หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น
ภูริทัตตเถระ 3
โดย พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
โดย พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ด้วยแล้วมันยิ่งไม่กลัวเอาเลย
หากพอทำอันตรายได้มันอาจทำ แม้ชาวบ้านก็พูดเหมือนกันว่า
เสือพวกนี้ไม่ค่อยจะกลัวคนนัก
บางครั้งเวลากลางคืน
ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ โดยจุดเทียนไขใส่โคมไฟแขวนไว้ที่ทางจงกรม
ยังเห็นเสือโคร่งใหญ่เดินตามหลังฝูงควาย ที่พากันเดินผ่านมาที่พักท่านอย่างองอาจ
ไม่กลัวท่านซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่บ้างเลย ฝูงควายที่ถูกเสือรบกวนมาก
ต้องพากันกลับเข้าบ้าน เสือยังกล้าเดินตามหลังฝูงควายมาได้ต่อหน้าต่อตาพระซึ่งก็เป็นคนผู้หนึ่งที่นั้น
พระที่ไปศึกษาอบรมกับท่านต้องเป็นพระที่เตรียมพร้อมทุกอย่างแล้ว
ทั้งความสละเป็นสละตายต่อการประกอบความพากเพียรในสถานที่ต่าง ๆ
ซึ่งไม่เป็นที่แน่ใจและอาจมีภัยรอบด้าน ทั้งสละทิฐิมานะ ความถือตัวว่ามีราคาค่างวด
ซึ่งอวดรู้อวดฉลาดอยู่ภายใน และสละทิฐิมานะต่อหมู่ต่อคณะ
ประหนึ่งเป็นอวัยวะอันเดียวกัน จิตใจถึงจะมีความสงบสุข การประกอบความเพียรก็มี
เกิดสมาธิได้เร็ว ไม่มีนิวรณ์มาขัดขวางถ่วงใจ
ในที่ถูกบังคับให้อยู่ในวงจำกัด
เช่น สถานที่กลัว ๆ อาหารมีน้อย ฝืดเคืองด้วยปัจจัย สติกำกับใจไม่ลดละ
คิดอ่านเรื่องอะไรมีสติคอยสะกิดบังคับอยู่เสมอ
ย่อมเข้าสู่ความสงบได้เร็วกว่าเท่าที่ควรจะเป็น เพราะข้างนอกก็มีภัย
ข้างในก็มีสติคอยบังคับขู่เข็ญ จิตซึ่งเปรียบเหมือนนักโทษก็ยอมตัวไม่คึกคะนอง
นอกจากนั้น ยังมีอาจารย์คอยใส่ปัญหาเวลาจิตคิดออกนอกลู่นอกทางอีกด้วย
จิตซึ่งถูกบังคับด้วยเครื่องทรมานอยู่ตลอดเวลาทั้งข้างนอกข้างใน
ย่อมกลายเป็นจิตที่ดีขึ้นได้อย่างไม่คาดฝัน คือ กลางคืนซึ่งเป็นเวลากลัว ๆ
เจ้าของก็บังคับให้ออกเดินจงกรมแข่งกับความกลัว ทางไหนจะแพ้จะชนะ ถ้าความกลัวแพ้
ใจก็เกิดความอาจหาญขึ้นมาและรวมสงบลงได้
ถ้าใจแพ้สิ่งที่แสดงขึ้นมาในเวลานั้นก็คือความกลัวอย่างหนักนั่นเอง
ฤทธิ์ของความกลัวคือ ทั้งหนาวทั้งร้อน ทั้งปวดหนักปวดเบา ทั้งเหมือนจะเป็นไข้
หายใจไม่สะดวกแบบคนจะตายเราดี ๆ นี่เอง
เครื่องส่งเสริมความกลัวคือเสียงเสือกระหึ่ม
ๆ อยู่ตามชายเขาบ้าง ไหล่เขาบ้าง หลังเขาบ้าง พื้นราบบ้าง
จะกระหึ่มอยู่ที่ไหนทิศใดก็ตาม ใจจะไม่คำนึงทิศทางเลย
แต่จะคำนึงอย่างเดียวว่าเสือจะตรงมากินพระองค์เดียว
ที่กำลังเดินจงกรมด้วยความกลัวตัวสั่นไม่เป็นท่าอยู่นี้เท่านั้น
แผ่นดินกว้างใหญ่ขนาดไหน ไม่ได้นึกว่าเสือเป็นสัตว์มีเท้าจะเที่ยวไปที่อื่น ๆ
แต่คิดอย่างเดียวว่าเสือจะตรงมาที่ที่มีบริเวณแคบ ๆ เล็ก ๆ นิดเดียว
ซึ่งพระขี้ขลาดกำลังเดินวุ่นวายอยู่ด้วยความกลัวนี้แห่งเดียว
การภาวนาไม่ทราบว่าไปถึงไหนมิได้คิดคำนึงเพราะลืมไปหมด ที่จดจ่อที่สุดก็คือ
คำบริกรรมโดยไม่รู้สึกตัว ว่าได้บริกรรมว่า เสือจะมาที่นี่ เสือจะมาที่นี่
อย่างเดียวเท่านั้น
จิตก็ยิ่งกำเริบด้วยความกลัวเพราะการส่งเสริมด้วยคำบริกรรมแบบโลกแตก
ธรรมก็เตรียมจะแตกหากบังเอิญเสือเกิดหลงป่าเดินเปะปะมาที่นั้นจริง ๆ
ลักษณะนี้อย่างน้อยก็ยืนตัวแข็งไม่มีสติ มากกว่านั้นเป็นอะไรไปเลยไม่มีทางแก้ไข
นี่คือการตั้งจิตไว้ผิดธรรม
ผลจะแสดงความเสียหายขึ้นมาตามขนาดที่ผู้นั้นพาให้เป็นไป
ทางที่ถูกที่ท่านสอนให้ตั้งหลักใจไว้กับธรรม
จะเป็นมรณัสสติหรือธรรมบทใดบทหนึ่งในขณะนั้น
ไม่ให้ส่งจิตปรุงออกไปนำเอาอารมณ์ที่เป็นภัยเข้ามาหลอกตัวเอง เป็นกับตายก็ตั้งจิตไว้กับธรรมที่เคยบริกรรมอยู่เท่านั้น
จิตเมื่อมีธรรมเป็นเครื่องยึดจะไม่เสียหลัก และจะตั้งตัวได้ในขณะที่ทั้งกลัว ๆ
นั่นแล จะกลายเป็นจิตที่อาจหาญขึ้นมาในขณะนั้นอย่างอัศจรรย์ที่บอกไม่ถูก
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนให้ตั้งหลักด้วยความเสียสละทุกสิ่งบรรดามีอยู่กับตัว
คือ ร่างกาย จิตใจ แต่มิให้สละธรรมที่ตนปฏิบัติหรือบริกรรมอยู่ในขณะนั้น
จะเป็นอะไรก็ปล่อยให้เป็นไปตามคติธรรมดา เกิดแล้วต้องตาย
จะเป็นคนขวางโลกไม่ยอมตายไม่ได้ ผิดคติธรรมดา ไม่มีความจริงใด ๆ
มาชมเชยคนผู้มีความคิดขวางโลกเช่นนั้น ท่านสอนให้เด็ดเดี่ยวอาจหาญ
ไม่ให้สะทกสะท้านต่อความตาย เกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปบำเพ็ญเพื่อหาความดีใส่ตัว
ดงหนาป่ารกชัฏมีสัตว์เสือชุมเท่าไรยิ่งสอนให้ไปอยู่ โดยให้เหตุผลว่า
ที่นั้นแลจะได้กำลังใจทางสมาธิปัญญา เสือจะได้ช่วยให้ธรรมเกิดในใจได้บ้าง
เพราะคนเราเมื่อไม่กลัวพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า
แต่กลัวเสือและเชื่อเสือว่าเป็นสัตว์ดุร้ายจะมาคาบเอาไปเป็นอาหาร
และช่วยไล่ตะล่อมจิตเข้าสู่ธรรมให้ก็ยังดี จะได้กลัวและตั้งใจภาวนาจนเห็นธรรม
เมื่อเห็นธรรมแล้วก็เชื่อพระพุทธเจ้าและเชื่อพระธรรมไปเอง
เมื่อเข้าสู่ที่คับขันแล้วจิตไม่เคยเป็นสมาธิก็จะเป็น
ไม่เคยเป็นปัญญาก็จะเป็นในที่เช่นนั้นแล
ใจไม่มีอะไรบังคับบ้าง
มันขี้เกียจและตั้งหน้าสั่งสมแต่กิเลสพอกพูนใจ แทบจะหาบหามไปไม่ไหว
ไปให้เสือช่วยหาบขนกิเลสตัวขี้เกียจ ตัวเพลิดเพลินจนลืมตัวลืมตายออกเสียบ้าง
จะได้หายเมาและเบาลง ยืนเดินนั่งนอนจะไม่พะรุงพะรังไปด้วยกิเลสประเภทไม่เคยลงจากบนบ่า
คือหัวใจคน ที่ใดกิเลสกลัวท่านสอนให้ไปที่นั้น
แต่ที่ที่กิเลสไม่กลัวอย่าไปเดี๋ยวเกิดเรื่อง ไม่ได้ความแปลกและอัศจรรย์อะไรเลย
นอกจากกิเลสจะพาสร้างความฉิบหายใส่ตัวจนมองไม่เห็นบุญบาปเท่านั้น
ไม่มีอะไรน่าชมเชย ท่านให้ความมั่นใจแก่นักปฏิบัติว่า
สถานที่ที่ไม่มีสิ่งบังคับบ้าง ทำความเพียรไม่ดี จิตลงสู่ความสงบได้ยาก
แต่สถานที่ที่เต็มไปด้วยความระเวียงระวังภัย ทำความเพียรได้ผลดี
ใจก็ไม่ค่อยปราศจากสติ ซึ่งเป็นทางเดินของความเพียรอยู่ในตัวอยู่แล้ว
ผู้หวังความพ้นทุกข์โดยชอบจึงไม่ควรกลัวความตายในที่ ๆ น่ากลัว
มีในป่าในเขาที่เข้าใจว่าเป็นสถานที่น่ากลัว เป็นต้น
เวลาเข้าสู่ที่คับขันจริง
ๆ ขอให้ใจอยู่กับธรรม ไม่ส่งออกนอกกายนอกใจ ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่ของธรรม
ความปลอดภัยและกำลังใจทุกด้านที่จะพึงได้ในเวลานั้น จะเป็นสิ่งที่ยอมรับกันไปในตัว
อย่างไรก็ไม่ตายถ้าไม่ถึงกาลตามกรรมนิยม แทนที่จะตายดังความคาดหมายที่ด้นเดาไว้
ท่านเคยว่าท่านได้กำลังใจในที่เช่นนั้นแทบทั้งนั้น
จึงชอบสั่งสอนหมู่เพื่อนให้มีใจมุ่งมั่นต่อธรรมในที่คับขัน จะสมหวังในไม่ช้าเลย
แทนที่จะทำไปแบบเสี่ยงวาสนาบารมีอันเป็นเรื่องเหลวไหลหลอกลวงตนมากกว่าจะเป็นความจริง
เพราะความคิดเช่นนั้น ส่วนมากมักจะออกมาจากความอ่อนแอท้อถอย
จึงมักเป็นความคิดที่กดถ่วงลวงใจมากกว่าจะช่วยเสริมให้ดี
และเพิ่มพูนกำลังสติปัญญาให้ยิ่ง ๆ ขึ้น
ธรรมที่ให้ความมั่นใจแก่นักปฏิบัติเพื่อถือเป็นหลักประกันชีวิตและความเพียร คือ
พึงหวังพึ่งเป็นและพึ่งตายต่อธรรมจริง ๆ
อย่าฟั่นเฟือนหวั่นไหวโดยประการทั้งปวงหนึ่ง
พึงเป็นผู้กล้าตายด้วยความเพียรในที่ที่ตนเห็นว่าน่ากลัวนั้น ๆ หนึ่ง
เมื่อเข้าที่จำเป็นและคับขันเท่าไร
พึงเป็นผู้มีสติกำกับใจให้มั่นในธรรม มีคำบริกรรมเป็นต้น ให้กลมกลืนกันทุกระยะ อย่าปล่อยวาง
แม้ช้างเสืองูเป็นต้น จะมาทำลาย ถ้าจิตสละเพื่อธรรมจริงอยู่แล้ว
สิ่งเหล่านั้นจะไม่กล้าเข้าถึงตัว
มิหนำเรายังจะกล้าเดินเข้าไปหามันด้วยความองอาจกล้าหาญ ไม่กลัวตาย
แทนที่มันจะทำอันตรายเรา แต่ใจเรากลับจะเป็นมิตรอย่างลึกลับอยู่ภายในกับมันอีกด้วย
โดยไม่เป็นอันตรายหนึ่ง ใจเรามีธรรมประจำแต่ใจสัตว์ไม่มีธรรม
ใจเราต้องมีอำนาจเหนือกว่าสัตว์เป็นไหน ๆ แม้สัตว์จะไม่ทราบได้ว่ามีธรรม
แต่สิ่งที่ทำให้สัตว์ไม่กล้าอาจเอื้อมมีอยู่กับใจเราอย่างลึกลับ
นั่นแลคือธรรมเครื่องป้องกัน หรือธรรมเครื่องทรงอำนาจให้สัตว์ใจอ่อนไม่กล้าทำอะไรได้หนึ่ง
อำนาจของจิตเป็นอำนาจที่ลึกลับและรู้อยู่เฉพาะตัว
แต่ผู้อื่นทราบได้ยากหากไม่มีญาณภายในหนึ่ง
ฉะนั้น
ธรรมแม้จะเรียนและประกาศสอนกันทั่วโลก ก็ยังเป็นธรรมชาติที่ลึกลับอยู่นั่นเอง
ถ้าใจยังเข้าไม่ถึงธรรมชาติเป็นขั้น ๆ ที่ควรจะเปิดเผยกับใจเป็นระยะ ๆ ไป
เมื่อเข้าถึงกันจริง ๆ แล้ว ปัญหาระหว่างใจกับธรรมก็สิ้นสุดลงเอง
เพราะใจกับธรรมมีความละเอียดสุขุมและลี้ลับพอ ๆ กัน เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว
แม้จะพูดว่าใจคือธรรมและธรรมคือใจก็ไม่ผิด
และไม่มีอะไรมาขัดแย้งถ้ากิเลสตัวเคยขัดแย้งสิ้นไปไม่มีเหลือแล้ว เท่าที่ใจกลายเป็นเครื่องมือของกิเลสตัณหาจนมองหาคุณค่าไม่เจอนั้น
ก็เพราะใจถูกสิ่งดังกล่าวคละเคล้ากลุ้มรุมจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
จึงดูเหมือนไม่มีคุณค่าอะไรแฝงอยู่เลยในระยะนั้น ถ้าปล่อยให้เป็นทำนองนั้นเรื่อยไป
ไม่สนใจรักษาและชำระแก้ไข ใจก็ไม่มีคุณค่า ธรรมก็ไม่มีราคาสำหรับตน
แม้จะตายแล้วเกิด และเกิดแล้วตายสักกี่ร้อยกี่พันครั้ง
ก็เป็นทำนองเขาเปลี่ยนชุดเสื้อผ้าซึ่งล้วนเป็นชุดที่สกปรกด้วยกัน
จะเปลี่ยนวันละกี่ครั้งก็คือผู้สกปรกน่าเกลียดอยู่นั่นเอง
ผิดกับผู้เปลี่ยนชุดเสื้อผ้าที่สกปรกออก
แล้วสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดแทนเป็นไหน ๆ ฉะนั้น การเปลี่ยนชุดดีชั่วสำหรับใจ
จึงเป็นปัญหาสำคัญของแต่ละคนจะพิจารณาและรับผิดชอบตัวเองในทางใด
ไม่มีใครจะมารับภาระแทนได้ ไม่ต้องเป็นกังวลอีกต่อไป
แต่เรื่องตัวเองนี้เป็นเรื่องใหญ่โตของแต่ละคน
ซึ่งรู้อยู่กับตัวทั้งปัจจุบันและอนาคต ว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบตัวเองตลอดไป
ไม่มีกำหนดกาล นอกจากผู้ให้การบำรุงรักษาจนถึงที่ปลอดภัยโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น
ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านเป็นตัวอย่าง
นั้นชื่อว่าเป็นผู้หมดภาระโดยประการทั้งปวงอย่างสมบูรณ์
ผู้เช่นนั้นแลที่โลกกล่าวอ้างเป็นสรณะเพื่อหวังฝากเป็นฝากตายในชีวิตตลอดมา แม้ผู้ตกอยู่ในลักษณะแห่งความไม่ดี
แต่ยังพอรู้บุญรู้บาปอยู่บ้าง ก็ยังกล่าวอ้าง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ว่าเป็นสรณะอย่างไม่หยุดปากกระดากใจ
ยังระลึกถึงพอให้พระองค์ทรงเป็นห่วงและรำคาญในความไม่ดีของเขาอยู่นั่นเอง
เช่นเดียวกับลูก ๆ ทั้งที่เป็นลูกที่ดีและลูกที่เลวบ่นถึงผู้บังเกิดเกล้าว่าเป็นพ่อเป็นแม่ของตนฉะนั้น
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านฝึกอบรมพระเณรเพื่อเห็นผลประจักษ์ในการบำเพ็ญ
ท่านมีอุบายปลุกปลอบด้วยวิธีต่าง ๆ ดังกล่าวมา
ผู้ตั้งใจปฏิบัติตามท่านด้วยความเคารพเทิดทูนจริง ๆ
ย่อมได้รับคุณธรรมเป็นการถ่ายทอดข้อวัตรวิธีดำเนินจากท่านมาอย่างพอใจ
ตลอดความรู้ความฉลาดภายในใจเป็นที่น่าเลื่อมใส
และนำมาสั่งสอนลูกศิษย์สืบทอดกันมาพอเห็นเป็นสักขีพยานว่า
ศาสนายังทรงมรรคทรงผลประจักษ์ใจของผู้ปฏิบัติตลอดมาไม่ขาดสูญ
ถ้าพูดตามความเป็นมาและการอบรมสั่งสอนของท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ควรเรียกได้อย่างถนัดใจว่า
“ปฏิปทาอดอยาก” คือที่อยู่ก็อดอยาก ที่อาศัยก็ฝืดเคือง
ปัจจัยเครื่องอาศัย โดยมากดำเนินไปแบบขาด ๆ เขิน ๆ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมีอยู่
ความเป็นอยู่หลับนอนที่ล้วนอยู่ในสภาพอนิจจังนั้น
ถ้าผู้เคยอยู่ด้วยความสนุกรื่นเริงและสมบูรณ์ไปเจอเข้า
อาจเกิดความสลดสังเวชใจในความเป็นอยู่ของท่านเหล่านั้นอย่างยากจะปลงตกได้
เพราะไม่มีอะไรจะเป็นที่เจริญตาเจริญใจสำหรับโลกผู้ไม่เคยต่อสภาพเช่นนั้น
จึงเป็นที่น่าทุเรศเอานักหนา แต่ท่านเองแม้จะเป็นอยู่ในลักษณะของนักโทษในเรือนจำ
แต่ก็เป็นความสมัครใจและอยู่ได้ด้วยธรรม เป็นอยู่หลับนอนด้วยธรรม
ลำบากลำบนทนทุกข์ด้วยธรรม ทรมานตนเพื่อธรรม อะไร ๆ
ในสายตาที่เห็นว่าเป็นการทรมานของผู้ไม่เคยพบเคยเห็น
จึงเป็นเรื่องความสะดวกกายสบายใจสำหรับท่านผู้มีปฏิปทาในทางนั้น ดังนั้น
จึงควรให้นามว่า “ปฏิปทาอดอยาก” เพราะอยู่ด้วยความตั้งใจทรมานอดอยาก ฝืนกายฝืนใจจริง
ๆ คือ อยู่ก็ฝืน ไปก็ฝืน นั่งก็ฝืน ยืนก็ฝืน นอนก็ฝืน เดินจงกรมก็ฝืน
นั่งสมาธิก็ฝืน ในอิริยาบถทั้งสี่เป็นท่าฝืนกายฝืนใจทั้งนั้น
ไม่ยอมให้อยู่ตามอัธยาศัยใจชอบเลย
บางครั้งยังต้องทนอดทนหิว
ไม่ฉันจังหันไปหลายวัน เพื่อเร่งความเพียรทางใจ ขณะที่ไม่ฉันนั้นเป็นเวลาทำความเพียรตลอดสาย
ไม่มีการลดหย่อนผ่อนตัวว่าหิวโหย แม้จะทุกข์ก็ทราบว่าทุกข์ในเวลานั้น
แต่ก็ทราบว่าตนทนอดทนหิวเพื่อความเพียร
เพราะผู้ปฏิบัติบางรายจริตนิสัยชอบทางอดอาหาร
ถ้าฉันไปทุกวันร่างกายสมบูรณ์ความเพียรทางใจไม่ก้าวหน้า ใจอับเฉา ไม่สว่างไสว
ไม่องอาจกล้าหาญ ก็จำต้องหาทางแก้ไข โดยมีการผ่อนและอดอาหารบ้าง อดระยะสั้นบ้าง
ระยะยาวบ้าง พร้อมกับความสังเกตตัวเองว่า อย่างไหนมีผลมากน้อยต่างกันอย่างไรบ้าง
เมื่อทราบนิสัยของตนว่าถูกกับวิธีใดก็เร่งรีบในวิธีนั้น
รายที่ถูกจริตกับการอดหลายวันก็จำต้องยอมรับตามนิสัยของตน
และพยายามทำตามแบบนั้นเรื่อยไป แม้จะลำบากบ้างก็ยอมทนเอา เพราะอยากดี อยากรู้
อยากฉลาด อยากหลุดพ้นจากทุกข์
ผู้ที่จริตนิสัยถูกกับการอดในระยะยาวย่อมทราบได้ในขณะที่กำลังทำการอดอยู่
คืออดไปหลายวันเท่าไร ใจยิ่งเด่นดวงและอาจหาญต่ออารมณ์ที่เคยเป็นข้าศึก ใจมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าต่อหน้าที่ของตนมากขึ้น นั่งสมาธิภาวนาลืมมืดลืมสว่าง
เพราะความเพลินกับธรรม
ขณะใจสัมผัสสัมพันธ์กับธรรมย่อมไม่สนใจต่อความหิวโหยและกาลเวลา
มีแต่ความรื่นเริงในธรรมทั้งหลายอันเป็นสมบัติที่ควรได้ควรถึงในเวลานั้น
