังเริ่มตั้งรากตั้งฐานอย่างแท้จริง
การปฏิบัติต่อธุดงควัตรที่ท่านนับถือเป็นแบบฉบับอย่างฝังใจประจำองค์ท่าน
และสั่งสอนพระเณรให้ดำเนินตามมีดังนี้
การบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวันมิได้ขาด
ถ้ายังฉันอยู่ เว้นจะไม่ฉันในวันใดก็ไม่จำต้องไปในวันนั้น กิจวัตรในการบิณฑบาต
ท่านสอนให้ตั้งอยู่ในท่าสำรวมกายวาจาใจ
มีสติประจำตนกับความเพียรที่เป็นไปอยู่เวลานั้น
ไม่ปล่อยใจให้พลั้งเผลอไปตามสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสกับอายตนะภายใน
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งไปและกลับ ท่านสอนให้มีสติรักษาใจ
ตลอดความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่ให้เผลอตัว และถือเป็นความเพียรประจำกิจวัตรข้อนี้ทุก
ๆ วาระที่เริ่มเตรียมตัวออกบิณฑบาต หนึ่ง
อาหารที่ได้มาในบาตรมากน้อยถือว่าเป็นอาหารที่พอดี
และเหมาะสมกับผู้ตั้งใจจะสั่งสมธรรมคือความมักน้อยสันโดษให้สมบูรณ์ภายในใจ
ไม่จำต้องแสวงหาหรือรับอาหารเหลือเฟือที่ตามส่งมาทีหลังอีก
อันเป็นการส่งเสริมกิเลสความมักมากซึ่งมีประจำตนอยู่แล้ว ให้มีกำลังผยองพองตัวยิ่ง
ๆ ขึ้นจนตามแก้ไม่ทัน อาหารที่ได้มาในบาตรอย่างใดก็ฉันอย่างนั้น
ไม่แสดงความกระวนกระวายส่ายแส่อันเป็นลักษณะเปรตผีตัวมีวิบากกรรมทรมาน
มีอาหารไม่พอกับความต้องการ ต้องวิ่งวุ่นขุ่นเคืองเดือดร้อน เพราะท้องเพราะปาก
ด้วยความหวังอาหารมากยิ่งกว่าธรรม ธุดงค์ข้อห้ามอาหารที่ตามส่งมาทีหลังนี้
เป็นธรรมหรือเครื่องมือหักล้างกิเลสความมักมากในอาหารได้เป็นอย่างดี
และตัดความหวังความกังวลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาหารได้อย่างดีเยี่ยม หนึ่ง
การฉันมื้อเดียวหรือหนเดียวในวันหนึ่ง
ๆ เป็นความพอดีกับพระธุดงคกรรมฐาน ผู้มีภาระและความกังวลน้อย
ไม่พร่ำเพรื่อกับอาหารหวานคาวในเวลาต่าง ๆ
อันเป็นการกังวลกับปากท้องมากกว่าธรรมจนเกินไป
ไม่สมศักดิ์ศรีของผู้แสวงธรรมเพื่อความพ้นทุกข์อย่างเต็มใจ แม้เช่นนั้น
ในบางคราวยังควรทำการผ่อนอาหาร ฉันแต่น้อยในอาหารมื้อเดียวนั้น
เพื่อจิตใจกับความเพียรจะได้ดำเนินโดยสะดวก ไม่อืดอาดเพราะมากจนเกินไป
และยังเป็นผลกำไรทางใจอีกต่อหนึ่งจากการผ่อนนั้นด้วยสำหรับรายที่เหมาะกับจริตของตน
ธุดงควัตรข้อนี้เป็นธรรมเครื่องสังหารลบล้างความเห็นแก่ปากแก่ท้องของพระธุดงค์ที่มีใจมักละโมบโลเลในอาหารได้ดี
และเป็นธรรมข้อบังคับที่เหมาะสมมาก
ทางโลกก็นิยมเช่นเดียวกับทางธรรม
เช่น เขามีเครื่องป้องกันและปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึก ไม่ว่าจะเป็นข้าศึกต่อทรัพย์สินหรือต่อชีวิตจิตใจ
เช่น สุนัขดุ งูดุ ช้างดุ เสือดุ คนดุ ไข้ดุ หรือไข้ทรยศ
เขามีเครื่องมือหรือยาสำหรับป้องกันหรือปราบปรามกันทั่วโลก
พระธุดงคกรรมฐานผู้มีใจดุ ใจหนักในอาหารหรือในทางไม่ดีใด ๆ ก็ตาม
ที่ไม่น่าดูสำหรับตัวเองและผู้อื่น จึงควรมีธรรมเป็นเครื่องมือไว้สำหรับปราบปรามบ้าง
ถึงจะจัดว่าเป็นผู้มีขอบเขตและงามตาเย็นใจสำหรับตัวและผู้เกี่ยวข้องทั่ว ๆ ไป
ธุดงค์ข้อนี้จึงเป็นธรรมเครื่องปราบปรามได้ดี หนึ่ง
การฉันในบาตรไม่เกี่ยวกับภาชนะอื่นใด
จัดเป็นความสะดวกอย่างยิ่งสำหรับพระธุดงคกรรมฐาน ผู้ประสงค์ความมักน้อยสันโดษและมีนิสัยไม่ค่อยอยู่กับที่เป็นประจำ
การไปเที่ยวจาริกเพื่อสมณธรรมในทิศทางใด
ก็ไม่ต้องหอบหิ้วพะรุงพะรังอันเป็นความไม่สะดวก
และเหมาะสมกับพระผู้ต้องการถ่ายเทสิ่งรกรุงรังภายในใจทุกประเภท
เครื่องบริขารใช้สอยแต่ละอย่างนั้น ทำความกังวลแก่การบำเพ็ญได้อย่างพอดู ฉะนั้น
การฉันเฉพาะในบาตรจึงเป็นกรณีที่ควรสนใจเป็นพิเศษสำหรับพระธุดงค์
คุณสมบัติที่จะเกิดจากการฉันในบาตรยังมีมากมาย คือ อาหารชนิดต่าง ๆ ที่รวมลงในบาตร
ย่อมเป็นสิ่งที่สะดุดตาสะดุดใจและเตือนสติปัญญามิให้นิ่งนอนใจต่อการพิจารณา
เพื่อถือเอาความจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่กับอาหารที่รวมกันอยู่ได้อย่างดีเยี่ยม
ท่านเล่าว่า ท่านเคยได้รับอุบายต่างๆ จากการพิจารณาอาหารในขณะที่ฉันมาเป็นประจำ
แม้ข้ออื่น ๆ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน
ท่านจึงได้ถือเป็นข้อหนักแน่นในธุดงควัตรตลอดมามิได้ลดละ
การพิจารณาอาหารในบาตร
เป็นอุบายตัดความทะเยอทะยานในรสชาติของอาหารได้ดี
การพิจารณาก็เป็นธรรมเครื่องถอดถอนกิเลส เวลาฉันใจก็ไม่ทะเยอทะยานไปกับรสอาหาร
มีความรู้สึกอยู่กับความจริงของอาหารโดยเฉพาะ
อาหารก็เพียงเป็นเครื่องยังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น
ไม่กลับเป็นเครื่องก่อกวนและส่งเสริมให้ใจกำเริบ เพราะอาหารดีมีรสอร่อยบ้าง
เพราะอาหารไม่ดีมีรสไม่ต้องใจบ้าง การพิจารณาโดยแยบคายทุก ๆ ครั้งก่อนลงมือฉัน
ย่อมทำให้ใจคงตัวอยู่ได้โดยสม่ำเสมอ ไม่ตื่นเต้น ไม่อับเฉา
เพราะอาหารและรสอาหารชนิดต่าง ๆ วางตัวคือใจเป็นกลางอย่างมีความสุข ฉะนั้น การฉันในบาตรจึงเป็นข้อวัตรเครื่องกำจัดกิเลสตัวหลงรสอาหารได้เป็นอย่างดี
หนึ่ง
ท่านถือผ้าบังสุกุลเป็นกิจวัตร
พยายามอดกลั้นไม่ทำตามความอยากอันเป็นความสะดวกใจ
ซึ่งมีนิสัยชอบสวยงามในความเป็นอยู่ใช้สอยโดยประการทั้งปวงมาดั้งเดิม คือ
เที่ยวเสาะแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งไว้ในที่ต่าง ๆ ที่ป่าช้า เป็นต้น
เก็บเล็กผสมน้อยมาเย็บปะติดปะต่อเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้สอย โดยเป็นสบงบ้าง
เป็นจีวรบ้าง เป็นสังฆาฏิบ้าง เป็นผ้าอาบน้ำฝนบ้าง เป็นบริขารอื่น ๆ บ้าง เรื่อยมา
บางครั้งท่านชักบังสุกุลผ้าที่เขาพันศพคนตายในป่าช้าก็มีที่เจ้าของศพเขายินดี
เวลาไปบิณฑบาตมองเห็นผ้าขาดตกทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง ท่านก็เก็บเอาเป็นผ้าบังสุกุล
ไม่ว่าจะเป็นผ้าชนิดใดและได้มาจากที่ไหน
เมื่อมาถึงที่พักแล้วท่านนำมาทำการซักฟอกให้สะอาด
แล้วเอามาเย็บปะสบงจีวรที่ขาดบ้าง เย็บติดต่อกันเป็นผ้าอาบน้ำฝนบ้าง
อย่างนั้นเป็นประจำตลอดมา
ต่อมาศรัทธาญาติโยมทราบเข้า
ต่างก็นำผ้าไปบังสุกุลถวายท่านที่ป่าช้าบ้าง ตามสายทางที่ท่านไปบิณฑบาตบ้าง
ตามบริเวณที่พักท่านบ้าง ที่กุฎีหรือแคร่ที่ท่านพักบ้าง
การบังสุกุลที่ท่านเคยทำมาดั้งเดิมก็ค่อยเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ที่พาให้เป็นไป
ท่านเลยต้องชักบังสุกุลผ้าที่เขามาทอดไว้ตามที่ต่าง ๆ
ในข้อนี้ปรากฏว่าท่านพยายามรักษามาตลอดอวสานแห่งชีวิต
ท่านว่าพระเราต้องทำตัวเหมือนผ้าขี้ริ้วที่ปราศจากราคาค่างวดใด ๆ
แล้วจึงเป็นความสบาย การกินอยู่หลับนอนและใช้สอยอะไรก็สบาย
การเกี่ยวข้องกับผู้คนก็สบาย ไม่มีทิฐิมานะความถือตัวว่าเราเป็นพระเป็นเณรผู้สูงศักดิ์ด้วยศีลธรรม
เพราะศีลธรรมอันแท้จริงมิได้อยู่กับความสำคัญเช่นนั้น
แต่อยู่กับความไม่ถือตัวยั่วกิเลส
อยู่กับความตรงไปตรงมาตามผู้มีสัตย์มีศีลมีธรรมความสม่ำเสมอเป็นเครื่องครองใจ
นี้แลคือศีลธรรมอันแท้จริง ไม่มีมานะเข้ามาแอบแฝงทำลายได้ อยู่ที่ใดก็เย็นกายเย็นใจ
ไม่มีภัยทั้งแก่ตัวและผู้อื่น
การปฏิบัติธุดงควัตรข้อนี้เป็นเครื่องทำลายกิเลสมานะความสำคัญตนในแง่ต่าง
ๆ ได้ดี ผู้ปฏิบัติจึงควรเข้าใจระหว่างตนกับศีลธรรมด้วยดี
อย่าปล่อยให้ตัวมานะเข้าไปยื้อแย่งครอบครองศีลธรรมภายในใจได้
จะกลายเป็นผู้มีเขี้ยวมีเขาแฝงขึ้นมาในศีลธรรมอันเป็นธรรมชาติเยือกเย็นมาดั้งเดิม
การฝึกหัดทรมานตนให้เป็นเหมือนผ้าเช็ดเท้าจนเคยชิน
โดยไม่ยอมให้ตัวทิฐิมานะโผล่ขึ้นมาว่าตัวมีราคาค่างวดนี้
เป็นทางก้าวหน้าของธรรมภายในใจโดยสม่ำเสมอ จนกลายเป็นใจธรรมชาติ เป็นธรรมธรรมชาติ
ไม่หวั่นไหวเหมือนแผ่นดิน ใครจะทำอะไร ๆ ก็ไม่สะเทือน
จิตที่ปราศจากทิฐิมานะทุกประเภทโดยประการทั้งปวงแล้ว
ย่อมเป็นจิตที่คงที่ต่อเหตุการณ์ดีชั่วทั้งมวล
การปฏิบัติต่อบังสุกุลจีวรท่านถือว่า
เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยตัดทอนลบล้างตัวมีราคาที่ฝังอยู่ในใจอย่างลึกลับ
ให้สูญซากลงได้อย่างมั่นใจข้อหนึ่ง
การอยู่ป่าเป็นวัตรตามธุดงค์ระบุไว้
ท่านก็เริ่มเห็นคุณแต่เริ่มฝึกหัดอยู่ป่าเป็นต้นมา
ทำให้เกิดความวิเวกวังเวงอยู่คนเดียว
ตาเหลือบมองไปในทิศทางใดก็ล้วนเป็นทัศนียภาพเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นตนอยู่เสมอ
ไม่ประมาทนอนใจ นั่งอยู่ก็มีสติ ยืนอยู่ก็มีสติ เดินอยู่ก็มีสติ นอนอยู่ก็มีสติ
กำหนดธรรมทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัว เว้นแต่หลับเท่านั้น
ในอิริยาบถทั้งสี่เต็มไปด้วยความปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่มีพันธะใด ๆ มาผูกพัน
มองเห็นแต่ความมุ่งหวังพ้นทุกข์ที่เตรียมพร้อมอยู่ภายในไม่มีวันจืดจางและอิ่มพอ
ยิ่งพักอยู่ในป่าเปลี่ยวอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทุกชนิด
ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านด้วยแล้ว ใจปรากฏว่าเตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะ
ประหนึ่งจะทะยานเหาะขึ้นจากหล่มลึกคือกิเลสในเดี๋ยวนั้น
ราวกับนกจะเหาะบินขึ้นบนอากาศฉะนั้น
ความจริงกิเลสก็คงเป็นกิเลสและฝังอยู่ในใจตามความมีอยู่ของมันนั่นแล แต่ใจมันมีความรู้สึกไปอีกแง่หนึ่ง
เมื่อไปอยู่ในที่เช่นนั้น
ความรู้สึกในบางครั้งเป็นเหมือนกิเลสตายลงไปวันละร้อยละพัน
ยังเหลืออยู่บ้างประปรายราวตัวสองตัวเท่านั้น
เพราะอำนาจของสถานที่ที่พักอยู่ช่วยส่งเสริม
ทั้งความรู้สึกโดยปกติและเวลาบำเพ็ญเพียร กลายเป็นเครื่องพยุงใจไปทุกระยะที่พักอยู่
ความคิดเกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์ร้ายและสัตว์ดีที่มีอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้น
ก็คิดไปในทางสงสารมากกว่าจะคิดในทางเป็นภัย
โดยคิดว่าเขากับเราก็มีความเกิดแก่เจ็บตายเท่ากันในชีวิตที่ทรงตัวอยู่เวลานี้