จึงรีบตักตวงให้ทันกับเวลาที่กิเลสความเกียจคร้านอ่อนแอ ความไม่อดทน เป็นต้น
กำลังนอนหลับอยู่
พอจะสามารถแอบปีนขึ้นบนหลังหรือบนคอมันบ้างก็ให้ได้ขึ้นในเวลานั้น ๆ หากรั้ง ๆ รอ
ๆ หาฤกษ์งามยามดีพรุ่งนี้มะรืนอยู่ เวลามันตื่นขึ้นมาแล้วจะลำบาก
ดีไม่ดีอาจสู้มันไม่ได้และกลายเป็นช้างให้มันโดดขึ้นบนคอ
แล้วเอาขอสับลงบนศีรษะคือหัวใจ แล้วต้องยอมแพ้มันอย่างราบ
เพราะใจเราเคยเป็นช้างให้กิเลสเป็นนายควาญบังคับมานานแสนนานแล้ว
ความรู้สึกกลัวที่เคยฝังใจมานานนั้นแลพาให้ขยาด ๆ
ไม่กล้าต่อสู้กับมันอย่างเต็มฝีมือได้
ทางด้านธรรมท่านว่ากิเลสกับธรรมเป็นคู่อริกัน แต่ทางโลกเห็นว่ากิเลสกับใจเป็นคู่มิตรในลักษณะบ๋อยกลางเรือนอย่างแยกกันไม่ออก
ฉะนั้น ผู้มีความเห็นไปตามธรรมจึงต้องพยายามต่อสู้กับสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นข้าศึก
เพื่อเอาตัวรอดและครองตัวอย่างอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับกิเลสเป็นผู้คอยกระซิบสั่งการ
แต่ผู้เห็นตามกิเลสก็ต้องคอยพะเน้าพะนอเอาอกเอาใจ
ที่มันแนะนำหรือสั่งการออกมาอย่างไรต้องยอมปฏิบัติตามทุกอย่างไม่ขัดขืนมันได้
ส่วนผลที่ได้รับจากมันนั้น
เจ้าตัวก็ทราบว่ามีความกระเทือนต่อจิตใจเพียงใด
แม้ผู้อื่นก็ย่อมทราบได้จากการระบายออกของผู้เป็นเจ้าทุกข์
เพราะความกระทบกระเทือนทางจิตใจที่ถูกกิเลสกลั่นแกล้งและทรมานโดยวิธีต่าง ๆ
ไม่มีประมาณ
โทษทั้งนี้แลทำให้ผู้มีความรักตัวสงวนใจต้องมีมานะต่อสู้ด้วยความเพียรทุกด้านอย่างไม่อาลัยเสียดายชีวิต
ถึงจะอดก็ยอมอด ทุกข์ก็ยอมทุกข์ แม้ตายก็ยอมพลีชีพเพื่อยอมบูชาพระศาสนาไปเลย
ไม่มีการแบ่งรับแบ่งสู้ไว้เพื่อกิเลสได้หวังมีส่วนด้วย จะได้ใจ
ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ปลุกใจพระเณร
ให้มีความอาจหาญร่าเริงต่อความเพียรเพื่อยกตนให้พ้นทุกข์เครื่องกดถ่วงจิตใจ
ก็เพราะท่านได้พิจารณาทดสอบเรื่องของกิเลสกับธรรมมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจนเห็นผลประจักษ์ใจแล้ว
จึงได้กลับมาภาคอีสานและทำการสั่งสอนอย่างเต็มภูมิแห่งธรรมที่ท่านรู้เห็นมาเป็นคราว
ๆ ในสมัยนั้น
ธรรมที่ท่านสั่งสอนอย่างอาจหาญและออกหน้าออกตาแก่บรรดาศิษย์อยู่เสมอ
ได้แก่ พลธรรม ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา โดยให้เหตุผลว่า
ผู้ไม่เหินห่างจากธรรมเหล่านี้ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ขาดทุนและล่มจม
เป็นผู้มีหวังความเจริญก้าวหน้าไปโดยลำดับ ธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้
ท่านแยกความหมายมาใช้สำหรับท่านเองเป็นข้อ ๆ ซึ่งโดยมากเป็นไปในทางปลุกใจให้อาจหาญ
มีใจความว่า ศรัทธา เชื่อศาสนธรรมที่พระองค์ประทานไว้เพื่อโลก
เราผู้หนึ่งในจำนวนของคนในโลก ซึ่งอยู่ในข่ายที่ควรได้รับแสงสว่างแห่งธรรมจากข้อปฏิบัติที่ทำจริงแน่นอนไม่เป็นอื่น
และเชื่อว่าเกิดแล้วต้องตาย แต่จะช้าหรือเร็วไม่สำคัญ
ที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราจะตายแบบผู้แพ้กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์
หรือจะเป็นผู้ชนะวัฏวนสามนี้ก่อนจะตาย คำว่าแพ้ไม่เป็นสิ่งพึงปรารถนา
แม้แต่เด็กเล่นกีฬากันต่างฝ่ายเขายังหวังชนะกัน เราจึงควรสะดุดใจ
และไม่ควรทำตัวให้เป็นผู้แพ้ ถ้าเป็นผู้แพ้ก็ต้องทนอยู่อย่างผู้แพ้
ทุก
ๆ อาการของผู้แพ้ต้องเป็นการกระเทือนใจอย่างมาก และระทมทุกข์จนหาทางออกไม่ได้
ขณะที่จิตจะคิดหาทางออกของผู้แพ้มีอยู่ทางเดียวคือ “ตายเสียดีกว่า” ซึ่งตายไปแบบที่ว่าดีกว่านี้
ก็ต้องเป็นการตายของผู้แพ้ต่อข้าศึกอยู่นั่นเอง
อันเป็นทางกอบโกยโรยทุกข์ใส่ตัวเองจนไม่มีที่ปลงวาง
จึงไม่มีอะไรดีเลยสำหรับผู้แพ้ทุกประตูแล้ว
ถ้าจะตายแบบผู้ชนะดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน ก็ต้องเชื่อแบบท่าน ทำแบบท่าน
เพียรและอดทนแบบท่าน มีสติรักษาใจ รักษาตัว รักษากิริยาที่แสดงออกทุกอาการแบบท่าน
ทำใจให้มั่นคงต่อหน้าที่ของตน อย่าโยกเยกคลอนแคลนแบบคนจวนตัวไม่มีสติเป็นหลักยึด
แต่จงทำใจให้มั่นคงต่อเหตุที่ทำเพื่อผลอันพึงพอใจจะได้มีทางเกิดขึ้นได้
อันเป็นแบบที่ท่านพาดำเนิน
ศาสนาคือคำสั่งสอนของท่านผู้ฉลาด
ท่านสอนคนเพื่อให้เกิดความฉลาดทุกแง่ทุกมุม ซึ่งพอจะพิจารณาตามท่านได้
แต่เราอย่าฟังเพื่อความโง่ อยู่ด้วยความโง่ กินดื่มทำพูดด้วยความโง่
คำว่าโง่ไม่ใช่ของดี คนโง่ก็ไม่ดี สัตว์โง่ก็ไม่ดี เด็กโง่ ผู้ใหญ่โง่
มิใช่ของดีทั้งนั้น เราโง่จะให้ใครเขาชมว่าดี
จึงไม่ควรทำความสนิทติดจมอยู่กับความโง่โดยไม่ใช้ความพิจารณาไตร่ตรอง
ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง
จึงไม่ควรแก่สมณะซึ่งเป็นเพศที่ใคร่ครวญไตร่ตรอง นี่คือความหมายในธรรม ๕
ข้อที่ท่านคิดค้นขึ้นมาพร่ำสอนท่านเองและหมู่คณะที่ไปอบรมศึกษากับท่าน รู้สึกว่าเป็นคติได้ดีมาก
เพราะเป็นอุบายปลุกใจให้เกิดสติปัญญาและอาจหาญ
ทั้งเหมาะสมกับสภาพการณ์และสถานที่ของพระธุดงค์
ผู้เตรียมพร้อมแล้วในการรบพุ่งชิงชัยระหว่างกิเลสกับธรรมเพื่อความชนะเลิศ
คือวิมุตติพระนิพพาน อันเป็นหลักเขตแดนมหาชัยที่ปรารถนามานาน
พระอาจารย์ที่เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านเล่าให้ฟังว่า
เวลาอยู่กับท่าน แม้จะมีพระเณรจำนวนมากด้วยกัน แต่มองดูอากัปกิริยาของแต่ละองค์
เหมือนพระเณรที่สิ้นกิเลสกันแล้วทั้งนั้น ไม่มีอาการแสดงความคึกคะนองใด ๆ
แม้แต่น้อยให้ปรากฏบ้างเลย ต่างองค์ต่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว ทั้งที่อยู่โดยลำพังตนเอง
ทั้งเวลามารวมกันด้วยกิจธุระบางอย่าง และเวลารวมประชุมฟังการอบรม
ต่างมีมรรยาทสวยงามมาก ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเกี่ยวกับภูมิจิต
เวลาท่านสนทนากันกับท่านอาจารย์บ้าง
ก็อาจให้เกิดความสงสัยหรือเชื่อแน่ว่าแต่ละองค์คงสำเร็จพระอรหัตกันแน่ ๆ
แต่พอเดาได้จากการแก้ปัญหาธรรมขณะที่ท่านสนทนากัน
ว่าองค์ไหนควรอยู่ในภูมิธรรมขั้นใด
นับแต่สมาธิและปัญญาขั้นต้นขึ้นไปถึงสมาธิและวิปัสสนาขั้นสูง
การแก้ปัญหาในเวลามีผู้ไปศึกษาก็ดี
การแสดงธรรมอบรมพระเณรในเวลาประชุมก็ดี ท่านแสดงด้วยความแน่ใจและอาจหาญ
พอให้ผู้ฟังทราบได้ว่าธรรมที่แสดงออกเป็นธรรมที่ท่านรู้เห็นทางจิตใจจริง ๆ
ไม่แสดงด้วยความลูบคลำหรือสุ่มเดา ว่าเห็นจะเป็นอย่างนั้น เห็นจะเป็นอย่างนี้
จึงเป็นที่แน่ใจได้ว่า เป็นธรรมที่ส่อแสดงอยู่กับใจของทุกคนแม้ยังไม่รู้ไม่เห็น
และคงมีวันหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถรู้ได้จำเพาะตนหากไม่ลดละความเพียรไปเสีย
วิธีให้การอบรมแก่พระเณรและฆราวาส
รู้สึกว่าท่านแสดงให้พอเหมาะสมกับขั้นภูมิความเป็นอยู่และจริตนิสัยของผู้มาอบรมศึกษาได้ดี
และได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่ายขณะที่ฟังอยู่ด้วยกัน
เพราะท่านอธิบายแยกแยะธรรมออกเป็นตอน ๆ ซึ่งพอเหมาะสมกับภูมิของผู้มาฟังจะเข้าใจและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้
โดยมากเวลาท่านสอนฆราวาสญาติโยมโดยเฉพาะ ท่านยกธรรมเกี่ยวกับฆราวาสขึ้นแสดง มีทาน
ศีล ภาวนาเป็นพื้น โดยให้เหตุผลว่า
ธรรมทั้งสามนี้เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา
ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องเป็นผู้เคยผ่าน คือเคยสั่งสมธรรมเหล่านี้มา
อย่างน้อยต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นเชื้ออยู่ในนิสัยของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษยสมบัติอย่างแท้จริง
ทาน
คือเครื่องแสดงน้ำใจมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง
ผู้มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ผู้อาภัพ ด้วยการให้การเสียสละแบ่งปันมากน้อย
ตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน
หรือวิทยาทานแขนงต่าง ๆ ก็ตาม ที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิได้หวังค่าตอบแทนใด
ๆ นอกจากกุศลคือความดีที่เกิดจากทานนั้น
ซึ่งจะเป็นสิ่งตอบแทนให้เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น
ตลอดอภัยทานที่ควรให้แก่กันในเวลาอีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกิน
คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทาน
ย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชนโดยไม่นิยมรูปร่างลักษณะ
ผู้เช่นนี้มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาที่มองไม่เห็นก็เคารพรัก
จะตกทิศใดแดนใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลน หากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้
ไม่อับจนทนทุกข์
แม้ในแดนมนุษย์เรานี้ก็พอเห็นได้อย่างเต็มตารู้ได้อย่างเต็มใจว่า
ผู้มีทานเป็นเครื่องประดับตัวย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัยในสังคม
และบุคคลทุกชั้นไม่มีใครรังเกียจ
แม้แต่คนที่มั่งมีแต่แสนตระหนี่ถี่เหนียวก็ยังหวังต่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากผู้อื่นเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่ว
ๆ ไป ไม่ต้องพูดถึงคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ไม่หวังให้ผู้อื่นช่วยเหลือ
จะไม่มีในโลกเมืองไทยเรา อำนาจทานทำให้ผู้มีใจชอบบริจาคเกิดความเคยชินต่อนิสัย
จนกลายเป็นผู้มีฤทธิ์บันดาลไม่ให้อดอยากในภพที่เกิดกำเนิดที่อยู่นั้น ๆ ฉะนั้น
ทานและคนที่มีใจเป็นนักให้ทาน การเสียสละ
จึงเป็นเครื่องและเป็นผู้ค้ำจุนหนุนโลกให้เฟื่องฟูตลอดไป
โลกที่ยังมีการสงเคราะห์กันอยู่ยังจัดเป็นโลกที่มีความหมายตลอดไป
ไม่เป็นโลกที่ไร้ชาติขาดกระเจิง เหลือแต่ซากคือแผ่นดินแน่ ๆ
ทานจึงเป็นสาระสำคัญสำหรับตัวและโลกทั่ว ๆ ไป
ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่นและหนุนโลกให้ชุ่มเย็น
ไม่เป็นบุคคลและโลกที่แห้งแล้งแข่งกับทุกข์ตลอดไป
ศีล
คือรั้วกั้นความเบียดเบียนและทำลายสมบัติร่างกายและจิตใจของกันและกัน
ศีลคือพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยมที่ควรมีประจำชาติมนุษย์ ไม่ปล่อยให้สูญหายไปเสีย
เพราะมนุษย์ที่ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้นและเป็นเครื่องประดับตัวเสียเลย
ก็คือกองเพลิงแห่งมนุษย์เราดี ๆ นี่เอง
การเบียดเบียนและทำลายกันย่อมมีไปทุกหย่อมหญ้าและทั่วโลกดินแดน
ไม่มีเกาะมีดอนพอจะเอาศีรษะซุกนอนให้หลับสนิทได้โดยปลอดภัย
แม้โลกจะเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระอาทิตย์บนท้องฟ้า
แต่ความรุ่มร้อนแผดเผาจะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์เป็นไหน ๆ
โลกจะไม่มีที่ปลงใจได้เลยถ้ายังมัวคิดว่าวัตถุมีคุณค่ายิ่งกว่าศีลธรรมอยู่
เพราะศีลธรรมเป็นสมบัติของจอมมนุษย์ คือพระพุทธเจ้า
ผู้ค้นพบและนำมาประดับโลกที่กำลังมืดมัวกลัวทุกข์พอให้สว่างไสวร่มเย็น
ควรอาศัยได้บ้างด้วยอำนาจศีลธรรมเป็นเครื่องปัดเป่ากำจัด
ลำพังความคิดของมนุษย์ที่มีกิเลสคิดผลิตอะไรออกมา
ทำให้โลกร้อนจะบรรลัยอยู่แล้ว
ยิ่งจะปล่อยให้คิดตามอำนาจโดยไม่มีกลิ่นแห่งศีลธรรมช่วยเป็นยาแก้และชะโลมไว้บ้าง
ก็น่ากลัวความคิดนั้น ๆ จะผลิตยักษ์ใหญ่ตัวโหดร้ายที่ทรงพิษขึ้นมากี่แสนกี่ล้านตัว
ออกเที่ยวหากว้านกินมนุษย์ให้ฉิบหายกันทั้งโลก ไม่มีอะไรเหลืออยู่บ้างเลย
ความคิดของคนสิ้นกิเลสที่ทรงคุณอย่างสูงสุดคือพระพุทธเจ้า
มีผลให้โลกได้รับความร่มเย็นซาบซึ้ง
กับความคิดที่เป็นไปด้วยกิเลสที่มีผลให้ตัวเองและผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนจนจะคาดไม่ถึงนี่แล
เป็นความคิดที่ผิดกันอยู่มาก
พอจะนำมาเทียบเคียงเพื่อหาทางแก้ไขผ่อนหนักผ่อนเบาลงได้บ้าง
ไม่จมไปกับความคิดประเภทนั้นจนหมดทางแก้ไข ศีลจึงเป็นเหมือนยาปราบโรค
ทั้งโรคระบาดและโรคเรื้อรัง อย่างน้อยก็พอให้คนไข้ที่สุมด้วยกิเลสกินอยู่หลับนอนได้บ้าง
ไม่ถูกบีบคั้นด้วยโรคที่เกิดแล้วไม่ยอมหายนี้ตลอดไป มากกว่านั้นก็หายขาดอยู่สบาย
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเมตตาสั่งสอนฆราวาสให้รู้คุณของศีล
และให้รู้โทษของความไม่มีศีลอย่างถึงใจจริง ๆ ฟังแล้วจับใจไพเราะ
แม้ผู้เขียนเองพอได้ทราบว่า
ท่านสั่งสอนประชาชนให้เห็นโทษเห็นคุณในศีลอย่างซาบซึ้งจับใจเช่นนั้น
ยังเผลอตัวไปว่า “อยากมีศีล ๕ กับเขาบ้าง” ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นตนก็มีศีลอยู่ถึง ๒๒๗
ศีลอยู่แล้ว เพราะความปีติผาดโผนไปบ้างเวลานั้นจึงขาดสติไปพักหนึ่ง
พอได้สติขึ้นมาเลยนึกอายตัวเองและไม่กล้าบอกใคร
กลัวท่านเหล่านั้นจะหาว่าเราบ้าซ้ำเข้าไปอีก เพราะขณะนั้นเราก็ชักจะบ้า ๆ
อยู่บ้างแล้วที่คิดว่าอยากมีศีล ๕ กับฆราวาสเขาโดยไม่คลำดูศีรษะบ้างเลย
อย่างนี้แลคนเรา เวลาคิดไปทางชั่วจนถึงกับทำชั่วตามความคิดจริง ๆ
ก็คงเป็นไปในลักษณะดังกล่าวมา จึงควรสำเหนียกในความคิดของตนไปทุกระยะ
ว่าคิดไปในทางดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด ต้องคอยชักบังเหียนไว้เสมอ
ไม่เช่นนั้นมีหวังเลยเถิดได้แน่นอน
ภาวนา
คือ การอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลอรรถธรรม
รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย
ไม่ให้จิตผาดโผนโลดเต้นแบบไม่มีฝั่งมีฝา
ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผลอันจะเป็นทางแห่งความสงบสุข
ใจที่ยังมิได้รับการอบรมจากภาวนาจึงยังเป็นเหมือนสัตว์ที่ยังมิได้รับการฝึกหัดให้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์
มีจำนวนมากน้อยก็ยังมิได้รับประโยชน์จากมันเท่าที่ควร
จำต้องฝึกหัดให้ทำประโยชน์ตามประเภทของมันก่อน ถึงจะได้รับประโยชน์ตามควร
ใจจึงควรได้รับการอบรมให้รู้เรื่องของตัวเสียบ้าง จะเป็นผู้ควรแก่การงานทั้งหลาย
ทั้งส่วนหยาบส่วนละเอียด ทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่ ทั้งภายในภายนอก
ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจจะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ
ไม่ค่อยเอาตัวเข้าไปเสี่ยงต่อการกระทำที่ไม่แน่ใจ
ซึ่งอาจเกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้องตลอดส่วนรวมเมื่อผิดพลาดลงไป
การภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต ไม่เสียประโยชน์ทั้งสองทาง
ประโยชน์สำคัญคือประโยชน์เฉพาะหน้า ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์
การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้มีภาวนา
จะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ขณะที่ทำก็ไม่ทำแบบขอไปที แต่ทำด้วยความใคร่ครวญ
และเล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากงานเมื่อสำเร็จลงไปแล้ว จะไปมาในทิศทางใดจะทำอะไร
ย่อมเล็งถึงผลได้เสียเกี่ยวกับการนั้น ๆ เสมอ การปกครองตนก็สะดวก
ไม่ฝ่าฝืนตัวเองซึ่งเป็นผู้มีหลักเหตุผลอยู่แล้ว
ถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศทางเดินของกาย วาจา ใจประจำตัว
ไม่ยอมเปิดช่องให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความอยากไป อยากมา
อยากทำ อยากพูด อยากคิด ที่เคยเป็นมาดั้งเดิม เป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา
ซึ่งไม่เคยสนใจต่อความผิดถูกดีชั่วเสียมากต่อมาก
และพาเราเสียไปจนนับไม่ถ้วนประมาณไม่ถูก จะเอาโทษกับมันก็ไม่ได้
นอกจากยอมให้เสียไปอย่างน่าเสียดาย
แล้วพยายามแก้ตัวใหม่เท่านั้นเมื่อยังมีสติอยู่บ้างพอจะหักล้างกันได้
ถ้าไม่มีสติพอระลึกบ้างเลยแล้ว ทั้งของเก่าก็เสียไป ทั้งของใหม่ก็พลอยจมไปด้วย
ไม่มีวันกลับฟื้นคืนตัวได้เลย นี่แลเรื่องของกิเลส ต้องพาให้เสียหายเรื่อยไป
ฉะนั้นการภาวนาจึงเป็นเครื่องหักล้างความลามกไม่มีเหตุผลของตนได้ดี
แต่วิธีภาวนานั้นรู้สึกลำบากอยู่บ้าง
เพราะเป็นการบังคับใจซึ่งเหมือนบังคับลิงให้อยู่เชื่อง ๆ พองามตาบ้าง
ย่อมเป็นของลำบากฉะนั้น
วิธีภาวนาก็คือวิธีสังเกตตัวเองนั่นแล
คือสังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิกเหมือนถูกไฟหรือน้ำร้อนลวก ไม่อยู่เป็นปกติสุข
ด้วยสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดบทหนึ่งเป็นคำบริกรรม
เพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุขในขณะภาวนา
ตามที่นิยมใช้กันมากและได้ผลดีก็มีอานาปานสติบ้าง พุทโธบ้าง ธัมโมบ้าง สังโฆบ้าง
มรณานุสสติบ้าง หรือเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ โดยอนุโลม ปฏิโลมบ้าง
หรือใช้บริกรรมเฉพาะบทใดบทหนึ่งบ้าง
พยายามบังคับใจให้อยู่กับอารมณ์แห่งธรรมบทที่นำมาบริกรรมขณะภาวนา
ใจที่อาศัยบทธรรมอันเป็นอารมณ์ที่ให้คุณ ไม่เป็นภัยแก่จิตใจ
ย่อมจะเกิดความสงบสุขขึ้นมาในขณะนั้น ที่เรียกว่าจิตสงบ หรือจิตรวมเป็นสมาธิ
คือความมั่นคงต่อตัวเอง ไม่อาศัยธรรมบทใด ๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในเวลานั้น
เพราะจิตมีกำลังพอดำรงตนอยู่โดยอิสระได้
คำบริกรรมที่เคยนำมากำกับใจ
ก็ระงับกันไปชั่วขณะที่จิตปล่อยอารมณ์เข้าพักสงบตัว ต่อเมื่อถอนขึ้นมา ถ้ามีเวลาทำต่อไปอีกก็นำคำบริกรรมที่เคยกำกับมาบริกรรมต่อไป
พยายามทำอย่างนี้เสมอด้วยความใฝ่ใจไม่ลดละความเพียร
จิตที่เคยทำบาปหาบทุกข์อยู่เสมอก็จะค่อยรู้สึกตัวและปล่อยวางไปเป็นลำดับ
และมีความสนใจหนักแน่นในหน้าที่ของตนเป็นประจำ ไม่ถูกบังคับถูไถเหมือนขั้นเริ่มแรก
ซึ่งเป็นขั้นกำลังฝึกหัด จิตที่สงบตัวลงเป็นสมาธิ
เป็นจิตที่มีความสุขเย็นใจมากและจำไม่ลืม ถ้าได้ปรากฏขึ้นเพียงครั้งเดียว
ย่อมเป็นเครื่องปลุกใจให้ตื่นตัวและตื่นใจได้อย่างน่าประหลาด
หากไม่ปรากฏอีกในวาระต่อไปทั้งที่ภาวนาอยู่ในใจ จะเกิดความเสียดายอย่างบอกไม่ถูก
อารมณ์แห่งความติดใจและความเสียดายในจิตประเภทนั้นจะฝังใจไปนาน
นอกจากจิตจะเจริญก้าวหน้าขึ้นสู่ความสงบสุขอันละเอียดไปเป็นลำดับเท่านั้น
จิตถึงจะลืมและเพลินในธรรมขั้นสูงเรื่อยไป
ไม่มาเกี่ยวข้องเสียดายจิตและความสงบที่เคยผ่านมาแล้ว
แต่เมื่อพูดถึงการภาวนาแล้ว
ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกเหงาหงอยน้อยใจและอ่อนเปียกไปทั้งร่างกายและจิตใจ
ว่าตนมีวาสนาน้อย ทำไม่ไหว
เพราะคิดว่ากิจการยุ่งยากทั้งภายในบ้านและนอกบ้านตลอดงานสังคมต่าง ๆ
ลูกหลานก็มีหลายคนล้วนแต่ต้องเป็นธุระในการเลี้ยงดู
จะมัวมานั่งหลับตาภาวนาอยู่เห็นจะไม่ทันอยู่ทันกินกับโลกเขา ต้องอดตายแน่ ๆ
แล้วทำให้เกิดความอิดหนาระอาใจไม่อยากทำ ประโยชน์ที่ควรได้เลยผ่านไป
ความคิดเช่นนั้นเป็นความคิดที่เคยฝังนิสัยมาดั้งเดิม
และอาจเป็นความคิดที่คอยกีดกันทางเดินเพื่อการระบายคลายทุกข์ทางใจไปเสีย
ถ้าไม่พยายามคิดแก้ไขเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป
แท้จริงการภาวนา
คือวิธีการแก้ความยุ่งยากและความลำบากทางใจทุกประเภท
ที่เคยรับภาระอันหนักหน่วงมานานให้เบาลงและหมดสิ้นไป เหมือนอุบายอื่น ๆ
ที่เราเคยนำมาแก้ไขไล่ทุกข์ออกจากตัวเหมือนที่โลกทำกันมานั่นเอง เช่น
เวลาร้อนต้องแก้ด้วยวิธีอาบน้ำ เวลาหนาวแก้ด้วยวิธีห่มผ้าหรือผิงไฟ
หรือด้วยวิธีอื่น ๆ เวลาหิวกระหายแก้ด้วยวิธีรับประทานและดื่ม
เวลาเป็นไข้ก็แก้ด้วยวิธีรับประทานหรือฉีดยาที่จะยังโรคให้สงบและหายไป
ซึ่งล้วนเป็นวิธีการที่โลกเคยทำตลอดมาถึงปัจจุบัน โดยไม่มีการผัดเพี้ยนเลื่อนเวลา
ว่ายังยุ่งยากยังลำบาก และขัดสนจนใจใด ๆ ทั้งนั้น
ทุกชาติชั้นวรรณะจำต้องปฏิบัติกันทั่วโลก
แม้แต่สัตว์ก็ยังต้องอาศัยการเยียวยารักษาตัว
ดังที่เราเห็นเขาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพื่อผ่อนคลายระบายทุกข์ไปวันหนึ่ง ๆ
พอยังชีวิตให้เป็นไปตลอดกาลของเขา ล้วนเป็นวิธีการแก้ไขและรักษาตัวแต่ละอย่าง ๆ
การอบรมใจด้วยภาวนาก็เป็นวิธีหนึ่งแห่งการรักษาตัว
วิธีนี้ยิ่งเป็นงานสำคัญที่ควรสนใจเป็นพิเศษ
เพราะเป็นวิธีที่เกี่ยวกับจิตใจผู้เป็นหัวหน้างานทุกด้านโดยตรง
งานอะไรเรื่องอะไรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัว จิตจำต้องเป็นตัวการอย่างแยกไม่ออก
ที่จะต้องเข้ารับภาระแบกหามโดยไม่คำนึงถึงความหนักเบา
และชนิดของงานว่าเป็นงานชนิดใด จะพอยกไหวไหม แต่จิตต้องเข้ารับภาระทันที
ดีหรือชั่วผิดหรือถูกไม่ค่อยสนใจคิด แม้งานหรือเรื่องจะหนักเบาเศร้าโศกเพียงใด
ซึ่งบางเรื่องแทบจะคว้าเอาชีวิตไปด้วยในขณะนั้น
แม้เช่นนั้นใจยังกล้าเอาตัวเข้าไปเสี่ยงและแบกหามจนได้
โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นจะตายเพราะเหลือบ่ากว่าแรง
มิหนำยังหอบเอาเรื่องมาคิดเป็นการบ้านอยู่อีก จนแทบนอนไม่หลับ รับประทานไม่ได้
ก็ยังมีในบางครั้ง คำว่าหนักเกินไปยกไม่ไหว
เพราะเกินกว่ากำลังใจจะคิดและต้านทานนั้นเป็นไม่มี มีแต่จะสู้เอาท่าเดียว
งานทางกายยังมีเวลาพักผ่อน
และยังรู้ประมาณว่าควรหรือไม่ควรแก่กำลังของตนเพียงใด
ส่วนงานทางใจไม่มีวันเวลาได้พักผ่อนเอาเลย
จะมีพักอยู่บ้างเล็กน้อยก็ขณะหลับนอนเท่านั้น
แม้เช่นนั้นจิตยังอุตส่าห์ทำงานด้วยการละเมอเพ้อฝันต่อไปอีก
และไม่รู้จักประมาณว่าเรื่องต่างๆ นั้นควรหรือไม่ควรแก่กำลังของใจเพียงใด
เมื่อเกิดเป็นอะไรขึ้นมาก็ทราบแต่เพียงว่าทุกข์เหลือทน
แต่ไม่ทราบว่าทุกข์เพราะงานหนักและเรื่องเผ็ดร้อนเหลือกำลังที่ใจจะสู้ไหว
จึงควรให้นามว่า “ใจคือนักต่อสู้” เพราะดีก็สู้ ชั่วก็สู้
สู้จนไม่รู้จักหยุดยั้งไตร่ตรอง
อารมณ์ชนิดใดผ่านมาต้องสู้
และสู้แบบรับเหมา ไม่ยอมให้อะไรผ่านหน้าไปได้
จิตเป็นเช่นนี้แลจึงสมนามว่านักต่อสู้ เพราะสู้จนไม่รู้จักตายถ้ายังครองร่างอยู่
และไม่ได้รับการแก้ไข ก็ต้องเป็นนักต่อสู้เรื่อยไปชนิดไม่มีวันปลงวางภาระลงได้
หากปล่อยให้เป็นไปตามชอบของใจที่ไม่รู้ประมาณ โดยไม่มีธรรมเครื่องยับยั้งบ้าง
คงไม่มีเวลาได้รับความสุขแม้สมบัติจะมีเป็นก่ายกอง เพราะนั้นมิใช่กองแห่งความสุข
แต่กลับเป็นกองส่งเสริมทุกข์สำหรับใจที่ไม่มีเรือนพักคือธรรมภายในใจ
นักปราชญ์ท่านกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า
ธรรมแลเป็นเครื่องปกครองทรัพย์สมบัติและปกครองใจ ถ้าใจมีธรรมมากน้อย
ผู้นั้นแม้มีทรัพย์สมบัติมากน้อยย่อมจะมีความสุขพอประมาณ
ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว ลำพังความอยากของใจ
จะพยายามหาทรัพย์ให้ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอ
เพราะนั้นเป็นเพียงเครื่องอาศัยของกายและใจ ผู้ฉลาดหาความสุขใส่ตัวเท่านั้น
ถ้าใจไม่ฉลาดด้วยธรรม ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียวจะไปอยู่โลกใดและกองสมบัติใด
ก็เป็นเพียงโลกเศษเดนและกองสมบัติเศษเดนอยู่เท่านั้น
ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใจเลยแม้นิด ความสมบุกสมบัน ความรับทุกข์ทรมาน
ความอดทนและความทนทานต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่าง ๆ ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง
ใจจะกลายเป็นของประเสริฐขึ้นมาให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจและอิ่มพอต่อเรื่องทั้งหลายทันที
การใช้งานจิตนับแต่วันเกิดจนบัดนี้
รู้สึกว่าใช้เอาอย่างไม่มีปรานีปราศรัย ถ้าเป็นเครื่องใช้ชนิดต่าง ๆ มีรถราเป็นต้น
จะเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ควรพูดถึงการนำเข้าอู่ซ่อม
แต่ควรพูดถึงความแหลกยับเยินของรถจนกลายเป็นเศษเหล็กไปนานแล้วจะเหมาะสมกว่า
นี่แลทุกสิ่งเมื่อมีการใช้ต้องมีการบูรณะซ่อมแซม มีการเก็บรักษา
ถึงจะพอมีทางอำนวยประโยชน์ต่อไป
จิตเป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล ด้วยวิธีเก็บรักษาเช่นเดียวกับสมบัติทั่วไป
วิธีที่ควรแก่จิตโดยเฉพาะก็คือภาวนาวิธีดังที่อธิบายมาบ้างแล้ว
ผู้สนใจในความรับผิดชอบต่อจิตอันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน
จึงควรปฏิบัติรักษาจิตด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม คือฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร
เพื่อเป็นการตรวจตราดูเครื่องเคราของรถคือจิต ว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไปบ้าง
จะได้นำเข้าโรงซ่อมสุขภาพทางจิต
คือนั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน
คือความคิดปรุงของใจ ว่าคิดอะไรบ้างในวันและเวลาหนึ่ง ๆ พอมีสารประโยชน์บ้างไหม
หรือพยายามคิดแส่หาแต่เรื่อง หาแต่โทษ และขนทุกข์มาเผาลนเจ้าของอยู่ทำนองนั้น
พอให้รู้ความผิดถูกของตัวบ้าง และพิจารณาสังขารภายนอก คือร่างกายของเรา
ว่ามีความเจริญขึ้นหรือเจริญลงในวันและเวลาหนึ่ง ๆ
ที่ผ่านไปจนกลายเป็นปีเก่าและปีใหม่ผลัดเปลี่ยนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด
สังขารร่างกายเรามีอะไรใหม่ขึ้นบ้างไหม หรือมีแต่ความเก่าแก่และคร่ำคร่าชราหลุดลงไปทุกวัน
ซึ่งพอจะนอนใจกับเขาละหรือ จึงไม่พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอทำได้
เวลาตายแล้วจะเสียการ นี่คือการภาวนา การภาวนาคือวิธีเตือนตนสั่งสอนตน
ตรวจตราดูความบกพร่องของตนว่าควรจะแก้ไขจุดใดตรงไหนบ้าง
ผู้ใช้ความพิจารณาอยู่ทำนองนี้เรื่อย
ๆ ด้วยวิธีสมาธิภาวนาบ้าง ด้วยการรำพึงในอิริยาบถต่าง ๆ บ้าง ใจจะสงบเยือกเย็น
ไม่ลำพองผยองตัวและคว้าทุกข์มาเผาลนตัวเอง เป็นผู้รู้จักประมาณ
ทั้งหน้าที่การงานที่พอเหมาะพอดีแก่ตัว ทั้งทางกายและทางใจ
ไม่ลืมตัวมั่วสุมในสิ่งที่เป็นหายนะต่าง ๆ คุณสมบัติของผู้ภาวนานี้มีมากมายไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นลงได้
แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมิได้อธิบายลึกซึ้งมากไปกว่าฐานะของฆราวาสที่มารับการอบรม
ผิดกับท่านอธิบายให้พระเณรฟังอยู่มาก
เท่าที่เขียนตามท่านอธิบายไว้พอหอมปากหอมคอนี้
ก็ยังอาจมีบทที่รู้สึกว่าเปรี้ยวจัดเค็มจัดแฝงอยู่บ้างตามทรรศนะของนานาจิตตัง
จะให้เป็นแบบเดียวกันย่อมไม่ได้
เท่าที่ได้พยายามตะเกียกตะกายนำมาลง
ก็เพื่อท่านผู้อ่านได้ช่วยติชมพอเป็นยาอายุวัฒนะ
ผิดถูกประการใดโปรดได้ตำหนิผู้นำมาเขียน
กรุณาอย่าได้สนใจกับท่านผู้เป็นเจ้าของประวัติ เพราะท่านมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย
เวลาแสดงธรรมขั้นสูงท่านก็แสดงเป็นการภายในเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเท่านั้น
แต่ผู้เขียนคะนองไปเอง ใจและมือไม่อยู่เป็นสุข
ไปเที่ยวซอกแซกบันทึกเอาจากปากคำของพระอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น
ซึ่งเคยอยู่กับท่านมาเป็นคราว ๆ ในสมัยนั้น ๆ แล้วนำมาลงเพื่อท่านผู้อ่านได้ทราบปฏิปทาการดำเนินของท่านบ้างแม้ไม่สมบูรณ์
เพราะปฏิปทาท่านปรากฏว่าเด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก
แทบจะพูดได้ว่าไม่มีท่านผู้ใดบรรดาลูกศิษย์ที่เคยพึ่งร่มเงาแห่งบารมีท่านมา
จะสามารถปฏิบัติเด็ดเดี่ยวต่อธุดงควัตรและจริยธรรมทั้งหลายอย่างสม่ำเสมอเหมือนท่าน
สำหรับองค์ท่าน ทั้งข้อปฏิบัติ ทั้งความรู้ภายในใจ นับว่าเป็นเยี่ยมในสมัยปัจจุบัน
ยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้
แถบจังหวัดอุดร
และหนองคาย ตามในป่า ชายเขา และบนเขาที่ท่านพักอยู่ ท่านเล่าว่าพวกเทพฯ
ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างมาเยี่ยมฟังธรรมท่านเป็นคราว ๆ ครึ่งเดือนบ้าง หนึ่งเดือนบ้างมาหนหนึ่ง
ไม่บ่อยนักเหมือนจังหวัดเชียงใหม่ แต่จะเขียนต่อเมื่อประวัติท่านดำเนินไปถึง
ระยะนี้ขอดำเนินเรื่องไปตามลำดับเพื่อไม่ให้ก้าวก่ายกัน
ท่านเคยไปพักบำเพ็ญเพียรอยู่ชายเขาฝั่งไทยตะวันตกเมืองหลวงพระบาง นานพอสมควร
ท่านเล่าว่าที่ใต้ชายเขาลูกนั้นมีเมืองพญานาคตั้งอยู่ใหญ่โตมาก
หัวหน้าพญานาคพาบริวารมาฟังธรรมท่านเสมอ และมากันมากมายในบางครั้ง
พวกนาคไม่ค่อยมีปัญหามากเหมือนพวกเทวดา
พวกเทวดาทั้งเบื้องบนเบื้องล่างมักมีปัญหามากพอ ๆ กัน
ส่วนความเลื่อมใสในธรรมนั้นมีพอ ๆ กัน ท่านพักอยู่ชายเขาลูกนั้น พญานาคมาเยี่ยมท่านแทบทุกคืนและมีบริวารติดตามมาไม่มากนัก
นอกจากจะพามาเป็นพิเศษ ถ้าวันไหนพญานาคจะพาบริวารมามาก
ท่านก็ทราบได้ล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง
ท่านว่าท่านพักอยู่ที่นั้นเป็นประโยชน์แก่พวกนาคและพวกเทวดาโดยเฉพาะ
ไม่ค่อยเกี่ยวกับประชาชนนัก พวกนาคมาเยี่ยมท่านไม่มาตอนดึกนัก ท่านว่าอาจจะเป็นเพราะที่ที่พักสงัดและอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านก็ได้
พวกนาคจึงพากันมาเยี่ยมเฉพาะที่นั้นราว ๒๒–๒๓ นาฬิกา คือ ๔-๕ ทุ่ม ส่วนที่อื่น ๆ มาดึกกว่านั้นก็มี
เวลาขนาดนั้นก็มี พญานาคอาราธนานิมนต์ท่านให้อยู่ที่นั่นนาน ๆ เพื่อโปรดเขา
เขาเคารพเลื่อมใสท่านมาก และจัดให้บริวารมารักษาท่านทั้งกลางวันและกลางคืน
โดยผลัดเปลี่ยนวาระกันมามิได้ขาด แต่เขามิได้มาอยู่ใกล้นัก อยู่ห่าง ๆ
พอทราบและรักษาเหตุการณ์เกี่ยวกับท่านได้สะดวก ส่วนพวกเทพฯ
โดยมากมักมาดึกกว่าพวกนาค คือ ๒๔ นาฬิกาหรือตี ๑ ตี ๒
ถ้าอยู่ในเขาห่างไกลจากหมู่บ้าน พวกเทพฯ ก็มีมาแต่วัน ราว ๒๒–๒๓ นาฬิกาอยู่บ้างจึงไม่แน่นัก
แต่โดยมากนับแต่เที่ยงคืนขึ้นไป พวกเทพฯ ชอบมากันเป็นนิสัย
ข้อวัตรประจำองค์ท่านโดยเฉพาะในมัชฌิมวัย
หลังจังหันเสร็จแล้วเข้าทางจงกรมจวนเที่ยงหรือเที่ยงวันเข้าที่พักกลางวันเล็กน้อย
หลังจากพักก็เข้าที่ทำสมาธิภาวนาราวชั่วโมงครึ่ง จากนั้นลงเดินจงกรม จนถึงเวลาบ่าย
๔ โมงปัดกวาดลานวัดหรือที่พัก เสร็จแล้วสรงน้ำ แล้วเข้าทางจงกรมอีก จนถึงเวลา ๑-๒
ทุ่มเข้าที่พักทำสมาธิภาวนาต่อไป ถ้าเป็นหน้าฝนหรือหน้าแล้ง
คืนที่ฝนไม่ตกท่านยังลงมาเดินจงกรมอีกจนดึกดื่น ถึงจะขึ้นกุฏิหรือเข้าที่พัก
ซึ่งเป็นร้านเล็ก ๆ ถ้าเห็นว่าดึกมากไปท่านก็เข้าพักจำวัด ปกติท่านพักจำวัดราว ๒๓
นาฬิกา คือ ๕ ทุ่ม ไปตื่นเอาตี ๓ คือ ๙ ทุ่ม ถ้าวันใดจะมีแขกเทพฯ มาเยี่ยมฟังธรรม
ซึ่งปกติท่านต้องทราบไว้ล่วงหน้าในตอนเย็นก่อนแล้วทุกครั้ง
วันนั้นถ้าเขาจะมาดึกท่านก็รีบพักเสียก่อน ถ้าจะมาราว ๕ ทุ่ม
หรือเที่ยงคืนก็เข้าที่รอรับพวกเทพฯ อย่างนี้เป็นประจำ
ท่านไปพักบำเพ็ญในที่บางแห่ง
บางคืนมีทั้งพวกเทพฯ เบื้องบนและเทพฯเบื้องล่างจะมาเยี่ยมท่านในเวลาเดียวกันก็มี
ถ้าเป็นอย่างนี้ ท่านต้องย่นเวลาคือรับแขกเทพฯ พวกมาถึงก่อนแต่น้อย
แสดงธรรมให้ฟังและแก้ปัญหาเท่าที่จำเป็น แล้วก็บอกชาวเทพฯ ที่มาก่อนให้ทราบว่า
ถัดจากนี้ไปจะมีชาวเทพฯมาฟังธรรมและถามปัญหาอีก พวกที่มาก่อนก็รีบลาท่านกลับไป
พวกมาทีหลังซึ่งรออยู่ห่าง ๆ พอไม่ให้เสียมารยาทความเคารพก็พากันเข้ามา
ท่านก็เริ่มแสดงธรรมให้ฟัง ตามแต่บาทคาถาที่ท่านกำหนดในขณะนั้นจะผุดขึ้นมา
ซึ่งพอเหมาะกับจริตนิสัยและภูมิของเทพฯ พวกนั้น ๆ บางทีหัวหน้าเทพฯ
ก็แสดงความประสงค์ขึ้นเสียเองว่าขอฟังธรรมนั้น ท่านก็เริ่มกำหนด
พอธรรมนั้นผุดขึ้นมาก็เริ่มแสดงให้พวกเทพฯ ฟัง
ในบางครั้งหัวหน้าเทพฯ
ขอฟังธรรมประเภทนั้น ท่านสงสัยต้องถามเขาก่อนว่าธรรมนั้นชื่ออะไรในสมัยนี้
เพราะชื่อธรรมที่พวกเทพฯ
เคยนับถือกันมาดั้งเดิมแต่สมัยโน้นกับชื่อธรรมในสมัยนี้ต่างกันในบางสูตรบางคัมภีร์
เขาก็บอกว่าอย่างนั้นในสมัยนี้ แต่สมัยโน้นซึ่งพวกเทพฯ
นับถือกันมาชื่อว่าอย่างนั้น บางครั้งถ้าสงสัยท่านก็กำหนดเอง ยอมเสียเวลาเล็กน้อย
บางครั้งก็ถามเขาเลยทีเดียว แต่บางครั้งพอเขาขอฟังธรรมสูตรนั้นหรือคัมภีร์นั้น
ซึ่งเป็นสูตรหรือคัมภีร์ที่ท่านเคยรู้อยู่แล้ว
นึกว่าเป็นความนิยมในชื่ออันเดียวกัน ท่านเลยไม่ต้องกำหนดพิจารณาต่อไป
เพราะเข้าใจว่าตรงกันกับที่เขาขอ ท่านเริ่มแสดงไปเลย
พอแสดงขึ้นเขารีบบอกทันทีว่าไม่ใช่ ท่านยกสูตรหรือคัมภีร์ผิดไป
ต้องขึ้นคาถาว่าอย่างนั้นถึงจะถูก อย่างนี้ก็เคยมี
ท่านว่าพอโดนเข้าครั้งหนึ่งสองครั้งก็จำได้เอง
จากนั้นท่านต้องกำหนดให้แน่ใจเสียก่อนว่าตรงกับมนุษย์และเทวดานิยมใช้ตรงกันหรือเปล่า
ค่อยเริ่มแสดงต่อไป บางวันพวกเทพฯเบื้องบนบ้าง เบื้องล่างบ้าง
พวกใดพวกหนึ่งจะมาเยี่ยมฟังธรรมกับท่านในเวลาเดียวกันกับพวกพญานาคจะมาก็มี
เช่นเดียวกับแขกมนุษย์เรามาเยี่ยมครูอาจารย์ในเวลาเดียวกันฉะนั้น แต่นาน ๆ มีครั้ง
ในกรณีเช่นนี้ เมื่อเขามาในเวลาตรงกันบ่อย ๆ เข้า ท่านจำต้องตกลงกับเทพฯ
ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างว่าพวกนี้ให้มาในเวลาเท่านั้น พวกนั้นให้มาในเวลาเท่านั้น
และพวกนาคให้มาในเวลาเท่านั้น เพื่อความสะดวกทั้งฝ่ายพระฝ่ายเทพฯ
และฝ่ายนาคทั้งหลาย
ตามท่านเล่าว่า
ท่านไม่ค่อยมีเวลาว่างเท่าไรนัก แม้จะไปอยู่ในป่าในเขาลึก ๆ ก็จำต้องปฏิบัติต่อพวกเทพฯ
ซึ่งมาจากเบื้องบนชั้นต่าง ๆ และมาจากเบื้องล่างในที่ต่าง ๆ กันอยู่นั่นเอง
ในคืนหนึ่งพวกหนึ่งชั้นหนึ่งไม่มา ก็ต้องมีอีกพวกหนึ่งอีกชั้นหนึ่ง และพวกรุกขเทพฯ
ที่ใดที่หนึ่งมากันจนได้ จึงไม่ค่อยมีเวลาว่างในเวลากลางคืน แต่ที่เช่นนั้นมนุษย์ไม่ค่อยมี
ถ้าลงมาพักใกล้บ้านใกล้เมืองก็เป็นชาวมนุษย์จากที่ต่าง ๆ มาเยี่ยม
แต่ต้องต้อนรับเวลากลางวัน ตอนบ่ายหรือตอนเย็น จากนั้นก็อบรมพระเณรต่อไป
ขณะที่จะเขียนประวัติของชาวมนุษย์เราในอันดับต่อจากชาวเทพฯที่มาเกี่ยวข้องกับท่านซึ่งผู้เขียนมีส่วนได้เสียรวมอยู่ด้วย
เพราะความเป็นมนุษย์ปุถุชนด้วยกัน จึงต้องขออภัยท่านผู้อ่านมาก ๆ
หากเป็นการไม่งามและไม่สมควรประการใดในเนื้อหาต่อไปนี้
เพราะความจำเป็นที่จำต้องเขียนตามความจริงที่ท่านเล่าให้ฟังเป็นการภายในโดยเฉพาะ
แต่ผู้เขียนมีนิสัยไม่ดีประจำตัวที่แก้ไม่ตกในบางกรณี ดังเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้
ทั้งนี้เพื่อจะได้นำมาเทียบเคียงกันระหว่างชาวมนุษย์กับชาวเทพฯ
และถือเอาประโยชน์เท่าที่ควร จึงขออภัยอีกครั้ง
ท่านเล่าว่า
การติดต่อและแสดงธรรมระหว่างมนุษย์กับเทวดารู้สึกต่างกันอยู่มาก
คือเวลาแสดงธรรมให้เทวดาฟัง ไม่ว่าเบื้องบน เบื้องล่าง หรือรุกขเทวดา
พวกนี้ฟังเข้าใจง่ายกว่ามนุษย์เราหลายเท่า พอแสดงธรรมจบลง เสียงสาธุการ ๓ ครั้ง
กระเทือนโลกธาตุ ขณะที่พวกเทพฯ ทุกชั้นทุกภูมิมาเยี่ยมก็มีความเคารพพระอย่างยิ่ง
ไม่เคยเห็นพวกเทพฯ แม้รายหนึ่งแสดงอาการไม่ดีไม่งามภายในใจ ทุกอาการของพวกเทพฯ
อ่อนนิ่มเหมือนผ้าพับไว้เสมอกันในขณะนั้น ขณะที่มาก็ดี ขณะนั่งฟังธรรมก็ดี
ขณะจะจากไปก็ดี เป็นความสงบเรียบร้อยและสวยงามไปตลอดสาย
แต่เวลาแสดงธรรมให้ชาวมนุษย์ฟังกลับไม่เข้าใจกัน
แม้อธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ นอกจากไม่เข้าใจแล้ว
ยังคิดตำหนิผู้แสดงอยู่ภายในอีกด้วยว่าเทศน์อะไรฟังไม่รู้เรื่องเลย
สู้องค์นั้นไม่ได้ สู้องค์นี้ไม่ได้
บางรายยังอดจะเอากิเลสหยาบ
ๆ อยู่ภายในของตัวออกอวดไม่ได้ว่า สมัยเราบวชยังเทศน์เก่งกว่านี้เป็นไหน ๆ
คนฟังฮากันตึง ๆ ด้วยความเพลิดเพลิน ไม่มีการง่วงเหงาหาวนอนเลย
ยิ่งเทศน์โจทก์สองธรรมาสน์ด้วยแล้ว คนฟังหัวเราะกันไม่ได้หุบปากตลอดกัณฑ์
บางรายก็คิดในใจว่า คนเล่าลือกันว่าท่านเก่งมากทางรู้วาระน้ำจิตคน
ใครคิดอะไรขึ้นมาท่านรู้ได้ทันที แต่เวลาเราคิดอะไร ๆ ท่านไม่เห็นรู้บ้างเลย
ถ้ารู้ก็ต้องแสดงออกบ้าง ถ้าไม่แสดงออกตรง ๆ ต่อหน้าผู้กำลังคิด
ก็ควรพูดเป็นอุบายเปรียบเปรยว่า นาย ก. นาย ข.ไม่ควรคิดเช่นนั้น ๆ มันผิด
ควรเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ดังนี้ พอจะจับเงื่อนได้ว่าผู้รู้หัวใจคนจริงสมคำเล่าลือ
บางรายเตรียมตัวจะมาจับผิดจับพลาดด้วยความอวดตัวว่าฉลาดอย่างพอตัว
ผู้นั้นไม่มีความสนใจต่อธรรมเอาเลย แม้จะแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังด้วยวิธีใด ๆ
ที่เขานั่งฟังอยู่ด้วยในขณะนั้น ก็เป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมานั่นเอง
มันสลัดทิ้งหมดทันที ไม่มีน้ำเหลืออยู่บนหลังแม้หยดเดียว ว่าแล้วท่านก็หัวเราะ
อาจจะขบขันในใจอยู่บ้าง ที่นาน ๆ ท่านจะได้พบมนุษย์ที่ฉลาดสักครั้งหนึ่ง
แล้วก็เล่าต่อไป
เวลามาต่างก็แบกทิฐิมานะมาจนจะเดินแทบไม่ไหว
เพราะหนักมากเกินกว่าแรงมนุษย์ทั้งคนจะแบกหามได้
ในตัวทั้งหมดปรากฏว่ามีแต่ทิฐิมานะตัวเป้ง ๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่ของเล่น
มองดูแล้วน่ากลัวยิ่งกว่าที่จะน่าสงสารและคิดแสดงธรรมให้ฟัง
แต่ก็จำต้องแสดงเพื่อสังคม ถูไถกันไปอย่างนั้นแล ธรรมก็ไม่ทราบว่าหายไปไหนหมด
คิดหาแต่ละบทละบาทก็ไม่เห็นมีแสดงขึ้นมาบ้างเลย เข้าใจว่าธรรมจะสู้ตัวเป้ง ๆ
ไม่ไหวเลยวิ่งหนีหมด ยังเหลือแต่ตัวเปล่าที่เป็นเหมือนตุ๊กตา
ซึ่งกำลังถูกเหล็กแหลมทิ่มแทงอยู่อย่างไม่มีใครสนใจว่าจะมีความรู้สึกอย่างไรเวลานั้น
ที่เขาตำหนิก็ถูกของเขา
เพราะบางครั้งเราก็ไม่มีธรรมโผล่หน้าขึ้นมาเพื่อให้แสดงบ้างเลยจริง ๆ
มีแต่นั่งอยู่เหมือนหัวตอ จะได้อรรถได้ธรรมมาจากไหน
แล้วท่านก็หัวเราะไปพลางเล่าไปพลาง ผู้นั่งฟังอยู่ด้วยกันหลายคนในขณะนั้น
บางรายก็เกิดตัวสั่นขึ้นมาเอาเฉย ๆ แต่หาไข้ไม่เจอหาหนาวไม่เจอ
เพราะไม่ใช่หน้าหนาว เลยพากันเดาเอาเองว่าคงเป็นเพราะความกลัวนั่นเอง
ท่านว่าถ้าไม่จำเป็นจริง
ๆ ก็ไม่เทศน์ เพราะการเทศน์เป็นเหมือนโปรยยาพิษทำลายคนผู้ไม่มีความเคารพอยู่ภายใน
ส่วนธรรมนั้นยกไว้ว่าเป็นธรรมที่เยี่ยมยอดจริง ๆ
มีคุณค่ามหาศาลสำหรับผู้ตั้งใจและมีเมตตาเป็นธรรม ไม่อวดรู้อวดฉลาดเหนือธรรม
ตรงนี้แลที่สำคัญมาก และทำให้เป็นยาพิษเผาลนเจ้าของผู้ก่อเหตุโดยไม่รู้สึกตัว
ผู้ไม่ก่อเหตุ ผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะนั่งฟังอยู่ด้วยกันหลายคน ผู้ร้อน ๆ
จนจะละลายตายไปก็มี ผู้เย็น ๆ จนตัวจะเหาะลอยขึ้นบนอากาศก็มี
มันผิดกันที่ใจดวงเดียวนี้เท่านั้น นอกนั้นไม่สำคัญ เราจะพยายามอนุเคราะห์เขาเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบาบ้างก็ไม่มีทาง
เมื่อใจไม่ยอมรับแล้วแม้จะพยายามคิดว่า ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่อยากให้เกิดโทษ
แต่ก็ปิดไม่อยู่ เพราะผู้คอยจะสร้างบาปสร้างกรรมนั้นเขาสร้างอยู่ตลอดเวลา
แบบไม่สนใจกับใครและอะไรทั้งนั้น
การเทศน์สั่งสอนมนุษย์นับว่ายากอยู่ไม่น้อย
เวลาเขามาหาเราซึ่งไม่กี่คน
แต่โดยมากต้องมียาพิษแอบติดตัวมาจนได้ไม่มากก็พอให้รำคาญใจได้
ถ้าเราจะสนใจรำคาญอย่างโลก ๆ ก็ต้องได้รำคาญจริง ๆ แต่นี้ปล่อยตามบุญตามกรรม
เมื่อหมดทางแก้ไขแล้วถือว่าเป็นกรรมของสัตว์ ท่านว่าแล้วก็หัวเราะ
ผู้ตั้งใจมาเพื่อแสวงหาอรรถหาธรรม หาบุญกุศลด้วยความเชื่อบุญเชื่อกรรมจริง ๆ ก็มี
นั่นน่าเห็นใจและน่าสงสารมาก แต่มีจำนวนน้อย
ผู้มาแสวงหาสิ่งไม่เป็นท่าและไม่มีขอบเขตนั้นรู้สึกมากเหลือหูเหลือตาพรรณนาไม่จบ
ฉะนั้น จึงชอบอยู่แต่ในป่าในเขาอันเป็นที่สบายกายสบายใจ
ทำความพากเพียรก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีสิ่งรบกวนให้ลำบากตาลำบากใจ มองไปทางไหน
คิดเรื่องอะไรเกี่ยวกับอรรถธรรมก็ปลอดโปร่งโล่งใจ
มองดูและฟังเสียงสัตว์สาราสิง
พวกลิงค่างบ่างชะนีที่หยอกเล่นกัน
ทั้งห้อยโหนโยนตัวและกู่ร้องโหยหวนหากันอยู่ตามกิ่งไม้ชายเขาลำเนาป่า
ยังทำให้เย็นตาเย็นใจไปตาม โดยมิได้คิดว่าเขาจะมีความรู้สึกอะไรต่อเรา
ต่างตัวต่างหากินและปีนขึ้นโดดลงไปตามภาษาของสัตว์
ทำให้รู้สึกในอิริยาบถและความเป็นอยู่ทุกด้านสดชื่นผ่องใสและวิเวกวังเวง
หากจะมีอันเป็นอันตายขึ้นมาในเวลานั้น ก็เป็นไปด้วยความสงบสุขทั้งทางกายและจิตใจ
ไม่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย ตายแบบธรรมชาติคือมาคนเดียวไปคนเดียวแท้
โดยมากพระสาวกอรหันต์ท่านนิพพานแบบนี้กันทั้งนั้น
เพราะกายและจิตของท่านไม่มีความเกลื่อนกล่นวุ่นวายมาแอบแฝง มีกายอันเดียว
จิตดวงเดียว และมีอารมณ์เดียว ไม่ไหลบ่าแส่หาความทุกข์ ไม่สั่งสมอารมณ์ใด ๆ
มาเพิ่มเติมให้เป็นการหนักหน่วงถ่วงตน ท่านอยู่แบบอริยะ ไปแบบอริยะ
ไม่ระคนคละเคล้ากับสิ่งที่จะทำให้กังวลเศร้าหมองในทิฏฐธรรมปัจจุบัน
สะอาดเท่าไรยิ่งรักษา
บริสุทธิ์เท่าไรยิ่งไม่คุ้นกับอารมณ์
ตรงกันข้ามกับที่ว่าหนักเท่าไรยิ่งขนมาเพิ่มเข้า
แต่ท่านเบาเท่าไรยิ่งขนออกจนไม่มีอะไรจะขน แล้วก็อยู่กับความไม่มีทั้ง ๆ
ที่ผู้ว่าไม่มีคือใจก็มีอยู่กับตัว คือไม่มีงานจะขนออกและขนเข้าอีกต่อไป
เรียกว่าบรรลุถึงขั้นคนว่างงาน ใจว่างงาน
ทางศาสนาถือการว่างงานแบบนี้เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่
ผิดกับโลกที่ผู้ว่างงานกลายเป็นคนมีทุกข์มากขึ้น เพราะไม่มีทางไหลมาแห่งโภคทรัพย์
ท่านเล่าความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับเทวดาให้ฟังมากมาย
แต่นำมาเขียนเท่าที่จำได้และที่เห็นว่าควรจะยึดเป็นสารประโยชน์ได้บ้างตามสติปัญญา
ที่จะคัดเลือกหาแง่ที่เป็นประโยชน์ ที่มีขาดตอนไปบ้างในเรื่องเดียวกัน เช่น
เรื่องเทวดา เป็นต้น ซึ่งควรจะนำมาเชื่อมโยงติดต่อกันไปจนจบ
แต่ไม่สามารถทำได้ในระยะนี้นั้น เกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านผู้เป็นเจ้าของ