แต่เรายังดีกว่าเขาตรงที่รู้จักบุญบาปดีชั่วอยู่บ้าง
ถ้าไม่มีสิ่งนี้แฝงอยู่ภายในใจบ้างก็คงมีน้ำหนักเท่ากันกับเขา
เพราะคำว่า
“สัตว์” เป็นคำที่มนุษย์ไปตั้งชื่อให้เขาโดยที่เขามิได้รับทราบจากเราเลย
ทั้ง ๆ ที่เราก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง คือสัตว์มนุษย์ที่ตั้งชื่อกันเอง
ส่วนเขาไม่ทราบว่าได้ตั้งชื่อให้พวกมนุษย์เราอย่างไรหรือไม่
หรือเขาขโมยตั้งชื่อให้ว่า “ยักษ์” ก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะสัตว์ชนิดนี้ชอบรังแกและฆ่าเขา
แล้วนำเนื้อมาปรุงเป็นอาหารก็มี ฆ่าทิ้งเปล่า ๆ ก็มี
จึงน่าเห็นใจสัตว์ที่พวกมนุษย์เราชอบเอารัดเอาเปรียบเขาเกินไปประจำนิสัย
และไม่ค่อยยอมให้อภัยแก่สัตว์ตัวใดง่าย ๆ
แม้แต่พวกเดียวกันยังรังเกียจและเกลียดชังกัน เบียดเบียนกัน ฆ่ากันไม่มีหยุดหย่อนและผ่อนเบาลงบ้างเลย
ในวงสัตว์ก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนและฆ่าเขา
ในวงมนุษย์เองก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนและฆ่ากันเอง ฉะนั้น
สัตว์จึงระเวียงระวังมนุษย์ประจำสันดาน
ท่านว่าการอยู่ในป่ามีทางคิดทางไตร่ตรองได้กว้างขวาง
ไม่มีทางสิ้นสุดทั้งเรื่องนอกเรื่องใน ซึ่งมีอยู่รอบตัวตลอดเวลา
ใจที่มีความใคร่ต่อธรรมแดนพ้นทุกข์ จึงรีบเร่งตักตวงความเพียรไม่มีเวลาลดละ
บางครั้งหมูป่าเดินเข้ามาหาในบริเวณที่นั้นและมองเห็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่
แทนที่มันจะกระโดดโลดเต้นวิ่งหนีเอาตัวรอด แต่เปล่า
มันมองเห็นแล้วก็เดินหากินไปตามภาษาของมันอย่างธรรมดา
ท่านว่ามันจะเห็นท่านเป็นยักษ์ไปกับมนุษย์ผู้ร้ายกาจทั้งหลายด้วย
แต่มันไม่คิดเหมาไปหมด มันจึงไม่รีบวิ่งหนี
และเที่ยวขุดกินอาหารอย่างสบายเหมือนไม่มีอะไร
ในตอนนี้ผู้เขียนขอแทรกบ้างเล็กน้อยเพื่อเรื่องกระจ่างขึ้นบ้าง
อย่าว่าแต่หมูมันไม่กลัวท่านพระอาจารย์มั่นที่อยู่องค์เดียวในป่าเลย
แม้แต่วัดป่าบ้านตาด เมื่อเริ่มสร้างวัดใหม่ ๆ
และมีพระเณรอยู่ด้วยกันหลายรูป หมูป่าเป็นฝูง ๆ
ยังพากันมาอาศัยนอนและเที่ยวหากินอยู่ตามบริเวณหน้ากุฏีพระเณรในเวลากลางคืน
ห่างจากที่ท่านเดินจงกรมราว ๒-๓ วาเท่านั้น ได้ยินเสียงมันขุดดินหาอาหารด้วยจมูกดังตุ๊บตั๊บ
ๆ อยู่ในบริเวณนั้น ไม่เห็นมันกลัวท่านเลย
เวลาท่านเรียกกันมาดูและฟังเสียงมันอยู่ใกล้ ๆ ก็ไม่เห็นมันวิ่งหนีไป
ยังพากันเที่ยวหากินตามสบายในบริเวณนั้นแทบทุกคืน ทั้งหมูและพระเณรเคยชินกันไปเอง
แต่ทุกวันนี้ยังมีเหลือเล็กน้อยและนาน ๆ พากันมาเที่ยวหากินทีหนึ่ง
เพราะยักษ์ที่สัตว์ตั้งชื่อให้ดังท่านพระอาจารย์มั่นว่าไว้
เอาไปรับประทานเกือบจะไม่มีสัตว์เหลือค้างแผ่นดินแถบนั้นอยู่แล้วเวลานี้
ต่อไปไม่กี่ปีคงจะเรียบไปเอง
ที่ท่านเล่าคงเป็นความจริงในทำนองเดียวกัน
เพราะสัตว์แทบทุกชนิดชอบมาอาศัยพระ พระอยู่ที่ไหน สัตว์ชอบมาอยู่ที่นั้นมาก
แม้วัดที่อยู่ในเมืองสัตว์ยังต้องมาอาศัย เช่น สุนัข เป็นต้น บางวัดมีเป็นร้อย
เพราะท่านไม่เบียดเบียนมัน เพียงเท่านี้ก็พอทราบได้ว่าธรรมเป็นของเย็น
สัตว์โลกจึงไม่มีใครค่อยรังเกียจ เว้นกรณีที่สุดวิสัยจะกล่าวเสีย เท่าที่ท่านปฏิบัติมาก่อน
ท่านว่าป่าเป็นสถานที่ช่วยพยุงใจได้ดีมาก ฉะนั้น
ป่าจึงเป็นจุดที่เด่นของพระผู้มีความใคร่ต่อทางพ้นทุกข์
จะถือเป็นสมรภูมิสำหรับบำเพ็ญธรรมทุกชั้น
โดยไม่ระแวงสงสัยว่าป่าจะกลับเป็นข้าศึกต่อการบำเพ็ญธรรม
ตรงกับอนุศาสน์ที่พระอุปัชฌาย์อบรมสั่งสอนภิกษุผู้อุปสมบทใหม่
ให้พากันเสาะแสวงหาอยู่ป่าตามอัธยาศัย
ท่านพระอาจารย์จึงถือธุดงค์ข้อนี้จนวาระสุดท้ายแห่งขันธ์
นอกจากสมัยที่จำต้องอนุโลมผ่อนผันไปตามเหตุการณ์เท่านั้น
เพราะทำให้ระลึกว่าตนอยู่ในป่าซึ่งเป็นที่เปลี่ยวกายเปลี่ยวใจตลอดเวลาจะนอนใจมิได้
คุณธรรมจึงมีทางเกิดไม่เลือกกาล หนึ่ง
ธุดงควัตรข้อรุกขมูลคือร่มไม้
ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ท่านอาจารย์มั่นเล่าว่า
ขณะที่จิตของท่านจะผ่านโลกามิสไปได้โดยสิ้นเชิง
คืนวันนั้นท่านก็อาศัยอยู่รุกขมูลคือร่มไม้ ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวต้นเดียว
ตอนสำคัญนี้จะรอลงข้างหน้าตามลำดับของการเที่ยวจาริกและการบำเพ็ญของท่าน
จึงขออภัยท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดรออ่านข้างหน้า
วาระนี้จำจะเขียนไปตามลำดับความจำเป็นก่อน เพื่อเนื้อเรื่องจะไม่ขาดความตามลำดับ
การอยู่ใต้ร่มไม้ซึ่งปราศจากที่มุงบังและเครื่องป้องกันตัว
ย่อมทำให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ จิตที่ตั้งความรู้สึกไว้กับตัว
ย่อมเป็นทางถอดถอนกิเลสไปทุกโอกาส เพราะกาย เวทนา จิต ธรรม หรือทุกข์ สมุทัย นิโรธ
มรรค ที่เรียกว่า “สติปัฏฐานและสัจธรรม” อันเป็นจุดที่ระลึกรู้ของจิตแต่ละจุดนั้น
ย่อมเป็นเกราะเครื่องป้องกันตัวเพื่อทำลายกิเลสแต่ละประเภทได้อย่างมั่นเหมาะ ซึ่งไม่มีที่อื่นใดจะยิ่งไปกว่า
ฉะนั้น
จิตที่ระลึกรู้อยู่กับสติปัฏฐานหรืออริยสัจ เพราะความเปลี่ยวและความกลัวเป็นเหตุ
จึงเป็นจิตที่มีหลักยึดเพื่อการรบชิงชัยเอาตัวรอดโดยสุคโต
ตามทางอริยธรรมไม่มีผิดพลาด
ผู้ประสงค์อยากทราบเรื่องของตัวอย่างละเอียดทั่วถึงโดยทางที่ถูกและปลอดภัย
จึงควรแสวงหาธรรมและสถานที่ที่เหมาะสมเป็นเครื่องพยุงทางความเพียร
จะช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าธรรมดาที่ควรจะเป็นอยู่มาก ดังนั้น
ธุดงควัตรข้ออยู่รุกขมูล จึงเป็นธรรมเครื่องทำลายกิเลสได้เป็นอย่างดีเสมอมา
ที่ควรสนใจเป็นพิเศษอีกข้อหนึ่ง
ธุดงควัตรที่เกี่ยวกับการเยี่ยมป่าช้า
เป็นธุดงค์เครื่องปลุกเตือนพระและหมู่ชนมิให้ประมาทในเวลามีชีวิตอยู่
โดยเข้าใจว่าตัวจะไม่ตาย
ความจริงก็คือคนที่เริ่มตายเล็กตายน้อยตายไปอยู่ทุกเวลานั่นเอง
เพราะคนที่ตายจนถึงกับย้ายบ้านใหม่ไปปลูกสร้างกันอยู่ที่ป่าช้าจนดาษดื่นแทบจะหาที่เผาและที่ฝังกันไม่ได้
ก็ล้วนแต่คนที่เคยตายเล็กตายน้อยมาแล้ว เช่น พวกเราผู้ยังมีชีวิตอยู่นี่เอง
จะเป็นคนแปลกหน้ามาจากที่ไหน พอจะเห็นว่าเราเป็นคนที่แปลกกว่าเขา
แล้วประมาทว่าตนจะไม่ตาย ที่ท่านสอนให้เยี่ยมญาติพี่น้องผู้เกิด แก่ เจ็บ
ตายด้วยกัน ก็เพื่อเตือนไม่ให้หลงลืมญาติพี่น้องอันดั้งเดิมในป่าช้านั่นเอง
เพื่อจะได้ท่องบ่นไว้ในใจว่า เรามีความแก่ เจ็บ ตายอยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน
ไม่มีใครจะกล้าอุตริเย่อหยิ่งตัวว่า จะไม่เกิด แก่ เจ็บ ตายได้
เมื่อสายทางแห่งวัฏฏะที่ตนยังท่องเที่ยวเรียนสูตรอยู่ยังไม่จบ
พระซึ่งเป็นเพศที่เตรียมพร้อมแล้วเพื่อความหลุดพ้น
จึงควรศึกษามูลเหตุแห่งวัฏทุกข์ที่มีอยู่กับตน คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ทั้งภายนอกคือการเยี่ยมป่าช้าอันเป็นที่เผาศพ
ทั้งภายในคือตัวเองอันเป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝังหรือบรรจุอยู่ในตัวตลอดเวลา
ทั้งเก่าและใหม่ จนนับไม่ครบและแทบเรียนไม่จบ
ให้จบสิ้นลงด้วยการพิจารณาธรรมสังเวชโดยทางปัจจเวกขณะ คือ
องค์สติปัญญาเครื่องทดสอบ แยกแยะหามูลความจริงไม่นิ่งนอนใจ
ทั้งนักบวชและฆราวาสที่ชอบเข้าเยี่ยมทั้งป่าช้านอกและป่าช้าในตัวเอง
โดยการพิจารณาความตาย เป็นต้น เป็นอารมณ์ย่อมมีทางถอดถอนความเผยอเย่อหยิ่งในวัยในชีวิตและในวิทยฐานะต่าง
ๆ ออกได้อย่างน่าชม ไม่ชอบผยองพองตัวในแง่ต่าง ๆ
ตามนิสัยมนุษย์ซึ่งมักมีความพิสดารประจำใจอยู่เป็นนิตย์
ทั้งจะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัวและพยายามแก้ไขไปเป็นลำดับ
มากกว่าจะไปเห็นโทษคนอื่นแล้วนำมานินทาเขา
ซึ่งเป็นการสั่งสมความไม่ดีใส่ตนประจำนิสัยมนุษย์ที่ชอบเป็นกันอยู่ทั่วไป
เหมือนโรคระบาดเรื้อรังชนิดแก้ไม่หายหรือไม่สนใจจะแก้
นอกจากจะเพิ่มเชื้อให้มากขึ้นเท่านั้น
ป่าช้าเป็นสถานที่อำนวยความรู้ความฉลาดให้แก่ผู้สนใจพิจารณาอย่างกว้างขวาง
เพราะคำว่าป่าช้าเป็นจุดใหญ่ที่สุดของโลก
ทุกคนทุกเพศทุกวัยและทุกชาติชั้นวรรณะจำต้องประสบด้วยกัน จะกระโดดข้ามไปไม่ได้
เพราะไม่ใช่คลองเล็ก ๆ
พอจะก้าวข้ามไปอย่างง่ายดายโดยมิได้พิจารณาจนรู้รอบขอบชิดก่อน
ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ท่านข้ามไป แม้เช่นนั้นก็ปรากฏว่า ท่านต้องเรียนวิชาจากสถาบันใหญ่
คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จนเชี่ยวชาญทุก ๆ แขนงก่อน
แล้วจึงโดดข้ามไปอย่างสบายหายห่วง
ไม่ต้องติดบ่วงแห่งมารอยู่เหมือนพวกที่ลืมตนลืมตาย
ไม่สนใจพิจารณาเรื่องของตัวคือมรณธรรมอันขวางหน้าอยู่ ซึ่งจะต้องโดนในไม่ช้านี้
การเยี่ยมป่าช้าเพื่อพิจารณาความตาย
จึงเป็นทางผ่อนคลายหายกลัวทั้งเรื่องของตัวและเรื่องของคนอื่นได้อย่างไม่มีประมาณ
จนเกิดความอาจหาญต่อความตาย ทั้ง ๆ ที่โลกกลัวกันทั่วดินแดน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้
แต่ก็ได้เป็นไปในวงของนักปฏิบัติธรรมมาแล้ว
มีพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยม
เสร็จแล้วจึงประทานพระโอวาทเกี่ยวกับการพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
ไว้ทุกแง่ทุกมุม
เพื่อหมู่ชนผู้มีความรับผิดชอบในตนและผู้เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาหาทางแก้ไข
บรรเทาความมัวเมาเขลาปัญญาของตนขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเวลาที่พอดิบพอดี
ยังไม่สายเกินไป เมื่อสิ้นลมหายใจจนไปถึงสถาบันใหญ่แล้ว ต้องนับว่าหมดหนทางแก้ไข
มีอยู่เพียงอย่างเดียวคือ ถ้าไม่เผาก็ต้องฝังเท่านั้น
จะพาไปรักษาศีลภาวนาทำบุญสุนทานอย่างแต่ก่อนนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเห็นคุณของการเยี่ยมป่าช้า
ว่าเป็นสถานที่ที่ให้สติปัญญารอบรู้กับเรื่องของตนตลอดมา
ท่านจึงสนใจเยี่ยมป่าช้านอกและป่าช้าในอยู่เสมอ
แม้พระบางองค์ที่เป็นลูกศิษย์ท่านก็ยังพยายามตะเกียกตะกายปฏิบัติตามท่าน ทั้ง ๆ