มีประสบหลายครั้งทั้งในที่และสมัยต่าง ๆ กัน
จำต้องเขียนไปตามประวัติที่ท่านประสบเพื่อให้เรียงลำดับกันไป
แม้เรื่องเทวดาก็ยังจะมีอยู่อีกในวาระต่อไป ตามประวัติที่ผู้เขียนดำเนินไปถึงตามประสบการณ์นั้น
ๆ ไม่กล้านำมาลงให้คละเคล้ากัน จึงขออภัยด้วยหากไม่สะดวกในการอ่าน
ซึ่งมุ่งประสงค์จะให้จบสิ้นในเรื่องทำนองเดียวกันในตอนเดียวกัน
ที่ท่านเล่าระหว่างมนุษย์กับเทวดานั้น
เป็นเรื่องราวของมนุษย์และเทวดาในสมัยโน้นต่างหาก ซึ่งองค์ท่านผู้ประสบและเล่าให้ฟังก็มรณภาพผ่านไปราว
๒๐ ปีนี้แล้ว
คิดว่ามนุษย์และเทวดาสมัยนั้นคงจะแปรสภาพเป็นอนิจจังไปตามกฎอันมีมาดั้งเดิม
อาจจะยังเหลือเฉพาะมนุษย์และเทวดาสมัยใหม่
ซึ่งต่างก็ได้รับการอบรมพัฒนาทางจิตใจและความประพฤติกันมาพอสมควร
เรื่องมนุษย์ทำนองที่มีในประสบการณ์ของท่านจนกลายเป็นประวัติมานั้น
คงจะไม่มีท่านผู้สนใจสืบต่อให้รกรุงรังแก่ตนและประเทศชาติ ศาสนา
พระมหากษัตริย์อีกต่อไป เพราะการศึกษานับวันเจริญ
ผู้ได้รับการศึกษามากคงไม่มีท่านผู้มีจิตใจใฝ่ต่ำขนาดนั้น
จึงเป็นที่เบาใจกับชาวมนุษย์ในสมัยนี้
ท่านพักบำเพ็ญและอบรมพระเณรและประชาชนชาวจังหวัดอุดรฯ
หนองคาย พอสมควรแล้ว ก็ย้อนกลับไปทางจังหวัดสกลนคร
เที่ยวไปตามหมู่บ้านที่มีอยู่ในป่าในเขาต่าง ๆ มีอำเภอวาริชภูมิ พังโคน
สว่างแดนดิน วานรนิวาส อากาศอำนวย แล้วก็เลยเข้าเขตจังหวัดนครพนม
เที่ยวไปตามแถบอำเภอศรีสงคราม มีหมู่บ้านสามผง โนนแดง ดงน้อย คำนกกก เป็นต้น
ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยดงหนาป่าทึบและชุกชุมไปด้วยไข้ป่า (ไข้มาลาเรีย)
ซึ่งรายใดเจอเข้าแล้วก็ยากจะหายได้ง่าย ๆ อย่างน้อยเป็นแรมปีก็ยังไม่หายขาด
หากไม่ตายก็พอทรมาน ดังที่เคยเขียนผ่านมาบ้างแล้วว่า “ไข้ที่พ่อตาแม่ยายเบื่อหน่ายและเกลียดชัง” เพราะผู้เป็นไข้ประเภทนี้นาน ๆ ไป
แม้ยังไม่หายขาดแต่ก็พอไปมาได้และรับประทานได้ แต่ทำงานไม่ได้
บางรายก็ทำให้เป็นคนวิกลวิการไปเลยก็มี ชาวบ้านแถบนั้นเจอกันบ่อยและมีดาษดื่น
ส่วนพระเณรจำต้องอยู่ในข่ายอันเดียวกัน มากกว่านั้นก็ถึงตาย
ท่านจำพรรษาแถบหมู่บ้านสามผง ๓ ปี มีพระตายเพราะไข้ป่าไปหลายรูป
ที่เป็นพระชาวทุ่งไม่เคยชินกับป่ากับเขา เช่น พระชาวอุบล ร้อยเอ็ด สารคาม
ไปอยู่กับท่านในป่าแถบนั้นไม่ค่อยได้ เพราะทนต่อไข้ป่าไม่ไหว
ต้องหลีกออกไปจำพรรษาตามหมู่บ้านแถวทุ่ง ๆ
ท่านเล่าว่า
ขณะท่านกำลังแสดงธรรมอบรมพระเณรตอนกลางคืนที่หมู่บ้านสามผง
มีพญานาคที่อยู่แถบลำแม่น้ำสงครามได้แอบมาฟังเทศน์ท่านแทบทุกคืน
เฉพาะวันพระมาทุกคืน ถ้าไม่มาตอนท่านอบรมพระเณร ก็ต้องมาตอนดึกขณะท่านเข้าที่ภาวนา
ส่วนพวกเทวดาทั้งเบื้องบนเบื้องล่างมีมาห่าง ๆ ไม่เหมือนอยู่ที่อุดรฯ หนองคาย
เฉพาะวันเข้าพรรษา วันกลางพรรษา และวันปวารณาออกพรรษาแล้ว
ไม่ว่าท่านจะพักจำอยู่ที่ไหน แม้แต่ในตัวเมือง
ก็ยังมีพวกเทวดาทั้งเบื้องบนเบื้องล่างชั้นใดชั้นหนึ่ง และที่ใดที่หนึ่ง
มาฟังธรรมท่านมิได้ขาด เช่น ที่วัดเจดีย์หลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ขณะที่ท่านพักอยู่บ้านสามผงมีเรื่องที่แปลกอยู่เรื่องหนึ่ง
เวลานั้นเป็นหน้าแล้ง พระเณรอบรมกับท่านมากราว ๖๐–๗๐ รูป น้ำท่ามีไม่พอใช้และขุ่นข้นไปหมด
พระและเณรพากันปรึกษากันกับชาวบ้านว่า ควรจะขุดบ่อให้ลึกลงไปอีก
เผื่อจะได้น้ำที่สะอาดและพอกินพอใช้ไม่ขาดแคลนดังที่เป็นอยู่บ้าง เมื่อตกลงกันแล้ว
พระผู้ใหญ่ก็เข้าไปกราบเรียนท่านเพื่อขออนุญาต พอกราบเรียนความประสงค์ให้ท่านทราบ
ท่านนิ่งอยู่พักหนึ่งแล้วแสดงอาการเคร่งขรึมและห้ามออกมาอย่างเสียงแข็งว่า “อย่า ๆ ดีไม่ดีเป็นอันตราย” พูดเท่านั้นก็หยุด ไม่พูดอะไรต่อไปอีก
พระอาจารย์รูปนั้นก็งงงันในคำพูดท่านที่ว่า “ดีไม่ดีเป็นอันตราย” พอกราบท่านออกมาแล้วก็นำเรื่องมาเล่าให้พระเณรและญาติโยมฟังตามที่ตนได้ยินมา
แทนที่จะมีผู้คิดและเห็นตามที่ท่านพูดห้าม
แต่กลับปรึกษากันเป็นความลับว่าพวกเราไม่ต้องให้ท่านทราบ พากันขโมยทำก็ยังได้
เพราะน้ำบ่อก็อยู่ห่างไกลจากวัด พอจะขโมยทำได้
พอเที่ยงวันกะว่าท่านพักจำวัดก็พากันเตรียมออกไปขุดบ่อ
พอขุดกันยังไม่ถึงไหน ดินรอบ ๆ
ปากบ่อก็พังลงใหญ่จนเต็มขึ้นมาเสมอพื้นที่ที่เป็นอยู่ดั้งเดิม
ปากบ่อเบิกกว้างและเสียหายไปเกือบหมด พระเณรญาติโยมพากันกลัวจนใจหายใจคว่ำไปตาม ๆ
กันและตั้งตัวไม่ติด เพราะดินพังลงเกือบทับคนตายหนึ่ง
เพราะพากันล่วงเกินคำที่ท่านห้ามโดยไม่มีใครระลึกรู้พอยับยั้งกันไว้บ้างหนึ่ง
และกลัวท่านจะทราบว่าพวกตนพากันขโมยทำโดยการฝ่าฝืนท่านหนึ่ง
พระเณรทั้งวัดและญาติโยมทั้งบ้านพากันร้อนเป็นไฟไปตาม ๆ กัน
และรีบพากันหาไม้มากั้นดินปากบ่อที่พังลงด้วยความเห็นโทษ
ขออาราธนาวิงวอนถึงพระคุณท่านให้ช่วยคุ้มครองพอเอาดินที่พังลงในบ่อขึ้นได้
และได้อาศัยน้ำต่อไป เดชะบุญพออธิษฐานถึงพระคุณท่านแล้ว
ทุกอย่างเลยเรียบร้อยไปอย่างน่าอัศจรรย์คาดไม่ถึง จึงพอมีหน้ายิ้มต่อกันได้บ้าง
พอเสร็จงานพระเณรและญาติโยมต่างก็รีบหนีเอาตัวรอด
กลัวท่านจะมาที่นั่น ส่วนพระเณรทั้งวัดต่างก็มีความร้อนใจสุมอยู่ตลอดเวลา
เพราะความผิดที่พากันก่อไว้แต่กลางวัน
ยิ่งจวนถึงเวลาประชุมอบรมซึ่งเคยมีเป็นประจำทุกคืนก็ยิ่งเพิ่มความไม่สบายใจมากขึ้น
ใคร ๆ ก็เคยรู้เคยเห็นและเคยถูกดุเรื่องทำนองนี้มาแล้วจนฝังใจ บางเรื่องแม้ตนเคยคิดและทำจนลืมไปแล้ว
ท่านยังสามารถรู้และนำมาเทศน์สอนจนได้ เพียงเรื่องน้ำบ่อซึ่งเป็นเรื่องหยาบ ๆ
ที่พากันขโมยท่านทำทั้งวัด จะเอาอะไรไปปิดไม่ให้ท่านทราบ
ท่านต้องทราบและเทศน์อย่างหนักแน่นอนในคืนวันนี้ หรืออย่างช้าก็ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
อารมณ์เหล่านี้แลที่ทำให้พระเณรไม่สบายใจกันทั้งวัด
พอถึงเวลาประชุมและแทนที่จะถูกโดนอย่างหนักดังที่คาดกันไว้
ท่านกลับไม่ประชุมและไม่ดุด่าอะไรแก่ใคร ๆ เลย
สมเป็นอาจารย์ที่ฉลาดสั่งสอนคนจำนวนมาก
ทั้งที่ทราบเรื่องนั้นได้ดีและยังทราบความไม่ดีของพระทั้งวัดที่ล่วงเกินฝ่าฝืนท่านแล้วกำลังได้รับความเร่าร้อนกันอยู่
หากจะว่าอะไรลงไปเวลานั้นก็เท่ากับการซ้ำเติมผู้ทำผิดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์
ขณะนั้นผู้ทำผิดต่างกำลังเห็นโทษของตนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
พอรุ่งเช้าวันใหม่เวลาท่านออกจากที่ภาวนา
ปกติท่านลงเดินจงกรมจนได้เวลาบิณฑบาต แล้วค่อยขึ้นบนศาลา ครองผ้าออกบิณฑบาต
อย่างนั้นเป็นประจำมิได้ขาด เช้าวันนั้นพอท่านจากทางจงกรมขึ้นศาลา
พระทั้งวัดต่างร้อนอยู่ภายในและคอยฟังปัญหาว่าท่านจะออกแง่ไหนบ้างวันนี้
แต่แทนที่จะเป็นไปตามความคิดของพระทั้งวัด ซึ่งกำลังกระวนกระวายอยากฟัง
แต่เรื่องกลับเป็นไปคนละโลก คือท่านกลับพูดนิ่มนวลอ่อนหวานแสดงเป็นเชิงปลอบใจพระเณรที่กำลังเร่าร้อนให้กลับสบายใจว่า
“เรามาศึกษาหาอรรถหาธรรม
ไม่ควรกล้าจนเกินตัวและกลัวจนเกินไป เพราะความผิดพลาดอาจมีได้ด้วยกันทุกคน
ความเห็นโทษความผิดนั่นแลเป็นความดี พระพุทธเจ้าท่านก็เคยผิดมาก่อนพวกเรา ตรงไหนที่เห็นว่าผิดท่านก็เห็นโทษในจุดนั้น
และพยายามแก้ไขไปทุกระยะที่เห็นว่าผิด เจตนานั้นดีอยู่
แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นอาจมีได้ ควรสำรวมระวังต่อไปทุกกรณี
เพราะความมีสติระวังตัวทุกโอกาสเป็นทางของนักปราชญ์” เพียงเท่านี้ก็หยุด และแสดงอาการยิ้มแย้มต่อพระเณรต่อไป
ไม่มีใครจับพิรุธท่านได้เลย แล้วก็พาออกบิณฑบาตตามปกติ
คืนวันหลังก็ไม่ประชุมอีก
เป็นแต่สั่งให้พากันประกอบความเพียร รวมเป็นเวลาสามคืนที่ไม่มีการประชุมอบรมธรรม
พอดีกับระยะนั้นพระเณรกำลังกลัวท่านจะเทศน์เรื่องบ่อน้ำอยู่แล้ว ก็พอเหมาะกับที่ท่านไม่สั่งให้ประชุม
จนคืนที่สี่ถึงมีการประชุม เวลาประชุมก็มิได้เอ่ยถึงเรื่องบ่อน้ำ
ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ให้เรื่องหายเงียบไปเลยตั้งนาน
จนปรากฏว่าพระทั้งวัดลืมกันไปหมดแล้ว เรื่องถึงได้โผล่ขึ้นมาอย่างไม่นึกไม่ฝัน
และก็ไม่มีใครกล้าเล่าถวายให้ท่านทราบเลย เพราะต่างคนต่างปิดเงียบ
ท่านเองก็มิได้เคยไปที่บ่อซึ่งอยู่ห่างจากวัดนั้นเลย
เริ่มแรกก็แสดงธรรมอบรมทางภาคปฏิบัติไปเรื่อย
ๆ อย่างธรรมดา พอแสดงไปถึงเหตุผลและความเคารพในธรรมในครูอาจารย์
ธรรมก็เริ่มกระจายไปถึงผู้มารับการศึกษาอบรม ว่าควรเป็นผู้หนักในเหตุผลซึ่งเป็นเรื่องของธรรมแท้
ไม่ควรปล่อยให้ความอยากที่คอยผลักดันอยู่ตลอดเวลาออกมาเพ่นพ่านในวงปฏิบัติ
จะมาทำลายธรรมอันเป็นแนวทางที่ถูกและเป็นแบบฉบับแห่งการดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์
จะทำให้ทุกสิ่งที่มุ่งปรารถนาเสียไปโดยลำดับ ธรรมวินัยหนึ่ง
คำพูดของครูอาจารย์หนึ่ง ที่เราถือเป็นที่เคารพไม่ควรฝ่าฝืน
การฝ่าฝืนพระธรรมวินัยและการฝ่าฝืนคำครูอาจารย์เป็นการทำลายตัวเอง
และเป็นการส่งเสริมนิสัยไม่ดีให้มีกำลังเพื่อทำลายตนและผู้อื่นต่อไปไม่มีทางสิ้นสุด
น้ำบ่อนี้มิใช่มีแต่ดินเหนียวล้วน ๆ แต่มีดินทรายอยู่ข้างล่างด้วย หากขุดลึกลงไปมากดินทรายจะพังลงไปกันบ่อและจะทำให้ดินเหนียวขาดตกลงไปด้วย
ดีไม่ดีทับหัวคนตายก็ได้จึงได้ห้ามมิให้พากันทำ
การห้ามมิให้ทำหรือการสั่งให้ทำในกิจใด
ๆ ก็ตาม ได้พิจารณาก่อนแล้วทุกอย่างถึงได้สั่งลงไป
ผู้มารับการอบรมก็ควรพิจารณาตามบ้าง บางอย่างก็เป็นเรื่องภายในโดยเฉพาะ
ไม่จำต้องแสดงออกต่อผู้อื่นเสียจนทุกแง่ทุกมุม
เท่าที่แสดงออกเพื่อผู้อื่นก็พอเข้าใจความมุ่งหมายดีพอ แต่ทำไมจึงไม่เข้าใจ เช่น
อย่าทำสิ่งนั้น แต่กลับทำในสิ่งนั้น ให้ทำสิ่งนั้น แต่กลับไม่ทำในสิ่งนั้นดังนี้
เรื่องทั้งนี้มิใช่ไม่เข้าใจ ต้องเข้าใจกันแน่นอน แต่ที่ทำไปอีกอย่างหนึ่งนั้น
เป็นความดื้อดึงตามนิสัยที่เคยดื้อดึงต่อพ่อแม่มาแต่เป็นเด็กเพราะท่านเอาใจ
นิสัยนั้นเลยติดตัวและฝังใจมาจนถึงขั้นพระขั้นเณร ซึ่งเป็นขั้นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว
แล้วก็มาดื้อดึงต่อครูอาจารย์ต่อพระธรรมวินัยอันเป็นทางเสียหายเข้าอีก ความดื้อดึงในวัยและเพศนี้
ไม่ใช่ความดื้อดึงที่ควรได้รับอภัยและเอาใจเหมือนคราวเป็นเด็ก
แต่ควรตำหนิอย่างยิ่ง
ถ้าขืนดื้อดึงต่อไปอีกก็จะเป็นการส่งเสริมนิสัยไม่ดีนั้นให้ยิ่งขึ้นและควรได้รับสมัญญาว่า
“พระธุดงค์หัวดื้อ”บริขารใช้สอยทุกชิ้นที่เกี่ยวกับตัวก็ควรเรียกว่าบริขารของพระหัวดื้อไปด้วย
องค์นี้ก็ดื้อ
องค์นั้นก็ด้าน องค์โน้นก็มึนและดื้อด้านกันทั้งวัด อาจารย์ก็ได้ลูกศิษย์หัวดื้อ
อะไรก็กลายเป็นเรื่องดื้อด้านไปเสียหมด โลกนี้เห็นจะแตก ศาสนาก็จะล่มจมแน่นอน
แล้วก็แสดงเป็นเชิงถามว่า ใครบ้างที่ต้องการเป็นพระหัวดื้อและต้องการให้อาจารย์เป็นอาจารย์ของพระหัวดื้อ
มีไหมในที่นี่ ถ้ามีพรุ่งนี้ให้พากันไปรื้อไปขุดน้ำบ่ออีกให้ดินพังลงทับตาย
จะได้ไปเกิดบนสวรรค์วิมานหัวดื้อ เผื่อชาวเทพทั้งหลายชั้นต่าง ๆ
จะได้มาชมบารมีบ้างว่าเก่งจริง
ไม่มีชาวเทพพวกไหนแม้ชั้นพรหมโลกที่เคยเห็นและเคยได้อยู่วิมานประหลาดเช่นนี้มาก่อน
จากนั้นก็แสดงอ่อนลงทั้งเสียงและเนื้อธรรม
ทำให้ผู้ฟังเห็นโทษแห่งความดื้อดึงฝ่าฝืนของตนอย่างถึงใจ
ผู้นั่งฟังอยู่ในขณะนั้นคล้ายกับลืมหายใจไปตาม ๆ กัน พอจบการแสดงธรรมและเลิกประชุมแล้ว
ต่างก็ออกมาถามและยกโทษกันวุ่นวายไปว่า มีใครไปกราบเรียนท่านถึงได้เทศน์ขนาดหนัก
ทำเอาผู้ฟังแทบสลบไปตาม ๆ กันในขณะนั้น ทุกองค์ต่างก็ปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่า
ไม่มีใครกล้าไปกราบเรียน เพราะต่างก็กลัวว่าท่านจะทราบและถูกโดนเทศน์หนักอยู่แล้ว
เรื่องก็เป็นอันผ่านไปโดยมิได้ต้นสายปลายเหตุ
ตามปกติ
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ มาแต่สมัยท่านจำพรรษาอยู่ถ้ำสาริกา
จังหวัดนครนายกตลอดมา
และมีความชำนาญกว้างขวางขึ้นเป็นลำดับจนแทบจะพูดได้ว่าไม่มีประมาณ เวลาปกติก็ดี
ขณะเข้าประชุมฟังการอบรมก็ดี พระที่อยู่กับท่านซึ่งรู้เรื่องของท่านได้ดีต้องมีความระวังสำรวมจิตอย่างเข้มงวดกวดขันอยู่ตลอดไป
จะเผลอตัวคิดไปต่าง ๆ นานาไม่ได้
เวลาเข้าประชุมความคิดนั้นต้องกลับมาเป็นกัณฑ์เทศน์ให้เจ้าของฟังอีกจนได้
ยิ่งขณะที่ท่านกำลังให้การอบรมอยู่ด้วยแล้วยิ่งเป็นเวลาที่สำคัญมากกว่าเวลาอื่นใด
ทั้ง ๆ ที่แสดงธรรมอยู่ แต่ขณะที่หยุดหายใจ
หรือหยุดเพื่อสังเกตการณ์อะไรก็สุดจะเดา เพียงขณะเดียวเท่านั้น
ถ้ามีรายใดคิดเปะปะออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง ขณะนั้นแลเป็นต้องได้เรื่อง
และได้ยินเสียงเทศน์แปลก ๆ ออกมาทันที ซึ่งตรงกับความคิดที่ไม่มีสติรายนั้น ๆ
เป็นแต่ท่านไม่ระบุรายชื่อออกมาอย่างเปิดเผยเท่านั้น
แม้เช่นนั้นก็ทำให้ผู้คิดสะดุดใจในความคิดของตนทันทีและกลัวท่านมาก
ไม่กล้าคิดแบบนั้นต่อไปอีก
กับเวลาออกบิณฑบาตตามหลังท่านนั้นหนึ่ง
จะต้องระวัง
ไม่เช่นนั้นจะได้ยินเสียงเทศน์เรื่องความคิดไม่ดีของตนในเวลาเข้าประชุมแน่นอน
บางทีก็น่าอับอายหมู่เพื่อนที่นั่งฟังอยู่ด้วยกันหลายท่านซึ่งได้ยินแต่เสียงท่านเทศน์ระบุเรื่องความคิด
แต่มิได้ระบุตัวผู้คิด ผู้ถูกเทศน์แทบมุดดินให้จมหายหน้าไปเลยก็มี
เพราะบางครั้งเวลาได้ยินท่านเทศน์แบบนั้น
ทำให้ผู้นั่งฟังอยู่ด้วยกันหลายท่านต่างหันหน้ามององค์นั้นชำเลืองดูองค์นี้
เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นองค์ไหนแน่ที่ถูกเทศน์เรื่องนั้นอยู่ขณะนั้น
บรรดาพระเณรจำนวนมากรู้สึกจะมีนิสัยคล้ายคลึงกัน พอโดนเจ็บ ๆ
ออกมาแล้วแทนที่จะเสียใจหรือโกรธ
พอพ้นเขตดัดสันดานออกมาต่างแสดงความยิ้มแย้มขบขันพอใจ และไต่ถามซึ่งกันและกันว่า
วันนี้โดนใคร? วันนี้โดนใคร?