ที่ตนเป็นพระที่กลัวผีมาก ซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินกันในคำว่าพระกลัวผีและธรรมกลัวโลก
แต่พระองค์นั้นได้เป็นพระที่กลัวผีเสียแล้ว
ท่านเล่าให้ฟังว่า
พระองค์หนึ่งเที่ยวธุดงค์ไปพักอยู่ในป่าใกล้กับป่าช้า
แต่เจ้าตัวไม่รู้ว่าถูกโยมพาไปพักริมป่าช้า เพราะไปถึงหมู่บ้านนั้นตอนเย็น ๆ
และถามถึงป่าที่ควรพักบำเพ็ญเพียร โยมก็ชี้บอกตรงป่านั้นว่าเป็นที่เหมาะ
แต่มิได้บอกว่าเป็นป่าช้า แล้วพาท่านไปพักที่นั้น พอพักได้เพียงคืนเดียว
วันต่อมาก็เห็นเขาหามผีตายผ่านมาที่นั้นเลยไปเผาที่ป่าช้า
ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักท่านประมาณ ๑ เส้น
ท่านมองตามไปก็เห็นที่เขาเผาอยู่อย่างชัดเจน
องค์ท่านเองพอมองเห็นหีบศพที่เขาหามผ่านมาเท่านั้นก็ชักเริ่มกลัว ใจไม่ดี
และยังนึกว่าเขาจะหามผ่านไปเผาที่อื่น
แม้เช่นนั้นก็นึกเป็นทุกข์ไว้เผื่อตอนกลางคืนอยู่อีก
กลัวว่าภาพนั้นจะมาหลอกหลอนทำให้นอนไม่ได้ตอนกลางคืน
ความจริงที่ท่านพักอยู่กลับเป็นริมป่าช้า
และยังได้เห็นเขาเผาผีอยู่ต่อหน้าซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลเลย
ท่านยิ่งคิดไม่สบายใจและเป็นทุกข์ใหญ่ คือทั้งจะคิดเป็นทุกข์ในขณะนั้น
และคิดเป็นทุกข์เผื่อตอนกลางคืนอีก ใจเริ่มกระวนกระวายเอาการอยู่
นับแต่ขณะที่ได้เห็นศพทีแรก เมื่อตกกลางคืนยิ่งกลัวมาก และหายใจแทบไม่ออก
ปรากฏว่าตีบตันไปหมด น่าสงสารที่พระกลัวผีถึงขนาดนี้ก็มี
จึงได้เขียนลงเพื่อท่านผู้อ่านที่เป็นนักกลัวผี
จะได้พิจารณาดูความบึกบึนที่ท่านพยายามต่อสู้กับผีในคราวนั้น
จนเป็นประวัติการณ์อันเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียมีอยู่ในเนื้อเรื่องอันเดียวกันนี้
พอเขากลับกันหมดแล้ว
ท่านเริ่มเกิดเรื่องยุ่งกับผีแต่ขณะนั้นมาจนถึงตอนเย็นและกลางคืน
จิตใจไม่เป็นอันเจริญสมาธิภาวนาเอาเลย หลับตาลงไปทีไร
ปรากฏว่ามีแต่ผีเข้ามาเยี่ยมถามข่าวถามคราวความทุกข์สุกดิบต่าง ๆ
อันสืบสาวยาวเหยียดไม่มีประมาณ และปรากฏว่าพากันมาเป็นพวก ๆ
ก็ยิ่งทำให้ท่านกลัวมาก แทบไม่มีสติยับยั้งตั้งตัวได้เลย
เรื่องเริ่มแต่ขณะมองเห็นศพที่เขาหามผ่านหน้าท่านไปจนถึงกลางคืน
ไม่มีเวลาเบาบางลงบ้างพอให้หายใจได้ นับว่าท่านเป็นทุกข์ถึงขนาดที่จะทนอดกลั้นได้
นับแต่วันบวชมาก็เพิ่งมีครั้งเดียวเท่านั้นที่ต่อสู้กับผีในมโนภาพอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง
ท่านจึงพอมีสติระลึกได้บ้างว่า
ที่เราคิดกลัวผีก็ดี ที่เข้าใจว่าผีพากันมาเยี่ยมเราเป็นพวก ๆ ก็ดี
อาจไม่เป็นความจริงก็เป็นได้
และอาจเป็นเรื่องเราวาดมโนภาพศพขึ้นมาหลอกตนเองให้กลัวเปล่า ๆ มากกว่า
อย่ากระนั้นเลย เพราะถึงอย่างไรเราก็เป็นพระธุดงคกรรมฐานทั้งองค์
ที่โลกให้นามว่าเป็นพระที่เก่งกาจอาจหาญเอาจริงเอาจัง และเป็นพระประเภทที่ไม่กลัวอะไร
ๆ ไม่ว่าจะเป็นผีที่ตายแล้ว หรือเป็นผีเปรต ผีหลวง ผีทะเลอะไร ๆ มาหลอกก็ไม่กลัว
แต่เราซึ่งเป็นพระธุดงค์ที่โลกเคยยกยอสรรเสริญอย่างยิ่งมาแล้วว่าไม่กลัวอะไร
แล้วทำไมจึงมาเป็นพระที่อาภัพอับเฉาวาสนา บวชมากลัวผี กลัวเปรต
กลัวลมกลัวแล้งอย่างไม่มีเหตุมีผลเอาได้ เป็นที่น่าอับอายขายหน้าหมู่คณะซึ่งเป็นพระธุดงคกรรมฐานด้วยกัน
เสียเรี่ยวแรงและกำลังใจของโลกที่อุตส่าห์ยกยอให้ว่าเป็นพระดี
พระไม่กลัวผีกลัวเปรต ครั้นแล้วก็เป็นพระอย่างนี้ไปได้
เมื่อท่านพรรณนาคุณของพระธุดงค์และตำหนิตัวเองว่าเป็นพระเหลวไหลไม่เป็นท่าแล้ว
ก็บอกกับตัวเองว่า นับแต่ขณะนี้เป็นต้นไป ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน
เรามีความกลัวในสถานที่ใด จะต้องไปในสถานที่นั้นให้จงได้
ก็บัดนี้ใจเรากำลังกลัวผีที่กำลังถูกเผา ซึ่งมองเห็นกองไฟอยู่ในป่าช้านั้น
เราต้องไปที่นั้นให้ได้ในขณะนี้ ว่าแล้วก็เตรียมตัวครองผ้าออกจากที่พัก เดินตรงไปที่ศพซึ่งกำลังถูกเผาและมองเห็นอยู่อย่างชัดเจนทันที
พอออกเดินไปได้ไม่กี่ก้าว ขาชักแข็ง ก้าวไม่ค่อยออกเสียแล้ว ใจทั้งเต้นทั้งสั่น
ตัวร้อนเหมือนถูกแดดเผาเวลากลางวัน เหงื่อแตกโชกไปทั้งตัว
เห็นท่าไม่ได้การจึงรีบเปลี่ยนวิธีใหม่ คือเดินแบบเท้าต่อเท้าติด ๆ กันไป
ไม่ยอมให้หยุดอยู่กับที่ ตอนนี้ท่านต้องบังคับใจอย่างเต็มที่
ทั้งกลัวทั้งสั่นแทบไม่เป็นตัวของตัว เหมือนอะไร ๆ มันจะสุด ๆ สิ้น ๆ
ไปเสียแล้วเวลานั้น
แต่ท่านไม่ถอยความพยายามที่จะก้าวไปให้ถึงแบบเอาเป็นเอาตายเข้าว่ากัน
สุดท้ายก็ไปจนถึง
พอไปถึงศพแล้ว
แทนที่จะสบายตามความรู้สึกในสิ่งทั่ว ๆ ไปว่า “สมประสงค์แล้ว” แต่เวลานั้นปรากฏว่าตัวเองจะเป็นลมและลืมหายใจไปจนแล้วจนรอด
จึงข่มใจพยายามดูศพที่กำลังถูกเผาทั้ง ๆ
ที่กำลังกลัวแทบจะเป็นบ้าเป็นหลังไปอยู่แล้ว
พอมองเห็นกะโหลกศีรษะผีที่ถูกเผาจนไหม้และขาวหมดแล้ว ใจก็ยิ่งกำเริบกลัวใหญ่
แทบจะพาเหาะลอยไปในขณะนั้น จึงพยายามสะกดใจไว้
แล้วพานั่งสมาธิลงตรงหน้าศพห่างจากเปลวไฟเผาศพพอประมาณ
โดยหันหน้ามาทางศพเพื่อทำศพให้เป็นเป้าหมายของการพิจารณา บังคับใจที่กำลังกลัว ๆ
ให้บริกรรมว่า เราก็จะตายเช่นเดียวกับเขาคนนี้ ไม่ต้องกลัว เราก็จะตาย ไม่ต้องกลัว
เราก็จะตาย กลัวไปทำไม ไม่ต้องกลัว
ขณะที่นั่งบังคับใจให้บริกรรมภาวนาความตายอยู่ด้วยทั้งความกระวนกระวาย
เพราะกลัวผีนั้น ได้ปรากฏเสียงแปลกประหลาดขึ้นข้างหลัง
เสียงบาทย่างเท้าดังเข้ามาเป็นบทเป็นบาท เหมือนมีอะไรเดินมาหาท่าน
ซึ่งกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่ และเดิน ๆ หยุด ๆ เป็นลักษณะจด ๆ จ้อง ๆ
คล้ายจะมาทำอะไรท่าน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คิดขึ้นในขณะนั้น
ก็ยิ่งทำให้ใจกำเริบใหญ่ ถึงขนาดจะวิ่งหนีและร้องออกมาดัง ๆ ว่า ผีมาแล้ว ช่วยด้วย
ถ้าเทียบทางวัตถุก็ยังอีกเส้นผมเดียวที่ท่านจะออกวิ่ง ท่านอดใจรอฟังไปอีก ก็ได้ยินเสียงค่อย
ๆ เดินมาข้าง ๆ ห่างท่านประมาณ ๓ วา แล้วก็ได้ยินเสียงเคี้ยวอะไรกร้อบแกร้บ
ยิ่งทำให้ท่านคิดไปมากว่า มันมาเคี้ยวกินอะไรที่นี่
เสร็จแล้วก็จะมาเคี้ยวเอาศีรษะเราเข้าอีก
ก็เป็นอันว่าเราต้องจบเรื่องกับผีตัวร้ายกาจไม่ไว้หน้าใครอยู่ที่นี้แน่ ๆ
พอคิดขึ้นมาถึงตอนนี้
ท่านอดรนทนไม่ไหว จึงคิดจะลืมตาขึ้นดูมัน
เผื่อเห็นท่าไม่ได้การจะได้เตรียมวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด
ดีกว่าจะมายอมจอดจมให้ผีตัวไม่มีความดีอะไรเลยกินเปล่า
เมื่อชีวิตรอดไปได้เรายังมีหวังได้บำเพ็ญเพียรต่อไป
ยังจะมีกำไรกว่าการเอาชีวิตของพระทั้งองค์มาให้ผีกินเปล่า
พอปลงตกแล้วก็รีบลืมตาขึ้นมาดูผีตัวกำลังเคี้ยวอะไรกร้อบ ๆ อยู่ขณะนั้น
พร้อมกับเตรียมตัวจะวิ่งเพื่อตัวรอดหวังเอาชีวิตไปจอดข้างหน้า พอลืมตาขึ้นมาดูจริง
ๆ สิ่งที่เข้าใจว่าผีตัวร้ายกาจ
เลยกลายเป็นสุนัขบ้านออกมาเที่ยวเก็บกินเศษอาหารที่เขานำมาเพื่อเซ่นผู้ตายตามประเพณี
ซึ่งไม่สนใจกับใครและมาจากที่ไหน
คงเที่ยวหากินไปตามภาษาสัตว์ซึ่งเป็นผู้อาภัพทางอาหารประจำชาติตามกรรมนิยม
ส่วนพระธุดงคกรรมฐาน
พอลืมตาขึ้นมาเห็นสุนัขอย่างเต็มตาแล้ว เลยทั้งหัวเราะตัวเอง
และคิดพูดทางใจกับสุนัขตัวไม่รู้ภาษาและไม่สนใจกับใครนั้นว่า แหม!
สุนัขตัวนี้มีอำนาจวาสนามากจริง ทำเอาเราแทบตัวปลิวไปได้
และเป็นประวัติการณ์อันสำคัญต่อไปไม่มีสิ้นสุด
ทั้งเกิดความสลดสังเวชตนอย่างยิ่งที่ไม่เป็นท่าเอาเลย ทั้ง ๆ
ที่ได้พูดกับตัวเองแล้วว่า จะเป็นนักสู้แบบเอาชีวิตเข้าประกัน
แต่พอเข้ามาเยี่ยมศพในป่าช้า และได้ยินเสียงสุนัขมาเที่ยวหากินเท่านี้ก็แทบตั้งตัวไม่ติด
และจะเป็นกรรมฐานบ้าวิ่งเตลิดเปิดเปิงไปจนได้
ยังดีที่มีพระธรรมท่านเมตตาไว้ให้รออยู่ประมาณผมเส้นหนึ่ง พอรู้เหตุผลต้นปลายบ้าง
ไม่เช่นนั้นคงเป็นบ้าไปเลย โอ้โฮ! เรานี้โง่และหยาบถึงขนาดนี้เชียวหรือ ควรจะครองผ้าเหลืองอันเป็นเครื่องหมายของศิษย์พระตถาคตผู้องอาจกล้าหาญไม่มีใครเสมอเหมือนอีกต่อไปละหรือ
และควรจะไปบิณฑบาตจากชาวบ้านมากินให้สิ้นเปลืองของเขาเปล่า ๆ
ด้วยความไม่เป็นท่าของเราอยู่อีกหรือ
เราจะปฏิบัติต่อตัวเองที่แสนต่ำทรามอย่างไรบ้าง
จึงจะสาสมกับความเลวทรามไม่เป็นท่าของตนซึ่งแสดงอยู่ขณะนี้
ลูกศิษย์พระตถาคตผู้โง่เขลาและต่ำทรามขนาดเรานี้จะยังมีอยู่ให้หนักพระศาสนาต่อไปอีกไหมหนอ
ขนาดมีเราเพียงคนเดียวเท่านี้ก็นับว่าจะทำพระศาสนาให้ซวยพอแล้ว
ถ้าขืนมีอีกเช่นเรานี้พระศาสนาคงแย่แน่ ๆ ความกลัวผีซึ่งเป็นเรื่องกดถ่วงให้เราเป็นคนต่ำทรามไม่เป็นท่านั้น
เราจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร รีบตัดสินใจเดี๋ยวนี้
ถ้ารอไปนานก็ขอให้เราตายเสียดีกว่า
อย่ามายอมตัวให้ความกลัวผีเหยียบย่ำบนหัวใจอีกต่อไปเลย
อายโลกเขาแทบไม่มีแผ่นดินจะให้คนหนักพระศาสนาอยู่ต่อไปอีกแล้ว พอพร่ำสอนตนจบลง
ท่านทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ถ้าไม่หายกลัวผีเมื่อไร
จะไม่ยอมหนีจากที่นี้อย่างเด็ดขาด ตายก็ยอมตาย
ไม่ควรอยู่ให้หนักโลกและพระศาสนาต่อไป คนอื่นยังจะเอาอย่างไม่ดีไปใช้อีกด้วย
และจะกลายเป็นคนไม่เป็นท่าไปหลายคน และหนักพระศาสนายิ่งขึ้นไปอีกมากมาย
นับแต่ขณะนั้นมา
ท่านตั้งใจปฏิบัติต่อความกลัวอย่างกวดขัน โดยเข้าไปอยู่ป่าช้าทั้งกลางวันกลางคืน
ยึดเอาคนที่ตายไปแล้วมาเทียบกันตนซึ่งยังเป็นอยู่
ว่าเป็นส่วนผสมของธาตุเช่นเดียวกัน
เวลาใจยังครองตัวอยู่ก็มีทางเป็นสัตว์เป็นบุคคลสืบต่อไป
เมื่อปราศจากใจครองเพียงอย่างเดียว ธาตุทั้งมวลที่ผสมกันอยู่ก็สลายลงไป
ที่เรียกว่าคนตาย
และยึดเอาความสำคัญที่ไปหมายสุนัขทั้งตัวที่มาเที่ยวหากินในป่าช้าว่าเป็นผีมาสอนตัวเองว่า
เป็นความสำคัญที่เหลวไหลจนบอกใครไม่ได้
ไม่ควรเชื่อถือว่าเป็นสาระต่อไปกับคำว่าผีมาหลอก
ความจริงแล้วคือใจหลอกตัวเองทั้งเพ การกลัวก็กลัวเพราะใจหลอกหลอนตัวเอง
ทุกข์ก็เพราะความเชื่อความหลอกลวงของใจ
จนทำให้เป็นทุกข์แบบจะเป็นจะตายและแทบจะเสียคนไปทั้งคนในขณะนั้น
ผีจริงไม่ปรากฏว่ามาหลอกหลอน
เราเคยหลงเชื่อความคิดความหมายมั่นปั้นเรื่องหลอกลวงต่าง
ๆ ของจิตมานาน แต่ยังไม่ถึงขั้นจะพาตัวให้ล่มจมเหมือนครั้งนี้ ธรรมท่านสอนไว้ว่า
สัญญาเป็นเจ้ามายานั้น แต่ก่อนเรายังไม่ทราบความหมายชัดเจน
เพิ่งมาทราบเอาตอนจะตายทั้งเป็นและจะเหม็นทั้งที่ยังไม่เน่า
ขณะกลัวผีที่ถูกเจ้าสัญญาหลอกและต้มตุ๋นนี้เอง
ต่อไปนี้สัญญาจะมาหลอกเราเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แน่นอน เราจะต้องอยู่ป่าช้านี้จนกว่าเจ้าสัญญาที่เคยหลอกตายไปเสียก่อน
จนไม่มีอะไรมาหลอกให้กลัวผีต่อไปถึงจะหนีไปที่อื่น
เวลานี้เป็นเวลาที่เราจะทรมานสัญญาตัวปลิ้นปล้อนหลอกลวงเก่ง ๆ นี้ให้ตายไป
จนได้เผาศพมันเหมือนเผาศพผีตายดังที่เราเห็นเมื่อวานเสียก่อน เมื่อชีวิตยังอยู่
อยากไปที่ไหนเราถึงจะไปทีหลัง
ตอนนี้ถึงขั้นเด็ดขาดกับสัญญา
ท่านก็เด็ดจริง ๆ และทรมานถึงขนาดที่สัญญาหมายขึ้นว่า ผีมีอยู่ ณ ที่ใด
และเกิดขึ้นขณะใดท่านต้องไปที่นั้น เพื่อดูและรู้เท่ามันทันที
จนสัญญาเผยอตัวขึ้นไม่ได้ในคืนวันนั้น เพราะท่านไม่ยอมหลับนอนเอาเลย
ตั้งหน้าต่อสู้กับผีภายนอก คือสุนัขซึ่งเกือบเสียตัวไปกับมัน พอได้เงื่อนและได้สติ
ท่านก็ย้อนกลับมาต่อสู้กับผีภายในให้หมอบราบไปตาม ๆ กัน นับแต่ขณะที่รู้ตัวแล้ว
ความกลัวผีไม่เคยเกิดขึ้นรบกวนท่านได้อีกตลอดทั้งคืน แม้คืนต่อมา
ท่านก็ตั้งท่ารับความกลัวนั้นอย่างแข็งแกร่งต่อไป จนกลายเป็นพระองค์กล้าหาญต่อหลาย
ๆ สิ่งขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ แต่เรื่องก็เป็นความจริงจากท่านมาแล้ว
จนเป็นเรื่องฝังใจและตั้งตัวได้เพราะผีเป็นเหตุแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ความกลัวผีจึงเป็นธรรมเทศนากัณฑ์เอกโปรดท่าน
ให้กลายเป็นพระอันแท้จริงขึ้นมาองค์หนึ่ง ถึงได้นำมาแทรกลงในประวัติของท่านพระอาจารย์มั่น
เผื่อท่านผู้อ่านได้นำไปเป็นคติต่อไป คงไม่ไร้สาระไปเสียทีเดียว เช่นกับประวัติของท่านผู้เป็นอาจารย์
ซึ่งเป็นประวัติที่ให้คติแก่โลกอยู่เวลานี้ ฉะนั้น
การเยี่ยมป่าช้าจึงเป็นความสำคัญสำหรับธุดงควัตรประจำสมัยตลอดมา หนึ่ง
การถือไตรจีวรคือผ้า
๓ ผืนเป็นวัตร ท่านพระอาจารย์มั่นถือปฏิบัติมาแต่เริ่มอุปสมบทไม่ลดละ
จนถึงวัยชราจึงลดหย่อนผ่อนตามธาตุขันธ์ที่ต้องการความบำรุงมากขึ้นทุกระยะ
ที่ท่านปฏิบัติเช่นนั้นโดยเห็นว่า พระธุดงคกรรมฐานครั้งนั้นไม่อยู่ประจำที่นัก
นอกจากในพรรษาเท่านั้น ต้องเที่ยวไปในป่านั้น ในภูเขาลูกนี้อยู่เสมอ
การไปก็ต้องเดินด้วยเท้าเปล่าไม่มีรถราเหมือนสมัยนี้
มีบริขารมากน้อยต้องสะพายไปเอง ช่วยตัวเองทั้งนั้น ของใครของเราช่วยกันไม่ได้
เพราะต่างคนต่างมีพอกับกำลังของตัว จะมีมากกว่านั้นก็เอาไปไม่ไหว
ทั้งเป็นความไม่สะดวก พะรุงพะรังอีกด้วย จึงมีเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ
นานไปก็กลายเป็นความเคยชินต่อนิสัย แม้ผู้มีมาถวายก็ให้ทานผู้อื่นไป
ไม่สั่งสมให้เป็นการกังวล
เพราะสมณะเรามีความสวยงามอยู่กับการปฏิบัติดีและไม่สั่งสม
เวลาตายไป ให้มีแต่บริขารแปด ซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับพระเท่านั้น
เป็นความงามอย่างยิ่ง เมื่อมีชีวิตอยู่ก็สง่าผ่าเผยด้วยความจนแบบพระ
เวลาตายก็เป็นสุคโต ไม่มีอารมณ์กับสิ่งใด
อันเป็นเกียรติอย่างยิ่งของพระผู้ตายด้วยความจน มนุษย์และเทวดาสรรเสริญ
ธุดงควัตรข้อนี้จึงเป็นเครื่องประดับสมณะให้งามตลอดอวสานข้อหนึ่ง
ธุดงควัตรเหล่านี้
ท่านเคยปฏิบัติมาเป็นประจำไม่ลดละ
ปรากฏว่าเป็นผู้คล่องแคล่วชำนิชำนาญในทางนี้อย่างยากจะหาผู้เสมอได้ในสมัยปัจจุบัน
และได้อบรมสั่งสอนพระเณรผู้มาศึกษาอบรมด้วยธุดงควัตรเหล่านี้ คือ
ท่านพาอยู่รุกขมูลร่มไม้ ในป่า ในเขา ในถ้ำ เงื้อมผา ป่าช้า
ซึ่งล้วนเป็นสถานที่เปล่าเปลี่ยวน่ากลัว พาบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน
ไม่พารับอาหารที่มีผู้ตามส่งทีหลัง ข้อนี้คณะศรัทธาเมื่อทราบอัธยาศัยท่านแล้ว
เขามีอาหารคาวหวานอย่างไร ก็พากันจัดใส่บาตรถวายท่านไปพร้อมเสร็จ
ไม่ต้องไปส่งให้ลำบาก พาฉันสำรวมในบาตร ไม่มีภาชนะชนิดสำหรับใส่อาหาร
ทั้งคาวหวานรวมลงในบาตรใบเดียว พาฉันมื้อเดียวคือวันละหนมาเป็นประจำจนอวสานสุดท้าย
พระเณรที่เป็นลูกศิษย์ตลอดฆราวาสญาติโยมนับวันแน่นหนาขึ้นเป็นลำดับ
ท่านไปพัก ณ ที่ใด มีพระเณรพยายามติดสอยห้อยตามเป็นจำนวนมาก
บางสมัยมีพระเณรอยู่กับท่านราว ๖๐–๗๐ รูปก็มี ที่พักอยู่แถวบริเวณใกล้เคียงก็ยังมีอีกมาก
แต่ท่านพยายามระบายพระเณรให้แยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ไม่ไกลกัน
พอไปมาหาสู่เพื่อศึกษาอรรถธรรมในเวลาเกิดความสงสัย สะดวกและเหมาะแก่การบำเพ็ญธรรม
ไม่หลายองค์เกินไปจนกลายเป็นความไม่สงบ วันอุโบสถ
ปาฏิโมกข์ต่างก็ทยอยมารวมกันทำที่สำนักท่าน หลังจากปาฏิโมกข์แล้ว
ท่านให้โอวาทสั่งสอนและแก้ปัญหาข้อข้องใจแก่ผู้มีความสงสัยเรียนถามเป็นราย ๆ ไป
จนเป็นที่พอใจแล้ว
ต่างองค์ก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตนด้วยความอิ่มเอิบในธรรมที่ได้รับจากท่าน
และต่างก็ตั้งหน้าปฏิบัติด้วยความสนใจ ทั้งศีล
ทั้งสมาธิและปัญญาตามภูมิและกำลังของตน ตลอดข้อวัตรปฏิบัติอย่างอื่นที่เป็นอุปกรณ์แก่การบำเพ็ญ
พระเณรแม้จะอยู่กับท่านเป็นจำนวนมากในบางสมัย
แต่การปกครองเป็นที่เบาใจตลอดมา
เพราะท่านที่มาศึกษาต่างพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติตนเพื่อความเป็นคนดีตามโอวาทที่ท่านอบรมสั่งสอน
เรื่องราวอันเป็นข้าศึกต่อความสงบจึงไม่ค่อยมีในป่าที่พระเณรกับท่านพักอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก
แต่เป็นเหมือนไม่มีคนอยู่ที่นั้นเลย ถ้าไปไม่ถูกกับเวลาที่ท่านมารวมกัน เช่น
เวลาฉันและเวลาประชุมเท่านั้น นอกเวลาแล้วจะไปหาท่านก็ไม่พบ
เพราะต่างองค์ต่างหลีกเร้นอยู่กับความเพียร คือการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาในป่า
เป็นแห่ง ๆ จำเพาะองค์ ทั้งกลางวันและกลางคืน
เวลาท่านประชุมให้โอวาทแก่พระเณรตอนกลางคืน
จะได้ยินเฉพาะเสียงท่านที่ให้โอวาทเท่านั้น
เสียงจากพระเณรแม้จะอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏในขณะนั้น
กระแสเสียงและเนื้อธรรมที่ท่านให้โอวาทแก่พระเณร รู้สึกซาบซึ้งจับใจไพเราะ
ทำให้ผู้ฟังเคลิ้มไปตามกระแสธรรมจนลืมเนื้อลืมตัว ลืมความเหน็ดเหนื่อย
ลืมเวล่ำเวลา ไม่รู้สึกกับสิ่งอื่นใดในขณะนั้น
นอกจากกระแสธรรมกับใจสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่อย่างเพลินตัวไม่รู้จักอิ่มพอเท่านั้น
การประชุมครั้งหนึ่ง ๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง เพราะถือเป็นการทำความเพียรทางสมาธิและปัญญาอันเป็นภาคปฏิบัติอยู่กับการฟังในขณะนั้นด้วย
พระธุดงค์จึงมีความเลื่อมใสในอาจารย์และในการฟังมากเป็นพิเศษ
เนื่องจากอาจารย์ผู้คอยให้โอวาทตักเตือนและการฟังถือเป็นเส้นชีวิตจิตใจแห่งการปฏิบัติทางภายในของพระธุดงค์จริง
ๆ ท่านจึงมีความเคารพรักต่ออาจารย์มาก แม้ชีวิตก็ยอมสละแทนได้
ที่พระอานนท์มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธองค์
ถึงกับกล้าสละวิ่งออกขัดขวางช้างตัวเมามันที่เทวทัตปล่อยให้มาทำลายพระองค์ได้อย่างไม่อาลัยชีวิต
ก็เพราะความเคารพรักเป็นสำคัญ
พระธุดงค์ในสมัยท่านพระอาจารย์มั่นพาดำเนิน
รู้สึกเป็นไปด้วยความเคารพเชื่อฟังโอวาทอย่างถึงใจ
พอจะทราบได้เวลาท่านหาอุบายจะให้พระที่อาศัยอยู่กับท่านได้กำลังใจเป็นกรณีพิเศษว่า
ท่านองค์นั้นควรไปอยู่ในป่านั้น องค์นี้ควรไปอยู่ในถ้ำนั้นดังนี้
พระองค์ที่ถูกระบุนามจะไม่ขัดขืนและไปด้วยความเคารพเต็มใจจริง ๆ โดยไม่สนใจคิดว่าจะกลัวหรือจะเป็นจะตายอะไรเลย
มีแต่ความดีใจและมั่นใจว่า
ตัวจะต้องได้กำลังใจจากสถานที่ที่ท่านแสดงอุบายให้ไปท่าเดียว
และตั้งใจบำเพ็ญเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนไม่หยุดยั้งลดละ
มีความมุ่งมั่นต่อผลที่จะพึงได้จากความเพียรในสถานที่นั้นตามคำที่ท่านแนะให้ไป ประหนึ่งได้รับคำพยากรณ์จากท่านมาแล้วอย่างมั่นใจว่า
เมื่อพักอยู่ที่นั้นจะได้ผลอย่างนั้น
ทำนองพระอานนท์ที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าเวลาจะเสด็จปรินิพพานว่า
อีกสามเดือนเธอจะไปเป็นผู้ไม่มีกิเลสเหลืออยู่ในใจ
คือจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตบุคคลในวันทำสังคายนาแน่นอนฉะนั้น
เหล่านี้พอจะทราบได้ว่า
ความเคารพเชื่อฟังครูอาจารย์เพื่อผลที่ตนมุ่งหวังเป็นสิ่งสำคัญมาก
ทำให้ผู้นั้นมีความสนใจจดจ่อ ไม่เผอเรอและเลื่อนลอยปล่อยใจปล่อยตัว
นับว่าเป็นผู้มีหลักยึดของใจด้วยดี พูดอะไรก็พอรู้เรื่องกันบ้าง ไม่ต้องพูดซ้ำ ๆ
ซาก ๆ จนกลายเป็นเรื่องรำคาญและหนักใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย
โดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
ท่านพระอาจารย์มั่นกลับไปภาคอีสานเที่ยวที่สองนี้
ทำให้ผู้คนพระเณรตื่นเต้นและกระตือรือร้นกันทั้งภาค
เพราะท่านเที่ยวจาริกและอบรมสั่งสอนในที่ต่าง ๆ เกือบทุกจังหวัด เริ่มผ่านไปแต่จังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ
อุบลฯ นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองคาย เลย หล่มสัก เพชรบูรณ์ และข้ามไปเวียงจันทน์
ท่าแขก ประเทศลาว กลับไปมาหลายตลบในแต่ละจังหวัด จังหวัดที่มีป่ามีเขามาก
ท่านชอบพักอยู่นานเพื่อการบำเพ็ญเป็นแห่ง ๆ ไป เช่น
ทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวจังหวัดสกลนคร มีป่ามีเขามาก
ท่านพักจำพรรษาอยู่แถบนั้น คือจำพรรษาที่หมู่บ้านโพนสว่าง อำเภอสว่างแดนดิน
จังหวัดสกลนคร แถบนั้นมีแต่ป่าแต่เขา
พระธุดงค์จึงมีประจำมิได้ขาดตลอดมาจนทุกวันนี้ เพราะท่านเหล่านี้ชอบป่าชอบเขามาก
เวลาท่านเที่ยวจาริกในหน้าแล้ง