แต่น่าชมเชยอยู่อย่างหนึ่ง
ที่พระท่านมีความสัตย์ซื่อต่อความคิดผิดของตัวและต่อเพื่อนฝูง ไม่ปกปิดไว้เฉพาะตัว
พอมีผู้ถาม จะเป็นองค์ใดก็ตามที่คิดผิดทำนองท่านเทศน์นั้น
องค์นั้นต้องสารภาพตนทันทีว่า วันนี้โดนผมเอง
เพราะผมมันดื้อไม่เข้าเรื่องไปหาญคิดเรื่อง….. ทั้งที่ตามปกติก็รู้อยู่ว่าจะโดนเทศน์ถ้าขืนคิดอย่างนั้น
แต่พอไปเจอเข้ามันลืมเรื่องที่เคยกลัวเสียสิ้น มีแต่เรื่องกล้าแบบบ้า ๆ บอ ๆ
ออกมาท่าเดียว ที่ท่านเทศน์นั้นสมควรอย่างยิ่งแล้ว
จะได้ดัดสันดานเราที่คิดไม่ดีเสียที
ต้องขออภัยจากท่านผู้อ่านมาก
ๆ ที่บางเรื่องผู้เขียนก็ไม่สะดวกใจที่จะเขียน
แต่เรื่องที่ว่าไม่สะดวกก็มีผู้ก่อไว้แล้ว
พอให้เกิดปัญหากลืนไม่ได้คายไม่ออกขวางอยู่ในคอดี ๆ นี่เอง
ถ้าได้ระบายออกตามความจริงก็น่าจะเป็นธรรม เหมือนพระท่านแสดงอาบัติ
ก็เป็นวิธีที่ทำให้หมดโทษหมดกังวล ไม่กำเริบต่อไป จึงขอเรียนเป็นบางตอนพอเป็นข้อคิดจากทั้งท่านผู้เป็นเจ้าของเรื่องทั้งท่านผู้ชำระเรื่อง
ทั้งพวกเราผู้มีหัวใจที่อาจมีความคิดอย่างนั้นบ้าง
โดยมากนักบวชและนักปฏิบัติที่โดนเทศน์เจ็บ
ๆ อยู่บ่อย ๆ ก็เนื่องจากอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง เป็นต้น
ที่เป็นวิสภาคต่อกันนั่นเอง มากกว่าเรื่องอื่น ๆ ต้นเหตุที่ถูกเทศน์โดยมากก็เวลาบิณฑบาต
ซึ่งเป็นกิจจำเป็นของพระ จะละเว้นมิได้ เวลาไปก็ต้องเจอ เวลาเจอก็จำต้องคิดไปต่าง
ๆ บางรายพอเจอเข้าเกิดความรักชอบ ความคิดกลายเป็นกงจักรไปโดยไม่รู้สึกตัว
นี่แลคือต้นเหตุสำคัญที่ฉุดลากใจให้คิดออกไปนอกลู่นอกทาง ทั้งที่ไม่อยากจะให้เป็นเช่นนั้น
พอได้สติรั้งกลับมาได้ ตกตอนเย็นมาก็โดนเทศน์ แล้วพยายามทำความสำรวมต่อไป
พอวาระต่อไปก็ไปเจอเอาของดีเข้าอีก ทำให้แผลกำเริบขึ้นอีก
ขากลับมาวัดก็โดนยาเม็ดขนานเด็ด ๆ ใส่แผลเข้าอีก คือ โดนเทศน์นั่นเอง
ถ้าองค์นี้ไม่โดนของดี แต่องค์นั้นก็โดนเข้าจนได้
เพราะพระเณรมีมากต่อมากและต่างองค์ก็มีแผลเครื่องรับของแสลงด้วยกัน ฉะนั้น
จึงไปโดนแต่ของดีมาจนไม่ชนะจะหลบหลีกแก้ไข
พอมาถึงวัดและสบจังหวะก็โดนเทศน์จากท่านเข้าอีก
ธรรมดาความคิดของคนมีกิเลสก็ต้องมีคิดไปต่าง
ๆ ดีบ้างชั่วบ้าง ท่านเองก็ไม่ใช่นักดุด่าไปเสียทุกขณะจิตที่คิด
ที่ท่านตำหนิก็คือสิ่งที่ท่านอยากให้คิด เช่น
คิดอรรถคิดธรรมด้วยสติปัญญาเพื่อหาทางปลดเปลื้องตนออกจากทุกข์
อันเป็นความคิดที่ถูกทางและเบาใจแก่ผู้อบรมสั่งสอนนั้นไม่ค่อยชอบคิดกัน
แต่ชอบไปคิดในสิ่งที่ไม่อยากให้คิด จึงโดนเทศน์กันอยู่เสมอแทบทุกคืน เพราะผู้ทำให้ท่านต้องเทศน์บ่อย
ๆ มีมาก
ทั้งนี้กล่าวถึงความรู้ความละเอียดแห่งปรจิตตวิชชา
คือการกำหนดรู้ใจผู้อื่นของท่านพระอาจารย์มั่น ว่าท่านรู้และสามารถจริงๆ
ส่วนความคิดที่น่าตำหนินั้นก็มิได้เป็นขึ้นด้วยเจตนาจะสั่งสมของผู้คิด
หากแต่เป็นขึ้นเพราะความเผอเรอที่สติตามไม่ทันเป็นบางครั้งเท่านั้น
แม้เช่นนั้นในฐานะที่ท่านเป็นอาจารย์ผู้คอยให้ความรู้ความฉลาดแก่ลูกศิษย์
เมื่อเห็นว่าไม่เหมาะสมก็รีบเตือนเพื่อผู้นั้นจะได้สติและเข็ดหลาบแล้วระวังสำรวมต่อไป
ไม่หลวมตัวคิดอย่างนั้นอีก จะเป็นทางเบิกกว้างเพื่อความเสียหายต่อไป เพราะความคิดซ้ำซากเป็นเครื่องส่งเสริม
การสั่งสอนพระ
รู้สึกว่าท่านสั่งสอนละเอียดถี่ถ้วนมาก ศีลที่เป็นฝ่ายวินัยท่านก็สอนละเอียด
สมาธิและปัญญาที่เป็นฝ่ายธรรมท่านยิ่งสอนละเอียดลออมาก
แต่ปัญญาขั้นสูงสุดจะเขียนลงข้างหน้าตามประวัติท่านที่บำเพ็ญธรรมขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ
ส่วนสมาธิทุกขั้นและปัญญาขั้นกลาง ท่านเริ่มมีความชำนาญมาแล้วจากถ้ำสาริกา นครนายก
พอมาฝึกซ้อมอยู่ทางภาคอีสานนานพอควรก็ยิ่งมีความชำนิชำนาญยิ่งขึ้น ฉะนั้น
การอธิบายสมาธิทุกขั้นและวิปัสสนาขั้นกลางแก่พระเณร
ท่านจึงอธิบายได้อย่างคล่องแคล่วมาก ไม่มีการเคลื่อนคลาดจากหลักสมาธิปัญญาที่ถูกต้องเลย
ผู้รับการอบรมได้ฟังอย่างถึงใจทุกขั้นของสมาธิและปัญญาขั้นกลาง
สมาธิท่านรู้สึกแปลกและพิสดารมาก
ทั้งขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ
คือขณะจิตรวมเป็นขณิกสมาธิแล้วตั้งอยู่ได้ขณะเดียว แต่มิได้ถอนออกมาเป็นจิตธรรมดา
หากแต่ถอนออกมาสู่อุปจารสมาธิ แล้วออกรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่มีประมาณ
บางครั้งเกี่ยวกับพวกภูตผี เทวบุตร เทวธิดา พญานาคต่าง ๆ
นับภพนับภูมิได้ที่มาเกี่ยวข้องกับสมาธิประเภทนี้
ซึ่งท่านใช้รับแขกจำพวกมีรูปไม่ปรากฏด้วยตา มีเสียงไม่ปรากฏด้วยหูมาเป็นประจำ
บางครั้งจิตก็เหาะลอยออกจากกายแล้วเที่ยวชมสวรรค์วิมานและพรหมโลกชั้นต่าง ๆ
และลงไปเที่ยวดูภพภูมิของสัตว์นรกที่กำลังเสวยกรรมมีประเภทต่างกันอยู่ที่ที่ทรมานต่าง
ๆ กันตามกรรมของตน
คำว่าขึ้นลงตามคำสมมุติที่โลกนำมาใช้กันตามกิริยาของกายซึ่งเป็นอวัยวะหยาบนั้น
ผิดกับกิริยาของจิตซึ่งเป็นของละเอียดอยู่มากจนกลายเป็นคนละโลกเอาเลย
คำว่าขึ้นหรือลงของกาย รู้สึกเป็นประโยคพยายามอย่างเอาจริงเอาจัง
แต่จิตถ้าใช้กิริยาแบบกายบ้างว่าขึ้นหรือลงก็สักแต่ว่าเท่านั้น
แต่มิได้เป็นประโยคพยายามว่าจิตขึ้นหรือลงเลย คำว่าสวรรค์ พรหมโลก และนิพพาน
อยู่สูงขึ้นไปตามลำดับแห่งความละเอียดของชั้นนั้น ๆ ก็ดี
คำว่านรกอยู่ต่ำลงไปตามลำดับของความต่ำแห่งภูมิและผู้มีกรรมต่าง ๆ กันก็ดีนี้
เรานำด้านวัตถุเข้าไปวัดกับนามธรรมเหล่านั้นต่างหาก นรก สวรรค์ เป็นต้น
จึงมีต่ำสูงไปตามโลก
เราพอเทียบกันได้บ้าง
เช่น นักโทษทั้งลหุโทษและครุโทษที่อยู่ในเรือนจำอันเดียวกัน
ซึ่งตั้งอยู่ในที่ที่มนุษย์ผู้ไม่มีโทษทัณฑ์อะไรอยู่กัน
ในนักโทษทั้งสองชนิดไม่มีการขึ้นลงต่างกันที่ตรงไหนบ้างเลย
เพราะอยู่ในเรือนจำอันเดียวกันและไม่มีขึ้นลงต่างกันกับมนุษย์ผู้ไม่มีโทษอีกด้วย
เพราะเรือนจำหรือตะรางอันเป็นที่อยู่ของนักโทษทุกชนิดอยู่กัน
กับสถานที่ที่มนุษย์อยู่กัน มันเป็นแผ่นดินอันเดียวกัน บ้านเมืองอันเดียวกัน
เป็นแต่แยกเป็นเอกเทศกันอยู่คนละส่วนเท่านั้น เมื่อต่างคนต่างมีตาดีหูดี
ทั้งลหุโทษครุโทษและมนุษย์ผู้ปราศจากโทษ ต่างก็มองเห็นได้ยินและรู้เรื่องของกันได้อย่างธรรมดา
ทั่ว ๆ ไป ไม่เป็นปัญหาเหมือนระหว่างพวกนรกกับเทวดา ระหว่างเทวดากับพรหม
และระหว่างพวกเทพฯ ทุกชั้นกับสัตว์นรกทุกภูมิและระหว่างสัตว์นรกทุกภูมิและเทวดา
พรหมทุกชั้นกับพวกมนุษย์ที่ไม่รู้เรื่องของกันเอาเลย
แม้กระแสใจของทุก
ๆ จำพวกจะส่งประสานผ่านภูมิที่อยู่ของกันและกันอยู่ตลอดเวลา
แต่ก็เหมือนไม่ได้ผ่านและเหมือนไม่มีอะไรมีอยู่ในโลก
นอกจากเราคนเดียวที่รู้เรื่องของตัวทุกอย่างเท่านั้น จะรับรองตนได้ว่า
การมีอยู่ในโลก เพียงใจที่มีอยู่กับทุกคนตลอดสัตว์ก็ยังไม่สามารถรู้เรื่องความคิดดีชั่วของกันและกันได้
ถ้าจะปฏิเสธว่าใจของคนและสัตว์ไม่มี และถ้ามีทำไมไม่รู้ไม่เห็นใจเรื่องใจกันบ้าง
ดังนี้ ก็พอจะปฏิเสธได้ถ้าจะเป็นความจริงตามคำปฏิเสธ
แต่จะปฏิเสธวันยังค่ำก็คงผิดไปทั้งวัน
เพราะปกติคนและสัตว์ที่ยังครองตัวอยู่ย่อมมีใจด้วยกันทุกราย แม้จะไม่รู้ไม่เห็นความคิดของกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า
ใจไม่มีในร่างที่เราไม่สามารถมองเห็นและได้ยิน
สิ่งละเอียดที่สุดวิสัยของตาหูจะรับรู้ได้ในโลกแห่งสัตว์ทั้งหลาย
ก็คงขึ้นอยู่กับความไม่สามารถของแต่ละราย
ไม่ขึ้นกับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่จะปกปิดตัวเอง
คำว่าสวรรค์และพรหมโลกชั้นนั้น
ๆ สูงขึ้นไปเป็นลำดับนั้น ก็มิได้สูงขึ้นไปแบบบ้านที่มีหลายชั้นซึ่งเป็นด้านวัตถุ
ดังที่รู้ ๆ กันที่จะต้องใช้บันไดหรือลิฟท์ขึ้นไปเป็นชั้น ๆ หากสูงแบบนามธรรม
ขึ้นแบบนามธรรม ด้วยนามธรรม คือใจดวงมีสมรรถภาพภายในตัว เพราะกรรมดีคือกุศลกรรม
คำว่านรกต่ำก็มิได้ต่ำแบบลงเหวลงบ่อ แต่ต่ำแบบนามธรรม ลงแบบนามธรรม
และดูด้วยนามธรรม คือดวงใจมีความสามารถภายในตัว
แต่ผู้ลงไปเสวยกรรมของตนต้องไปด้วยอำนาจกรรมชั่วที่พาให้เป็นไปทางตรงกันข้าม
อยู่รับความทุกข์ทรมานก็อยู่ด้วยกรรมพาให้อยู่จนกว่าจะพ้นโทษ เหมือนคนติดคุกตะรางตามกำหนดเวลา
เมื่อพ้นโทษก็ออกจากคุกตะรางไปฉะนั้น
ส่วนอุปจารสมาธิของท่านรู้สึกเริ่มเกี่ยวพันกันกับขณิกสมาธิมาแต่เริ่มแรกปฏิบัติ
เพราะจิตท่านเป็นจิตที่ว่องไวผาดโผนมาดั้งเดิม
เวลารวมลงเพียงขณะเดียวที่เรียกว่าขณิกสมาธิ ก็เริ่มออกเที่ยวรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ
ที่อยู่ในวงของอุปจาระ
จนกระทั่งท่านมีความชำนาญและบังคับให้อยู่กับที่หรือให้ออกรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ
ก็ได้แล้ว จากนั้นท่านต้องการจะปฏิบัติต่อสมาธิประเภทใดก็ได้สะดวกตามต้องการ
คือจะให้เป็น ขณิกะแล้วเลื่อนออกมาเป็นอุปจาระเพื่อรับรู้สิ่งต่าง ๆ
หรือจะให้รวมสงบลงถึงฐานสมาธิอย่างเต็มที่ ที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ
แล้วพักอยู่ในสมาธินั้นตามต้องการก็ได้
อัปปนาสมาธิเป็นสมาธิที่สงบละเอียดแนบแน่นและเป็นความสงบสุขอย่างพอตัว
ผู้ปฏิบัติจึงมีทางติดสมาธิประเภทนี้ได้ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเล่าว่า
ท่านเคยติดสมาธิประเภทนี้บ้างเหมือนกัน แต่ท่านเป็นนิสัยปัญญาจึงหาทางออกได้
ไม่นอนใจและติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้นาน
ผู้ติดสมาธิประเภทนี้ทำให้เนิ่นช้าได้เหมือนกัน ถ้าไม่พยายามคิดค้นทางปัญญาต่อไป
นักปฏิบัติที่ติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้มีเยอะแยะ
เพราะเป็นสมาธิที่เต็มไปด้วยความสุข ความเยื่อใยและอ้อยอิ่งน่าอาลัยเสียดายอยู่มาก
ไม่คิดอยากแยกตัวออกไปทางปัญญาอันเป็นทางถอนกิเลสทั้งมวล
ถ้าไม่มีผู้ฉลาดมาตักเตือนด้วยเหตุผลจริง ๆ
จะไม่ยอมถอดถอนตัวออกมาสู่ทางปัญญาเอาเลย
เมื่อจิตติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้นานไป
อาจเกิดความสำคัญตนไปต่าง ๆ ได้ เช่น สำคัญว่านิพพานความสิ้นทุกข์ก็ต้องมีอยู่ในจุดแห่งความสงบสุขนี้
หามีอยู่ในที่อื่นใดไม่ดังนี้
ความจริงจิตที่รวมตัวเข้าเป็นจุดเดียวจนรู้เห็นจุดของจิตได้อย่างชัดเจน
และรู้เห็นความสงบสุขประจักษ์ใจในสมาธิขั้นอัปปนานี้
เป็นการรวมกิเลสภพชาติอยู่ในจิตดวงนั้นด้วยในขณะเดียวกัน ถ้าไม่ใช้ปัญญาเป็นเครื่องบุกเบิกทำลาย
ก็มีหวังตั้งภพชาติอีกต่อไปโดยไม่ต้องสงสัย ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติในสมาธิขั้นใดก็ตาม
ปัญญาจึงควรมีแอบแฝงอยู่เสมอตามโอกาสที่ควร เฉพาะอัปปนาสมาธิด้วยแล้ว
ควรใช้ปัญญาเดินหน้าอย่างยิ่ง
ถ้าไม่อยากรู้อยากเห็นจิตที่มีเพียงความสงบสุขอยู่อย่างเดียว ไม่มีความฉลาดรอบตัวเลยเท่านั้น
ท่านพระอาจารย์มั่น
นับแต่ท่านกลับมาทางภาคอีสานเที่ยวนี้ ท่านชำนาญในปัญญาขั้นกลางมากจริงอยู่
เพราะผู้ก้าวขึ้นสู่ภูมิธรรมขั้นสาม คือพระอนาคามี
ต้องนับว่ามีปัญญาขั้นกลางอย่างพอตัว
ไม่เช่นนั้นจะพิจารณาภูมิธรรมขั้นนั้นไม่ได้ การก้าวขึ้นสู่ภูมิธรรมขั้นนี้ต้องผ่านกายคตาสติ
ทั้งสุภะความเห็นว่ากายเป็นของสวยงาม ทั้งอสุภะความเห็นว่ากายเป็นของไม่สวยงาม
ไปด้วยปัญญา มิได้ติดอยู่ โดยจิตแยกสุภะและอสุภะออกด้วยปัญญา
แล้วก้าวผ่านไปในท่ามกลางคือมัชฌิมาตรงกลาง ได้แก่ระหว่างสุภะและอสุภะต่อกัน หมดความสงสัยและเยื่อใยในธรรมทั้งสองนั้นอันเป็นเพียงทางเดินผ่านเท่านั้น
การพิจารณาถึงขั้นที่ว่านี้จัดว่าเพียงผ่านไปได้
ถ้าเทียบการสอบไล่ก็เพียงได้คะแนนตามกฎที่ตั้งไว้เท่านั้น
ยังมิได้คะแนนสูงและสูงสุดในชั้นนั้น ผู้บรรลุธรรมถึงระดับนี้แล้ว
จำต้องฝึกซ้อมปัญญาเพื่อความชำนาญละเอียดขึ้นไปจนเต็มภูมิของธรรมชั้นนั้น
ที่เรียกว่าอนาคามีเต็มภูมิ
ถ้าตายในขณะนั้นก็ไปเกิดในชั้นอกนิษฐาพรหมโลกชั้นที่ห้าทันที
ไม่ต้องเกิดในพรหมโลกสี่ชั้นต่ำนั้น
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเล่าว่า
ท่านเคยติดอยู่ในภูมินี้นานเอาการอยู่ เพราะไม่มีผู้คอยให้อุบายใด ๆ เลย
ต้องลูบคลำกันอย่างระมัดระวังมาก กลัวจะผิดพลาด เพราะทางไม่เคยเดิน
เท่าที่สังเกตรู้ตลอดมา เวลาสติปัญญาละเอียด ธรรมละเอียด
ส่วนกิเลสที่จะทำให้หลงก็ละเอียดไปตาม ๆ กัน
จึงเป็นความลำบากอยู่ไม่น้อยในธรรมแต่ละขั้นกว่าจะผ่านไปได้ ท่านเล่า น่าอัศจรรย์เหลือประมาณ
อุตส่าห์คลำไม้คลำตอและขวากหนามโดยมิได้รับคำแนะจากใคร
นอกจากธรรมในคัมภีร์เท่านั้น กว่าจะผ่านพ้นไปได้และมาเมตตาสั่งสอนพวกเรา
ก็อดที่จะระลึกถึงความทุกข์อย่างมหันต์ของท่านมิได้
เวลากำลังบุกป่าฝ่าดงไปองค์เดียว
มีโอกาสดี
ๆ ท่านเล่าถึงการบำเพ็ญของท่านให้ฟัง ที่น่าสมเพชเวทนาท่านนักหนา
ผู้เขียนเองเคยน้ำตาร่วงสองครั้งด้วยความเห็นทุกข์ไปตามเวลาท่านลำบากมากในการบำเพ็ญ
และด้วยความอัศจรรย์ในธรรมที่ท่านเล่าให้ฟัง ซึ่งเป็นธรรมละเอียดลึกซึ้ง
จนเกิดความคิดขึ้นมาว่า เรานี้จะพอมีวาสนาบารมีแค่ไหนบ้างหนอ พอจะถูไถเสือกคลานไปกับท่านได้เพียงใดหรือไม่ก็มีในบางขณะ
ตามประสาของปุถุชนอย่างนั้นเอง
แต่คำพูดท่านเป็นเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นตัวตื่นใจได้ดีมาก
นี่แลเป็นเครื่องพยุงความเพียรไม่ให้ลดละเพื่ออนาคตของตนตลอดมา ท่านเล่าว่า
พอเร่งความเพียรทางปัญญาเข้ามากทีไร ยิ่งทำให้จิตใจจืดจางออกจากหมู่คณะมากขึ้น
และกลับดูดดื่มทางความเพียรมากเข้าทุกที
ทั้งที่ทราบเรื่องของตัวมาโดยลำดับว่ากำลังของเรายังไม่พอ
แต่ก็จำต้องอยู่รออบรมหมู่คณะพอให้มีหลักฐานทางใจบ้าง
ทราบว่าท่านจำพรรษาที่จังหวัดนครพนมหลายปี
ตามแถบหมู่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม ถ้าจำไม่ผิดก็ราว ๓-๔ ปี ที่บ้านห้วยทราย
ซึ่งตั้งอยู่เขตอำเภอคำชะอี จังหวัดเดียวกัน ๑ ปี แถบหมู่บ้านห้วยทราย บ้านคำชะอี
หนองสูง โคกกลาง เหล่านี้มีภูเขามาก ท่านชอบพักอยู่แถบนี้มาก
ที่เขาผักกูดซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านแถบนั้น ท่านว่าเทวดาก็ชุม เสือก็ชุมมาก
ตอนกลางคืนเสือก็มาเที่ยวรอบ ๆ บริเวณที่ท่านพักอยู่
เทวดาก็ชอบมาฟังธรรมท่านบ่อยเช่นกัน กลางคืนเสียงเสือโคร่งใหญ่กระหึ่มอยู่ใกล้ ๆ
กับที่พักท่าน บางคืนมันกระหึ่มพร้อมกันทีละหลาย ๆ ตัว
เสียงสนั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งป่า เสียงมันร้องรับกันเหมือนเสียงคนร้องหากันนี่เอง
ทางโน้นก็ร้อง ทางนี้ก็ร้อง กระหึ่มรับกันเป็นพัก ๆ ทีละหลาย ๆ ตัวน่ากลัวมาก
พระเณรบางคืนไม่ได้หลับนอนกันเลย กลัวเสือจะมาฉวยไปกิน
ท่านฉลาดหาอุบายพูดแปลก
ๆ ให้พระเณรกลัวเสือ เพื่อจะได้พากันขยันทำความเพียร โดยพูดว่า
ใครขี้เกียจทำความเพียรระวังให้ดีนะ เสือในเขาลูกนี้ชอบพระเณรที่ขี้เกียจทำความเพียรนัก
กินก็อร่อยดี ใครไม่อยากเป็นอาหารอร่อยของมันต้องขยัน ใครขยันทำความเพียร
เสือกลัวและไม่ชอบเอาเป็นอาหาร พอพระเณรได้ยินดังนั้น ต่างก็พยายามทำความเพียรกัน
แม้เสือกำลังกระหึ่มอยู่รอบ ๆ ก็จำต้องฝืนออกไปเดินจงกรมแบบสละตายทั้งที่กลัว ๆ เพราะเชื่อคำท่านว่าใครขี้เกียจเสือจะมาเอาไปเป็นอาหารอันอร่อยของมัน
เพราะที่อยู่นั้นมิได้เป็นกุฎีเหมือนวัดทั่ว ๆ ไป แต่เป็นร้านเล็ก ๆ
พอหมกตัวเวลาหลับนอนเท่านั้น และเตี้ย ๆ ด้วย
เผื่อเสือนึกหิวขึ้นมาและโดดมาเอาไปกินต้องเสียท่าให้มันจริง ๆ เพราะฉะนั้น พระท่านถึงกลัวและเชื่อคำของท่านอาจารย์
ท่านเล่าให้ฟังก็น่ากลัวด้วย
ว่าบางคืนเสือโคร่งใหญ่เข้ามาถึงบริเวณที่พระพักอยู่ก็มี แต่ก็ไม่ทำอะไร
เป็นเพียงเดินผ่านไปเท่านั้น ตามปกติท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าเสือไม่กล้ามาทำอะไรได้
ท่านว่าเทวดารักษาอยู่ตลอดเวลา คือเวลาเทวดาลงมาเยี่ยมฟังเทศน์ท่าน
เขาบอกกับท่านว่า เขาพากันอารักขาไม่ให้มีอะไรมารบกวนและทำอันตรายได้
และขออาราธนาท่านให้พักอยู่ที่นั้นนาน ๆ ฉะนั้น
ท่านจึงหาอุบายพูดให้พระเณรกลัวและสนใจต่อความเพียรมากขึ้น
เสือเหล่านั้นก็รู้สึกจะทราบว่าที่บริเวณท่านพักอยู่เป็นสถานที่เย็นใจ พวกสัตว์เสือต่าง
ๆ ไม่ต้องระวังอันตรายจากนายพราน เพราะตามปกติชาวบ้านทราบว่าท่านไปพักอยู่ที่ใด
เขาไม่กล้าไปเที่ยวล่าเนื้อที่นั้น เขาบอกว่ากลัวเป็นบาป
และกลัวปืนจะระเบิดทั้งลำกล้องใส่มือเขาตายขณะยิงสัตว์ในที่ใกล้บริเวณนั้น
สิ่งที่แปลกอยู่อย่างหนึ่งก็คือ
เวลาท่านไปพักอยู่ ณ สถานที่ใด ซึ่งเป็นแหล่งที่เสือชุม ๆ
ที่นั้นแม้ปกติเสือจะเคยมาเที่ยวหากัดวัวควายกินเป็นประจำตามหมู่บ้านแถบนั้น
แต่ก็เลิกรากันไป ไม่ทราบว่ามันไปเที่ยวหากินกันที่ไหน
เรื่องทั้งนี้ท่านเองก็เคยเล่าให้ฟัง และชาวบ้านหลายหมู่บ้านที่ท่านเคยไปพักอยู่ก็เคยเล่าให้ฟังเหมือนกัน
ว่าเสือไม่ไปทำอันตรายสัตว์เลี้ยงเขาเลย น่าอัศจรรย์มากดังนี้
ยังมีข้อแปลกอยู่อีกอย่างหนึ่งคือเวลาพวกเทวดามาเยี่ยมฟังเทศน์
ท่านหัวหน้าเทวดาเล่าว่า ท่านมาพักอยู่ที่นี่ทำให้พวกเทวดาสบายใจไปทั่วกัน
เทวดามีความสุขมากผิดปกติ เพราะกระแสเมตตาธรรมท่านแผ่กระจายครอบท้องฟ้าอากาศและแผ่นดินไปหมด
กระแสเมตตาธรรมท่านเป็นกระแสที่บอกไม่ถูกและอัศจรรย์มาก ไม่มีอะไรเหมือนเลยดังนี้
แล้วพูดต่อไปว่า ฉะนั้น ท่านพักอยู่ที่ไหน
พวกเทวดาต้องทราบกันจากกระแสธรรมที่แผ่ออกจากองค์ท่านไปทุกทิศทุกทาง
แม้เวลาท่านแสดงธรรมแก่พระเณรและประชาชน
กระแสเสียงท่านก็สะเทือนไปหมดทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ไม่มีขอบเขต
ใครอยู่ที่ไหนก็ได้เห็นได้ยิน นอกจากคนตายแล้วเท่านั้นจะไม่ได้ยิน
ตอนนี้ต้องขออภัยท่านผู้อ่านมาก ๆ อีกด้วย
จะได้เชิญอาราธนาคำพูดระหว่างท่านพระอาจารย์กับพวกเทวดาสนทนากัน
มาลงอีกเล็กน้อย ส่วนจะจริงหรือเท็จก็เขียนตามที่ได้ยินได้ฟังมา
ท่านย้อนถามเขาบ้างว่า ก็มนุษย์ไม่เห็นได้ยินกันบ้าง
ถ้าว่าเสียงเทศน์สะเทือนไปไกลดังที่ว่านั้น หัวหน้าเทพฯ รีบตอบท่านทันทีว่า
ก็มนุษย์เขาจะรู้เรื่องอะไรและสนใจกับศีลกับธรรมอะไรกันท่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ใจของเขา เขาเอาไปใช้ในทางบาปทางกรรมและขนนรกมาทับถมตัวตลอดเวลา
นับแต่วันเขาเกิดมาจนกระทั่งเขาตายไป
เขามิได้สนใจกับศีลกับธรรมอะไรเท่าที่ควรแก่ภูมิของตนหรอกท่าน
มีน้อยเต็มทีผู้ที่สนใจจะนำตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปทำประโยชน์ คือศีลธรรม
ชีวิตเขาก็น้อยนิดเดียว ถ้าเทียบกันแล้วมนุษย์ตายคนละกี่สิบกี่ร้อยครั้ง
เทวดาที่อยู่ภาคพื้นแม้เพียงรายหนึ่งก็ยังไม่ตายกันเลย
ไม่ต้องพูดถึงเทวดาบนสวรรค์ชั้นพรหมซึ่งมีอายุยืนนานกันเลย
มนุษย์จำนวนมากมีความประมาทมาก
ที่มีความไม่ประมาทมีน้อยเต็มที มนุษย์เองเป็นผู้รักษาศาสนา แต่แล้วมนุษย์เสียเองไม่รู้จักศาสนา
ไม่รู้จักศีลธรรมซึ่งเป็นของดีเยี่ยม
มนุษย์คนใดชั่วก็ยิ่งรู้จักแต่จะทำชั่วถ่ายเดียว
เขายังแต่ลมหายใจเท่านั้นพอเป็นมนุษย์อยู่กับโลกเขา พอลมหายใจขาดไปเท่านั้น
เขาก็จมไปกับความชั่วของเขาทันทีแล้ว เทวดาก็ได้ยินทำไมจะไม่ได้ยิน ปิดไม่อยู่
เวลามนุษย์ตายแล้วนิมนต์พระท่านมาสาธยายธรรมกุสลา ธัมมาให้คนตายฟัง
เขาจะเอาอะไรมาฟังสำหรับคนชั่วขนาดนั้น
พอแต่ตายลงไปกรรมชั่วก็มัดดวงวิญญาณเขาไปแล้ว เริ่มแต่ขณะสิ้นลมหายใจ
จะมีโอกาสมาฟังเทศน์ฟังธรรมได้อย่างไร
แม้ขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ก็ไม่สนใจอยากฟังเทศน์ฟังธรรม
นอกจากคนที่ยังเป็นอยู่เท่านั้น พอฟังได้ถ้าสนใจอยากฟัง
แต่เขามิได้สนใจฟังหรอกท่าน
ท่านไม่สังเกตดูเขาบ้างหรือ
เวลาพระท่านสาธยายธรรมกุสลา ธัมมาให้ฟัง เขาสนใจฟังเมื่อไร
ศาสนามิได้ถึงใจมนุษย์เท่าที่ควรหรอกท่าน เพราะเขาไม่สนใจกับศาสนา
สิ่งที่เขารักชอบที่สุดนั้น
มันเป็นสิ่งที่ต่ำทรามที่สัตว์เดียรัจฉานบางตัวก็ยังไม่อยากชอบ
นั่นแลเป็นสิ่งที่มนุษย์ที่ไม่ชอบศาสนาชอบมากกว่าสิ่งอื่นใด และชอบแต่ไหนแต่ไรมา
ทั้งชอบแบบไม่มีวันเบื่อไม่รู้จักเบื่อเอาเลย ขณะจะขาดใจยังชอบอยู่เลยท่าน
พวกเทวดารู้เรื่องของมนุษย์ได้ดีกว่ามนุษย์จะมาสนใจรู้เรื่องของพวกเทวดาเป็นไหน
ๆ มีท่านนี่แลเป็นพระวิเศษ
รู้ทั้งเรื่องมนุษย์ ทั้งเรื่องเทวดา ทั้งเรื่องสัตว์นรก
สัตว์กี่ประเภทท่านรู้ได้ดีกว่าเป็นไหน ๆ
ฉะนั้น พวกเทวดาทั้งหลายจึงยอมตนลงกราบไหว้ท่าน
พอหัวหน้าเทวดาพูดจบลง
ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดเป็นเชิงปรึกษาว่า
เทวดาเป็นผู้มีตาทิพย์หูทิพย์แลเห็นได้ไกล ฟังเสียงได้ไกล
รู้เรื่องดีชั่วของชาวมนุษย์ได้ดีกว่ามนุษย์จะรู้เรื่องของตัวและรู้เรื่องของพวกมนุษย์ด้วยกัน
จะไม่พอมีทางเตือนมนุษย์ให้รู้สึกสำนึกในความผิดถูกที่ตนทำได้บ้างหรือ
อาตมาเข้าใจว่าจะได้ผลดีกว่ามนุษย์ด้วยกันตักเตือนกันสั่งสอนกัน
จะพอมีทางได้บ้างไหม หัวหน้าเทวดาตอบท่านว่า
เทวดายังไม่เคยเห็นมนุษย์มีกี่รายพอจะมีใจเป็นมนุษย์สมภูมิเหมือนอย่างพระคุณเจ้า
ซึ่งให้ความเมตตาแก่ชาวเทพฯ และชาวมนุษย์ตลอดมาเลย
พอที่เขาจะรับทราบว่าในโลกนี้มีสัตว์ชนิดต่าง ๆ หลายต่อหลายจำพวกอยู่ด้วยกัน
ทั้งที่เป็นภพหยาบ ทั้งที่เป็นภพละเอียด ซึ่งมนุษย์จะยอมรับว่าเทวดาประเภทต่าง ๆ
มีอยู่ในโลก และสัตว์อะไร ๆ
ที่มีอยู่ในโลกกี่หมื่นกี่แสนประเภทว่ามีจริงตามที่สัตว์เหล่านั้นมีอยู่
เพราะนับแต่เกิดมามนุษย์ไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาแต่พ่อแต่แม่แต่ปู่ย่าตายาย
แล้วมนุษย์จะมาสนใจอะไรกับเทวดาเล่าท่าน นอกจากเห็นอะไรผิดสังเกตบ้าง
จริงหรือไม่จริงไม่คำนึง พวกมนุษย์มีแต่พากันกล่าวตู่ว่าผีกันเท่านั้น
จะมาหวังคำตักเตือนดีชอบอะไรจากเทวดา แม้เทวดาจะรู้เห็นพวกมนุษย์อยู่ตลอดเวลา
แต่มนุษย์ก็มิได้สนใจจะรู้เทวดาเลย แล้วจะให้เทวดาตักเตือนสั่งสอนมนุษย์ด้วยวิธีใด
เป็นเรื่องจนใจทีเดียว ปล่อยตามกรรมของใครของเราไว้อย่างนั้นเอง
แม้แต่พวกเทวดาเองก็ยังมีกรรมเสวยอยู่ทุกขณะ
ถ้าปราศจากกรรมแล้วเทวดาก็ไปนิพพานได้เท่านั้นเอง จะพากันอยู่ให้ลำบากไปนานอะไรกัน
ท่านพระอาจารย์มั่นถามเขาว่า
พวกเทวดาก็รู้นิพพานกันด้วยหรือ ถึงว่าหมดกรรมแล้วก็ไปนิพพานกันได้
และพวกเทวดาก็มีความทุกข์เช่นสัตว์ทั้งหลายเหมือนกันหรือ เขาตอบท่านว่า
ทำไมจะไม่รู้ท่าน
ก็เพราะพระพุทธเจ้าองค์ใดมาสั่งสอนโลกก็ล้วนแต่สอนให้พ้นทุกข์ไปนิพพานกันทั้งนั้น
มิได้สอนให้จมอยู่ในกองทุกข์
แต่สัตว์โลกไม่สนใจพระนิพพานเท่าเครื่องเล่นที่เขาชอบเลย
จึงไม่มีใครคิดอยากไปนิพพานกัน
คำว่านิพพานพวกเทวดาจำได้อย่างติดใจจากพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่มาสั่งสอนสัตว์โลก
แต่เทวดาก็มีกรรมหนาจึงยังไม่พ้นจากภพของเทวดาให้ได้ไปนิพพานกัน จะได้หมดปัญหา
ไม่ต้องวกเวียนถ่วงตนดังที่เป็นอยู่นี้ ส่วนความทุกข์นั้นถ้ามีกรรมอยู่แล้ว
ไม่ว่าสัตว์จำพวกใดต้องมีทุกข์ไปตามส่วนของกรรมดีชั่วที่มีมากน้อยในตัวสัตว์
ท่านถามเทวดาว่า
พระที่พูดกับเทวดารู้เรื่องกันมีอยู่แยะไหม? เขาตอบว่ามีอยู่เหมือนกันท่าน แต่ไม่มากนัก โดยมากก็เป็นพระซึ่งชอบปฏิบัติบำเพ็ญอยู่ในป่าในเขาเหมือนพระคุณเจ้านี่แล
ท่านถามว่า ส่วนฆราวาสเล่ามีบ้างไหม? เขาตอบว่า มีเหมือนกัน แต่มีน้อยมาก
และต้องเป็นผู้ใคร่ทางธรรมปฏิบัติ ใจผ่องใสถึงรู้ได้
เพราะกายพวกเทวดานั้นหยาบสำหรับพวกเทวดาด้วยกัน แต่ก็ละเอียดสำหรับมนุษย์จะรู้เห็นได้ทั่วไป
นอกจากผู้มีใจผ่องใสจึงจะรู้จะเห็นได้ไม่ยากนัก
ท่านถามเขาว่า
ที่ธรรมท่านว่าพวกเทวดาไม่อยากมาอยู่ใกล้พวกมนุษย์
เพราะเหม็นสาบคาวมนุษย์นั้นเหม็นสาบคาวอย่างไรบ้าง
ขณะที่ท่านทั้งหลายมาเยี่ยมอาตมาไม่เหม็นคาวบ้างหรือ ทำไมถึงพากันมาหาอาตมาบ่อยนัก
เขาตอบว่า มนุษย์ที่มีศีลธรรมมิใช่มนุษย์ที่ควรรังเกียจ
ยิ่งเป็นที่หอมหวนชวนให้เคารพบูชาอย่างยิ่ง
และอยากมาเยี่ยมฟังเทศน์อยู่เสมอไม่เบื่อเลย มนุษย์ที่เหม็นคาวน่ารังเกียจ
คือมนุษย์ที่เหม็นคาวศีลธรรม รังเกียจศีลธรรม ไม่สนใจในศีลธรรม
มนุษย์ประเภทเบื่อศีลธรรมซึ่งเป็นของดีเลิศในโลกทั้งสาม
แต่ชอบในสิ่งที่น่ารังเกียจของท่านผู้ดีมีศีลธรรมทั้งหลาย
มนุษย์ประเภทนี้น่ารังเกียจจึงไม่อยากเข้าใกล้และเหม็นคาวฟุ้งไปไกลด้วย
แต่เทวดามิได้ตั้งข้อรังเกียจชาวมนุษย์แต่อย่างใด
หากเป็นนิสัยของพวกเทวดามีความรู้สึกอย่างนั้นมาดั้งเดิมดังนี้
เวลาท่านเล่าเรื่องเทวดาภูตผีชนิดต่าง
ๆ ให้ฟัง ผู้ฟังเคลิ้มไปจนลืมตัวและลืมเวล่ำเวลา ลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปตาม ๆ
กัน ประหนึ่งตนก็ใคร่รู้อย่างนั้นบ้าง
และคิดว่าจะรู้จะเห็นอย่างนั้นบ้างในวันหนึ่งข้างหน้า
แล้วทำให้เกิดความกระหยิ่มต่อความเพียรเพื่อผลอย่างนั้นขึ้นมา
กับตอนท่านเล่าอดีตชาติของท่านและของคนอื่นเป็นบางรายที่เห็นว่าจำเป็นให้ฟัง
ยิ่งทำให้อยากรู้เรื่องอดีตของตนจนลืมความคิดที่อยากพ้นทุกข์ไปนิพพาน
ในบางครั้งพอรู้ตัวเกิดตกใจและตำหนิตนว่า อ๋อ เรานี่จะเริ่มบ้าไปเสียแล้ว
แทนที่จะคิดไปในทางหลุดพ้นดังที่ท่านสั่งสอน
แต่กลับไปคว้าและงมเงาในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ก็ทำให้รู้สึกตัวไปพักหนึ่ง
พอเผลอตัวก็คิดไปอีกแล้ว ต้องคอยปราบปรามตัวเองอยู่เรื่อย
เวลาท่านเล่าเรื่องพวกเทวดาภูตผีชนิดต่าง
ๆ มาเยี่ยมท่าน รู้สึกน่าฟังมาก เฉพาะพวกภูตผีรู้สึกมีผีอันธพาลเช่นกับมนุษย์เรา
ถ้าพวกใดชอบก่อความไม่สงบมาก
เขาต้องจับพวกนั้นมาขังรวมกันไว้ในคอกที่มนุษย์เรียกว่าห้องขังนั่นเอง
ขังไว้เป็นพวก ๆ เป็นห้อง ๆ เต็มห้องขังแต่ละห้อง มีทั้งผีอันธพาลหญิง
ผีอันธพาลชาย และอันธพาลประเภทโหดร้ายทารุณ จำพวกทารุณยังมีทั้งหญิงทั้งชายอีกด้วย
มองดูหน้าตาพวกนี้บอกอย่างชัดแจ้งว่าแผ่เมตตาให้ไม่ยอมรับ
พวกผีนี้เขามีบ้านเมืองเหมือนมนุษย์เราเหมือนกัน เป็นบ้านเมืองใหญ่โตมาก
มีหัวหน้าปกครองดูแลเหมือนกัน ผีที่มีอุปนิสัยใฝ่บุญกุศลก็มีอยู่แยะ
พวกผีธรรมดาและผีจำพวกอันธพาลเคารพนับถือมาก
เพราะผู้มีอุปนิสัยวาสนาเป็นผู้มีฤทธาศักดานุภาพมาก
ผีทั้งหลายเคารพเกรงกลัวมากตามหลักธรรมชาติ มิใช่การประจบประแจง
ท่านเล่าว่าที่ว่าบาปมีอำนาจน้อยกว่าบุญนั้น
ท่านไปพบเห็นในเมืองผีเป็นพยานอีกประเด็นหนึ่ง คือผีมีวาสนาแต่มาเสวยกรรมตามวาระ
เช่น มาเกิดเป็นภูตผี แต่นิสัยใจคอในทางบุญนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยและมีอำนาจมากด้วย
เพียงผู้เดียวเท่านั้นก็สามารถปกครองผีได้เป็นจำนวนมากมาย
เพราะเมืองผีไม่มีการถือพวกถือพ้องเหมือนเมืองมนุษย์เรา แต่ถืออำนาจตามหลักธรรม
แม้จะฝืนถืออย่างมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะกรรมไม่อำนวยไปตาม ต้องขึ้นอยู่กับกรรม
ดีชั่วเท่านั้นเป็นหลักตายตัว
อำนาจที่ใช้อยู่ในเมืองมนุษย์จึงนำไปใช้ในปรโลกไม่ได้
ท่านเล่าตอนนี้รู้สึกพิสดารมาก แต่จำได้เพียงเล็กน้อยขาด ๆ วิ่น ๆ จึงขออภัยด้วย
เวลาท่านออกเที่ยวโปรดสัตว์ตามสถานที่ที่พวกผีตั้งบ้านเรือนอยู่โดยทางสมาธิภาวนา
พอมองเห็นท่านเขาก็รีบโฆษณาบอกกันมาทำความเคารพเหมือนมนุษย์เรา
ท่านเดินผ่านไปตามที่ต่าง ๆ ในที่ชุมนุมผีและผ่านไปที่คุมขังผีอันธพาลหญิงชาย
โดยมี หัวหน้าผีเป็นผู้พานำทางด้วยความเคารพเลื่อมใสท่านมาก
และอธิบายสภาพความเป็นอยู่ของผีชนิดต่าง ๆ ให้ท่านฟัง และอธิบายเรื่องผีที่ถูกคุมขังว่า
เป็นผู้มีใจโหดร้ายคอยรบกวนผู้อื่นไม่ให้มีความสงบสุขเท่าที่ควร
ต้องขังไว้ตามแต่โทษหนักเบาของเขา
คำว่าภูตผีนั้นเป็นคำที่มนุษย์เราให้ชื่อเขาต่างหาก
ความจริงเขาก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ
ที่มีอยู่ในโลกทั่วไปตามภูมิของตน
ท่านว่าที่ใดมีป่ามีเขามาก
ท่านพระอาจารย์มั่นชอบพักอยู่ที่นั้นนาน ไป ๆ มา ๆ อยู่ตามแถบเขานั้น ๆ
เมื่อท่านพักอยู่นครพนมและอบรมหมู่คณะนานพอสมควรแล้ว ทำให้คิดถึงตัวเองมากขึ้น
โดยคำนึงถึงความรู้สึกที่โผล่ขึ้นเสมอว่ากำลังเรายังไม่พอดังนี้
ถ้าจะฝืนอยู่กับหมู่คณะไปทำนองนี้ ความเพียรก็ล่าช้า ท่านว่าเท่าที่สังเกตดู
นับแต่กลับมาจากภาคกลางมาอบรมสั่งสอนหมู่คณะอยู่ทางภาคอีสาน
รู้สึกว่าภูมิจิตใจไม่ค่อยก้าวไปรวดเร็วเหมือนอยู่องค์เดียว
จะต้องเร่งความเพียรอีกสักพักจนบรรลุถึงความพึงใจแล้วนั่นแหละถึงจะหมดความกังวลห่วงใยตัวเอง
ประกอบระยะนั้นท่านรับโยมมารดามาบวชเป็นอุบาสิกาอบรมอยู่ด้วยประมาณ
๖ ปี จะไปมาทางใดไม่ค่อยสะดวก ทำให้เป็นอารมณ์ห่วงใยอยู่เสมอ
เลยทำให้ท่านตัดสินใจจะเอาโยมมารดาไปส่งที่จังหวัดอุบลราชธานี
มารดาท่านก็เห็นดีด้วยไม่ขัดอัธยาศัย จากนั้นท่านก็เริ่มพามารดาออกเดินทางจากนครพนม
โดยเดินตัดตรงไปภูเขาแถบหนองสูง คำชะอี ออกไปอำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลฯ
ขณะที่ท่านออกเดินทางทราบว่า มีพระเณรติดตามไปด้วยมากมาย
ปีนั้นไปจำพรรษาบ้านหนองขอน อำเภออำนาจเจริญ อุบลฯ มีพระเณรจำพรรษากับท่านมาก
ขณะที่จำพรรษาอยู่นี้ก็ให้การอบรมพระเณรอุบาสกอุบาสิกาอย่างเต็มกำลัง
มีผู้คนพระเณรเกิดความเชื่อเลื่อมใสและมาอยู่อบรมกับท่านมากขึ้นเป็นลำดับ
คืนวันหนึ่งเวลาดึกสงัด
ท่านกำลังเข้าที่ภาวนา พอจิตสงบรวมลงไป ปรากฏเห็นพระเณรจำนวนมากที่ค่อย ๆ
เดินตามหลังท่านมาด้วยความเคารพและมีระเบียบสวยงามน่าเลื่อมใสก็มี ที่เดินแซงหน้าท่านไปข้างหน้าด้วยอาการลุกลี้ลุกลน