ที่พักหลับนอนโดยมากก็เป็นร้านหรือแคร่เล็ก ๆ
ปูด้วยฟากที่ทำด้วยไม้ไผ่สับแผ่ออกเป็นแผ่นแบน ๆ ยาวประมาณ ๑ วา กว้าง ๒ หรือ ๓
ศอก สูงประมาณ ๑ ศอก เฉพาะแต่ละรูปอยู่ห่างกันตามแต่ป่าที่ไปอาศัยกว้างหรือแคบ
ถ้าป่ากว้างก็อยู่ห่างกันออกไปประมาณ ๒๐ วา มีป่าคั่นมองไม่เห็นกัน ถ้าป่าแคบและอยู่ด้วยกันหลายรูป
ก็ห่างกันราว ๑๕ วา แต่โดยมากตั้งแต่ ๒๐ วาขึ้นไป
อยู่น้อยองค์ด้วยกันเท่าไรก็ยิ่งอยู่ห่างกันออกไปมาก
พอได้ยินเสียงไอหรือจามเท่านั้น
ญาติโยมพากันมาทำทางสำหรับเดินจงกรมให้ท่านประจำที่พัก
องค์ละหนึ่งสาย ยาวประมาณ ๕ วาหรือ ๑๐ วา ทุกองค์ สำหรับทำความเพียรในท่าเดิน
และเดินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ตามแต่สะดวก ในเวลาต้องการ
ถ้ามีพระขี้กลัวผี
หรือกลัวเสือไปอยู่ด้วย ท่านมักจะให้อยู่ห่าง ๆ หมู่เพื่อนเป็นพิเศษ
เพื่อเป็นการฝึกทรมานให้หายพยศความขี้ขลาดของตัวเสียบ้าง
จนมีความเคยชินต่อป่าดงพงลึกและสัตว์เสือหรือผีต่าง ๆ
ที่จิตไปทำความสำคัญมั่นหมายสิ่งนั้น ๆ มาหลอกตัวเอา
จะได้เหมือนท่านที่เคยฝึกมาแล้วบ้าง ไปที่ไหนจะไม่ต้องหาบหามความกลัวไปด้วย
เพราะวิธีนี้ท่านถือว่าได้ผลดีกว่าการปล่อยตามใจ
ซึ่งไม่มีวันจะเกิดความกล้าหาญได้เลย
ถ้าไปอยู่ใหม่ ๆ ต่างองค์ก็นอนกับพื้นดินไปก่อน
โดยเที่ยวหาใบไม้แห้งหรือใบไม้สดมารองนอน ถ้ามีฟางก็เอาฟางมาปูรองที่นอน
ท่านว่าหน้าเดือน
๑-๒ ซึ่งเป็นฤดูฟ้าใหม่ฝนเก่าประสานกันนี้รู้สึกลำบากอยู่บ้าง
เวลาฝนตกต้องเปียกและตากฝนทุกปี บางครั้งนอนตากฝนตลอดคืนจนกว่าจะหยุด
กลดก็สู้ไม่ไหว เพราะทั้งฝนทั้งลม ต้องทนหนาวตัวสั่นอยู่ในกลดนั่นแล
ตาก็มองไม่เห็น จะหนีไปไหนก็ไม่ได้ ถ้ากลางวันก็ค่อยยังชั่วบ้าง
แม้จะเปียกก็พอมองเห็นนั่นเห็นนี่ และคว้านั่นคว้านี่มาช่วยปิดบังฝนได้บ้าง
ไม่มืดมิดปิดตาเสียทีเดียว ผ้าสังฆาฏิและไม้ขีดไฟซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น
ต้องเก็บไว้ในบาตร เอาฝาปิดไว้ให้ดี ส่วนจีวรเอาไว้สำหรับห่มกันหนาวขณะฝนกำลังตก
มุ้งที่กางไว้กับกลดต้องลดลงเพื่อกันฝนสาดเวลาลมพัดแรง ไม่เช่นนั้นก็เปียกหมด
ตกตอนเช้าไม่มีผ้าห่มบิณฑบาตก็ยิ่งแย่ใหญ่
พอตกเดือน
๓ เดือน ๔ หรือเดือน ๕ อากาศเริ่มร้อนขึ้น ก็ขึ้นบนภูเขา หาพักตามถ้ำหรือเงื้อมผา
พอบังแดดบังฝนได้บ้าง ถ้าไปตอนเดือน ๑-๒
ซึ่งพื้นที่ยังไม่แห้งดี ก็ทำให้เป็นไข้และชนิดจับสั่นที่เรียกกันว่ามาลาเรีย
ซึ่งใครเป็นเข้าแล้วไม่ค่อยหายเอาง่าย ๆ เสียเวลาตั้งหลาย ๆ เดือนกว่าจะหายขาด
หรือบางทีก็กลายเป็นไข้เรื้อรังไปเลย คิดอยากไข้เมื่อไรก็เป็นขึ้นมา
ชนิดที่เขาเรียกว่า “ไข้พ่อตาแม่ยายหน่ายเกลียดชัง” รับประทานได้ แต่ทำงานไม่ได้
คอยแต่จะไข้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าแต่พ่อตาแม่ยาย ใคร ๆ
ก็คงจะเบื่อหน่ายเหมือนกัน ไข้ประเภทนี้ไม่มียารับประทาน
ในสมัยโน้นใครเป็นเข้าต้องปล่อยให้หายไปเอง
ไข้ที่น่าเข็ดหลาบประเภทนี้ผู้เขียนเองเคยถูกมาบ่อยที่สุด
เวลาเป็นขึ้นมาแล้วก็ต้องปล่อยให้หายไปเองเช่นกันเพราะไม่มียารักษา
ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าเรื่องพระธุดงค์เป็นไข้ป่า ไข้มาลาเรีย
นับแต่องค์ท่านลงไปถึงลูกศิษย์ บางองค์ถึงกับตายไปก็มี
ฟังแล้วเกิดความสงสารสังเวชท่านและคณะของท่านมากมาย
รอดตายมาแล้วถึงได้มาสั่งสอนธรรม พอเป็นร่องรอยแก่คณะลูกศิษย์ได้ยึดถือและปฏิบัติตามท่านบ้าง
แต่ก่อนที่ท่านพระอาจารย์มั่นและพระอาจารย์เสาร์
ยังไม่ได้ผ่านไปอบรมสั่งสอนพอให้รู้เรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องผีเรื่องคน
เรื่องบุญเรื่องบาปบ้าง ภาคอีสานทั้งภาคเป็นภาคที่นับถือผีอย่างเป็นชีวิตจิตใจจริง
ๆ จะทำนาทำสวนปลูกบ้านสร้างเรือนอะไร ๆ แทบทั้งนั้น ต้องลงเลขลงยามหาวันดี เดือนดี
ปีดี หาฤกษ์งามยามดี
และเซ่นสรวงวิงวอนผีให้เห็นดีเห็นชอบก่อนถึงจะลงมือทำอะไรลงไปได้
ไม่เช่นนั้นหากมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น เช่น ไอบ้างจามบ้างตามธรรมดาธาตุขันธ์
แม้แต่สุนัขก็ยังมีได้เป็นได้ แต่เป็นต้องหาว่าผิดผีเข้าแล้ว ต้องไปเชิญหมอมาทำนายทายทักให้ในทันทีทันใด
หมอสมัยนั้นก็เก่งจริง เก่งกว่าหมอสมัยนี้เป็นไหน ๆ
เป็นต้องทายเปาะออกมาว่าผิดผีตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้างทันที เมื่อไปบวงสรวงแล้วจะหาย
หวัดก็หาย จามก็หาย ไอก็หาย แม้ผู้เป็นจะยังไอยังจามฟิก ๆ แฟก ๆ อยู่ก็ตาม
ถ้าหมอสมัยนั้นว่าหายแล้วก็หายไปตามและสบายใจไปเลย ทั้งที่ไอและจามฟิก ๆ
อยู่นั้นแล ฉะนั้น จึงกล้าเขียนว่าหมอสมัยนั้นเก่งจริง และคนไข้สมัยนั้นเก่งจริง
หมอบอกอย่างไรก็ได้อย่างนั้น ไม่ต้องสนใจหาหยูกหายามารักษากัน
เอาหมอกับผีมาเป็นยารักษาเป็นหายเรียบไปเลย
แต่พอท่านอาจารย์ทั้งสองผ่านไปและอบรมสั่งสอนอย่างมีเหตุผล
เรื่องบ้าผีแลบ้าหมอทายผีก็ค่อยจางลงจนแทบไม่มีเลย
แม้หมอเสียเองก็ยอมรับพระไตรสรณคมน์ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
แทนการถือผีไหว้ผีต่าง ๆ แต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทุกวันนี้แทบจะไม่มีใครทำกันก็ว่าได้
เวลาเที่ยวไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทางภาคอีสาน
ไม่ค่อยโดนและเหยียบผีและเหยียบเครื่องสังเวยผีเหมือนแต่ก่อน
นอกจากเขาจะพากันไปทำอยู่ใต้ดิน ซึ่งสุดวิสัยที่จะไปเที่ยวซอกแซกเห็น
จึงนับว่าภาคอีสานมีวาสนาอยู่บ้าง ไม่พากันกอดคอกันตายกับผีไปตลอดชาติ
ยังมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบไหว้บูชาแทนผีบ้างในกาลต่อมา
ชาวอีสานที่ได้รับความเมตตาอนุเคราะห์จากท่านพระอาจารย์ทั้งสองคงไม่ลืมบุญคุณท่าน
เพราะเป็นผู้มีพระคุณแก่คนภาคนั้นจนสุดที่พรรณนา
ทั้งนี้เขียนตามประวัติที่ท่านเล่าให้ฟัง ส่วนจะผิดหรือถูกผู้เขียนก็ทราบไม่ได้
ในระยะนั้นอาจยังไม่เกิดหรือยังเป็นเด็กอยู่มาก
ที่พ่อแม่พานับถือผีเป็นชีวิตจิตใจเหมือนคนทั่วไปก็ได้ จึงขออภัยด้วย
สมัยโน้น
ไม่ว่าการอบรมฆราวาสหรือพระเณร
ท่านได้ทุ่มเทกำลังและความสามารถทุกด้านเพื่อให้คนเป็นคนจริง ๆ
ท่านเที่ยวไปบางหมู่บ้าน มีนักปราชญ์บัณฑิตประจำหมู่บ้านมาถามปัญหากับท่านก็มี
ความว่าผีมีจริงไหมบ้าง
ว่ามนุษย์เกิดมาจากไหนบ้าง
ว่าอะไรทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายเกิดรักชอบกันเองโดยไม่มีโรงร่ำโรงเรียนสอนให้รักชอบกันบ้าง
ว่าสัตว์ชนิดเดียวกันตัวผู้กับตัวเมียทำไมจึงเกิดรักชอบกันเองบ้าง
ว่ามนุษย์และสัตว์ไปเรียนความรักชอบซึ่งกันและกันมาจากไหน จึงได้เกิดรักชอบกันขึ้นมาบ้าง
แต่ผู้เขียนก็จำได้บ้างเล็กน้อยไม่ละเอียดทั่วถึง จึงนำมาลงไว้เท่าที่จำได้
จะถูกหรือผิดประการใดนั้นขึ้นอยู่กับผู้เขียนเอง
เพราะเป็นผู้จดจำผิดพลาดคลาดเคลื่อนมาตามนิสัยที่เคยเป็นมาประจำ
แม้แต่จำคำที่ตนเคยพูดและเรื่องของตัวที่เคยเป็นมา ก็ยังมีผิดพลาดได้เสมอมาอย่างแก้ไม่ตก
จึงไม่สามารถจดจำคำของท่านทุกคำด้วยความถูกต้องได้
ปัญหาที่ว่ามีผีจริงไหม? ท่านแก้ว่า ไม่ว่าแต่ผีหรือสิ่งใด ๆ
ในโลก ถ้าสิ่งนั้นมีอยู่จริง สิ่งนั้นต้องเป็นอิสระไปตามความมีอยู่ของตน
ไม่ขึ้นอยู่กับความสนับสนุนหรือทำลายของใครที่ไปว่าสิ่งนั้นมีจริงหรือสิ่งนั้นไม่มี
สิ่งนั้นถึงจะมีหรือจะสูญไป แต่สิ่งนั้นต้องมีอยู่ตามธรรมชาติของตน
ไม่มีการเพิ่มขึ้นและลดลงตามคำเสกสรรของใคร ๆ
ผีที่มนุษย์สงสัยกันทั่วโลกว่ามีหรือไม่มีก็เช่นกัน ความจริงผีที่ทำให้คนเกิดความกลัวและเป็นทุกข์กันนั้นเป็นผีที่คนคิดขึ้นที่ใจ
ว่าผีมีอยู่นั้นบ้างที่นี้บ้าง ผีจะมาทำลายบ้างต่างหาก
จึงพาให้เกิดความกลัวและเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าอยู่ธรรมดาไม่ก่อเรื่องผีขึ้นที่ใจ
ก็ไม่เกิดความกลัวและไม่เป็นทุกข์ ฉะนั้น
ผีจึงเกิดขึ้นจากการก่อเรื่องของผู้กลัวผีขึ้นที่ใจมากกว่าผีจะมาจากที่อื่น
แต่ผีจะมีจริงหรือไม่นั้น
แม้จะบอกว่าผีมีจริงก็ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันกันพอให้เชื่อได้
เพราะนิสัยมนุษย์เราไม่ชอบยอมรับความจริง แม้ไปเที่ยวขโมยของเขามา
เจ้าของตามจับตัวได้พร้อมทั้งของกลางและพยานหลักฐานมาอย่างพร้อมมูล
ยังไม่ยอมรับตามความจริง แถมยังปั้นพยานเท็จขึ้นหลอกลวงเพื่อหาทางรอดตัวไปจนได้
โดยไม่ยอมรับว่าตัวทำผิด นอกจากถูกบังคับด้วยหลักฐานพยานเท่านั้นก็ยอมรับโทษไป
ทั้ง ๆ ที่ใจจริงและกิริยาที่แสดงออกไม่ยอมรับว่าตัวผิด
เวลาไปเป็นนักโทษอยู่ในเรือนจำแล้ว
มีผู้ไปถามว่าคุณทำผิดอะไรถึงต้องมาติดคุกและเสวยกรรมอย่างนี้
นักโทษคนนั้นจะรีบตอบเป็นเชิงแก้ตัวทันทีว่า
เขาหาว่าผมขโมยของเขาแต่จะยอมรับตามความจริงว่าผมไปขโมยของเขาอย่างนี้ไม่ค่อยมี
รายไหนถูกถาม รายนั้นต้องตอบอย่างเดียวกัน นี่คือมนุษย์เราโดยมากเป็นอย่างนี้
ปัญหาที่ว่ามนุษย์เกิดมาจากไหน? ท่านตอบว่า มนุษย์เราต่างก็มีพ่อมีแม่เป็นแดนเกิด
แม้ผู้ถามก็มิได้เกิดจากโพรงไม้
แต่มีพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูมาเหมือนกัน จึงไม่ควรถาม
ถ้าจะตอบว่ามนุษย์เกิดจากอวิชชาตัณหา ก็ยิ่งจะมืดมิดปิดตายิ่งกว่าไม่ตอบเป็นไหน ๆ
เพราะไม่เคยรู้ว่าอวิชชาตัณหาคืออะไร ทั้ง ๆ ที่มีอยู่กับทุกคน
เว้นพระอรหันต์ท่านเท่านั้น แต่ไม่สนใจอยากรู้และปฏิบัติเพื่อรู้สิ่งดังกล่าว
นอกจากจะตอบว่าเกิดจากพ่อกับแม่ที่เห็น ๆ
กันอยู่นี้เท่านั้น ผู้ถามก็จะหาว่าตอบตัดสำนวน
จึงลำบากในการตอบตามความจริง เพราะผู้ถามมิได้สนใจกับความจริงเท่าไรนัก
ในธรรมท่านว่ามนุษย์และสัตว์เกิดจาก อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ฯลฯ สมุทโย โหติ
และดับภพชาติอันเป็นความดับทุกข์ทั้งมวล จาก อวิชฺชายเตฺวว อเสสวิราคนิโรธา
สงฺขารนิโรโธ ฯลฯ นิโรโธ โหติ เหล่านี้ก็มีอยู่กับจิตของทุกคนที่มีกิเลสบนหัวใจ
ถ้ายอมรับความจริงแล้ว
ก็นี่แลพาให้เกิดเป็นมนุษย์และสัตว์อยู่เต็มโลกจนจะหาที่อยู่ที่กินกันไม่ได้อยู่แล้ว
เพราะอวิชชาตัณหาความหิวโหยไม่มีเวลาลดตัวเป็นต้นเหตุ
ทั้งที่ยังไม่ตายก็เตรียมหาที่เกิดและที่อยู่กินอยู่แล้ว
นี่แลตัวที่พาให้มนุษย์และสัตว์เกิดและเป็นทุกข์อยู่เต็มโลก ถ้าอยากทราบ
ก็จงดูจิตดวงที่เต็มไปด้วยกิเลสประเภทที่พาให้ร้อนรนกระวนกระวายส่ายแส่หาที่เกิดที่อยู่ทุก
ๆ ขณะนี้ จะได้พบสิ่งที่มุ่งหวังอย่างสมใจและหายสงสัยในตัวเอง ไม่ต้องไปถามใคร
อันเป็นการแสดงความงมงายของตัวให้คนอื่นเห็นว่าตัวยังบกพร่องเรื่องของตัวอยู่มาก
เพราะจิตเป็นตัวคะนองและจองหอง ไม่มีอะไรจะเปรียบเทียบได้ในโลก
หากแต่ขาดความสนใจเหลียวแลเท่านั้น จึงไม่รู้ความดื้อดึงของตัว
และทำให้คว้าน้ำเหลวโดยไม่มีอะไรติดมือพอเป็นความสมหวังบ้าง
ที่ว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์หญิงชายและสัตว์ชนิดเดียวกันเกิดความรักชอบกัน
โดยไม่มีโรงร่ำโรงเรียนสอนให้รักชอบกัน? ท่านตอบว่า เพราะราคะตัณหาความรักชอบไม่ได้อยู่ในหนังสือ
ไม่ได้อยู่ในโรงร่ำโรงเรียนและครูที่ควรจะไปเรียนกับสิ่งดังกล่าวนั้น
แต่ราคะตัณหาความหน้าด้านไม่มียางอาย
มันเกิดและอยู่กับใจของมนุษย์หญิงชายและสัตว์ต่างหาก
จึงทำให้ผู้มีสิ่งลามกนี้กลายเป็นหญิงชายและสัตว์ผู้ลามกไปตามอำนาจของมันโดยไม่รู้สึกตัว
และไม่เลือกชาติชั้นวรรณะและวัยอะไรทั้งสิ้น
ถ้ามีมากก็ยิ่งทำให้โลกกลายเป็นโลกวินาศไปได้อย่างไม่มีปัญหา
หากไม่มีสติปัญญาสกัดกั้นมันไว้บ้างพอให้น่าดู
ก็จะกลายเป็นน้ำล้นฝั่งท่วมทับหัวใจและท่วมบ้านเมืองให้ฉิบหายป่นปี้ไปได้
โดยไม่มีอะไรยังเหลือพอให้เป็นที่น่าดูบ้างเลย
สิ่งที่เกิดอยู่ที่จิตใจของสัตว์โลกและเจริญอยู่ที่จิตใจของสัตว์โลกตลอดมา
ก็เพราะมันได้รับการบำรุงส่งเสริมอย่างเหลือเฟือเสมอมา
จึงมีกำลังเขย่าก่อกวนและทำลายสัตว์โลกให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนเสมอมา
ไม่มีวันเวลาผ่อนตัวพอให้หายใจบ้างเลย
โดยมากเคยได้ยินแต่น้ำท่วมบ้านท่วมเมืองผู้คนและสัตว์
ตลอดทรัพย์สินสมบัติต่าง ๆ ให้พินาศฉิบหาย
แต่ไม่เคยสนใจสังเกตดูน้ำราคะตัณหาไม่มีเมืองพอดี
ท่วมหัวใจสัตว์โลกตลอดสมบัติที่พึงพอใจให้ฉิบหายวายป่วงไปทุกระยะเวลาโดยไม่นิยมว่าหน้าแล้งหน้าฝนเลย
จึงไม่เห็นความเสื่อมโทรมของโลกที่กำลังเป็นอยู่และจะเป็นไป
ว่ามีสาเหตุเป็นมาอย่างไร เพราะต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างส่งเสริม
โดยไม่สนใจดูความเสื่อมโทรมเพราะน้ำนี้เป็นต้นเหตุ
การมองหาความสงบสุขของโลกจึงเป็นสิ่งที่ออกจะสุดวิสัยไปได้
ถ้าไม่มองดูตัวที่กำลังก่อเหตุ
ผู้ถามถามเฉพาะความรักชอบระหว่างหญิงชายและสัตว์เท่านั้น
ไม่ถามถึงความเกลียดชังกริ้วโกรธและทำลาย เพราะราคะตัณหาเป็นต้นเหตุบ้างเลย
แต่ท่านก็อธิบายเกี่ยวโยงไปถึงความไม่ดีทั้งหลายที่ราคะตัณหาไปเที่ยวก่อกรรมทำลายไว้อย่างไม่มีประมาณบ้างแล้ว
ท่านว่าราคะตัณหานี่แลเป็นสื่อมวลพาให้หญิงชายและสัตว์รักชอบกัน
และเป็นผู้อำนวยการให้หญิงชายและสัตว์ยินดีซึ่งกันและกันตามหลักธรรมชาติ
นอกนี้ไม่มีอะไรทำให้เกิดความรักชอบเกลียดชังซึ่งกันและกันได้
เวลาราคะตัณหาใช้เล่ห์เหลี่ยมไปทางรัก คนและสัตว์ก็รัก
เวลามันใช้เล่ห์เหลี่ยมไปในทางเกลียดทางโกรธหรือทางทำลาย
คนและสัตว์ก็ต้องเกลียดต้องโกรธและทำลายกันได้
มันต้องการเลี้ยงมนุษย์และสัตว์ไว้ด้วยวิธีให้รักชอบกัน
มนุษย์และสัตว์ก็รักชอบกันประหนึ่งจะไม่มีวันเหินห่างจืดจางจากกันเลย
เวลามันต้องการให้มนุษย์และสัตว์ที่อยู่ใต้อำนาจของมันเกลียดโกรธกัน ก็จำต้องเป็นไปตามมันจนได้
ไม่มีทางขัดขืน
พวกโยมไม่เคยทะเลาะกันบ้างหรือระหว่างสามีภรรยาซึ่งแสนรักกันมาก่อนวันแต่งงาน
จึงต้องมาถามอาตมา อาตมาคิดว่าโยมรู้เรื่องนี้ดีกว่าพระเป็นไหน ๆ
ท่านย้อนถามเขาตอนจบประโยค เขาตอบท่านว่า
เคยทะเลาะกันเสียจนเบื่อไม่อยากทะเลาะกันเลยท่าน แต่ก็จำต้องทะเลาะกันจนได้
เรื่องของโลกมันเป็นอย่างนี้แล เดี๋ยวรักกัน เดี๋ยวชังกัน เดี๋ยวโกรธกัน
เดี๋ยวเกลียดกัน ทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่ดีแต่ก็แก้ไม่ตกสักที ท่านถามเขาว่า
โยมพยายามแก้มันจริง ๆ หรือ มิใช่ว่าโกหกอาตมาเล่นเปล่า ๆ หรอกหรือ
ถ้าต่างพยายามแก้กันอยู่บ้าง แม้ไม่ได้มาก เข้าใจว่าจะไม่เป็นไปอยู่บ่อย
ทำนองผักชีจิ้มน้ำพริกกับอาหารเช้าเย็น คือ เช้าก็ทะเลาะกัน เย็นก็ทะเลาะกัน
ทะเลาะกันไม่หยุด จนได้หย่าร้างกันไปก็มีในบางราย
ผู้ที่พลอยเป็นเชื้อเพลิงไปด้วยคือลูก ๆ
ที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลยก็จำต้องหาบบาปหาบกรรมไปด้วย ต่างก็ร้อนเป็นไปไฟไปตาม ๆ
กัน เข้ากับใครไม่ติด เพราะความอิดหนาระอาใจละอายเพื่อนฝูง
ถ้าต่างฝ่ายต่างสนใจอยู่บ้างเพียงแต่เริ่มจะทะเลาะกันก็ทราบอยู่ด้วยกันว่าเป็นเรื่องไม่ดี
ต่างก็พยายามระงับและแก้ไขตัวให้ถูกต้องเสียในขณะนั้น เรื่องก็ระงับไปเอง
ต่อไปก็ไม่มีเรื่องทำนองนั้นเกิดขึ้นอีก ประการหนึ่ง
เวลาจะโกรธจะเกลียดก็ควรคิดถึงความหลังบ้าง
คิดถึงอนาคตที่จะอยู่อาศัยกันไปตลอดชีวิตบ้าง
มาบวกลบกันกับความไม่ดีที่เกิดขึ้นเวลานั้น จะพอมีทางระงับได้
โดยมากคนเราที่เป็นไปในทางไม่ดี ก็เพราะความอยากให้ได้ตามใจหวังของตัวอย่างเดียว
และอยากให้ใจคนในครอบครัวมาอยู่ใต้อำนาจของตัวคนเดียว โดยไม่คำนึงถึงความผิดถูก
ซึ่งเป็นสิ่งสุดวิสัยที่จะเป็นไปได้
เรื่องจึงระบาดออกมาและลุกลามไปไหม้คนอื่นให้เดือดร้อนไปด้วย
นอกจากนั้น
ยังอยากให้ใจของคนทั้งโลกมารวมอยู่ในอุ้งมือของตัวคนเดียว ซึ่งเป็นลักษณะความคิดเพื่อกั้นน้ำมหาสมุทรด้วยฝ่ามือ
อันเป็นความคิดที่ผิดวิสัย จึงเป็นเรื่องไม่ควรคิดไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ถ้าฝืนคิดไปก็อกแตกตายเปล่า ๆ
การอยู่ด้วยกันต้องมีหลักที่ถูกต้องดีงามเป็นเครื่องยึดเครื่องดำเนินทั้งฝ่ายสามีและภรรยา
ตลอดลูก ๆ และคนงานในบ้าน แม้กับคนอื่นหรือคนในวงงาน
ก็ควรปฏิบัติอย่างมีเหตุมีผลที่เป็นทางลงรอยกันได้
หากคนอื่นไม่ยอมรับความจริงก็เป็นความผิดของเขาผู้ไม่มีขอบเขตเหตุผลสำหรับตัวเขา
และเป็นความเสียหายอยู่กับตัวเขาเอง ตนไม่มีส่วนผิด
และยังพอมีหลักยึดเพื่อการครองตัวต่อไป
การอบรมสั่งสอนประชาชนและพระเณร
ถ้ามีคนมาเกี่ยวข้องมาก ท่านก็แบ่งเป็นเวลา ไม่ให้ตรงกัน คือ บ่ายราว ๔-๕ โมงเย็น
อบรมคณะญาติโยม แต่ ๑ ทุ่มขึ้นไปอบรมพระเณร พอเลิกจากประชุม
ต่างองค์ต่างไปที่พักของตน และประกอบความเพียร เวลาพักอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ
ทางภาคอีสาน ท่านปฏิบัติต่อประชาชน พระเณรอย่างหนึ่ง ในเที่ยวแรกกับเที่ยวที่ ๒
เวลาท่านไปพักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และกลับไปอุดรเที่ยวที่ ๓ คือ เที่ยวสุดท้าย
ท่านปฏิบัติกับประชาชน พระเณรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผิดกับแต่ก่อนอยู่มาก
แต่ทั้งสองตอนหลังนี้ จะรอไว้เขียนข้างหน้าเพื่อให้เรื่องติดต่อกันไม่ขาดความ
ท่านสนใจสั่งสอนพระเณรมากเป็นพิเศษ
ถ้าปรากฏว่ารายใดภาวนาจิตเป็นไปและรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับภายนอกหรือภายใน
ท่านจะพยายามสนใจและเรียกมาสอบอารมณ์เป็นพิเศษ
เพราะตามธรรมดาของผู้ปฏิบัติภาวนาทั่ว ๆ ไป ย่อมมีจริตนิสัยแปลกต่างกัน
การปฏิบัติและความรู้ที่เกิดขึ้นจากการภาวนาก็มีความแปลกต่างกันเป็นราย
ๆ แต่ผลคือความสงบสุขเย็นใจนั้นเหมือนกัน
ที่แปลกต่างกันก็คืออุบายวิธีและความรู้ความเห็นที่ปรากฏขึ้นในขณะภาวนา
บางรายก็รู้เกี่ยวกับสิ่งภายในด้วย เกี่ยวกับสิ่งภายนอกด้วย เช่น
เห็นภูตผีเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เห็นเทวบุตรเทวดาเป็นต้น เข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง
เห็นคนหรือสัตว์มาตายอยู่ต่อหน้าบ้าง เห็นเขาหามผีมาทิ้งไว้ต่อหน้าบ้าง
เห็นร่างของตัวออกไปนอนตายอยู่ต่อหน้าบ้าง เป็นต้น
ซึ่งเป็นสิ่งที่สุดวิสัยของผู้เพิ่งรู้เพิ่งเห็นในขณะเริ่มต้นภาวนาและจิตเริ่มสงบ
ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องแม่นยำได้ทุก ๆ กรณีไป
ทั้งไม่แน่ใจว่าที่ปรากฏขึ้นมาแต่ละอย่างนั้น จะมีความผิดถูกแฝงอยู่ประการใดบ้าง
บางรายที่เป็นนิสัยไม่ชอบใคร่ครวญก็อาจเห็นผิดไปตาม และยึดถือเอาว่าเป็นความจริง
ก็ยิ่งเป็นทางล่อแหลมต่อความเสียหายในอนาคตมากขึ้น
แต่นิสัยที่จิตออกรู้สิ่งต่าง
ๆ ดังกล่าวมาขณะที่จิตสงบลงมีจำนวนน้อยมาก ร้อยละห้าคนก็ทั้งยาก
แต่ก็ต้องมีรายหนึ่งจนได้ที่จะปรากฏเช่นนั้นขึ้นมา
จึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องได้รับการแนะนำจากท่านผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในทางนี้มาก่อน
เวลาพระธุดงค์ท่านเล่าผลของการภาวนาที่ปรากฏในลักษณะต่าง ๆ กันถวายครูอาจารย์
และเวลาอาจารย์ชี้แจงวิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่รู้ที่เห็นให้ผู้มาศึกษาไต่ถามฟัง
รู้สึกว่าซาบซึ้งจับใจเพลิดเพลินในการฟังไม่อยากให้จบลงอย่างง่าย ๆ เวลาอธิบาย ท่านแยกประเภทแห่งนิมิตออกเป็นตอน ๆ
และอธิบายวิธีปฏิบัติต่อนิมิตนั้น ๆ
อย่างละเอียดลออมากจนผู้ฟังหายสงสัยและร่าเริงในธรรมที่ท่านแสดงให้ฟัง
พร้อมทั้งความมีแก่ใจที่จะบำเพ็ญตนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
แม้รายที่ไม่ปรากฏเห็นนิมิตเกี่ยวกับสิ่งภายนอก แต่ก็น่าฟังไปอีกทางหนึ่ง
เวลาท่านเล่าความสงบสุขของใจที่รวมลงสู่ความสงบ
ตลอดอุบายวิธีที่ท่านทำถวายอาจารย์
ผู้ที่ยังไม่สามารถถึงขั้นที่ได้ยินได้ฟังในขณะนั้นก็เกิดศรัทธาความเชื่อมั่นขึ้นมา
ที่จะพยายามทำให้ได้อย่างนั้นบ้าง หรือยิ่งกว่านั้นบ้าง
ทั้งผู้ที่มีจิตเป็นไปและผู้ที่กำลังตะเกียกตะกายต่างก็ได้รับความปลาบปลื้มปีติในขณะฟัง