ไม่มีความเคารพและสำรวมอินทรีย์เลยก็มี
ที่กำลังถือโอกาสเดินแซงหน้าท่านไปด้วยท่าทางที่ไม่มีระเบียบธรรมวินัยติดตัวเลยก็มี
พวกที่กำลังเอาไม้มีลักษณะเหมือนไม้ผ่าครึ่งเหมือนหีบปิ้งปลามาคีบหัวอกท่านอย่างแน่นแทบหายใจไม่ได้ก็มี
เมื่อเห็นความแตกต่างแห่งพระทั้งหลายที่แสดงอาการไม่มีความเคารพ
และทำความโหดร้ายทรมานท่านด้วยวิธีการต่าง ๆ กันเช่นนี้
ท่านก็กำหนดจิตดูเหตุการณ์ที่เกิดเฉพาะหน้าให้ละเอียด ก็ทราบขึ้นมาทันทีว่า
จำพวกที่ค่อย
ๆ เดินตามหลังท่านด้วยความเคารพและมีระเบียบสวยงามเป็นที่น่าเลื่อมใส
นั้นคือจำพวกที่จะประพฤติปฏิบัติชอบตามโอวาทคำสั่งสอนของท่าน
จะเป็นผู้เคารพเทิดทูนท่านและพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต
จะสามารถทำตนให้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนาตลอดหมู่ชนทั่วไปได้
และสามารถจะยังขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามทางศาสนาให้คงที่ดีงามต่อไป
เป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสทั้งมนุษย์และเทวดาอีกพรหมยมยักษ์ทั่วหน้ากัน
ซึ่งนับว่าเป็นผู้ทรงตนและพระศาสนาไว้ได้ตามแบบอริยประเพณีไม่เสื่อมสูญ
จำพวกที่เดินแซงหน้าท่านไปด้วยท่าทางไม่ระวังสำรวมนั้นคือจำพวกอวดรู้อวดฉลาด
เข้าใจว่าตนเรียนมากรู้มาก
ปฏิบัติดียิ่งกว่าครูอาจารย์ผู้พาปฏิบัติดำเนินด้วยสามีจิกรรมมาก่อน
ไม่สนใจเคารพเอื้อเฟื้อต่อการศึกษาไต่ถามข้ออรรถข้อธรรมใด ๆ
เพราะความสำคัญตนว่าฉลาดรอบรู้ทุกอย่างแล้วปฏิบัติตนไปด้วยความสำคัญนั้น ๆ
อันเป็นทางล่มจมแก่ตนและพระศาสนา ตลอดประชาชนผู้มาเกี่ยวข้องศึกษา
ต่างจะนำยาพิษเพราะความเห็นผิดจากอาจารย์องค์นั้นไปใช้แล้วกลายเป็นผู้ทำลายตนและหมู่ชนตลอดกุลบุตรสุดท้ายภายหลังให้เสียหายไปตาม
โดยไม่รู้สึกระลึกได้ว่าเป็นทางถูกต้องดีงามหรือไม่ประการใด
จำพวกที่กำลังคอยหาโอกาสเดินแซงหน้าท่านไปในลำดับต่อมานั้น
คือจำพวกที่กำลังเริ่มก่อตั้งความเสื่อมเสียแก่ตนและวงพระศาสนาต่อไป
ด้วยความสำคัญผิดชนิดต่าง ๆ
ทำนองจำพวกก่อนซึ่งเป็นจำพวกที่จะช่วยกันทำลายตนและพระศาสนา อันเป็นส่วนรวมดวงใจของประชาชนชาวพุทธให้ฉิบหายล่มจมลงไปโดยมิได้สนใจว่าผิดหรือถูกประการใด
จำพวกที่เอาไม้มาคีบหัวอกท่านนั้น
คือจำพวกที่เข้าใจว่าตนฉลาดรอบรู้และปฏิบัติไปด้วยความสำคัญนั้น ๆ
โดยมิได้คำนึงว่าผิดหรือถูก ทั้งที่ความจริงการปฏิบัตินั้นเป็นทางผิด
และยังมีส่วนกระทบกระเทือนวงพระศาสนาและครูอาจารย์ที่พาดำเนินมาก่อน
ให้มีส่วนบอบช้ำเสียหายไปด้วย ส่วนจำพวกหลังนี้ ท่านเล่าว่า
ท่านรู้ตัวและนามของพระนั้น ๆ ด้วย ที่มาทำให้ท่านลำบากในเวลาต่อมา
คือพระที่เป็นลูกศิษย์ท่านอยู่ก่อน เป็นแต่ออกไปจำพรรษาอยู่ไม่ห่างกันนัก
ซึ่งท่านเองเป็นผู้เห็นชอบและอนุญาตให้ออกไป
เมื่อกำหนดดูเหตุการณ์ทราบละเอียดแล้ว
ท่านก็มารำพึงถึงพระจำพวกที่มาทำความทรมานให้ท่านลำบาก
ว่าเป็นพระที่มีความเคารพเลื่อมใสและนับถือท่านมาก ไม่น่าจะทำอย่างนั้นได้
หลังจากนั้นท่านก็คอยสังเกตความเคลื่อนไหวของบรรดาลูกศิษย์เหล่านั้นตลอดมา
โดยมิได้แสดงเรื่องที่ปรากฏในคืนวันนั้นให้ใครทราบเลย
ต่อมาไม่กี่วันก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดกับข้าราชการหลายท่าน
และพระอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ท่าน
และเป็นองค์ที่เป็นหัวหน้าพากันเอาไม้มาคีบหัวอกท่านมาเยี่ยมท่านที่สำนัก
ทั้งสองฝ่ายมาแสดงความประสงค์ขอให้ท่านช่วยอนุเคราะห์
ประกาศเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านในตำบล อำเภอนั้น เพื่อสร้างโรงเรียนขึ้น ๒-๓
แห่งอันเป็นการช่วยทางราชการอีกทางหนึ่งด้วย
โดยความเห็นของทั้งสองฝ่ายที่ตกลงกันมาก่อนแล้วว่า
ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนมาก ท่านพูดอะไรขึ้นมาต้องสำเร็จแน่นอน
จึงได้พากันมาหาท่านให้อนุเคราะห์ช่วยเหลือ พอทราบความประสงค์ของผู้มาติดต่อแล้ว
ท่านก็ทราบทันทีว่า พระทั้งสองรูปนี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ท่านลำบาก
ซึ่งเทียบกับเอาไม้มาคีบหัวอกท่าน
โอกาสต่อไปท่านได้เรียกพระทั้งสองรูปนั้นมาอบรมสั่งสอน เพื่อให้รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควรแก่เพศสมณะปฏิบัติผู้ตั้งอยู่ในความสงบและสำรวมระวัง
ที่เรียนทั้งนี้ก็เพื่อท่านผู้อ่านได้ทราบว่า
จิตเป็นธรรมชาติลึกลับและสามารถรู้ได้ทั้งสิ่งเปิดเผยและลึกลับ
ทั้งอดีตอนาคตและปัจจุบันดังเรื่องท่านพระอาจารย์มั่นเป็นตัวอย่างมาหลายเรื่อง
ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติเพื่อความเที่ยงตรงต่ออรรถธรรม
มิได้มีความคิดที่เป็นโลกามิสแอบแฝงอยู่ด้วยเลย
คำพูดที่ออกจากความรู้ความเห็นท่านแต่ละคำ
จึงเป็นคำที่ควรสะดุดใจว่ามิใช่เป็นคำโกหกหลอกลวงท่านผู้หนึ่งผู้ใดทั้งที่อยู่ใกล้ชิดและทั่ว
ๆ ไปให้งมงายเสียหายไปด้วยแต่อย่างใด เพราะคำพูดท่านที่นำมาลงนี้เป็นคำพูดที่พูดในวงจำเพาะพระที่อยู่ใกล้ชิด
มิได้พูดทั่วไปโดยไม่มีขอบเขต
แต่ผู้เขียนอาจเป็นนิสัยไม่ดีอยู่บ้างที่ตัดสินใจนำเอาเรื่องท่านออกมา
ความคิดก็เพื่อท่านที่สนใจได้อ่านและพิจารณาดูบ้าง ซึ่งอาจเกิดประโยชน์เท่าที่ควร
เรื่องของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเรื่องอัศจรรย์
และพิสดารอยู่มากในพระปฏิบัติสมัยปัจจุบัน
ทั้งภาคปฏิบัติและความรู้ที่ท่านแสดงออกแต่ละประโยค การสั่งสอนบางประโยคก็บอกตรง
ๆ บางประโยคก็บอกเป็นอุบายไม่บอกตรง
ทั้งสิ่งที่ควรและไม่ควร การทำนายทายทักทางจิตใจนับแต่เรื่องขรัวตาที่ชายเขาถ้ำสาริกาเป็นต้นเหตุมาแล้ว
ท่านระวังมากทั้งที่อยากเมตตาสงเคราะห์ บอกตามความคิดของผู้มาอบรมนั้น ๆ
แสดงออกในทางผิดถูกต่าง ๆ อย่างบริสุทธิ์ใจในฐานะเป็นอาจารย์สอนคน
แต่เวลาบอกไปตามตรงว่า ท่านผู้นั้นคิดอย่างนั้นผิด ท่านผู้นี้คิดอย่างนี้ถูกต้อง
แทนที่จะได้รับประโยชน์ตามเจตนาอนุเคราะห์
แต่ผู้รับฟังกลับคิดไปอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นความเสียหายแก่ตนแทบทั้งนั้น
ไม่ค่อยมาสนใจตามเหตุผลและเจตนาสงเคราะห์เลย
บางรายพอเห็นคิดไม่ดีและเริ่มจะเป็นชนวนแห่งความเสียหาย
ส่วนใหญ่ท่านก็ตักเตือนบ้างโดยอุบายไม่บอกตรง เกรงว่าผู้ถูกเตือนจะกลัวและอายหมู่เพื่อน
เพียงเตือนให้รู้สึกตัวมิได้ระบุนาม
แม้เช่นนั้นยังเกิดความรุ่มร้อนแทบจะเป็นบ้าเป็นหลังไปต่อหน้าต่อตาท่านและหมู่คณะก็ยังมี
เรื่องทั้งนี้จึงเท่ากับเตือนให้รู้เท่าทันถึงอุบายวิธีสั่งสอนไปในตัวทุกระยะที่เหตุการณ์เกี่ยวข้องบังคับอยู่
ต้องขออภัยหากเป็นความไม่สบายใจในบางตอนที่เขียนตามความจริงที่บันทึกและจดจำมาจากท่านเอง
และจากครูอาจารย์ที่อยู่กับท่านมาเป็นคราว ๆ หลายท่านด้วยกัน
จึงมีหลายเรื่องและหลายรสด้วยกัน
โดยมากสิ่งที่เป็นภัยต่อนักบวช
นักปฏิบัติ และนักบวช นักปฏิบัติชอบคิดโดยไม่มีเจตนา แต่เป็นนิสัยที่ฝังประจำสันดานมาดั้งเดิม
ก็คือ อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ธรรมารมณ์ของเพศที่เป็นวิสภาคกัน
นั่นแลคือกัณฑ์เทศน์กัณฑ์เอกที่ท่านจำต้องเทศน์และเตือนทั้งทางตรงทางอ้อมอยู่เสมอ
มิได้รามือพอให้สบายใจได้บ้าง การนึกคิดอย่างอื่น ๆ ก็มี แต่ถ้าไม่สำคัญนักท่านก็ทำเป็นไม่สนใจ
ที่สำคัญอย่างยิ่งก็เวลาประชุมฟังธรรม ซึ่งท่านต้องการความสงบทั้งทางกายและทางใจ
ไม่ต้องการอะไรมารบกวนทั้งผู้ฟังและผู้ให้โอวาท
จุดประสงค์ก็เพื่อได้รับประโยชน์จากการฟังจริง ๆ
ใครเกิดไปคะนองคิดเรื่องแสลงเพศแสลงธรรมขึ้นมาในขณะนั้น ฟ้ามักจะผ่าเปรี้ยง ๆ
ลงในท่ามกลางความคิดที่กำลังคิดเพลินและท่ามกลางที่ประชุม
ทำเอาผู้กำลังกล้าหาญคิดแบบไม่รู้จักตายตัวสั่นแทบสลบไปในขณะนั้น
ทั้งที่ไม่ได้ระบุตัวบุคคล แต่ระบุเรื่องที่คิด
ซึ่งเป็นเรื่องกระตุกใจของผู้กำลังคิดเรื่องนั้นอย่างสำคัญ แม้ผู้อื่นในที่ประชุมก็พลอยตกใจ
และบางรายตัวสั่นไปด้วยเผื่อคิดเช่นนั้นขึ้นมาบ้างขณะเผลอ
ถ้าถูกฟ้าผ่าอยู่เรื่อย
ๆ ขณะฟังเทศน์ ปรากฏว่าจิตใจผู้ฟังหมอบและมีสติระวังตัวอย่างเข้มงวดกวดขัน
บางรายจิตรวมสงบลงอย่างเต็มที่ก็มีในขณะนั้น
ผู้ไม่รวมในขนาดนั้นก็อยู่ในเกณฑ์สงบและระวังตัว เพราะกลัวฟ้าจะลงเปรี้ยง
หรือเหยี่ยวจะลงโฉบเอาศีรษะขณะใดก็ไม่รู้ ถ้าเผลอคิดไม่เข้าเรื่องในขณะนั้น ฉะนั้น
ผู้ที่อยู่กับท่านจึงมีหลักใจเป็นที่มั่นคงไปโดยลำดับ
อยู่กับท่านไปนานเท่าไรก็ยิ่งทำให้นิสัยทั้งภายในภายนอกกลมกลืนกับนิสัยท่านไปไม่มีสิ้นสุด
ผู้ใดอดทนอยู่กับท่านได้นาน ๆ ด้วยความใฝ่ใจ ยอมเป็นผ้าขี้ริ้วให้ท่านดุด่าสั่งสอน
คอยยึดเอาเหตุเอาผลจากอุบาย ต่าง ๆ
ที่ท่านแสดงในเวลาปกติหรือเวลาแสดงธรรม ไม่ลดละความสังเกต
และพยายามปฏิบัติตนให้เป็นไปตามท่านทุกวันเวลา นิสัยความใคร่ธรรมและหนักแน่นในข้อปฏิบัติทุกด้านนี่แล
จะทำให้เป็นผู้มั่นคงทางภายในขึ้นวันละเล็กละน้อย จนสามารถทรงตัวได้
ที่ไม่ค่อยได้หลักเกณฑ์จากการอยู่กับท่าน
โดยมากมักจะเพ่งเล็งภายนอกยิ่งกว่าภายใน เช่น กลัวท่านดุด่าบ้างเวลาคิดไปต่าง ๆ
ตามเรื่องความโง่ของตน พอถูกท่านว่าให้บ้างเลยกลัวโดยมิได้คิดจะแก้ตัวสมกับไปศึกษาอบรมกับท่านเพื่อหาความดีใส่ตัว
ไม่มีเหตุมีผลอะไรเลย ไปอยู่กับท่านก็ไปแบบเรา อยู่แบบเรา ฟังแบบเรา
คิดไปร้อยแปดแบบเราที่เป็นทางดั้งเดิม อะไร ๆ ก็เป็นแบบเราซึ่งมีกิเลสหนาอยู่แล้ว
ไม่มีแบบท่านเข้ามาแทรกบ้างเลย เวลาจากท่านไปก็จำต้องไปแบบเรา ที่เคยเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น
ชื่อว่าความดีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงพอให้เป็นที่น่าชมเชย
แต่ความชั่วที่ทับถมจนมองไม่เห็นตัวนั้นยิ่งสั่งสมขึ้นทุกวันเวลา
ไม่มีความเบื่อหน่ายอิ่มพอ ผลจึงเป็นคนอาภัพอยู่เสมอ
ไม่มีสิ่งใดมาฉุดลากพอให้กลับฟื้นตัวได้บ้างเลย ถ้าไปอยู่กับท่านแบบที่ว่านี้
จะอยู่นานเท่าไรก็ไม่ผิดอะไรกับทัพพีอยู่กับแกงที่มีรสอร่อย
แต่ทัพพีจะไม่รู้เรื่องอะไรกับแกง นอกจากให้เขาจับโยนลงหม้อนั้นหม้อนี้
ไม่ได้หยุดหย่อนเท่านั้น กิเลสตัณหาเครื่องพอกพูนความชั่วไม่มีประมาณ
จับเราโยนลงกองทุกข์หม้อนั้นหม้อนี้ก็ทำนองเดียวกัน
ผู้เขียนก็นับเข้าในจำนวนถูกจับโยนลงหม้อนั้นหม้อนี้ด้วย
โดยไม่ต้องสงสัย เพราะชอบขยันหมั่นเพียร แต่สิ่งหนึ่งนั้นคอยกระซิบให้ขี้เกียจ
ชอบไปแบบท่าน อยู่แบบท่าน ฟังแบบท่าน คิดแบบท่าน อย่างเป็นอรรถเป็นธรรม
แต่สิ่งหนึ่งก็คอยกระซิบให้ไปแบบเรา อยู่แบบเรา ฟังแบบเรา คิดแบบเรา อะไร ๆ
ก็กระซิบให้เป็นแบบเราที่เคยเป็นมาดั้งเดิม
และกระซิบไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น
สุดท้ายก็เชื่อมันจนเคลิ้มหลับสนิทและยอมทำตามแบบดั้งเดิม
เราจึงเป็นคนดั้งเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นพอให้ตัวเองและผู้อื่นได้ชมเชยบ้าง
คำว่า “ดั้งเดิม” จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราและใคร ๆ
จนมีรากฝังลึกอยู่ภายใน ยากที่จะถอดถอนออกได้
ถ้าไม่สังเกตสอดรู้ความเป็นมาและเป็นไปของตนอย่างเอาใจใส่จริง ๆ
พอตกหน้าแล้ง
ท่านพระอาจารย์มั่นก็เริ่มพาโยมมารดาท่านออกเดินทาง
พาพักบ้านละคืนสองคืนไปเรื่อยจนถึงบ้าน และพักอยู่ที่บ้านท่านนานพอควร
ให้การอบรมมารดาและชาวบ้านพอมีความอบอุ่นโดยทั่วกัน
แล้วก็ลาโยมมารดาและญาติออกเดินทางธุดงค์ไปเรื่อย ๆ โดยมุ่งหน้าลงไปทางภาคกลาง
ไปแบบธุดงคกรรมฐาน ไม่รีบไม่ด่วน
เจอหมู่บ้านหรือสถานที่มีน้ำท่าสมบูรณ์ก็กางกลดลงที่นั้น แล้วพักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่อย่างเย็นใจ
พอมีกำลังกายกำลังใจแล้วก็เดินทางต่อไป สมัยโน้นเดินด้วยเท้ากันทั้งนั้น รถราไม่มีเหมือนสมัยนี้ ท่านว่าท่านมิได้เร่งรีบกับเวล่ำเวลา
จุดใหญ่อยู่ที่การภาวนาเท่านั้น เดินทางทั้งวันก็เท่ากับเดินจงกรมภาวนาไปทั้งวัน
ขณะท่านจากหมู่คณะเดินทางลงมากรุงเทพฯ
เพียงองค์เดียวนั้น เหมือนช้างสารตัวใหญ่ออกจากโขลงเที่ยวหากินในป่าลำพังตัวเดียว
เป็นความเบากายเบาใจ
เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามออกจากหัวอกที่เคยหนักหน่วงถ่วงกายถ่วงใจมานาน กายก็เบา
ใจก็เบา ขณะเดินทางด้วยวิธีจงกรมภาวนาไปแถบทุ่งกว้างที่มีสับกันเป็นตอน ๆ
แต่ภายในใจไม่มีความรู้สึกว่าร้อนเพราะแดดแผดเผาเลย
บรรยากาศคล้ายกับเป็นเครื่องส่งเสริมการเดินทางให้มีความสะดวกสบายไปเป็นลำดับ
บนบ่าที่เต็มไปด้วยบริขารของพระธุดงค์ มีบาตร กลด เป็นต้น ซึ่งรวมหลายชิ้นด้วยกัน
ตามปกติก็พอทำความลำบากให้พอดู แต่ในความรู้สึกกลับไม่หนักหนาอะไรเลย
กายกับใจที่ถอดถอนความกังวลจากหมู่คณะออกหมดแล้ว
จึงเป็นเหมือนจะเหาะลอยขึ้นบนอากาศในขณะนั้น เพราะหมดอาลัยหายห่วงโดยประการทั้งปวง
โยมมารดาก็ได้อบรมสั่งสอนอย่างเต็มภูมิ จนมีหลักฐานทางจิตใจอย่างมั่นคงหมดห่วงแล้ว
มีความรับผิดชอบเฉพาะตัวคนเดียวนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นี่เป็นคำรำพึงบริกรรมภาวนาไปตามทาง
ซึ่งท่านใช้เป็นบทธรรมเตือนสติตัวเองมิให้ประมาท
เดินทางโดยวิธีจงกรมภาวนาไปตามสายทางที่ปราศจากผู้คนสัญจรไปมา
ขณะเดินทางตอนกลางวันแดดกำลังร้อนจัด
มองดูมีต้นไม้ใบหนาตามชายป่าก็เห็นว่าเหมาะก็แวะเข้าไปอาศัยพักพอหายเหนื่อย
นั่งภาวนาสงบอารมณ์ใต้ร่มไม้ให้ใจเย็นสบาย ตกบ่าย ๆ
อากาศร้อนค่อยลดลงบ้างก็เริ่มออกเดินทางต่อไปด้วยท่าทางของผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร
มีสติสัมปชัญญะประคองใจ
ไปถึงหมู่บ้านไม่กี่หลังคาเรือนพอได้อาศัยเขาโคจรบิณฑบาตก็พอแล้ว
ไม่ต้องการความเหลือเฟืออะไรมากไปกว่านั้น
ตามองหาที่พักอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านพอประมาณ และแวะพักไปเป็นทอด ๆ
แล้วแต่ทำเลเหมาะสมจะพักภาวนาสะดวกเพียงไร
บางแห่งก็เป็นความสะดวกแก่การบำเพ็ญก็พักอยู่เป็นเวลานาน แล้วเดินทางต่อไป
ท่านเล่าว่าตอนเดินทางไปถึงดงพญาเย็น
ระหว่างสระบุรีกับนครราชสีมาต่อกัน มีป่าเขาลำเนาไพรมาก ทำให้เกิดความชื่นบานหรรษา
คิดอยากพักอยู่ที่นั้นนาน ๆ
เพื่อบำเพ็ญเพียรเสริมกำลังใจที่กระหายต่อการอยู่คนเดียวในป่าในเขามานาน
เมื่อมาเจอทำเลเหมาะ ๆ เข้า ก็อยากพักภาวนาอยู่ที่นั้นเป็นเวลานาน
แล้วค่อยผ่านไปเรื่อย พักไปเรื่อย ท่านว่าท่านก็เพลิดเพลินไปกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ
เหมือนกัน เพราะป่าเขาแถบนั้นมีสัตว์นานาชนิดชุมชุมมาก มีอีเก้ง หมู กวาง ลิง ค่าง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น