บางรายเวลาจิตสงบลง ปรากฏว่าได้ไปเที่ยวบนสวรรค์ชมวิมานชั้นต่าง ๆ จนจวนสว่าง
ใจถึงกลับสู่ร่างและรู้สึกตัวขึ้นมาก็มี
บางรายลงไปเที่ยวปลงธรรมสังเวชกับพวกเสวยกรรมต่าง ๆ กันในนรกก็มี
บางรายทั้งขึ้นไปเที่ยวบนสวรรค์ทั้งลงไปเที่ยวในนรก
ดูสภาพทั้งสองแห่งซึ่งมีความแตกต่างกันมาก คือพวกหนึ่งรื่นเริงบันเทิง
แต่อีกพวกหนึ่งคร่ำครวญด้วยความทุกข์ทรมาน
ซึ่งไม่มีกำหนดว่าจะพ้นโทษไปได้เมื่อไรก็มี
บางรายก็ต้อนรับแขกคือพวกภูตผีและเทวดาที่มาจากที่ต่าง ๆ คือชั้นบนบ้าง
รุกขเทพฯบ้าง
ขณะที่จิตสงบลง
บางรายก็เสวยความสงบสุขที่เกิดจากสมาธิประเภทต่าง ๆ กันตามกำลังของตัวบ้าง
บางรายก็พิจารณาทางปัญญาแยกธาตุแยกขันธ์ออกเป็นแผนก
และแยกให้สลายจากกันจนเป็นคนละชิ้นละส่วน และทำให้สลายลงสู่คติเดิมของตนบ้าง
บางรายก็กำลังเริ่มฝึกหัดและกำลังล้มลุกคลุกคลาน
เหมือนเด็กกำลังฝึกหัดนั่งบ้างเดินบ้างต่าง ๆ กัน บางรายภาวนาบังคับจิตให้ลงอย่างใจหวังไม่ได้
เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจร้องไห้บ้าง บางรายได้ยินท่านสนทนาธรรมประเภทต่าง ๆ
ตามภูมิที่ตนรู้เห็นกับอาจารย์เกิดความปีติและอัศจรรย์ในธรรมนั้น ๆ
แล้วร้องไห้บ้าง
บางรายก็ไปเป็นทัพพีนอนแช่อยู่กับแกงไม่รู้รสของแกงว่าเป็นอย่างไร
และทำตัวขวางหม้อต้มหม้อแกงอยู่ ซึ่งเป็นธรรมดา
ของหลายอย่างอยู่ด้วยกันย่อมมีทั้งดีทั้งชั่วปะปนกันไปแต่ไหนแต่ไรมา
ผู้มีสติปัญญาก็เลือกเก็บเอาเฉพาะที่เห็นว่าดีและเป็นประโยชน์
ก็เป็นสาระแก่ผู้รอบคอบนั้น
รายเช่นนี้แม้ผู้เขียนเองก็ไม่รับรองตัว คงต้องมีส่วนอยู่ด้วยจนได้
ท่านผู้อ่านกรุณาผ่านไป อย่าได้สนใจ เพราะเรื่องเช่นนี้
แม้ในบ้านและในตัวเราเองก็อาจมีในบางครั้งบางคราว และอาจมีอยู่ทั่วไป
ท่านมาอยู่อบรมสั่งสอนภาคอีสานเที่ยวที่สองนี้ปรากฏว่าหลายปี
แต่การจำพรรษาไม่ค่อยซ้ำที่เก่า ในปีหลังพอออกพรรษาแล้วก็ออกเที่ยวธุดงค์ตามป่าตามเขาไปแบบสุคโต
เหมือนนกที่มีเฉพาะปีกกับหางบินไปเที่ยวหากินในที่ต่าง ๆ ตามความสบาย
บินไปจับต้นไม้และหากินบนต้นไม้ใด บึงหรือหนองใด
พออิ่มแล้วก็บินไปอย่างสบายหายห่วง ไม่คิดว่าไม้ต้นนั้น ผลไม้นั้น เปือกตมนั้น
บึงนั้น หนองนั้นเป็นของมัน ผู้ปฏิบัติธรรมได้แบบนกก็เป็นสุขไปทางหนึ่ง
ซึ่งยากจะทำได้ เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์หมู่สัตว์พวก ชอบอยู่กันเป็นหมู่เป็นพวก
และชอบติดถิ่นฐานบ้านเรือน
ผู้จะออกไปโดดเดี่ยวดังท่านพระอาจารย์มั่นปฏิบัติมาในบั้นต้นและจวบบั้นปลาย คือ
เวลาท่านอยู่เชียงใหม่ จึงรู้สึกฝืนใจไม่น้อยเลย ขออภัยถ้าเทียบก็ราวกับจูงสัตว์บกใส่น้ำใส่ฝนฉะนั้น
แต่ถ้าใจคุ้นกับธรรมแล้วกลับตรงข้าม คือชอบไปคนเดียว อยู่คนเดียว
อิริยาบถทั้งสี่เป็นเรื่องของคน ๆ เดียว ใจดวงเดียว
ไม่มีอารมณ์เครื่องก่อกวนยุ่งเหยิง นอกจากธรรมเป็นอารมณ์อันพาให้สบายเท่านั้น
ฉะนั้น
ท่านผู้มีใจเป็นเอการมณ์ คือ มีธรรมเป็นอารมณ์เพียงอย่างเดียว
จึงเป็นใจที่แสนสบายและสว่างไสว ไม่มีอะไรมาปกปิดกำบังให้อับเฉาเมามัว
เป็นผู้อยู่ตัวเปล่า ใจเปล่าจากอารมณ์
ชมสันติสุขด้วยธรรมชาติที่มีอยู่กับตัวอย่างสมบูรณ์
ไม่เกรงกลัวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงและสิ้นไปหมดไป เพราะเป็นอกาลิกธรรม
คือธรรมที่ปราศจากกาลสถานที่ มีอยู่กับใจที่ปราศจากสมมุติเครื่องหลอก ลวง
พระอาจารย์มั่นท่านดำเนินแบบสุคโต ไปเป็นสุข อยู่เป็นสุข นั่งเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข นำหมู่คณะโดยสุคโต
แต่บรรดาลูกศิษย์ที่พยายามตามให้เป็นไปตามความประสงค์ท่านรู้สึกว่ามีน้อยในธรรมขั้นสูง
แต่ก็ยังนับว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอยู่มาก
เวลาท่านพาออกบิณฑบาตเฉพาะองค์
ท่านเองจะมีเรื่องสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาเป็นอารมณ์คู่เคียงกับธรรมภายในใจ
ให้แสดงออกทางวาจาพอผู้เดินทางตามหลังถัดท่านได้ยินชัดถ้อยชัดคำ
อันเป็นเชิงสอนเราให้รู้วิบากกรรมว่า
แม้สัตว์เดียรัจฉานก็ยังมีและเสวยกรรมไปตามวิบากของมัน โดยนำเรื่องของสัตว์นั้น ๆ
ที่เดินผ่านไป พบเห็นเขาเที่ยวหากินอยู่ตามรายทางมาแสดง
เพื่อมิให้ประมาทเขาว่าเป็นสัตว์ที่เกิดในกำเนิดที่ต่ำทราม
ความจริงเขาเพียงเสวยกรรมตามวาระที่เวียนมาถึงเท่านั้น
เช่นเดียวกับมนุษย์เราเกิดเสวยชาติเป็นคน
ซึ่งมีความสุขบ้างทุกข์บ้างตามวาระของกรรมที่อำนวยในเวลาต่าง ๆ กัน
ฉะนั้น
ที่ท่านพร่ำเรื่องของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มีไก่ สุนัข วัว ควายเป็นต้น
เพราะความสงสารที่เขาต้องมาเป็นอย่างนั้นหนึ่ง เพราะความตระหนักในกรรมของสัตว์ว่ามีต่าง
ๆ กันหนึ่ง
เพราะท่านและพวกเราที่กำลังเป็นมนุษย์ก็มีกรรมชนิดหนึ่งที่พาให้มาเป็นเช่นนี้
ซึ่งล้วนเคยผ่านกำเนิดต่าง ๆ มาจนนับไม่ถ้วนหนึ่ง
เพราะความวิตกรำพึงกับสิ่งที่พาให้เป็นภพเป็นชาติประจำมวลสัตว์
ว่าเป็นสิ่งลึกลับมาก ยากที่จะรู้เห็นได้แม้มีอยู่กับตัวทั่วกัน
ถ้าไม่ฉลาดแก้หรือถอดถอนออกได้ก็ต้องเป็นภัยอยู่ร่ำไป
ไม่มีจุดหมายปลายทางว่าจะหลุดพ้นไปได้ในกาลและสถานที่ใด ๆ หนึ่ง
แทบทุกครั้งที่ออกบิณฑบาต
ท่านจะนำเรื่องสัตว์หรือเรื่องคนมาพร่ำไปตามสายทางในลักษณะที่กล่าวมา
ผู้สนใจพิจารณาตามก็เกิดสติปัญญา ได้อุบายต่าง ๆ จากท่าน
ผู้ไม่สนใจพิจารณาตามก็ไม่เกิดประโยชน์
และยังอาจคิดไปว่าท่านพูดอะไรกับสัตว์กับมนุษย์ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่มีทางทราบได้
เพราะท่านมิได้พูดเฉพาะหน้าเขา ดังนี้ก็อาจมีได้
เวลาท่านพักอยู่ภาคอีสานบางจังหวัด
ขณะท่านแสดงธรรมอบรมพระตอนดึก ๆ หน่อย ในบางคืนซึ่งเป็นกรณีพิเศษ
ท่านยังสามารถทราบและมองเห็นพวกรุกขเทวดาที่พากันมาแอบฟังท่านอยู่ห่าง ๆ
เพราะพวกเทพฯ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง มีความเคารพพระมาก ท่านเล่าว่า เวลาพวกเทพฯ
ชั้นบนลงมาจากชั้นต่าง ๆ มาฟังธรรมท่านในยามดึกสงัด จะไม่มาทางที่มีพระพักอยู่
แต่จะมาตามทางที่ว่างจากพระและพร้อมกันทำประทักษิณสามรอบขณะที่มาถึง
แล้วนั่งอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เสร็จแล้วหัวหน้ากล่าวคำรายงานตัวที่พาพวกเทพฯ
มาจากที่นั้น ๆ ประสงค์อยากฟังธรรมนั้น ๆ ท่านก็เริ่มทักทายพอสมควร
แล้วเริ่มกำหนดจิตเพื่อธรรมที่สมควรจะแสดงแก่ชาวเทพฯ จะผุดขึ้นมา
จากนั้นก็เริ่มแสดงให้ชาวเทพฯ ฟังจนเป็นที่เข้าใจ จบแล้วชาวเทพฯ
พร้อมกันสาธุการสามครั้งเสียงลั่นโลกธาตุ สำหรับผู้มีหูทิพย์ได้ยินทั่วกัน
ส่วนหูกระทะหูหม้อต้มหม้อแกงไม่มีทางทราบได้ตลอดไป
พอจบการแสดงธรรมแล้วชาวเทพฯ
พร้อมกันทำประทักษิณสามรอบ แล้วลาท่านกลับอย่างมีระเบียบสวยงาม
ผิดกับชาวมนุษย์เราอยู่มาก แม้ผู้เป็นพระและผู้เป็นอาจารย์
พวกชาวเทพฯก็ไม่สามารถทำได้อย่างสวยงามเหมือนเขา
เพราะความหยาบความละเอียดแห่งเครื่องมือคือกายต่างกันกับเขามาก
พอออกไปพ้นเขตวัดหรือที่พักแล้ว ชาวเทพฯ เหล่านั้นพากันเหาะลอยขึ้นสู่อากาศเหมือนปุยนุ่นหรือสำลีเหาะปลิวขึ้นบนอากาศฉะนั้น
เวลาที่ชาวเทพฯ มาก็เช่นกัน พากันเหาะลอยมาลงนอกบริเวณที่พัก
แล้วเดินเข้ามาด้วยความเคารพอย่างมีระเบียบสวยงามมากและมิได้พูดคุยกันอึกทึกครึกโครมเหมือนชาวมนุษย์เราเข้าไปหาอาจารย์ที่ถือว่าเป็นที่เคารพนับถือ
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพวกเทพฯ เป็นกายทิพย์ จะพูดอย่างมนุษย์จึงขัดข้อง
ข้อนี้พวกเทพฯ ต้องยอมแพ้มนุษย์ที่พูดเสียงดังกว่า
มนุษย์จึงได้เปรียบพวกเทพฯตรงนี้เอง
พวกเทพฯ
ขณะฟังเทศน์มีความสำรวมดีมาก ไม่ส่ายโน่นส่ายนี่
ไม่แสดงทิฐิมานะออกมาให้กระทบจิตใจของผู้จะให้อรรถให้ธรรม ตามปกติก่อนหน้าพวกเทพฯ
จะมาฟังเทศน์ ท่านเคยทราบไว้ก่อนเสมอ เช่น เขาจะมาในราวที่สุดของสองยาม คือ ๖ ทุ่ม
พอตกตอนเย็นท่านทราบไว้ก่อนแล้ว
บางวันท่านคิดว่าจะมีการประชุมพระตอนเย็นก็ต้องสั่งงดในคืนวันนั้น
พอขึ้นจากทางจงกรมแล้วท่านเริ่มเข้าที่ทำสมาธิภาวนา พอจวนเวลาพวกเทพฯ จะมาถึง
ท่านเริ่มถอยจิตออกมา รออยู่ขั้นอุปจารสมาธิและส่งกระแสจิตออกไปดู ถ้ายังไม่เห็นมา
ท่านก็เข้าสมาธิอีก พักอยู่พอสมควรแล้วถอยจิตออกมาอีก บางครั้งพวกเทพฯ
มาถึงก่อนแล้ว บางครั้งกำลังหลั่งไหลเข้ามาในบริเวณที่พัก
บางครั้งท่านก็รอคอยอยู่ขั้นอุปจารสมาธินานพอสมควร จึงเห็นพวกเทพฯ มา
วันไหนที่ทราบว่าเขาจะมาดึก
ๆ หน่อย ราวตี ๑ ตี ๒ หรือตี ๓ ก็มีห่าง ๆ
วันเช่นนั้นพอทำความเพียรจนถึงเวลาพอสมควรแล้วท่านก็พักผ่อนจำวัด
ไปตื่นเอาตอนนั้นทีเดียว แล้วเตรียมต้อนรับแขกตามเวลาที่กำหนดไว้ พวกเทพฯ ที่มาฟังเทศน์ท่านเวลาพักอยู่ทางภาคอีสานไม่ค่อยมีมาบ่อย
ๆ และไม่มีมากนัก ส่วนรายที่มาแอบฟังเทศน์ท่านอยู่ห่าง ๆ
ขณะที่ท่านกำลังอบรมพระนั้น
พอทราบท่านก็หยุดการอบรมในเวลานั้นและสั่งพระให้เลิกประชุม
สำหรับองค์ท่านก็รีบเข้าที่ทำสมาธิภาวนาเพื่อแสดงธรรมให้ชาวเทพฯ
ฟังในลำดับต่อไปจนจบ พอพวกเทพฯ กลับไปแล้ว ท่านก็พักจำวัดจนกว่าถึงเวลาอันควร
ก็ตื่นทำความเพียรต่อไปตามปกติที่เคยทำมาเป็นประจำ การต้อนรับชาวเทพฯ
เป็นกิจของท่านโดยเฉพาะไม่ให้คลาดเคลื่อนเวลาได้เลย เพราะเขามาตามกำหนดเวลา
คำสัตย์เขาถือเป็นสำคัญมาก แม้พระทำให้เคลื่อนโดยไม่มีความจำเป็นเขาก็ตำหนิติเตียน
พวกเทพฯ เคารพหัวหน้ามาก คอยฟังคำสั่งและปฏิบัติตามด้วยความสนใจ
พวกนี้ไม่ว่าจะมาจากชั้นบน
หรือที่เป็นรุกขเทพฯ มาจากที่ต่าง ๆ ต้องมีหัวหน้าเป็นผู้นำเสมอ
การสนทนาระหว่างพวกเทพฯ กับพระใช้ภาษาใจภาษาเดียวเท่านั้น
ไม่มีหลายภาษาเหมือนมนุษย์และสัตว์ชนิดต่าง ๆ กัน
เนื้อหาของใจที่คิดขึ้นเพื่อผู้ตอบนั้นเป็นคำถามของภาษาใจที่แสดงออกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แล้วผู้ตอบเข้าใจได้ชัดเช่นเดียวกับเราถามกันเป็นประโยคด้วยคำพูดทางวาจา
ประโยคที่ผู้ตอบคิดขึ้นแต่ละประโยคแต่ละคำเป็นเนื้อหาของภาษาใจอย่างเต็มที่แล้ว
ผู้ถามเข้าใจได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน
ภาษาของใจยิ่งตรงตามความรู้สึกที่ระบายออกทีเดียว
ไม่ต้องแยกแยะหรือขยายเนื้อความให้เด่นชัด
เหมือนใช้คำพูดทางวาจาเป็นเครื่องมือของใจอีกวาระหนึ่ง
ซึ่งบางประโยคความรู้สึกทางใจกับคำพูดที่จะใช้ให้เหมาะสมไม่ค่อยตรงกัน
จึงทำให้เสียความมุ่งหมายอยู่บ่อย ๆ
ตราบใดที่ใช้วาจาเป็นสื่อแทนใจอยู่
ความไม่สะดวกย่อมมีอยู่ตราบนั้น
แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่คนเราไม่รู้ภาษาใจของกันและกัน
จำต้องใช้วาจาเป็นเครื่องมือของใจอยู่ตลอดไปอย่างแยกไม่ออก ทั้ง ๆ
ที่ไม่สู้จะตรงกับความมุ่งหมายของใจเท่าไรนัก เพราะโลกหากพานิยมใช้กันมาอย่างนี้
ไม่มีทางแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นซึ่งดียิ่งกว่านี้ได้ นอกจากจะรู้ภาษาใจกันเท่านั้น
สิ่งลี้ลับก็กลับเปิดเผยและยุติกันไปเอง ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเชี่ยวชาญทางนี้มาก
เครื่องมือท่านก็มีพร้อมในการฝึกอบรมคนให้เป็นคนดี ส่วนพวกเราแม้แต่จะคิดขึ้นมาใช้เฉพาะตัว
ยังต้องเที่ยวหาหยิบยืมจากผู้อื่น คือเที่ยวศึกษาอบรมจากครูอาจารย์ในที่ต่าง ๆ
อยู่เป็นประจำ แม้เช่นนั้นก็ยังหลุดไม้หลุดมือไปได้ รักษาไว้ไม่อยู่
คือฟังจากท่านแล้วก็หลงลืมไปแทบไม่มีอะไรเหลือติดตัว
แต่สิ่งที่ไม่ดีอันมีอยู่ดั้งเดิม คือความผิดพลาดขาดสติปัญญาความระลึกรู้ไตร่ตรอง
ไม่ยอมหลงลืมและตกไป คงยังสมบูรณ์อยู่ตลอดไป ฉะนั้น จึงมีแต่ความผิดหวัง
คือนั่งอยู่ก็ผิดหวัง เดินไปก็ผิดหวัง ยืนอยู่ก็ผิดหวัง นอนอยู่ก็ผิดหวัง อะไร ๆ
มีแต่ความผิดหวัง เพราะขาดคุณธรรมดังกล่าวที่จะทำให้มีหวังในสิ่งที่พึงใจทั้งหลาย
ปฏิปทาเครื่องดำเนินและการอบรมสั่งสอน
ท่านพระอาจารย์มั่นรู้สึกว่าราบรื่นสม่ำเสมอ ไม่ค่อยมีเรื่องกระเทือนฝั่ง
ดังที่เคยปรากฏมา ท่านไปที่ไหนชุ่มเย็นราบเรียบในที่นั้น
พระเณรมีความเคารพเลื่อมใสศรัทธา
ญาติโยมพอทราบข่าวว่าท่านไปที่ไหนต่างมีความยิ้มแย้มแจ่มใส พากันหลั่งไหลไปกราบไหว้บูชาด้วยความเคารพเลื่อมใสอย่างฝังจิตฝังใจ
ไม่มีเวลาจืดจางตลอดมา ดังชาวบ้านถ้ำที่ท่าแขก ฝั่งแม่น้ำโขงแห่งประเทศลาว
ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์เคยไปพัก
ก่อนหน้าที่ท่านไปเล็กน้อย ชาวบ้านนั้นเกิดโรคฝีดาษกันเกือบทั้งบ้าน พอเห็นท่านไป
เขาดีอกดีใจกันมากแทบตัวลอย
พร้อมกันวิ่งออกมาต้อนรับและวิงวอนขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง
ท่านก็ให้เขาพากันมารับพระไตรสรณคมน์ คือ ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เป็นสรณะแทนถือผี เพราะแต่ก่อนเขาพากันนับถือผีกันทั้งบ้าน
ท่านแนะนำวิธีปฏิบัติให้เขา เช่น
ตอนเช้าตอนเย็นเวลาจะหลับนอนให้พากันไหว้พระสวดมนต์ก่อน
และให้พากันทำวัตรสวดมนต์ทุก ๆ เช้าเย็น เขาก็ทำตาม ส่วนท่านเองก็ทำพิธีอะไร ๆ
อันเป็นการภายในช่วยเขา
เป็นที่น่าประหลาดและอัศจรรย์ทันตาเห็น
คนที่ล้มตายกันวันละหลาย ๆ ศพเรื่อยมาเพราะโรคนั้น กลับไม่มีใครตายอีกเลยนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา
แม้ที่กำลังเป็นกันอยู่ก็กลับหายไปอย่างรวดเร็ว
และไม่มีการกำเริบอีกต่อไปราวกับปาฏิหาริย์ ชาวบ้านเกิดความอัศจรรย์
ไม่เคยเห็นและไม่คาดฝันว่าจะเป็นได้ถึงเพียงนี้
ยิ่งเกิดความเชื่อเลื่อมใสกันทั้งบ้าน ตลอดลูกหลานติดต่อสืบเนื่องกันมากระทั่งทุกวันนี้
แม้พระที่เป็นสมภารองค์ปัจจุบันประจำหมู่บ้านนั้น
ก็เกิดศรัทธาเคารพเลื่อมใสท่านพระอาจารย์ทั้งสองมากมาจนบัดนี้
พูดถึงท่านพระอาจารย์ทั้งสองทีไรต้องยกมือไหว้ก่อน
แล้วคอยพูดเรื่องของท่านพระอาจารย์ทั้งสองต่อไป
ที่เป็นทั้งนี้ก็เพราะอำนาจธรรมในใจท่านแผ่กระจายออกไปให้เป็นความสุขเย็นใจแก่โลก
ท่านเล่าว่า
ท่านแผ่เมตตาใหญ่ในรอบ ๒๔ ชั่วโมงต่อ ๓ ครั้ง คือ
เวลากลางวันตอนบ่ายขณะนั่งภาวนาหนึ่งครั้ง
ตอนก่อนนอนหนึ่งครั้ง
ตอนตื่นนอนหนึ่งครั้ง ส่วนการแผ่เมตตาปลีกย่อยประจำนิสัยนั้น
มิได้นับอ่านว่าวันหนึ่งกี่สิบครั้ง
ท่านแผ่เมตตาใหญ่ ท่านว่ากำหนดจิตให้ดำรงตัวอยู่เฉพาะ
แล้วกำหนดกระแสใจให้แผ่ซ่านออกไปทั่วโลกธาตุเบื้องบนเบื้องล่าง
ทั่วทุกทิศทุกทางไม่มีว่างเว้น
ปรากฏว่าจิตในขณะนั้นมีอำนาจแผ่รัศมีและแสงสว่างออกไปทั่วพิภพ ไม่มีที่สิ้นสุด
และไม่มีอะไรมาปิดบังได้เลย ยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์กี่ร้อยกี่พันดวงเป็นไหน ๆ
และไม่มีอะไรจะทรงแสงสว่างเสมอด้วยใจที่ได้ชำระอย่างเต็มภูมิแล้ว
คุณสมบัติซึ่งแสดงออกจากจิตที่บริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้ว
ย่อมทำให้โลกสว่างและมีความร่มเย็นอย่างอัศจรรย์ที่บอกไม่ถูก
เพราะไม่มีพิษสงแม้น้อยเจือปนอยู่ มีแต่คุณธรรมคือความเย็นล้วน ๆ ดำรงอยู่ในดวงใจ
ท่านผู้มีเมตตาจิตและมีใจบริสุทธิ์สะอาดไปอยู่ ณ ที่ใด
มนุษย์เทวดาอารักษ์ย่อมเคารพเลื่อมใส
ตลอดสัตว์เดียรัจฉานก็ไม่ระเวียงระวังว่าจะเป็นภัยต่อเขา
เพราะจิตท่านอ่อนนิ่มไปทั้งดวงด้วยเมตตาที่มีอยู่ประจำตลอดเวลา ไม่นิยมกาลสถานที่
บุคคล และกำเนิดสูงต่ำ เหมือนฝนตกลงสู่พื้นพิภพ
ไม่นิยมว่าสถานที่สูงต่ำประการใดฉะนั้น
คราวท่านกลับจากอุบลฯ
ทีแรกท่านมาจำพรรษาที่บ้านหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
มีพระเณรติดตามมาศึกษาปฏิบัติด้วยเป็นจำนวนมากมาย ประชาชนหญิงชายพากันตื่นเต้นมาก
ประหนึ่งท่านผู้มีบุญมาเกิด แต่มิได้ตื่นเต้นแบบมงคลตื่นข่าว
หากแต่ตื่นเต้นเพื่อละชั่วทำดี ละการนับถือผีไหว้เจ้า กราบพระพุทธเจ้า พระธรรม
พระสงฆ์แทนเท่านั้น พอออกพรรษาแล้ว ท่านออกเที่ยวธุดงค์ไปเรื่อย ๆ
มาทางจังหวัดอุดรธานี ไปอำเภอหนองบัวลำภูบ้าง อำเภอบ้านผือและจำพรรษาที่บ้านค้อบ้าง
ไปอำเภอท่าบ่อจำพรรษาที่นั้นในเขตจังหวัดหนองคายบ้าง พักอยู่สองจังหวัดนี้นานพอควร
สถานที่ที่ท่านพักบำเพ็ญโดยมากมีแต่ป่าแต่เขาดังกล่าวแล้ว หมู่บ้านก็มีอยู่ห่าง ๆ
กัน ในสมัยโน้นไม่แออัดด้วยผู้คนและบ้านเรือนเหมือนสมัยนี้ การอบรมสั่งสอนก็ง่าย
ป่าก็เป็นป่าจริง ๆ เต็มไปด้วยหมู่ไม้ใหญ่ ๆ สูง ไม่มีใครทำลาย สัตว์ป่าก็ชุกชุม
พอตกกลางคืนได้ยินแต่เสียงสัตว์ชนิดต่าง
ๆ ร้องไปตามภาษาของเขา ฟังแล้วทำให้เพลิดเพลินไปตามด้วยความเมตตาและสนิทสนม
เพราะเสียงสัตว์ไม่ค่อยเป็นข้าศึกต่อการบำเพ็ญสมณธรรม ผิดกับเสียงมนุษย์อยู่มาก
ท่านว่า ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเราไม่เข้าใจความหมายของเสียงก็เป็นได้
ส่วนเสียงมนุษย์ไม่ว่าจะพูดสนทนากันธรรมดา ไม่ว่าจะขับลำทำเพลงกัน
ไม่ว่าจะทะเลาะวิวาทกัน ไม่ว่าจะแสดงความสนุกรื่นเริงกัน
เพียงแต่เริ่มแสดงออกก็เริ่มเข้าใจความหมายไปตามทุก ๆ คำและทุก ๆ ระยะ
จึงทำให้ไม่ค่อยสะดวกนักในเวลามีเสียงคนมากระทบขณะทำสมาธิภาวนา ยิ่งเป็นเสียง
อิตฺถี สทฺโท ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความทิ่มแทงมากขึ้น ถ้าสมาธิไม่ดีพอ
มีหวังล้มละลายได้อย่างง่ายดาย
แต่ต้องขออภัยจากท่านเจ้าของเสียงนี้มาก
ๆ ที่เขียนนี้มิได้มุ่งเพื่อจะตำหนิท่านผู้เป็นเจ้าของเสียงแต่อย่างใด
แต่เขียนไปตามความไม่เป็นท่าของนักภาวนาต่างหาก เพื่อจะได้สติฮึดสู้บ้าง
พอมีทางเอาตัวรอดได้ ไม่หมอบยอมแพ้ราบอยู่ท่าเดียว
ที่ท่านชอบพักอยู่ในป่าในเขาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องทำนองนี้อยู่บ้าง
เพื่อหลบภัยและเพื่อบำเพ็ญคุณงามความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปไม่ล่าถอย
จนถึงที่สุดอันเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อธรรมขั้นนั้น
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านชอบอยู่ในป่าในเขาตลอดมาจนถึงวันมรณภาพ
จึงได้ธรรมอันเป็นขวัญใจมาฝากพวกเราอย่างภูมิใจ
ท่านเล่าว่า
เวลาท่านกำลังบำเพ็ญ ถ้าเป็นโรคก็เป็นประเภทชีวิตไม่ยังเหลือค้างโลกให้ใคร ๆ
ได้เห็นต่อไป เพราะมีแต่การฝึกทรมานทั้งกายทั้งใจตลอดไป
ไม่มีวันจะได้ลืมตาอ้าปากพูดอย่างสนุกรื่นเริงเหมือนท่านผู้อื่นบ้างเลย
เพราะกิเลสกับใจมันไวต่อการติดพันกันจนมองไม่ทัน เผลอตัวบ้างไม่ได้เลย
เป็นได้เรื่องทันที แต่พอมันติดพันใจได้แล้ว แก้หรือถอนไม่ยอมออกอย่างง่าย ๆ
มีแต่จะพันให้แน่นเข้าทุกที อันนี้แลที่จะทำให้เผลอตัวไม่ได้
ต้องจ้องต้องมองต้องคอยจองจำทำโทษมันอยู่เสมอ ไม่ยอมให้มีกำลังขึ้นมาได้
เดี๋ยวมันมัดเราเข้าอีกมีหวังจอดจมแน่ ทำถึงขนาดนั้นจึงพอมีความสุขและลืมตาได้บ้างเท่านั้น
พอมีกำลังใจบ้างและได้รับความสะดวกกายสบายใจก็ได้วกมาสั่งสอนหมู่เพื่อน
ต่อจากนั้นหมู่เพื่อนทั้งพระทั้งเณรทั้งฆราวาสไม่ทราบมาจากไหน ทางนั้นก็มา
ทางนี้ก็มา มาไม่หยุด และมาทุกทิศทุกทาง บางครั้งจนไม่มีที่พักเพียงพอกัน
เพราะมามากต่อมาก ทั้งน่าสงสาร ทั้งน่าเห็นใจท่านว่า
บางครั้งก็ทำให้วิตกกับผู้อื่นเกี่ยวกับความปลอดภัย
ซึ่งมีผู้หญิงและชีนุ่งขาวไปเยี่ยม เช่น คราวพักอยู่ในถ้ำบ้านนาหมี นายูง
อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี สมัยนั้นคนมีน้อยและสัตว์เสือก็ชุกชุมมาก
ถ้ำและบริเวณที่ท่านพักอยู่ เสือโคร่งใหญ่ ซึ่งมีอยู่หลายตัวในแถวนั้นเคยเข้ามาบริเวณนั้นเสมอ
ไม่เป็นที่ไว้ใจในชีวิตของผู้ไปเยี่ยมท่านและค้างคืนที่นั้น เวลาเขาไปเยี่ยม
ท่านต้องสั่งให้ชาวบ้านหาไม้มาทำห้างสูง ๆ
จนพ้นจากปากเสือที่จะกระโดดขึ้นไปถึงที่คนที่หลับนอนอยู่บนห้างนั้น
เวลาค่ำคืนท่านห้ามไม่ให้ลงมาพื้นดินกลัวเสือจะโดดคาบเอาไปกิน
แม้ปวดหนักปวดเบาก็ให้เตรียมหาภาชนะขึ้นไปไว้ข้างบนด้วย
เพื่อสะดวกแก่การขับถ่ายในเวลาค่ำคืน เพราะแถวนั้นเสือชุมมากและดุร้ายด้วย
ผู้ที่ไปเยี่ยม ท่านไม่ให้พักอยู่หลายวัน ต้องรีบพากันกลับ
เสือแถบนั้นไม่ค่อยกลัวคนนัก ยิ่งเป็นผู้หญิง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น